เบื้องหลังคอลัมนิสต์ บางขุนพรหมชวนคิด ร่วมด้วยช่วยคิด แจงสี่เบี้ย ยังอีโคโนมิสต์

 

 

ความท้าทายหนึ่งขององค์กรขนาดใหญ่ที่มีการทำงานที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน คือ การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอีกองค์กรที่มีการสื่อสารนโยบายผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงประชาชนแต่ละกลุ่มได้อย่างทั่วถึง หนึ่งในช่องทางการสื่อสารที่ใช้ คือบทความด้านเศรษฐกิจและการเงินในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ของสำนักข่าวชั้นนำและนี่คือตัวแทนนักเขียน ธปท. 4 คน จาก 4 คอลัมน์ดังอย่าง บางขุนพรหมชวนคิด ร่วมด้วยช่วยคิด แจงสี่เบี้ย และยังอีโคโนมิสต์

 

 

 

bot-people

 

 

ฐิติมา ชูเชิด หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด"

 


 

ฐิติมา ชูเชิด หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด"

ฐิติมา ชูเชิด หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด"

 

คอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด" เป็นคอลัมน์รายสัปดาห์ที่จะเปิดมุมมองคนแบงก์ชาติที่มีเนื้อหาสั้นและเข้าใจง่าย โดยประเด็นที่นำเสนอจะเป็นเรื่องที่ทันสถานการณ์และผู้อ่านได้ประโยชน์ว่าเรื่องที่เขียนมาเกี่ยวกับตัวเองอย่างไร บางครั้งก็เป็นช่องทางที่ ธปท. จะสามารถสื่อสารประเด็นหรือนโยบายต่าง ๆ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายตามการวิเคราะห์บนมุมมองของผู้เขียนเอง ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ของ ธปท. ที่เปิดโอกาสให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่

ฐิติมา ชูเชิด หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด"

ความท้าทายของการเขียนคอลัมน์นี้ อย่างแรกคือ การบริหารเวลา งานเขียนคอลัมน์ซึ่งเป็นงานที่เพิ่มขึ้นจากงานประจำเพราะเวลาที่ใช้ในการหาข้อมูลประกอบร่างเขียนมักเป็นช่วงนอกเวลางาน อย่างที่สองคือ การเลือกหัวข้อที่คิดถึงคนอ่านเป็นหลัก โดยต้องตั้งคำถามชวนคิดให้ได้ตามความตั้งใจของชื่อคอลัมน์ และอย่างสุดท้ายคือ เราต้อง ย่อยเรื่องและประเด็นต่าง ๆ ให้น่าสนใจและคนอ่านเข้าใจได้ง่าย

          

สิ่งที่ประทับใจจากคอลัมน์แรกถึงวันนี้ซึ่งผ่านมา 2 ปีกว่าแล้ว คือความประทับใจที่ทีมงานทั้ง 4 คนและพี่ดอน นาครทรรพ ได้ช่วยกันตั้งไข่คอลัมน์นี้ขึ้นมาและการได้ฝึกเขียนประยุกต์เศรษฐศาสตร์กับเรื่องรอบตัวให้เข้าถึงคนในวงกว้างจนสามารถรวมเล่มเป็นหนังสือ "บางขุนพรหมชวนคิด 1.0" ได้สำเร็จ รวมถึงประทับใจผู้อ่านที่คอยติดตาม ฝากความคิดเห็นให้คณะผู้เขียนบ่อย ๆ บางท่านส่ง link ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เพิ่ม และบางท่านก็นำไปขยายความต่อ การทำงานนี้จึงเป็นการทำงานที่สร้างสรรค์และเพิ่มพลังงานบวกให้กับตัวเองและคนอื่น ๆ ได้อย่างดีค่ะ

 

สามารถติดตามคอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด" ได้ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และ www.thairath.co.th

 

 

มณฑลี กปิลกาญจน์ หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "ร่วมด้วยช่วยคิด"

 


 

มณฑลี กปิลกาญจน์ หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "ร่วมด้วยช่วยคิด"

 

คอลัมน์ "ร่วมด้วยช่วยคิด" เป็นคอลัมน์ที่เน้นการสื่อสารเรื่องการดำเนินนโยบายของ ธปท. และสะท้อนแนวทางการปรับตัวที่เหมาะสมของภาครัฐและเอกชน โดยการเลือกประเด็นจะเน้นเรื่องที่มีความสำคัญ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและเป็นเรื่องที่ผู้อ่านสนใจ เพื่อจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในมุมต่าง ๆ

มณฑลี กปิลกาญจน์ หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "ร่วมด้วยช่วยคิด"

การได้เป็นตัวแทน ธปท. ในการเขียนคอลัมน์นี้ ทำให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองทั้งด้านการถ่ายทอดผ่านการสังเคราะห์เรื่องรายรอบและด้านทักษะการสร้างสรรค์งานเขียน เช่น การใช้ภาษาที่เรียบง่ายอย่างมีศิลปะ รวมถึงได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบรรณาธิการของคอลัมน์และผู้เขียนท่านอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอเรื่องราวที่ผู้เขียนมีความสนใจทำให้ผู้เขียนเองก็ได้รับความอิ่มเอมใจในการถ่ายทอดประเด็นต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำหรับการเขียนคอลัมน์นี้คือผู้เขียนต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำมาถ่ายทอด รวมถึงการเผยแพร่เรื่องและประเด็นดังกล่าวได้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

          

ประสบการณ์ที่ประทับใจคือ แรกเริ่มแม้จะมีความชอบด้านการเขียนอยู่บ้างแต่ก็เป็นงานเขียนส่วนตัว เมื่อได้รับโอกาสเป็นตัวแทน ธปท. ในการเขียนคอลัมน์จึงนับเป็นความภูมิใจและความประทับใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารการดำเนินนโยบายของ ธปท. สู่สาธารณชน และเมื่อได้รับความคิดเห็นจากผู้อ่านที่สะท้อนกลับมาว่าเป็นงานเขียนที่เข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่คนไม่จบเศรษฐศาสตร์อ่านได้ไม่เบื่อ หรือเป็นบทความชวนคิดที่ดี ความคิดเห็นจากผู้อ่านเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประทับใจและทำให้มีพลังในการพัฒนาการเขียนบทความในคอลัมน์ต่อไปค่ะ

 

สามารถติดตามคอลัมน์ "ร่วมด้วยช่วยคิด" ได้ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และ www.prachachat.net

 

 

พรสวรรค์ รักเป็นธรรม หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย"

 


 

 

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" เป็นบทความที่ถ่ายทอดความรู้และความคิดเห็นทางวิชาการของ ธปท. เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจและการเงินในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการเลือกประเด็นจะเน้นที่ทันสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การเขียนบทความเรื่องผลวิกฤต COVID-19 : ธุรกิจเทรนด์ใหม่ ภายใต้ next normal ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อกลางเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากในขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคบริการ ทีมงานได้ศึกษาการจับชีพจรเศรษฐกิจไทยเพื่อประเมินภาพและทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่าธุรกิจด้านการขนส่งเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงในขณะนั้น จึงเป็นโอกาสที่ได้เขียนประเด็นนี้

 

พรสวรรค์ รักเป็นธรรม หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย"

 

จากประสบการณ์ที่ได้รับโอกาสให้เขียนในคอลัมน์นี้ ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปรับตัวและความท้าทายในการทำงานภายใต้เวลาอันจำกัด รวมถึงรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการเขียนบทความมีเวลาไม่มากและบางครั้งอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ค่อนข้างตึงเครียด อย่างช่วงล็อกดาวน์เป็นช่วงที่เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ทำให้ต้องเรียนรู้การทำงานผ่านช่องทางออนไลน์และปรับตัวในการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมของการทำงานที่เปลี่ยนไป

พรสวรรค์ รักเป็นธรรม หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย"

นอกจากนี้ การเขียนบทความนี้ยังทำให้เห็นว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาส แม้จะมีปัญหาอุปสรรคมากมายแต่ยังมีโอกาสให้เราได้ค้นหาคำตอบหรือมีทางเลือกที่ดีกว่าได้เสมอ เช่น บางกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการดิจิทัล (digital service) รวมไปถึงผู้ประกอบการบางรายที่สามารถปรับตัวมาทำธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

 

สามารถติดตามคอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" ได้ที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ www.bangkokbiznews.com

 

 

โสภณ วิจิตรเมธาวณิชย์ หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "ยังอีโคโนมิสต์"

 


 

โสภณ วิจิตรเมธาวณิชย์ หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "ยังอีโคโนมิสต์"

 

คอลัมน์ "ยังอีโคโนมิสต์" เป็นคอลัมน์ที่นำเสนอความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ต่อประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การธนาคาร ตลาดทุน ตลาดเงิน รวมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. โดยเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

โสภณ วิจิตรเมธาวณิชย์ หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ "ยังอีโคโนมิสต์"

 การเลือกประเด็นในการเขียนจะประกอบด้วยหลักการพิจารณา 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) คำนึงถึงลักษณะผู้อ่านว่าชอบอ่านข่าวสารประเภทไหน (2) หัวข้อต้องเป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่สนใจหรือเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแส (3) หัวข้อที่เขียนในคอลัมน์จะต้องเป็นช่องทางในการส่งผ่านแนวความคิดหรือนโยบายที่ ธปท. กำลังดำเนินการหรือจะดำเนินการในอนาคต

          

นอกจากนี้ ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการเขียนคอลัมน์นี้คือการเลือกใช้คำหรือข้อความที่ต้องสามารถสื่อสารประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนภายใต้พื้นที่หน้ากระดาษที่จำกัด โดยภาษาที่ใช้ต้องไม่วิชาการมากเกินไปจนทำให้ผู้อ่านเข้าใจยากและต้องสามารถดึงดูดผู้อ่านให้อ่านจนจบบทความ เรียกได้ว่าการได้รับโอกาสที่ได้เขียนคอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารในรูปแบบการเขียนได้เป็นอย่างดี และเป็นความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วย ธปท. เผยแพร่แนวคิดและผลงานต่อสาธารณะอีกด้วย

 

สามารถติดตามคอลัมน์ "ยังอีโคโนมิสต์" ได้ที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และ www.thansettakij.com