ธปท. ปรับกระบวนทัพ รับ New Landscape
ในวันที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ตัวกระตุ้นสำคัญอย่างวิกฤตโควิด 19 ทำให้วันนี้ผู้ประกอบการ ห้างร้าน บริษัทชั้นนำ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ต่างก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ทันกับพฤติกรรมและความคาดหวังของสังคมที่เปลี่ยนไป หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลภาคการเงินการธนาคารอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จำเป็นต้องปรับลักษณะการทำงานด้วยเช่นกัน วันนี้จึงขอพาทุกท่านมารู้จักกับทีมงานส่วนหนึ่งที่ ธปท. ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกระบวนทัพใหม่ไว้รองรับ new landscape
กลุ่มงานแรกที่ถูกจัดตั้งขึ้น คือ ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งมีทั้งการปรับรูปแบบตั้งแต่การแตกกลุ่มออกมาจากหน่วยงานเดิมและการจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้เท่าทันสภาพ เศรษฐกิจ สังคม และโลกการเงินที่เปลี่ยนไป
FinTech
เป็นฝ่ายงานที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและประชาชน รวมถึงมีการจัดตั้ง regulatory sandbox เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-Bank) สามารถทดสอบการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่กับลูกค้าจริงได้ในวงจำกัด ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน (2) การดูแลความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และ (3) การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม เช่น การชำระเงินด้วยมาตรฐาน Thai QR code การใช้เทคโนโลยี Biometrics ในกระบวนการพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้า การพิสูจน์ยืนยันตัวตนข้ามหน่วยงานผ่านแพลตฟอร์ม National Digital Identity (NDID) และการให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (electronics Letter of Guarantee: e-LG) บนระบบ blockchain ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือมาตรฐานกลางของการทำธุรกรรมทางการเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
Digital Currency
รูปแบบของการใช้เงินที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ "สกุลเงินดิจิทัล" จะมีบทบาทอย่างมากในกิจกรรมทางการเงินในอนาคต สกุลเงินดิจิทัลไม่ใช่แค่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพด้านการชำระเงิน แต่ยังก่อให้เกิดการเข้าถึงการสร้าง นวัตกรรมตลอดจนก่อให้เกิดผู้เล่นและบริการที่หลากหลาย อย่างไรก็ดีสกุลเงินดิจิทัลยังส่งผลต่อการดำเนินนโยบายและเสถียรภาพระบบการเงินเช่นกัน พันธกิจของ Digital Currency Team (DCT) ของ ธปท. มีบทบาททั้งด้านการกำหนดนโยบายร่วมกับฝ่ายงานต่าง ๆ ในการกำกับดูแลสกุลเงินที่ออกโดยภาคเอกชน (Private Digital Currency) และด้านการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) อย่างโครงการอินทนนท์ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสร้างและกำหนดภูมิทัศน์ทางการเงิน ของประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพในอนาคต
Data Analytics
กลุ่มงานที่มีจุดมุ่งหมายในการเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดัน พัฒนา และสนับสนุนการวิเคราะห์เชิงลึก โดยเฉพาะในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และในเชิงเทคนิคด้าน Machine Learning โดยเน้นการทำงานร่วมกับสายงานต่าง ๆ ภายใน ธปท. เพื่อสนับสนุนการตอบโจทย์ตามแผนยุทธศาสตร์ ธปท. ซึ่งครอบคลุมงานตามพันธกิจหลักและการบริหารจัดการองค์กร เช่น ศึกษาและพัฒนาเครื่องชี้เร็ว (Rapid Economic Indicator) เพื่อจับชีพจรเศรษฐกิจการเงินของไทยจากข้อมูลระดับจุลภาคและข้อมูลทางเลือก เช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ข้อมูลการขนส่ง รวมถึงสนับสนุนด้านข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงนโยบายให้สายงานต่าง ๆ เช่น การช่วยวิเคราะห์สภาวะสินเชื่อและการจ้างงานในช่วงสถานการณ์โควิด 19 การวิเคราะห์งานนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
Digital Transformation
การจะผลักดันให้องค์กรเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบได้นั้น นอกจากการต้องนำเครื่องมือดิจิทัลสมัยใหม่เข้ามาใช้งานแล้ว หัวใจสำคัญคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์จากบุคลากรภายในหน่วยงานน้องใหม่ล่าสุดจึงถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อโครงการ Digital Transformation ซึ่งมีโครงการย่อยที่นำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้งาน เช่น การนำ RPA (Robotic Process Automation) หรือการนำ robot มาช่วยทำงานโดยอัตโนมัติอย่างหมาะสม การนำเทคโนโลยี Microsoft Office 365 มาช่วยให้สามารถทำงานร่วมกันได้ทุกที่ทุกเวลาและสะดวกปลอดภัย รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ข้อมูลผ่าน service management platform หรือ new HR platform เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Digital First ที่มุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมี digital mindset และความสามารถทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นผ่าน digital champion ของแต่ละฝ่ายงานในโครงการ Digital Boot Camp
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ธปท. จึงให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระดับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยได้จัดตั้งหน่วยงานและโครงการต่าง ๆ เพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมถึงลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ
กลุ่มงานการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน
เป็นกลุ่มงานที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนรายย่อยผ่าน (1) โครงการคลินิกแก้หนี้ ที่มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงโควิด 19 ทั้งในรูปแบบการเลื่อนระยะเวลาชำระค่างวดและลดอัตรา ดอกเบี้ยตลอดปี 2563 มีลูกหนี้ลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับโครงการจำนวน 7,924 ราย ภาระหนี้รวม 2,662 ล้านบาท (2) ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางเสริมสำหรับช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจในการติดต่อกับ ผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อขอปรับแผนการชำระหนี้ ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2563 จนถึงสิ้นปี 2563 มีจำนวนคำขอเกือบ 120,000 รายการ และ (3) ดำเนินการยกระดับความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทร่วมกับกระทรวงยุติธรรม
กลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้
จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลกลุ่มลูกหนี้รายใหญ่ โดยได้ดำเนินการช่วยเหลือผ่านโครงการ DR BIZ ซึ่งมีแนวคิดมาจากการถอดบทเรียนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ ธปท. ได้เข้าไปช่วยเจรจาปรับปรุง โครงสร้างหนี้ระหว่างลูกหนี้ NPL รายใหญ่กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้ประกาศให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ด้วย
ทีมการธนาคารเพื่อความยั่งยืน
จัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดันให้สถาบันการเงินซึ่งถือเป็นตัวกลางในการส่งผ่านเงินทุนไปสู่ระบบเศรษฐกิจตระหนักถึงความสำคัญและดำเนินธุรกิจบนหลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (sustainable banking) โดยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาล (ESG) ตลอดจนสนับสนุนให้ลูกค้าภาคธุรกิจปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม