จัดการเงินก้อนใหญ่ให้อยู่หมัด

 

 

เป็นใครก็ยิ้มแก้มแทบปริทันทีที่ได้เงินก้อนใหญ่ ทั้งแบบที่ให้กันต่อหน้าหรือโอนเข้ามาในบัญชี ไม่ว่าเงินก้อนนั้นจะได้มาจากโบนัสที่ตรากตรำทำงานมาทั้งปี มรดกตกทอด จากเจ้าคุณปู่ หรือเงินแต๊ะเอียที่ผู้ใหญ่ใจดีมอบให้

 

 

จัดการเงินก้อนใหญ่ให้อยู่หมัด

 

 

แต่เดี๋ยวก่อน!!! Financial Wisdom อยากชวนหลาย ๆ คนสะกดใจไว้สักครู่ อย่าเพิ่งรีบเอาเงินไปชอปปิงจนหมดอย่างปีที่ผ่านมา หายใจเข้าและออกช้า ๆ เพื่อตั้งสติและเพิ่มความคิดว่า นาน ๆ ทีถึงจะมีเงินก้อนใหญ่เข้ามาสักครั้ง ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะจัดการให้เงินก้อนใหญ่นี้อยู่กับเราไปอีกนาน หรือใช้อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งมีวิธีง่าย ๆ ที่อยากแนะนำก็คือ ให้แบ่งเงินก้อนใหญ่ที่ได้ออกเป็น 4 ก้อนย่อย

          

เริ่มต้นที่ก้อนที่ 1 แบ่งเก็บเป็นเงินออมเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงินออมก้อนแรกและก้อนสำคัญที่ควรมีก่อนเงินออมเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ด้วยการสำรวจตัวเองว่า ตอนนี้มีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน 3 - 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็น และภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนแล้วหรือยัง หากยังไม่มีหรือยังเก็บไม่ครบ ให้แบ่งเงินส่วนหนึ่งมาเป็นเงินออมเผื่อฉุกเฉินและทยอยเก็บเล็กผสมน้อยเพิ่มเติมจนครบถ้วน ซึ่งเราควรเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่สามารถถอนมาใช้ได้ทันกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน รับรองว่ามีเงินออมก้อนนี้แล้ว จะอุ่นใจและไม่หวั่นกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ในอนาคต

          

ต่อมาที่ก้อนที่ 2 แบ่งไปจ่ายหนี้สิน เริ่มจากแจกแจงรายการหนี้ที่มีอยู่ลงในกระดาษหรืออุปกรณ์อื่นที่ช่วยให้เราคำนวณได้ง่าย เช่น Excel file ว่ามีหนี้อะไรบ้าง ยอดหนี้เท่าไหร่ คิดดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ และต้องชำระงวดละกี่บาท ทำให้เห็นรายละเอียดของหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด จากนั้น เรียงลำดับและเลือกหนี้ที่เราต้องการจะสะสางก่อน เช่น หนี้ที่ดอกเบี้ยแพงที่สุด เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ซึ่งมักจะเป็นหนี้นอกระบบ หนี้บัตรกดเงินสด หนี้บัตรเครดิต หรือจะเลือกปิดหนี้ที่มียอดหนี้คงเหลือน้อยที่สุดก่อนในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเท่า ๆ กัน (เช่น มีเฉพาะหนี้บัตรเครดิตแต่มีหลายใบ) หรืออัตราดอกเบี้ยไม่ต่างกันมากนัก เพื่อสร้างกำลังใจว่าหนี้หายไป 1 ก้อนแล้ว และเราจะต้องทำให้หนี้ที่เหลือหายไปให้ได้ในอนาคตอันใกล้

          

ก้อนที่ 3 แบ่งไปลงทุน เริ่มจากคิดว่า เรามีเป้าหมายใดในชีวิตที่ต้องใช้เงินบ้าง จำนวนเงินที่ต้องการ ระยะเวลาในการลงทุน และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทางเลือกในการลงทุนมีหลากหลายประเภท ทั้งพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น กองทุนรวม และอื่น ๆ โดยแต่ละทางเลือก มีเงื่อนไขการลงทุน ความเสี่ยง ผลตอบแทน รวมถึงข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป เมื่อศึกษาแต่ละทางเลือกอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะได้เลือกและแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น เป้าหมายคือทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีของลูกน้อย จำนวนเงิน 1 ล้านบาท มีระยะเวลาลงทุน 18 ปี สามารถจัดพอร์ตการลงทุนระยะยาวด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายอย่าง เช่น เงินฝาก 10% ตราสารหนี้ 20% และหุ้น 70% เนื่องจากมีระยะเวลานานหลายปี (มากกว่า 7 ปี) จึงสามารถลงทุนในหุ้นซึ่งความเสี่ยงสูงได้มากในช่วงแรก ๆ หลังจากนั้นให้คอยติดตามและพิจารณาปรับพอร์ตฯ อย่างน้อยปีละครั้ง ให้สอดคล้องกับระยะเวลาการลงทุนที่เหลือน้อยลง แต่หากมีเป้าหมายการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี การเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อเลยทีเดียว

 

 

 

 

ภาพการเลือกลงทุนเงินก้อน

 

 

ก้อนสุดท้ายเป็นการให้รางวัลกับตนเอง ไปชอปปิงของที่อยากซื้อมานานแสนนาน ไปชิลในสถานที่ท่องเที่ยวที่หมายตากับคนรู้ใจ ไปชิมอาหารร้านเด็ดกับคนในครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่ควรแบ่งเงินก้อนนี้ให้ชัดเจนซึ่งไม่ควรเกิน 20% ของเงินก้อนใหญ่ที่ได้รับ เพื่อไม่ให้ใช้เงินเพลินจนเผลอกินส่วนของเงินอีก 3 ก้อนที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้

         

หลังจากที่ได้ฝึกวางแผนในวันนี้แล้ว ไม่ว่าคุณจะได้เงินก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ หรือก้อนไหน ๆ ในอนาคต ขอแค่วางแผนก่อนใช้ เงินก็จะไม่ละลายหายวับไปในชั่วพริบตา Financial Wisdom ขอเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านทุกท่านสามารถจัดการเงินทุกก้อนให้เติบโตไปพร้อมกับตัวคุณ