​รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อุตสาหกรรมและการค้าไทยบน 4 คลื่นลูกใหม่ในเวทีการค้าโลก

 

 

ปี 2563 เป็นปีที่โควิด 19 เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจน สร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและปี 2564 โลกยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ของโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความหวังมากขึ้นจากการผลิตวัคซีนป้องกันได้สำเร็จ แต่ระหว่างที่กำลังเผชิญกับโรคระบาดอยู่นี้ ประเทศไทยยังต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบจากคลื่นลูกใหม่ 4 ด้านที่มาจากเวทีการค้าโลกอีกด้วย

 

ในทัศนะของ รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ในปี 2564 มี 4 ปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อเวทีการค้าโลก ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมรับมือ

 

 

แน่นอนว่าเหตุปัจจัยทั้งหมด เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่เกิดขึ้นในโลกนี้ รวมทั้งส่งผลต่อทิศทางการค้าโลกด้วย

รศ. ดร.ปิติระบุ

 

 

รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

 

 

Global Supply Chain และการเปลี่ยนดุลอำนาจในเวทีโลก

 


 

ปัจจัยแรก คือ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของดุลอำนาจการค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเอง อย่างนโยบาย Dual Circulation หรือยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานของจีน และนโยบาย America First ที่เกิดขึ้นในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่ง รศ. ดร.ปิติเห็นว่าจะเป็นนโยบายที่จะได้รับการสานต่อในสมัยของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ

 

ในช่วง 4 ปีของทรัมป์กับนโยบาย America First ได้ประกาศตัดขาดจากโลก และประกาศ สงครามการค้ากับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีน ทำให้เกิดปัจจัยที่สอง คือ การเปลี่ยนของดุลอำนาจในเวทีโลก

 

 

รศ. ดร.ปิติกล่าวว่า หลังจากสิ้นสุดยุคสงครามเย็น นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 90 เป็นต้นมา โลกเข้าสู่ยุคขั้วอำนาจเดียวคือ สหรัฐฯ ที่วางกฎระเบียบผ่านองค์กรต่าง ๆ ทั้งธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) แต่ด้วยนโยบาย America First ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตัดสหรัฐฯ ให้ขาดจากโลกด้วยการประกาศสงครามการค้ากับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีน จากที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอด รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ต้องดิ้นรนหาประเทศพันธมิตรใหม่ เกิดยุคหลายขั้วมหาอำนาจ(multipolar era) ทั้งสหภาพยุโรป อาเซียน ซึ่งไทยต้องปรับตัวให้สอดรับกับกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

 

การเปลี่ยนดุลอำนาจในเวทีโลก

 

 

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

 


 

ปัจจัยประการที่สามเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง (technology disruption) รศ. ดร.ปิติกล่าวว่า “ปัจจุบัน เราได้เห็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าการค้าโลกชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่มีความสามารถในการชี้นำตลาดฝั่งสหรัฐฯ อาทิ Apple Amazon Google หรือในฝั่งจีน อาทิ JD.com Alibaba WeChat

                   

เมื่อบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่พยายามผูกขาดตลาดผ่านการสร้าง ecosystem เฉพาะของตัวเอง ทำการบิดเบือนตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ โดยเฉพาะ SMEs ให้ไม่สามารถเข้าแข่งขันได้ การกระทำของบริษัทเหล่านี้ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน จึงมีโอกาสที่จะถูก disrupt ด้วยเช่นกัน

 

 

สำหรับปัจจัยสุดท้าย คือ การให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก รศ. ดร.ปิติกล่าวว่า การค้าโลกยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และจริยธรรม ซึ่งการพัฒนาตามแนวทางนี้ อาจทำให้ต้นทุนการค้าเพิ่มสูงขึ้น ยกตัวอย่าง เรื่องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สหรัฐฯ มีแหล่งน้ำมันจากหินดินดาน (Shale oil) ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีต้นทุนในการขนส่งต่ำโดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศ แต่กระบวนการขุด Shale oil นี้ ทำลายธรรมชาติอย่างมากจึงต้องจับตาดูนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่หากไม่สนับสนุน Shale oil ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นด้วย

          

ขณะที่จีนมีโครงการพัฒนาเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative : BRI) ที่รวมเอาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทั้งถนน รางรถไฟ และท่าเรือ รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ถือเป็นระบบโลจิสติกส์ภาคพื้นดินสำคัญที่จะเชื่อมเอเชียและยุโรป ซึ่งจะย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากจีนถึงยุโรปเหลือไม่เกิน 18 วัน มีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศ และจะมีส่วนสำคัญในการพลิกโฉมการค้าของไทยในอนาคต

 

 

ความคืบหน้าข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ

 

 

“ทั้ง 4 ปัจจัย ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยที่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับนโยบาย กฎระเบียบทางการค้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ แต่ในระยะสั้น โดยเฉพาะนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เชื่อว่า สงครามการค้ายังคงดำเนินต่อไป และต้องจับตาดูมาตรการระยะสั้น 3 เรื่อง ที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ การปรองดองคนในชาติ การแก้ปัญหาวิกฤตโควิด 19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังจากนี้ จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าของไทยอย่างแน่นอน”

 

 

ไทยต้องเพิ่มแต้มต่อทางการค้า

 


 

 

สิ่งที่ รศ. ดร.ปิติให้ความเห็นเพิ่มเติมสำหรับการเข้ามาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน คือ แนวโน้มการดำเนินนโยบาย “โดดเดี่ยวจีน” ต่อเนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งต้องการเป็นผู้กำหนดกฎกติกาในการรวมกลุ่มความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ

 

 

สหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมวงในเวทีการค้าระหว่างประเทศที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้วางกฎกติกาตั้งแต่แรก แต่จะมองหาเวทีอื่น ๆ ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และจากที่เริ่มมีการพูดถึงกันบ้างแล้ว คือ อินโด - แปซิฟิก

 

รศ. ดร.ปิติระบุ

4 อุตสาหกรรมไทยอนาคตไกล

 


 

สำหรับ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมจุดแข็งของไทย ที่ รศ. ดร.ปิติเห็นว่าจะมีบทบาทสำคัญในวงการการค้าโลก ประกอบด้วย

          

1. อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ที่ประเทศไทยมีความพร้อมทุกด้านตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำมีเทคโนโลยี เงินทุน มีประสบการณ์ รวมทั้งมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่ต้องเร่งส่งเสริมการค้า และขยายการลงทุนไปยังประเทศที่มีแรงงานสนับสนุน จะสร้างโอกาสทางการค้าได้มหาศาล

          

2. อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ต้องยกระดับไปสู่ wellness industry การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ไม่ใช่แค่การมาท่องเที่ยวหรือมารักษา แต่ไม่ป่วยก็มาได้ เช่น อุตสาหกรรม เสริมความงาม ศัลยกรรม การดูแลสุขภาพ ซึ่งต้องเปิดเสรีวิชาชีพบางสาขา เช่น แพทย์

          

3. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และอาหารของไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากคนทั่วโลก

          

4. อุตสาหกรรมไฮเทค ที่ไม่ใช่การผลิตฮาร์ดแวร์ แต่เป็นซอฟต์แวร์ เช่น เกม ออนไลน์ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง blockchain ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องใหม่ ที่ทุกประเทศอยู่ในช่วงเริ่มต้น และประเทศไทยก็มีกลุ่มที่สนใจ

          

อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.ปิติเห็นว่า อุตสาหกรรมและการค้าไทยบน 4 คลื่นลูกใหม่ในเวทีการค้าโลก ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งถ้าหากสามารถปรับตัวได้ดีและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในระยะยาว