ธปท. ปรับหลักเกณฑ์และกระบวนการยื่นขอ Soft Loan
เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19

 

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างและการระบาดมีแนวโน้มรุนแรงและยาวนาน ในเดือนเมษายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยออก "พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563" เพื่อสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีลูกหนี้ได้รับ soft loan ของ ธปท. ไปแล้วจำนวน 74,251 ราย รวม 124,367 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564)

 

 

ธปท. ปรับหลักเกณฑ์และกระบวนการยื่นขอ Soft Loan เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19

 

 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังคงรุนแรงและมีแนวโน้มยืดเยื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งผลต่อผู้ประกอบการในวงกว้างมากขึ้น ประกอบกับหลักเกณฑ์ที่มีอยู่บางส่วนยังอาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ SMEs เข้าถึง soft loan ได้ยาก ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และกระบวนการยื่นขอ soft loan ให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์และสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากขึ้น ดังนี้

          

1. ขยายเวลาให้สถาบันการเงินยื่นขอ soft loan ต่อไปได้อีก 6 เดือน ถึงวันที่ 18 เมษายน 2564 จากเดิมที่ครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2563

          

2. ปรับหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs

 

  • เปิดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) สามารถขอ soft loan ได้ด้วย (เดิมไม่ให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยื่นขอ) เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้ได้มากขึ้น

 

  • ผ่อนคลายเกณฑ์การนับกลุ่มของบริษัทลูกหนี้ โดยปรับนิยามคำว่า "กลุ่มธุรกิจ" ซึ่งตามหลักเกณฑ์ต้องมีวงเงินสินเชื่อรวมกัน ไม่เกิน500 ล้านบาท จึงจะสามารถยื่นขอ soft loan ได้ โดยให้แยกบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลออกจากกัน และปรับการนับ ความเกี่ยวข้องของบริษัทในกลุ่มธุรกิจ จากเดิมที่ต้องนับทุกทอดให้เหลือเพียงลำดับเดียวและนับเฉพาะกรณีที่ถือหุ้นเกิน 50% เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีธุรกิจในกลุ่มหลายบริษัทมีโอกาสเข้าถึง soft loan ได้มากขึ้น 

 

 

 

 

ปรับปรุงเกณฑ์สินเชื่อ soft loan เพิ่มโอกาส SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

 

 

3. ให้ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละราย สามารถยื่นขอ soft loan ได้ 2 ครั้ง 
          

จากเดิมที่กำหนดให้ยื่นขอได้เพียงครั้งเดียว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับ soft loan ครั้งแรกแต่ยังไม่ครบตามสิทธิ์ (20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2562) สามารถยื่นขอ soft loan เพิ่มได้อีกครั้ง 
          

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ประสานงานกับกระทรวงการคลังเพื่อจัดให้มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ soft loan plus ของบรรษัท ประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงิน 57,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการให้ soft loan ของสถาบันการเงินซึ่งจะสามารถให้สินเชื่อแก่ SMEs ได้ยาวขึ้น สอดรับกับสถานการณ์โควิด 19 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

          

ทั้งนี้ คาดว่าการปรับปรุงหลักเกณฑ์และกระบวนการยื่นขอ soft loan ดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึง soft loan ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด 19 ได้ในระดับหนึ่ง