ในปัจจุบัน สัดส่วนผู้หญิงโสดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คำถามที่ว่า "ทำไมน้องไม่แต่งงาน?" กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั่วโลก บทความนี้นำเสนอผลการศึกษาในประเทศไทย โดยพบว่าผู้หญิงไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเลือกอยู่เป็นโสดมากขึ้น หรือหากแต่งงานก็มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกน้อยลง ส่งผลไปยังอัตราการเกิดของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และกระทบต่อจำนวนกำลังแรงงานในอนาคต ก่อให้เกิดคำถามว่า รัฐจะมีนโยบายใดบ้างในการแก้ปัญหาดังกล่าว

 

 

"ทำไมน้องไม่แต่งงาน?" ท่อนหนึ่งจากเพลง "ชวนน้องแต่งงาน" ในปี 2524 ของคุณเกรียงไกร กรุงสยาม เป็นคำถามที่คล้ายคำหยอกเอินสาวโสดในอดีตว่าทำไมไม่ยอมแต่งงานสักที ผ่านมาเกือบ 40 ปี คำถามนี้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก จากการที่สัดส่วนผู้หญิงโสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าลง โดยเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า "Marriage Strike" ซึ่งสามารถพบได้ในหลายประเทศทั่วโลก

 

 

 

นอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศเอเชียที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ยังพบปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า "Gold Miss" ในกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง มีสถานภาพทางสังคมที่สูง โดยกลุ่มนี้ ไม่เพียงแค่จะชะลอการแต่งงาน แต่กลับเลือกที่จะไม่แต่งงานและคงสถานภาพการอยู่เป็นโสดอีกด้วย งานวิจัยที่มีชื่อว่า "Gold Miss" or "Earthy Mom"? Evidence from Thailand (Liao and Paweenawat, 2019a) ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงไทยกับการตัดสินใจแต่งงานและมีลูก โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วง 30 ปี (พ.ศ. 2528 - 2560) พบข้อสรุปที่น่าสนใจ 3 ประการ ดังนี้

 


1. ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มเป็นโสดมากขึ้น

 

 

งานวิจัยชิ้นนี้พบปรากฏการณ์ "Marriage Strike" ในประเทศไทย โดยผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงานและอยู่เป็นโสดมากขึ้น รวมถึงคนโสดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1980s เมื่อพิจารณาสัดส่วนคนโสด (คนที่ไม่เคยแต่งงาน) โดยแยกตามระดับการศึกษาจะพบว่า ร้อยละ 50 - 60 ของผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเป็นโสด และมีเพียงร้อยละ 15 - 20 ของผู้หญิงไทยที่จบชั้นมัธยมศึกษา และร้อยละ 10 - 15 ของผู้หญิงไทยที่จบชั้นประถมศึกษาเป็นโสด

 

 

 

นอกจากนี้ ยังพบปรากฏการณ์ "Gold Miss" ในประเทศไทยเช่นกัน โดยผู้หญิงไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้คนเลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น และไม่มีลูกเลย

 

 

งานวิจัยของ Hwang (2016) พบว่า ปรากฏการณ์ "Gold Miss" นี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และเกิดจากทัศนคติทางเพศที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น (intergenerational transmission of gender attitude) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียที่มีรากฐานวัฒนธรรมที่หยั่งลึกในเรื่องทัศนคติที่มีต่อเพศหญิง เพราะสังคมในประเทศกลุ่มนี้มีความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการแต่งงาน ซึ่งผู้หญิงมีบทบาททั้งในบ้านและนอกบ้าน นอกจากจะเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกและดูแลความเรียบร้อยของบ้านแล้ว ผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้มีบทบาทนอกบ้านในฐานะหนึ่งในแรงงานหลักที่ต้องหาเงินเข้าบ้านและเลี้ยงครอบครัวด้วย ความคาดหวังของสังคมเหล่านี้ ทำให้ผู้หญิงโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่าการแต่งงานมีครอบครัว จึงมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากยิ่งขึ้น

 


2. ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกน้อยลง

 

 

 

ในกรณีของประเทศไทย จำนวนลูกของผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มการศึกษาอื่น ๆ มีแนวโน้มคงที่หรือลดลงเพียงเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น หากเทียบภายในกลุ่มการศึกษาเดียวกันพบว่า ผู้หญิงที่เกิดช่วง ค.ศ. 1950s และจบปริญญาตรีขึ้นไปจะมีลูกโดยเฉลี่ย 1.3 คน ขณะที่กลุ่มที่เกิดช่วง ค.ศ. 1980s มีลูกเพียง 0.7 คน ซึ่งลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จำนวนลูกของผู้หญิงที่จบมัธยมศึกษาและประถมศึกษามีการลดลงเพียงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยจะยังอยู่ที่ 1.2 คนและ 1.5 คน ตามลำดับ

 


3. ระดับการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกในประเทศไทย

 

 

ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยที่เพิ่มสูงขึ้น แม้จะส่งผลบวกต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ส่งผลลบต่อการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกด้วย การที่ผู้หญิงไทยมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้มีโอกาสพบคู่ครองที่มีความเหมาะสมกันทั้งระดับรายได้และการศึกษาน้อยลง รวมถึงทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ได้รับค่าตอบแทนแรงงานสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้หญิงจากการลาคลอดและเลี้ยงดูลูกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงยังอาจเลือก "คุณภาพ" ในการเลี้ยงดูลูกมากกว่า "จำนวน" และอาจมีปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือไปจากระดับการศึกษา ที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกอีกด้วย

 

 

ปัจจัยที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้สามารถอธิบายการลดลงของอัตราการเกิดในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

 

ดังนั้น ประเทศไทยควรจะต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา "ทำไมน้องไม่แต่งงาน?" อย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยภาครัฐควรมี "นโยบายชวนน้องแต่งงาน" เพื่อที่จะกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวต้องการแต่งงานและมีลูกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ในประเทศอื่นนั้น ก็มีนโยบายกระตุ้นการแต่งงานและการมีลูกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น สิงคโปร์มีการให้ความสำคัญตั้งแต่การช่วยหาคู่ชีวิตให้คนโสด การให้เงินช่วยเหลือคู่สมรสใหม่ในการจัดหาซื้อบ้านเพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ และหากมีลูกก็มีการให้เงินทุนสนับสนุนทั้งการศึกษา สุขภาพ การลดหย่อนภาษี การขอคืนภาษีเพื่อช่วยเลี้ยงลูก ขณะที่ประเทศ ในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น นอร์เวย์และสวีเดน มีเงินช่วยเหลือในการจ่ายค่าบริการดูแลเด็ก และบางประเทศมีกฎหมายแรงงานที่เอื้อต่อการดูแลลูก เช่น สวีเดน พ่อแม่ที่มีลูกอายุน้อยสามารถ ขอลดเวลาทำงานได้ สหราชอาณาจักร อนุญาตให้พ่อแม่มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นได้

 

ที่มา : Liao, L. & Paweenawat, S.W.(2019a).“Gold Miss” or “Earthy Mom”? Evidence from Thailand.PIER Discussion Papers.