"พร้อมเพย์" โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและโอนเงินแบบทันที (real-time) ที่ใช้หมายเลขอ้างอิงอื่นแทนเลขที่บัญชีธนาคารที่จดจำยาก เช่น หมายเลขโทรศัพท์มือถือ เลขประจำตัวประชาชน เลขทะเบียนนิติบุคคล และ e-Wallet ID ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการชำระเงินที่หลากหลาย ทำให้การชำระเงินและโอนเงินสะดวกรวดเร็วขึ้น มีโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง เปรียบได้กับการสร้างถนนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน รองรับรถได้หลายประเภท ทำให้สามารถเข้าถึงท้องที่ต่าง ๆ ได้ทั่วถึงมากขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนและธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ภาครัฐใช้เป็นเครื่องมือในการรับ - จ่ายเงินได้อย่างคล่องตัว ถึงมือผู้รับโดยตรง ถูกต้อง และโปร่งใส รวมถึงผู้ให้บริการสามารถขยายฐานลูกค้า ให้บริการตรงกลุ่มเป้าหมาย มีการพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

 

 

พร้อมเพย์จึงเปรียบเป็น game changer ที่ปรับโฉม digital payments ของไทยให้ทันสมัย มีบริการต่าง ๆ ที่สอดรับกับ digital lifestyle ของประชาชนและผู้ประกอบการที่พึ่งพาเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันหรือการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การใช้ mobile banking หรือแอปพลิเคชัน e-Wallet ในการทำธุรกรรมทางการเงินแทนการไปสาขาธนาคาร

 

 

"พร้อมเพย์" ถนนสายหลักของ Digital Payments

 

 

พร้อมเพย์เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการขับเคลื่อนโครงการ National e-Payment ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบพร้อมเพย์ที่เอื้อให้การโอนเงินและชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำได้ "ถูก ง่าย สะดวก และปลอดภัย" ได้มาตรฐานสอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

 

ด้วยบริการของพร้อมเพย์ที่ครอบคลุมทั้งบริการภาครัฐ เช่น การจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐ การจ่ายคืนภาษีผ่านเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลักที่ผูกบัญชีธนาคารกับระบบพร้อมเพย์ ซึ่งจ่ายตรงถึงผู้รับและบริการภาคเอกชน เช่น การโอนเงิน/รับเงินในชีวิตประจำวันของประชาชน (C2C transfer) การชำระบิลข้ามธนาคาร (cross-bank bill payment) การแจ้งเตือนเพื่อเรียกเก็บเงิน (PayAlert)

 

ปัจจุบันมียอดลงทะเบียนพร้อมเพย์ 52.7 ล้านหมายเลขและมีสถิติการใช้งานสูงสุด 16.3 ล้านรายการต่อวัน (ข้อมูล ณ เมษายน 2563) ซึ่งนับว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนอย่างรวดเร็ว และส่วนหนึ่งเป็นเพราะพร้อมเพย์สามารถชำระเงินได้ด้วยการสแกน QR code หรือ Thai QR Payment หนึ่งในนวัตกรรมที่ผลักดันระบบการชำระเงินไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก

 

Thai QR Payment การชำระเงินไทยสอดคล้องมาตรฐานสากล

 

การชำระเงินด้วยมาตรฐาน QR code ของไทย หรือ Thai QR Payment พัฒนาสอดคล้องกับมาตรฐานสากล EMVCo1 มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ (1) ผู้ใช้สามารถใช้ mobile banking ของธนาคารแห่งใดก็ได้ในการสแกน QR code เพื่อชำระเงิน (2) ผู้ใช้สามารถใช้สื่อในการชำระเงินที่หลากหลาย เช่น บัญชีธนาคาร บัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัญชี e-Wallet (3) ช่วยเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินที่สะดวกและต้นทุนต่ำให้แก่ร้านค้าทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ตั้งแต่ร้านค้าขนาดเล็กหรือรถเข็นริมทางไปจนถึงห้างร้านขนาดใหญ่ ต่างก็สามารถรับชำระเงินด้วย Thai QR Payment ได้ (4) เป็นมาตรฐานที่เปิดกว้างและสามารถเชื่อมต่อกับระบบที่หลากหลายทั้งของสถาบันการเงินและ non-banks (open & interoperability) เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการมี QR code หลายประเภทในระบบการชำระเงินไทย และ (5) สามารถเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยต้นทุนที่ถูกลง

 

 

การชำระเงินด้วย QR code แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ (1) Thai QR Payment : ลูกค้าสแกน QR code ของร้านค้า และต่อยอดเป็นบริการอื่น ๆ เช่น e-Donation การบริจาคเงินด้วยการสแกน QR code ขององค์กรการกุศลที่ผู้บริจาคสามารถเลือกส่งข้อมูลการบริจาคไปที่กรมสรรพากรได้ทันทีเพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี และ (2) MyPromptQR : ร้านค้าสแกน QR code ของลูกค้า เป็นบริการแรกที่ถูกพัฒนาบนมาตรฐาน ISO 200222 สามารถใส่ข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น โปรโมชันเฉพาะลูกค้าแต่ละราย

 

ปัจจุบัน QR code มี 2 ประเภท ประเภทแรก static QR code หรือ QR code ที่สร้างแล้วสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องสร้างใหม่ทุกครั้ง เช่น QR code ที่พิมพ์ตั้งอยู่ตามร้านค้า เมื่อลูกค้าสแกน QR code ของร้านค้า ลูกค้าต้องกรอกจำนวนเงินที่จะชำระเอง ประเภทที่สอง dynamic QR code หรือ QR code ที่ต้องสร้างใหม่ในแต่ละครั้งเมื่อนำไปใช้ เช่น QR code ที่ร้านค้าสร้างเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าในแต่ละครั้งและจะระบุจำนวนเงินที่ต้องชำระมาด้วย ซึ่งช่วยลดขั้นตอนและลดความผิดพลาดในการชำระเงินได้

 

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวที่สะดวกและมีต้นทุนต่ำทำให้ปัจจุบันมีจุดรับชำระเงินด้วย QR code มาตรฐาน 6.1 ล้านจุดทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2563) และด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม ทำให้สามารถนำมาตรฐาน QR code ของไทยและระบบพร้อมเพย์เชื่อมกับระบบการชำระเงินของต่างประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้การชำระเงินของนักท่องเที่ยว และการโอนเงินกลับบ้านของแรงงานต่างชาติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรม เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ซึ่งปัจจุบันมีการทดลองให้บริการในประเทศต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์ สปป. ลาว ญี่ปุ่น และกัมพูชา


ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

 

 

ปัจจัยสำคัญที่นำพร้อมเพย์ไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่ (1) การกำหนดให้เป็นโครงการระดับประเทศที่ภาครัฐและภาคเอกชนหลายอุตสาหกรรมร่วมมือกันผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการใช้ digital payments อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย (2) การวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบที่เปิดกว้างและสามารถเชื่อมโยงกับระบบต่าง ๆ (open & interoperability) (3) ความร่วมมือของผู้ให้บริการระบบและบริการชำระเงินในการพัฒนาระบบพร้อมเพย์ (4) การออกแบบบริการและนวัตกรรมต่อยอดต่าง ๆ ที่คำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งาน (5) การมีโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมสามารถกระตุ้นการใช้งานให้ประชาชน ธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก ส่งเสริมการแข่งขันของผู้ให้บริการ และ (6) การให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและคุ้มครองผู้บริโภคของผู้ให้บริการ

 

นอกจากสถิติจำนวนจุดรับชำระเงินด้วย QR code มาตรฐาน และยอดการใช้บริการพร้อมเพย์ที่เพิ่มขึ้น อีกความสำเร็จที่สำคัญของพร้อมเพย์ คือการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปเป็น new normal มีการเว้นระยะห่างทางกายภาพ ออกจากบ้านน้อยลง แต่ยังสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกและปลอดภัย สามารถโอนเงิน ชำระเงิน จ่ายบิลต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา

 

ในระยะต่อไป ระบบพร้อมเพย์และบริการต่อยอดจะเชื่อมโยงกับระบบต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การโอนเงิน รับจ่ายเงิน รวมถึงการรับส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างบุคคล ธุรกิจ และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ digital payments อย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง รองรับเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงกว้างขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับระบบ รวมทั้งการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม

 

 

 

1EMV ย่อมาจาก Europay, Mastercard และ Visa ผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรระดับโลก ปัจจุบัน EMVCo ประกอบด้วยสมาชิกผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร 6 แห่ง ได้แก่ American Express, Discover, JCB, Mastercard, UnionPay และ Visa ซึ่งได้กหนดมาตรฐานเครือข่ายบัตรร่วมกัน ทั้งนี้ สมาชิก EMVCo ที่ร่วมใช้มาตรฐาน QR Code ในไทย ได้แก่ American Express, JCB, Mastercard, UnionPay และ Visa

 

2ISO 20022 เป็นมาตรฐานข้อความสากลสหรับธุรกรรมทางการเงินประเภทต่าง ๆ เช่น การชระเงิน รองรับการรับส่งข้อมูลได้มากขึ้น เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม และ การเชื่อมโยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

>> ดาวน์โหลด PDF Version
>> อ่าน e-Magazine