"วัคซีนโควิด 19" ความหวังของคนทั่วโลก

 

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด 19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถือเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิต สภาพเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมาก เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งในประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศกำลังพัฒนา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินความเสียหายในปี 2563 - 2564 กว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความหวังเดียวของการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด 19 คือ "วัคซีน"

 

 

covid-19 vaccine

 

 

 

ความสำเร็จในการผลิตวัคซีน

 


 

ปลายปี 2563 เริ่มมีข่าวดีเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่ผู้ผลิตหลัก 2 ใน 4 รายประสบความสำเร็จในการทดลองวัคซีนในมนุษย์ ในเดือนธันวาคม 2563 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(FDA)ให้การรับรองวัคซีนจากบริษัท ไฟเซอร์ - ไบออนเทค(Pfizer-BioNTech)และโมเดอร์นา(Moderna)ก่อนจะเริ่มแจกจ่ายให้ประชากรทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้ฉีดก่อนส่วนอีก 2 ราย คือ อ็อกซ์ฟอร์ด - แอสตราเซเนกา(Oxford - AstraZeneca)และสปุตนิก(Sputnik)ก็ทยอยผลิตวัคซีนตามมา

          

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการแจกจ่ายจะเริ่มที่กลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก ส่วนการจะไปถึงมือประชากรทั่วโลกที่มีกว่า 7,000 ล้านคนต้องใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล รวมถึงแต่ละประเทศต้องมีการวางระบบบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด

          

ประเทศในเอเชียได้มีการทดสอบและเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตัวเองเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น รวมถึง ไทย แต่ยังต้องติดตามผลทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญ การกลายพันธุ์ของไวรัสที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศอังกฤษเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ และทำให้ผู้ผลิตวัคซีนจะต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนสูตรของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนให้คนไทย

 


 

 

ตั้งเป้าฉีดคนไทย 70 ล้านโดส ฟรี

 

 

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด 19 กับแอสตราเซเนกา บริษัท ผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ - สวีเดน วงเงินรวมกว่า 6,000 ล้านบาท คาดว่าจะจัดหาวัคซีนได้ 26 ล้านโดสให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงจำนวน 13 ล้านคนในช่วงกลางปี 2564 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานความร่วมมือให้บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด 19 ดำเนินการบรรจุและแจกจ่ายให้กับประชาชน

 

 

วัคซีนโดยคนไทย

 


 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการพัฒนาวัคซีนของตัวเอง เริ่มตั้งแต่การระบาดช่วงแรกต้นปี 2563 ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนกว่า 20 ชนิด ที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือ วัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนชนิด DNA วัคซีนชนิด mRNA เป็นชนิดเดียวกับที่บริษัทไฟเซอร์พัฒนา โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าจะมีการทดสอบในมนุษย์ช่วงกลางปี 2564 หากได้ผลดี มีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโควิด 19 จะแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไปในปี 2565

 

 

timeline วัคซีนเพื่อคนไทย สู้ภัยโควิด-19

 

 

ขณะเดียวกัน บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด บริษัทสตาร์ทอัปของไทยที่เกิดจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ผู้พัฒนาเทคนิคสกัดโปรตีนจากใบยาสูบ นำมาพัฒนาเป็นวัคซีนโควิด 19 และแอนติบอดีในการยับยั้งเชื้อไวรัส ประกาศระดมทุน 500 ล้านบาท โดยเชิญชวนคนไทย 1 ล้านคนบริจาคเงินคนละ 500 บาท ผ่านมูลนิธิ CU Enterprise จากเงินทุนตั้งต้นนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อทดลองในมนุษย์ได้ในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2564 โดยเป็นพันธมิตรกับองค์การเภสัชกรรมและบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด

          

ผศ. ภญ. ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CEO และ co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัดกล่าวว่า ปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนต้นแบบ 6 ชนิดที่พร้อมนำมาทดสอบ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะถือเป็นวัคซีนของคนไทย เพื่อคนไทย ทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ในราคาไม่แพง และมีแผนผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

 

 

แผนกลยุกต์บริหารจัดการวัคซีน

วัคซีนป้องกันโควิด 19 จึงเป็นความหวังของคนไทย รวมถึงคนทั่วโลกเพียงอย่างเดียวในตอนนี้ ที่จะสามารถนำมาต่อสู้กับมหันตภัยของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้