"เหนียวห่อกล้วยยายศรี" การผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยี ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ในยุคโควิด 19
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 1 ปี และยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ไม่เพียงทำให้การใช้ชีวิตของคนไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับความปกติใหม่ (new normal) แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้างทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวชั่วคราวและบางธุรกิจถึงกับต้องปิดตัวถาวร จนมีแรงงานจำนวนมากตกงาน แรงงานที่มีถิ่นฐานอยู่ต่างจังหวัดย้ายกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ โควิด 19 ยังสร้างภูมิทัศน์ใหม่ (new world landscape) ที่มีส่วนเร่งกระแสการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของโลก (mega trends) อาทิ กระแสการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อ และวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
หนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบและเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องหาทุกวิถีทางในการปรับตัวเพื่ออยู่ให้รอดในยุคโควิด 19 และภูมิทัศน์ใหม่ ซึ่งประสบการณ์ในอดีตได้สอนให้รู้ว่า "ในทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาส" คอลัมน์เศรษฐกิจติดดิน ครั้งนี้ จึงขอหยิบยกตัวอย่าง "เหนียวห่อกล้วย ยายศรี" ธุรกิจขนาดเล็กที่ได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจนสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับครอบครัวและชุมชนที่อาศัยอยู่ได้ เพื่อช่วยจุดประกายแนวทางการปรับตัวในภูมิทัศน์ใหม่ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นในชุมชนอื่น ๆ โดยการเรียนรู้และประยุกต์ใช้โมเดลธุรกิจของท้องถิ่นนี้
"คุณบัว" หรือ นางสาวเสาวนีย์ คงกำเนิด อายุ 32 ปี หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระ
ทบจากโควิด 19 ทำให้ต้องปิดสถาบันสอนภาษาและศิลปะที่เปิดร่วมกันกับเพื่อนและกลับไปอยู่กับครอบครัวและคุณยายที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งการติดตามข่าวเรื่องโควิด 19 ทำให้คุณบุญศรี นางนวล หรือคุณยายศรี วัย 72 ปี เกิดภาวะเครียด คุณบัวอยากช่วยให้คุณยายรู้สึกผ่อนคลายจึงปรึกษากับครอบครัวเพื่อหากิจกรรมทำร่วมกับคุณยาย ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าอยากให้คุณยายทำในสิ่งที่ถนัด นั่นก็คือการทำ "เหนียวห่อกล้วย" ที่ครอบครัวคุณบัวคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เหนียวห่อกล้วยเป็นขนมพื้นบ้านที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ "ข้าวต้มมัด" โดยข้าวต้มมัดของคุณยายศรีเป็นสูตรที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นทวดสู่รุ่นคุณยายศรี เป็นสูตรโบราณสไตล์ปักษ์ใต้ที่มีอายุกว่า 70 ปี และนับเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของขนมพื้นบ้านจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จุดนี้เองทำให้แนวคิดของครอบครัวคุณบัวได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของ "เหนียวห่อกล้วยยายศรี" ธุรกิจที่มียอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาต่อมา
นอกจากเหนียวห่อกล้วยยายศรีจะมีรสชาติอร่อยและคุณภาพดีแล้ว การทำตลาดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ที่ เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเองก็มีแนวโน้มที่จะนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สะท้อนจากยอดขายในตลาดค้าปลีกออนไลน์ไทยในปีที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดกว่า 35% ทำให้การทำการตลาดและการขายสินค้าในระยะต่อไปต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและตอบสนองพฤติกรรมการซื้อของที่เปลี่ยนไปได้
คุณบัวได้ใช้ประโยชน์จาก social media ที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยเริ่มจากการโพสต์ขายเหนียวห่อกล้วยลงใน Facebook ส่วนตัวและเริ่มเปิดรับออเดอร์จากเพื่อน ๆ และเมื่อออเดอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ คุณบัวจึงตัดสินใจเปิดเพจ "เหนียว ห่อกล้วยยายศรี" ใน Facebook เพื่อใช้เป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่าย ซึ่งถ้าเข้าไปในเพจนอกจากจะเจอผลิตภัณฑ์เหนียวห่อกล้วยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาคือรูปภาพจดหมายน้อยที่จะถูกแนบไปกับกล่องสินค้าที่จัดส่งให้ลูกค้าซึ่งคุณยายศรีเขียนขึ้นเพื่อแทนความรู้สึกขอบคุณ โดยเนื้อหาในจดหมายจะปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาต่าง ๆ และความรู้สึกของคุณยายศรี เช่น ในช่วงปีใหม่ เนื้อหาจะเป็นการสวัสดีปีใหม่และอวยพรให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งถือเป็นเสน่ห์เล็ก ๆ ที่เกิดจากความใส่ใจของคุณยายศรี นอกจากนี้เหนียวห่อกล้วยยายศรียังมีการโปรโมทและขายผ่านช่องทางออนไลน์อื่น ๆ เช่น Instagram แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Shopee รวมทั้งยังเข้าถึง influencer ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้คนรู้จัก "เหนียวห่อกล้วยยายศรี" ได้มากและเร็วขึ้น ซึ่งยอดขายที่เติบโตขึ้นนี้เริ่มจากเพียง 20 คู่ต่อสัปดาห์เป็น 50 ถึง 100 คู่ และก้าวกระโดดเป็น 3,000 คู่ต่อสัปดาห์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ นับเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของธุรกิจนี้ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ได้เป็นอย่างดี
จากตัวอย่างของเหนียวห่อกล้วยยายศรี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุค new normal นี้ เทคโนโลยีได้ขยับเข้ามาใกล้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เราได้เห็นช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย หรือ มีช่องทางหรือพื้นที่กลางให้ผู้ประกอบการเข้ามาประชาสัมพันธ์สินค้า เช่น market place ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ บน Facebook อย่างธรรมศาสตร์และการฝากร้านจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส หรือ PSU Bazaar ดังนั้นการใช้ช่องทางออนไลน์และ social media จึงมีบทบาทสำคัญและกลายเป็นหนึ่งช่องทางสำคัญในการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องปรับใช้ให้ทัน
เมื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่าง social media เพื่อช่วยด้านการตลาดแล้ว อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ คือ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนโดยหลังจากจำนวนออเดอร์เริ่มเข้ามามากขึ้นการผลิตจึงต้องการกำลังเสริม กลุ่มคนที่คุณบัวนึกถึงก็คือเพื่อน ๆ ในชุมชนของคุณยายศรีที่ส่วนใหญ่อยู่บ้านเพียงลำพังเนื่องจากลูกหลานไปทำงานอยู่ต่างถิ่น คุณบัวจึงให้คุณยายชักชวน เพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันมามีส่วนร่วมในการผลิต จนปัจจุบันมีผู้อาวุโสในชุมชนกว่า 10 คนมาร่วมผลิต ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างกิจกรรมที่ทำร่วมกันในชุมชนและได้ผ่อนคลายความเครียดจากสถานการณ์โควิด 19 และ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้อาวุโสเหล่านี้ได้กลับมามีรายได้เสริม ช่วยลดการพึ่งพาเงินจากลูกหลานได้ระดับหนึ่ง
นอกจากกระบวนการผลิตที่อาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนแล้ว คุณบัวยังพยายามใช้วัตถุดิบในการผลิตจากในชุมชนให้มากที่สุดด้วย เช่น น้ำตาลมะพร้าวที่ผลิตแบบธรรมชาติภายในชุมชน เพื่อช่วยกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน ดังนั้นการเติบโตอย่างต่อเนื่องของยอดขายเหนียวห่อกล้วยยายศรีจะส่งผลให้ชุมชนมีรายได้ที่ดีสม่ำเสมอ ซึ่งการเชื่อมโยงระหว่างในชุมชนในลักษณะนี้สามารถต่อยอดไปเป็นการรวมตัวเป็นวิสาหกิจ ชุมชนได้ โดยที่ผ่านมามีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นอยู่ไม่น้อย อาทิ "ชีวาร์" ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยของวิสาหกิจชุมชนชีววิถีจังหวัดน่าน ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นระดับชาติ Prime Minister Herbal Award (PMHA) ประจำปี 2562 และมีผู้ติดตาม ใน Facebook กว่าหมื่นคน เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณบัวยังพยายามต่อยอดและขยายธุรกิจเหนียวห่อกล้วยยายศรี โดยการหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ และการได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการพัฒนาสินค้าและการทำธุรกิจ เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช หน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมกลุ่มอาชีพด้วยการนำภูมิปัญญามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และให้ความรู้ในเรื่องของการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ OTOP ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มาช่วยพัฒนาวิธียืดอายุสินค้า ได้เครือข่ายต่าง ๆ ที่ทำให้ได้ไปอยู่ในกระบวนการขอรับเครื่องหมาย อย. จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนได้ช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มเติมในร้าน OTOP เมืองนคร ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานนครศรี- ธรรมราช และในระยะต่อไปคุณบัวยังมีแผนในการพัฒนาสินค้าใหม่ ตลอดจนการขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศเพื่อเป็นการขยายธุรกิจมากขึ้นอีกด้วย
สุดท้ายนี้ "เหนียวห่อกล้วยยายศรี" จะเป็นมากกว่าตัวอย่างของการผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเทคโนโลยีภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ในยุคโควิด 19 หากชุมชนต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยมองว่านี่คือหนึ่งในโมเดลต้นแบบของการปรับตัวในการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ เป็นโมเดลของการส่งมอบภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นที่สามารถนำมาต่อยอดได้จริง และชุมชนพร้อมที่จะเรียนรู้และนำไปปรับใช้เพื่อสร้างรายได้ ทำให้ตนเองและชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่นี้ได้ในที่สุด