ถอดรหัส “ความรื่นรมย์แห่งชีวิต”

ของ ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ มือปราบไวรัสเมืองไทย

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบรุนแรงและลุกลามเป็นวงกว้าง จนหลายคนกังวลว่าประเทศไทยจะรับมือกับวิกฤติโรคระบาดระดับโลกขนาดนี้ไหวหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและระดมผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเสริมทัพเพื่อออกชุดมาตรการการป้องกันการขยายวงของโควิด 19 สร้างความมั่นใจให้คนไทยว่า “ประเทศไทยจะต้องเอาชนะวิกฤติโควิด 19 ได้อย่างแน่นอน”

 

BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมแพทย์มือหนึ่ง ที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ให้กับรัฐบาล ท่านเป็นราชบัณฑิต นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้ทำคุณประโยชน์ในการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ครั้งนี้ท่านจะมาถ่ายทอดประสบการณ์และบทเรียนจากการต่อสู้กับโรคระบาดรุนแรงจากไวรัสมากว่า 4 ทศวรรษ


จากกุมารแพทย์สู่ความสนใจด้านไวรัสวิทยา

 

คุณหมอเริ่มเข้ารับราชการเป็นกุมารแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2521 และขณะที่ไปฝึกอบรมเป็นนักวิจัยที่ King’s College Hospital Medical School สหราชอาณาจักร ระหว่างปี 2527 – 2528 ก็ได้เริ่มสนใจการวิจัยเรื่องโรคตับในเด็ก หนึ่งในภาวะคุกคามทางสุขภาพที่สำคัญของเด็กไทย จากนั้นคุณหมอได้ทุ่มเทกับการวิจัยวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีเป็นเวลากว่า 20 ปี ซึ่งงานวิจัยนี้ติดอันดับการทำวิจัยที่ยาวนานที่สุดและทรงคุณค่าที่ส่งประโยชน์ต่อวงการแพทย์

 

“เราเป็นหน่วยงานแรกที่ศึกษาปัญหาไวรัสตับอักเสบบีที่เกิดขึ้นในไทย จนพบว่ามีการติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิดและกว่าครึ่งของผู้ป่วยติดเชื้อจากแม่สู่ลูก จึงเป็นที่มาของการรณรงค์การให้วัคซีนในทารกแรกเกิดตั้งแต่ปี 2529 จากนั้นก็ศึกษาวิจัยจนพบข้อมูลบ่งชี้ว่า แค่ฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียว (ไม่จำเป็นต้องฉีดเซรุ่มร่วมด้วย) ก็สามารถป้องกันไวรัสตับอักเสบได้”

 

งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of the American Medical Association (JAMA) และได้รับการยอมรับแพร่หลายไปทั่วโลก ส่งผลให้การรณรงค์ครั้งนั้นพัฒนาไปเป็น “แผนวัคซีนแห่งชาติ” เรื่องการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแก่ทารกแรกเกิดทุกคนทั่วประเทศ โดยเด็กไทยที่เกิดหลังปี 2535 หรือผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่า 28 ปีแทบทุกคนจะมีภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบ

 

“องค์การอนามัยโลกประกาศแน่วแน่ว่าจะกวาดล้างไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2573 ซึ่งผมเชื่อว่า ประเทศไทยจะปลอดจากไวรัสตับอักเสบได้อย่างแน่นอน ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”

 

ความสุขบนความทุ่มเทในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบของคุณหมอได้นำทางไปสู่ความสนใจในงานทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก และด้วยฐานข้อมูลความรู้จากการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสตัวอื่นที่เพิ่มมากขึ้น หน่วยวิจัยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบที่คุณหมอทำงานจึงได้รับการยกระดับเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก (Center of Excellence in Clinical Virology) และพัฒนาจากวันแรกที่มีคุณหมอเป็นนักวิจัยเพียงคนเดียว มาถึงวันนี้ที่มีบุคลากรทั้งสิ้นกว่า 30 คนที่พร้อมทุ่มเทต่อยอดองค์ความรู้ด้านไวรัสวิทยาให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป


ศูนย์ฯ ไวรัสวิทยาคลินิกกับภารกิจการต่อสู้กับไวรัส

 

เมื่อมองย้อนไป 20 ปีที่ผ่านมา มนุษยชาติเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อมาแล้วหลายครั้ง คุณหมอเล่าถึงโรคซาร์ส (SARS) ซึ่งระบาดในปี 2545 ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกราว 8,000 คนและมีผู้เสียชีวิตร่วม 800 คน

 

“ซาร์สเป็นโรคที่รุนแรง มีอัตราการตายสูงและเร็ว ทำให้โรคแพร่กระจายยากกว่าและควบคุมการระบาดได้ง่ายกว่า ด้วยความพร้อมใจกันของทุกประเทศเพื่อพยายามคุมโรคให้อยู่ ทำให้ซาร์สหมดไปในเวลา 9 เดือน ในตอนนั้นประเทศไทยก็ตั้งรับเต็มที่ แต่ก็โชคดีที่ไม่เกิดการระบาดในไทย”

 

ในช่วงปลายปี 2546 - 2547 ประเทศไทยเจอกับโรคไข้หวัดนกระบาด โดยเริ่มจากการตายปริศนาของเสือในสวนสัตว์สองแห่ง ซึ่งผลการศึกษาจากการถอดรหัสพันธุกรรมจากชิ้นเนื้อของเสือได้สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการแพทย์ทั่วโลก โดยคุณหมอได้พบว่า ไข้หวัดนกสามารถติดต่อข้ามมาสู่เสือ (ผ่านซี่โครงไก่สดที่ใช้เลี้ยงเสือ) และระบาดจากเสือสู่เสือได้อีกด้วย ต่อมาในปี 2552 เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ใน 130 ประเทศทั่วโลก โดยในช่วงหนึ่งปีของการระบาดมีผู้ติดเชื้อหลายล้านรายและเสียชีวิตหลายแสนราย ขณะที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน

 

“ทันทีที่ผู้ป่วยคนแรกเข้ามาในไทย เราก็ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสตัวนี้ได้ จากนั้นการระบาดก็ถึงจุดพีคช่วงกลางปีแล้วก็เริ่มลดลง ก่อนกลับมาพีคอีกช่วงเดือนมกราคม 2553 จนมียารักษา ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ก็ไม่ได้หมดไป เพียงแต่ลดความรุนแรงลงมาเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล”

 

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ไวรัสวิทยาคลินิกยังประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสที่เป็นต้นตอของโรคระบาดอีกหลายโรค นำไปสู่แผนการควบคุมป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ที่ระบาดหนักทางภาคใต้ในปี 2561 - 2562 จนลุกลามมาถึงกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่น ซึ่งจากการถอดรหัสพันธุกรรมพบว่า เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดในบังคลาเทศในปี 2559 - 2560 เข้าสู่ประเทศไทยโดยผู้อพยพทางเรือที่มาขึ้นฝั่งที่สตูล โดยมีพาหะเป็นยุงลายบ้าน จากเดิมที่เป็นยุงลายสวน (ยาง) จึงทำให้กระจายตัวในชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว


โควิด 19 ความท้าทายในยุคแห่ง Disruption

 

คุณหมอเล่าว่า ทุกครั้งที่มีโรคอุบัติใหม่และองค์ความรู้ยังมีไม่มาก ทุกคนมักจะเกิดความกลัว โควิด 19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน ในช่วงเวลาเพียง 6 เดือนได้ปรากฏยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 8 ล้านคน และยอดผู้เสียชีวิตถึง 4.3 แสนคน (ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2563) ซึ่งมากกว่าโรคซาร์สหลายร้อยเท่า

 

“ถามว่าหนักหนาแค่ไหน ถ้าเทียบตั้งแต่ทำงานมาหรือย้อนไปร้อยปี ก็พูดได้ว่าโควิด 19 เป็นโรคที่มาท้าทายในรอบศตวรรษนี้ ความร้ายแรงมาจากการที่เชื้อสามารถแพร่ไปได้เร็วและง่ายมาก ตั้งแต่ก่อนมีอาการหรือไม่มีอาการก็แพร่เชื้อได้ ฉะนั้นความท้าทายคือจะควบคุมโรคอย่างไร ซึ่งมีทางเดียวคือมาตรการในการลดการแพร่กระจายของโรคจะต้องเข้มงวดและเคร่งครัด เพื่อควบคุมการระบาดให้น้อยที่สุดและช้าที่สุด ให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขของไทยรองรับได้ เพราะต่อให้หมอเก่งแค่ไหน ถ้าผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล อัตราการตายก็สูงแน่นอน”

 

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยในหลายเรื่องอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นภาวะปกติใหม่ (new normal) หรือวิถีชีวิตใหม่ อาทิ การใส่หน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน การล้างมือบ่อย ๆ การงดกิจกรรมทางสังคมและการสังสรรค์ การงดเดินทางโดยไม่จำเป็น การรักษาระยะห่างทางกายภาพ การทำงานที่บ้าน การเรียนการสอนและการซื้อของออนไลน์ รวมถึงการใช้ e-Money แทนธนบัตร

 

“แม้ว่าโควิด 19 ในเด็กจะมีความรุนแรงน้อย แต่เด็กมีโอกาสจะนำเชื้อไปแพร่กระจายที่บ้าน โดยเฉพาะถ้ามีผู้สูงอายุก็จะส่งผลกระทบมาก จึงทำให้เกิดการเรียนการสอนวิถีใหม่ เช่น การเรียนออนไลน์ที่พัฒนาขีดความสามารถให้เด็กเรียนรู้ได้เอง รู้จักแสวงหาและสร้างความรู้เอง การศึกษายุคใหม่อาจเป็นการเรียนที่บ้านแล้วให้ไปทำการบ้านที่โรงเรียน ส่วนครูเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ชี้แนะและออกแบบกระบวนการในการแสวงหาความรู้ จริง ๆ เรื่องนี้พูดกันมานานแล้วแต่โควิด 19 ทำให้ทุกคนต้องเปลี่ยนทันที”

 

ความร่วมมือและความอดทนคือวัคซีนฝ่าฟันวิกฤติ

 

ด้วยความร่วมแรงร่วมใจอย่างดีของคนไทยทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ตลอด 2 - 3 เดือนที่ผ่านมาจึงนับว่าการควบคุมโรคของไทยทำได้ดีมาก จนเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2563 รัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนปรนในการดำรงชีวิตและการทำมาหากินของประชาชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในครัวเรือนและประเทศ ซึ่งนำมาสู่ความท้าทายใหม่ นั่นคือ การหาจุดสมดุลระหว่างกลไกเศรษฐกิจกับประสิทธิภาพในการคุมโรคระบาดเพื่อการต่อสู้ระยะยาว ซึ่งคุณหมอได้อุปมาไว้ว่า ขณะที่เราพยายามล้อมกำแพงและวิดน้ำที่ท่วมบ้าน (ประเทศไทย) ออกจนเริ่มแห้ง แต่ถ้าข้างนอกน้ำยังท่วมอยู่ ก็คงยากที่จะกวาดล้างเชื้อโควิด 19 ให้หมดไป

 

“หากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคเหมือนไฟไหม้บ้าน สิ่งแรกที่ทุกคนต้องทำ ไม่ใช่การหาว่าใครเป็นต้นเพลิง แต่ต้องร่วมมือกันเร่งดับไฟ ในการทำสงครามของประชากรโลกกับโรคระบาด ทุกประเทศต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อความอยู่รอด ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย สิ่งสำคัญในการต่อสู้กับโควิด 19 ของประเทศไทย คือ มาตรการป้องกันต้องเข้มแข็ง คนไทยทุกคนต้องอดทนและช่วยเหลือกัน หมอโนกุจิกล่าวว่า “ความอดทนแม้เป็นยาขม แต่ผลของมันคือขนมหวาน” ขอให้อดทนกับความยากลำบาก อดทนปรับตัว อดทนต่อความฟุ่มเฟือย ใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คนที่มีมากก็แบ่งปันช่วยเหลือคนที่ไม่มี ช่วยประคับประคองกันไปจนกว่าจะมียารักษาที่ดี หรือมีวัคซีนป้องกันเพื่อหยุดยั้งโรค ซึ่งน่าจะใช้เวลาเป็นปี”

 

งานเป็นความรื่นรมย์ของชีวิต

 

“ความสุข” เป็นทั้งหลักการทำงานของคุณหมอและเป็นคำขวัญของศูนย์ฯ ไวรัสวิทยาคลินิกแห่งนี้

 

“ผมเชื่อว่าถ้าการทำงานมีความสุขแล้ว งานก็คือการพักผ่อน เป็นความรื่นรมย์ในชีวิต และยิ่งถ้าทุกคนที่ทำงานร่วมกันมีความสุข ผลงานที่ดีก็จะตามมาเอง”

 

แม้ว่าการขอทุนพัฒนางานวิจัยในยามปกติเป็นไปค่อนข้างยากแต่ท่านก็ไม่เคยย่อท้อ ความสุขสูงสุดสำหรับคุณหมอคือ ผลงานวิจัยหลายชิ้นของท่านได้นำไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ โดยเฉพาะงานวิจัยด้านไวรัสวิทยาที่นำไปใช้ในการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรค หาต้นตอแหล่งที่มาของโรค ศึกษาทิศทางการเดินทางของไวรัส ไปจนถึงการพัฒนายาหรือวัคซีนที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ของเชื้อโรคที่ระบาด รวมถึงการหาแนวทางป้องกันและควบคุมโรค จนทำให้ประเทศไทยรบชนะโรคระบาดจากไวรัสมาแล้วหลายครั้ง

 

“ในยามปกติ คนมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงานวิจัยพื้นฐานเหล่านี้ ทีมงานของผมถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสมาเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล ก็มักถูกมองว่าเป็น 'งานวิจัยขึ้นหิ้ง' ผมถึงพูดเสมอว่า ถ้าไม่มีงานวิจัยบนหิ้งก็ไม่มีทางเป็นห้าง ถ้าอยากให้ไทยเกิดนวัตกรรมแข่งกับชาติอื่นได้ ฐานงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานต้องแน่นเสียก่อน ภาครัฐควรสนับสนุนงบประมาณมากกว่านี้ อย่างการคิดค้นยาต้านไวรัสตัวหนึ่งต้องมาจากรากฐานวิทยาศาสตร์พื้นฐานจำนวนมาก เช่น การศึกษาพื้นฐานวงจรชีวิตของไวรัส กลไกการทำงานของไวรัส พันธุกรรมไวรัส ฯลฯ เราจึงควรส่งเสริมงานวิจัยพื้นฐานให้มีรากฐานที่มั่นคงเพื่อพัฒนาต่อยอดไปถึงผลผลิตได้มากขึ้น

 

“ในการทำงาน ทุกคนย่อมเคยท้อ ไม่มีอุปสรรคคงเป็นไปไม่ได้ เราต้องอดทน เคยเห็นมดเดินเป็นทางไหม ถ้าเราเอาก้อนหินไปวางขวางทาง มดเจออุปสรรค มันไม่ท้อ ไม่กลับรัง ช่วงแรกอาจจะเดินวนไปวนมาแต่สุดท้ายก็จะหาทางเดินใหม่เพื่อไปต่อให้ได้ เวลาที่เจออุปสรรค เราอาจท้อได้นิดหน่อย แต่ผมเชื่อว่ามันต้องมีทางให้ไปต่อได้เสมอ”

 

นอกจากนี้ การสอนเป็นอีกงานที่คุณหมอรักและมีความสุขไม่แพ้กัน โดยย้ำว่าการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันควรเน้นที่กระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาความรู้และเน้นที่กระบวนการเข้าถึงความรู้และสร้างองค์ความรู้มากกว่าการท่องจำ หัวใจสำคัญในการเป็นครูของท่าน คือ “พูดอย่างไร พึงทำอย่างนั้น” เพราะการสอนที่ดีที่สุดคือการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

 

“สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามสอนลูกศิษย์ หลาน และเด็กรุ่นใหม่อยู่เสมอคือ การเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ การมีความอดทนและรู้จักรอคอย และการเป็นคนซื่อสัตย์และกตัญญู”

 

>> ดาวน์โหลด PDF Version
>> ชมคลิปวีดิโอ
>> อ่าน e-Magazine