THE GREAT RESET TOWARDS NEW WORLD LANDSCAPE

 

 

การกลับมาระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยอีกครั้ง ไม่เพียงทำให้ประชาชนต้องต้อนรับปีใหม่ 2564 ในแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน แต่ยังสะท้อนความจำเป็นต้องปรับตัวสู่วิถีการดำเนินชีวิตใหม่อย่างชัดเจนขึ้น เช่น การจับจ่ายใช้สอยตามตลาดห้างร้านที่ย้ายมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ หรือการทำงานที่พลิกโฉมมาอยู่บนแอปพลิเคชันมากขึ้น ซึ่งคลื่นการระบาดทั้งสองระลอกบังคับให้เกิดการปรับตัว บางคนปรับได้เร็ว บางคนปรับได้ช้า เราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยไม่จมหายไปกับคลื่นดังกล่าว? แต่ใช้โอกาสนี้ในการตั้งตัว Cover Story ฉบับนี้ จึงขอเชิญชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ 5 เทรนด์ที่กำลังมาแรงภายใต้ภาวะ new normal ที่อาจเป็นโอกาสให้เศรษฐกิจไทยได้ reset ตัวเองใหม่เพื่อการเติบโตต่อไปอย่างเข้มแข็ง

 

 

  • 1

    ) ทำงานด้วยวิถีใหม่

การทำงานจากบ้านหรือทำงานทางไกล อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับหลายคน แต่โควิด 19 ทำให้เทรนด์นี้แพร่หลายออกไปเป็นวงกว้าง อย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะไม่หายไปแม้โควิด 19 คลี่คลาย การประชุมออนไลน์ การนับเวลางานแบบยืดหยุ่น รวมทั้งการ live การทำงานจากกล้องมือถือเพื่อเป็นเพื่อนนั่งทำงานไปด้วยกันเป็นสิ่งที่พบเจอมากขึ้นในแต่ละวัน ไม่ว่าต่อไปจะมีหรือไม่มีโควิด 19 คนบางกลุ่มจะยังนิยมใช้เทคโนโลยีที่บ้านแบบนี้ในการดำเนินชีวิต เห็นได้จากดัชนี Google Mobility Index [1] ในช่วงหลังจากมีการเปิดเมืองที่คนไทยยังเดินทางน้อยกว่าช่วงก่อนการระบาด โดยลดการเดินทางไปที่ทำงานกว่า 10% และลดการเดินทางไปสถานีขนส่งกว่า 20 - 30% สอดคล้องกับภาพรวมการทำงานของโลกหลังโควิด 19 ที่คาดว่ากว่า 1 ใน 4 ของแรงงานในประเทศอุตสาหกรรมหลักจะสามารถทำงานทางไกลได้อย่างน้อย 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ [2]

บุคคลนั่งประชุมผ่าน notebook

โควิด 19 เร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในด้านการผลิตและการให้บริการเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งสร้างความท้าทายให้ทั้งภาคธุรกิจและแรงงานต้องปรับตัว เมื่อแรงงานต้องลดการเดินทางไปทำงานและลูกค้าลดกิจกรรมนอกบ้าน หลายธุรกิจจึงใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น อาทิการใช้ automation แทนแรงงานในภาคการผลิต การพัฒนาระบบงานซื้อขาย เพื่อเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันต่างๆ รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์แทนพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วย การทำงานทางไกลยังเอื้อให้ธุรกิจปรับแผนลดการขยายสาขาหรือลดพื้นที่เช่าสำนักงาน ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสให้ธุรกิจลดต้นทุนการดำเนินงานในระยะยาว แต่วิถีการทำงานแบบใหม่ก็สร้างแรงกดดันให้กับธุรกิจและแรงงาน ทั้งการดูแลให้กลุ่มลูกจ้างยังมีใจและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแม้ต้องทำงานจากทางไกลรวมถึงการปรับตัวและเพิ่มทักษะใหม่ให้วิ่งทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะธุรกิจและแรงงานกลุ่มที่มีความสามารถน้อยกว่าและยังคุ้นชินกับการหาเลี้ยงชีพแบบเดิมๆ

 

 

  • 2

    ) ระบบการเงินดิจิทัล

ประเทศไทยได้พัฒนาระบบการเงินดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเผชิญกับโควิด 19 จึงมีความพร้อมในการปรับเข้าสู่การชำระเงินออนไลน์ เพื่อรองรับการค้าออนไลน์ที่เร่งขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อคนไทยใช้พร้อมเพย์เพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านธุรกรรมต่อเดือนในช่วงก่อนการระบาดของโควิด 19 รอบก่อน มาอยู่ที่มากกว่า 500 ล้านธุรกรรมต่อเดือน ในช่วงปลายปี 2563 [3] แม้กระทั่งภาครัฐเองก็ได้ช่องทางในการผลักดันนโยบายได้รวดเร็วและตรงจุดขึ้นตัวอย่างที่ผ่านมา ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เป๋าตุง และถุงเงินที่มีส่วนช่วยส่งผ่านเงินช่วยเหลือให้กับประชาชนและประคับประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

ความปลอดภัย

นอกจากนี้ การวางโครงสร้างพื้นฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการยืนยันพิสูจน์ตัวตน (National Digital Identity: NDID) ก็จะเอื้อให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ ๆ ออกมาตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ตลอดจนการรับส่งข้อมูลของภาคการเงินและภาคธุรกิจด้วยมาตรฐาน ISO 20022 ซึ่งไม่เพียงยกระดับการชำระเงินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วภูมิภาคเอเชียและช่วยเสริมการชำระเงินข้ามพรมแดนเท่านั้น แต่ยังจะเอื้อให้ภาคธุรกิจส่งและรับข้อมูลไปพร้อมกับธุรกรรมทางการเงินได้ช่วยให้ภาคธุรกิจเก็บรวบรวมข้อมูลและเพิ่มความรวดเร็วในการได้รับเงิน ซึ่งระบบการเงินดิจิทัลจะสร้าง digital footprint ให้กลายเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะช่วยให้ทั้งภาคธุรกิจและสถาบันการเงินวางแผนและประเมินความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่นๆ ได้ดีขึ้นด้วย

 

 

  • 3

    ) แบ่งปันข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตขึ้นได้สร้างข้อมูลมหาศาล ซึ่งนับเป็นขุมทรัพย์ใหม่แก่ธุรกิจและภาครัฐ โควิด 19 ทำให้ยุคดิจิทัลมาเร็วขึ้นและมีผลในวงกว้าง โดยในปี 2563 เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตได้ถึง 7% แม้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ถ้าเทียบกับปี 2559 คนไทยค้นหาบริการส่งอาหารเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่าและค้นหาบริการสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้นกว่า 18 เท่า และที่น่าสนใจที่สุดคือกว่า 30% ของผู้ใช้บริการดิจิทัลเป็นผู้ใช้หน้าใหม่ และเกือบทั้งหมดมีแนวโน้มจะใช้บริการดิจิทัลต่อเนื่อง[4] ตามความเคยชิน สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดจำนวนและประเภทของข้อมูลชนิดใหม่ ๆ ที่สร้างโอกาสแก่ธุรกิจ โดยเฉพาะข้อมูลรายธุรกรรมที่จะสามารถสะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ประเภทอาหารหรือภาพยนตร์ที่ชอบ ความถี่หรือช่วงเวลาในการใช้บริการออนไลน์ รวมทั้งข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ อาทิ อายุหรือเพศของผู้ใช้งาน นอกจากการใช้ประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะเอื้อให้ภาครัฐออกแบบนโยบายสาธารณะได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้นด้วย ในทางกลับกันข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นยังสร้างความท้าทายในการจัดเก็บ การใช้ และการแชร์อย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนความสามารถของบุคลากรที่พร้อมจะบริหารขุมทรัพย์ใหม่นี้ให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนที่เป็นเจ้าของข้อมูล

ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  • 4

    ) ปรับทิศรักษ์โลก สร้างความยั่งยืน

โควิด 19 ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนขึ้น ดังจะเห็นได้จากช่วงล็อกดาวน์ที่สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้มีเวลาหายใจและฟื้นฟูตัวเอง สะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในยามปกติอาจเกินความสามารถของธรรมชาติที่จะรองรับ และสร้างผลลบให้กับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ทั่วโลกก็เกิดแรงสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมจากคนตัวเล็ก ๆ มากขึ้น เช่น สารคดีของ David Attenborough เรื่อง A Life on Our Planet ที่เล่าถึงการที่โลกทรุดโทรมลงรวดเร็วในช่วงชีวิตของคนคนเดียว ซึ่งทำให้กระแสรักษ์โลกยิ่งประสานพลังกับแนวทางที่ภาครัฐทั่วโลกรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศผลักดันมาตลอด และตอกย้ำทิศทางด้วยการที่สหรัฐฯ ตัดสินใจกลับเข้าร่วมความตกลงปารีสอีกครั้งในปีนี้ อีกด้านหนึ่ง การระบาดของโควิด 19 ได้ตอกย้ำกระแสรักสุขภาพ กินคลีน และชวนกันออกกำลังกายโดยเฉพาะผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส

ปรับทิศรักษ์โลก สร้างความยั่งยืน

นอกจากนี้ ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่คนไทยเผชิญมาหลายปี ก็เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนผลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพ ความตระหนักรู้ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนยิ่งกว่าช่วงใด ๆ กลายเป็นความท้าทายให้หลายอุตสาหกรรมต้องปรับกระบวนการผลิตและบริการให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสให้ภาครัฐทั่วโลกเร่งสร้างระบบจูงใจให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคหันมาสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electronic Vehicle: EV) และพลังงานสะอาด สำหรับประเทศไทยที่เคยพึ่งพานักท่องเที่ยวปีละเกือบ 40 ล้านคน ก็สามารถใช้จังหวะที่การท่องเที่ยวหยุดชะงักเร่งฟื้นฟู และปรับโครงสร้างภาคการท่องเที่ยวให้ยอดการใช้จ่ายต่อคนเพิ่มขึ้น แทนการพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่า ขณะเดียวกัน ความสนใจด้านสุขภาพก็สร้างโอกาสให้ธุรกิจด้านอาหาร การเกษตร และการบริการรักษาพยาบาลให้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง

 

 

  • 5

    ) พลิกฟื้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ

เมื่อ 4 เทรนด์ข้างต้นบังคับให้ทุกคนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โอกาสและความสามารถในการปรับตัวที่ไม่เท่าเทียมกันของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมจะทำให้ฐานะของกลุ่มเศรษฐกิจห่างออกจากกันมากขึ้น การทำงานวิถีใหม่ไม่ได้ทำได้ทุกคน เช่น แรงงานที่ขาดทักษะด้านดิจิทัลมีความเสี่ยง จะตกงาน ขณะเดียวกันแรงงานกลุ่มที่หาเช้ากินค่ำเช่น แม่ค้าในตลาด วินมอเตอร์ไซค์ ผู้ใช้แรงงาน ก็มีลักษณะงานที่เสี่ยงกับปัญหาด้านสุขภาพมากกว่ามนุษย์เงินเดือนทั้งจากโควิด 19 และปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ส่วนประชาชนที่ขาดเครื่องมืออุปกรณ์และความรู้ด้านการเงินออนไลน์ จะไม่ได้ประโยชน์ของการเงินดิจิทัลอย่างเต็มที่ เพราะยังต้องพึ่งการทำธุรกรรมแบบดั้งเดิม ในด้านการแข่งขัน ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายธุรกิจกว้างไกล จะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาลเป็นแต้มต่อ ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กกว่าอาจมีข้อจำกัดทั้งความพร้อมของบุคลากรทางด้านดิจิทัลและการเข้าถึงเงินทุน ทำให้เสียโอกาสและเสียความสามารถในการแข่งขัน

พลิกฟื้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ

ภายใต้ new landscape นี้ทำอย่างไรให้การเว้นระยะห่างไม่นำไปสู่การทิ้งห่างผู้ที่ปรับตัวได้ช้ากว่า? คำตอบคงไม่ได้อยู่ที่ภาคส่วนเดียว แต่ทั้งประชาชน ธุรกิจและภาครัฐต้องร่วมกันมีบทบาทในการกระชับความต่างของการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจในแต่ละกลุ่มด้านประชาชนและแรงงานต้องยกระดับและปรับทักษะ upskill reskill การทำงาน ธุรกิจต้องนำระบบดิจิทัลมาใช้เพิ่มขึ้นและต่อยอดนวัตกรรม และที่สำคัญภาครัฐต้องช่วยวางกรอบนโยบายในภาพรวมให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะการดูแลกฎกติกาให้ประชาชนและธุรกิจรายย่อยๆ มีโอกาสที่เท่าเทียมและแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม รวมทั้งคำนึงถึงพื้นฐานและผลกระทบที่จะมีต่อแต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เท่ากัน การสร้างโอกาสและเสริมความสามารถให้ทุกคนปรับตัวได้เร็วจะช่วยเพิ่มความพร้อมให้ไทยรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลกที่ไม่แน่นอนได้ดีขึ้น เมื่อโควิด 19 มีแนวโน้มจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน การเร่งปรับตัวของทุกภาคส่วนในครั้งนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยยกเครื่อง reset เศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าไปพร้อมกันอย่างเข้มแข็ง

 

[1] Google Mobility Index อ้างอิงจากเอกสารประกอบการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายน ปี 2563

[2] อ้างอิงจากรายงานของ McKinsey & Company "What's next for remote work: An analysis of 2,000 tasks, 800 jobs, and nine countries"(November 23, 2020)

[3] ที่มา : ธปท. ข้อมูลธุรกรรมการโอนและชำระเงินผ่านบริการพร้อมเพย์

[4] อ้างอิงจาก Google Report "e-Conomy SEA 2020, at full velocity: resilient and racing ahead"