​                                    ปันอิ่มปันสุข

                        น้ำใจเพื่อคลายทุกข์ช่วงโควิด 19

นี่เป็นเพียงบางส่วนของความเดือดร้อนที่ได้ยินจากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนรอบ ๆ แบงก์ชาติ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากเสียงสะท้อนของคนไทยทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมาหลังเศรษฐกิจหยุดชะงักจากการล็อกดาวน์ เปิดทางให้กับมาตรการ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" และ "การเว้นระยะห่างทางสังคม" เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างจำเป็นเร่งด่วน

 

สุขภาพก็ต้องระวังให้รอดพ้นจากโควิด 19 แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป หลายครอบครัวเดือดร้อน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเคยทำให้ขาดรายได้ทันที ขณะที่รายจ่ายและภาระหนี้สินยังคงมีตามปกติ

 

แม้ภาครัฐออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา แต่ด้วยข้อจำกัดในทางปฏิบัติอาจไม่สามารถครอบคลุมได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของภาคเอกชนและประชาชนจึงเกิดขึ้นให้เห็นทั่วไป เราจึงเห็นภาพประชาชนยืนต่อแถวท่ามกลางแดดร้อนฝนตกเพื่อรับอาหารกล่องหรือข้าวสารอาหารแห้งจากผู้ที่นำมาบริจาค นอกจากนี้ ความเอื้ออาทรในสังคมยังมีในรูปแบบอื่น ๆ ที่หลากหลาย เช่น เปิดพื้นที่ขายของฝากร้าน โรงพยาบาลส่งยาให้ฟรีโดยไม่ต้องไปหาหมอหรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ก็เปลี่ยนจากการรับบิณฑบาตมาเป็นผู้แบ่งปันอาหารแจกประชาชน

 

กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นได้จุดประกายให้เกิด "โครงการแบ่งปันจากแบงก์ชาติ" ของพนักงานกลุ่มหนึ่งที่ต้องการยื่นมือให้ความช่วยเหลือชุมชนและร้านค้ารอบแบงก์ชาติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19


หลากหลายกิจกรรมเพื่อ "ปันอิ่ม"

 

การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพื่อสอบถามปัญหา ความเดือดร้อนเร่งด่วน รวมถึงความช่วยเหลือที่ชุมชนอาจเคยได้รับมาก่อนหน้า และนำมาหาแนวทางช่วยเหลือตามทุนทรัพย์ที่เพื่อนพนักงานร่วมกันบริจาคสมทบ จึงได้ข้อสรุปลงตัวกับกิจกรรม "ปันอิ่มจากแบงก์ชาติ" ผ่าน 3 รูปแบบการแบ่งปัน ดังนี้

 

1. คูปองปันอิ่ม แจกจ่ายให้กับชุมชนในละแวกแบงก์ชาติและพนักงานสัญญาจ้าง (contract out) ที่ทำงานในแบงก์ชาติ เพื่อใช้ซื้อของหรืออาหารจากร้านค้ากว่า 33 ร้านรอบแบงก์ชาติที่เข้าร่วมโครงการ พ่อค้าแม่ค้าบอกว่า "แม้ยอดขายจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าเดิม แต่ก็ต้องขอบคุณที่มาช่วยเหลือในช่วงที่ยากลำบากนี้" ซึ่งกิจกรรมนี้ถือว่า win-win-win กันทุกฝ่าย คนรับได้อิ่ม ร้านค้ามีรายได้ คนให้ก็สุขใจ

 

2. ถุงปันอิ่ม ประกอบด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง และของใช้จำเป็นเพื่อการดำรงชีพ ที่สำรวจแล้วว่าเป็นที่ต้องการของชุมชน โดยมีทั้งการนำไปแจกให้ถึงหน้าประตูบ้านหรือรวบรวมไปมอบให้กับผู้นำชุมชนที่จะทยอยส่งมอบให้แต่ละครอบครัวต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงการมารวมตัวกันที่ใดที่หนึ่งตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม โดยได้ดำเนินการแจกจ่ายไปที่ชุมชนวัดนรนาถสุนทริการามและชุมชนหน้าแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

 

3. ของที่จำเป็นสำหรับกลุ่มคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง และครอบครัวที่มีเด็กอ่อนหรือผู้สูงอายุ เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ผ้ายางปูเตียง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากครูเชาว์ คุณครูประจำศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 ที่ทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อนและเด็กในชุมชนแออัด คุณครูได้ช่วยให้ข้อมูลและพาทีมงานเข้าไปแจกของถึงในชุมชน

 

"ตู้บางขุนพรหมปันสุข"

 

เมื่อโครงการปันอิ่มเดินหน้าไปได้ระยะหนึ่ง ทีมงานจึงเริ่มมีแนวคิดของตู้ปันสุขที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ Free Pantry ในต่างประเทศ และนำมาประยุกต์กับการแบ่งปันช่วงโควิด 19 ได้อย่างลงตัว โดยเปิดโอกาสให้คนที่ "มี" นำอาหารหรือของใช้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมาเติมใส่ตู้ เพื่อให้คนที่ "ขาด" มาหยิบไปฟรี ด้วยสโลแกน "หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมีใส่ตู้แบ่งปัน"

"ตู้บางขุนพรหมปันสุข" ของกลุ่มพนักงานแบงก์ชาติจึงถือกำเนิดขึ้น โดยตั้งอยู่ริมถนนสามเสน ใกล้แยกบางขุนพรหมในบริเวณที่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานเขตพระนคร นอกจากเป็นตู้ปันน้ำใจแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์การร่วมแรงร่วมใจของพนักงานแบงก์ชาติทุกคน ตั้งแต่ผู้บริหารที่สนับสนุน ผู้ออกแบบ ผลิต และติดตั้งตู้ รวมทั้งพนักงานทุกคนที่ร่วมบริจาคและหมุนเวียนนำทั้งของใช้ ของแห้ง รวมทั้งอาหารต่าง ๆ ไปเติมใส่ตู้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่พนักงานก็จะซื้อสินค้าและอาหารจากร้านค้าโดยรอบเพื่อช่วยสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าอีกทางหนึ่ง

 

นอกจากนี้ ยังเห็นน้ำใจของประชาชนทั่วไปนำของใส่ตู้เพื่อร่วมแบ่งปันให้คนอื่น ๆ และได้รับความร่วมมือจากผู้ที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ ช่วยจัดของและจัดคิวหยิบของได้อย่างเป็นระเบียบ ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะมีการติดตั้งตู้เพิ่มเติมในบริเวณอื่น ๆ เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

 

แม้ขณะนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์โควิด 19 จะจบลงเมื่อไหร่ ความเดือดร้อนจะยืดเยื้อแค่ไหน แต่กิจกรรมปันอิ่มและปันสุขที่เกิดขึ้นได้สร้างความสุขให้กับ "ผู้ให้" และคลายทุกข์ให้กับ "ผู้รับ" ในช่วงวิกฤติได้ไม่มากก็น้อย แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกคนที่พร้อมจะแบ่งปันให้กับชุมชนและร้านค้ารอบแบงก์ชาติต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 

>> ดาวน์โหลด PDF Version
>> อ่าน e-Magazine