DIGITAL FACTORING ทางเลือกสภาพคล่องสำหรับ SMEs รายย่อย
เมื่อลองนึกถึงบริบทของเศรษฐกิจไทย บรรดาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ครองสัดส่วนถึง 99% ของวิสาหกิจทั้งหมดคงจะเปรียบได้กับต้นไม้ที่กำลังเติบโตอย่างสง่างาม ทว่าภายในหมู่แมกไม้นั้นยังมีต้นกล้าเล็ก ๆ ปะปนอยู่ด้วย ซึ่งสังเกตได้ง่ายจากขนาดที่เล็กกว่าเพื่อน จึงอาจไม่ได้รับน้ำหรือแสงแดดมากพอ ทำให้ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น แม้จะพยายามแค่ไหนก็ไม่สามารถสู้ต้นไม้สูงใหญ่ใบหนาที่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้ดีกว่า
ต้นกล้าเล็ก ๆ ที่กล่าวถึงเปรียบได้กับ SMEs ที่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อม คือ รายได้ต่อปีไม่ถึง 100 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีขนาดที่เล็กกว่า SMEs ขนาดกลางอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ SMEs ขนาดย่อมเหล่านี้ต้องดำเนินธุรกิจในวงจำกัด เพราะด้วยสินทรัพย์ค้ำประกันไม่มากนักหรือแทบไม่มีเลย รวมถึงการไม่มีคู่ค้าโดยตรงกับบริษัทขนาดใหญ่ จึงถูกจัดเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงและมักไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องการเงินทุนหมุนเวียนระหว่างที่รอรับเงินสดตามเทอมการค้า ทำให้วิสาหกิจเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสภาพคล่องที่จะช่วยให้ขยายการผลิตได้ตามศักยภาพ แม้ว่าจะมีเครื่องมือเข้าถึงสภาพคล่องอย่างบริการ Factoring ที่เปิดโอกาสให้ผู้ขาย (SMEs ที่เป็น seller) ใช้เพียง "ใบแจ้งหนี้" ที่ออกให้กับผู้ซื้อ (คู่ค้าที่เป็น buyer) เพื่อเรียกเก็บเงินหลังจากที่ได้ส่งมอบสินค้าแล้ว มาใช้เป็นเอกสารขอสินเชื่อ โดยมีรายรับที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าเป็นหลักประกันได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการใช้ Factoring อย่างแพร่หลายนัก
สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ SMEs ผู้ขายยังไม่รู้จักการเข้าถึงเครื่องมือนี้ แต่ปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือ ผู้ให้บริการสินเชื่อ Factoring และผู้ซื้อที่ยังไม่มีแรงจูงใจที่ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับ SMEs ผู้ขายเหล่านั้น รวมถึงยังคงไม่มั่นใจในความสามารถในการทำธุรกิจของวิสาหกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ทางฝั่งผู้ซื้อเองก็ไม่มีแรงจูงใจในการรับภาระที่ต้องยืนยันความถูกต้องของใบแจ้งหนี้ ซึ่งปัญหาหลัก ๆ จะอยู่ที่ฝั่งผู้ให้บริการ Factoring มีความกังวลใน 2 เรื่อง ได้แก่ (1) ปัญหาการฉ้อโกงปลอมแปลงเอกสาร (fraud) และ (2) การยื่นขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (double financing) ซึ่งอุปสรรคดังกล่าวล้วนสะท้อนให้เห็นถึงระบบนิเวศที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เอื้อต่อการเสริมสภาพคล่องให้แก่ SMEs เท่าที่ควร
ธปท. จึงได้พัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล (digital ecosystem) สำหรับการให้บริการ Digital Factoring ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อยกระดับบริการ Factoring ด้วยเทคโนโลยีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม และคลายความกังวลที่เป็นอุปสรรคต่อการให้ Factoring ที่มีอยู่เดิม โดยยึด 2 หลักการ ได้แก่ (1) "open architecture" เปิดให้มีผู้ให้บริการทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและมิใช่สถาบันการเงิน และ (2) "customer centric with balanced incentives" สร้างแรงจูงใจให้ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ให้บริการ Digital Factoring เห็นประโยชน์และพร้อมขับเคลื่อนธุรกรรมให้เกิดผลสำเร็จ และมี องค์ประกอบภายใน digital ecosystem ที่ทำให้ธุรกรรม Digital Factoring มีความต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการ ซึ่งระบบนิเวศนี้จะสนับสนุนการเติบโตให้ต้นกล้าขนาดย่อมมีความสามารถในการแข่งขันและอาจกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สง่างามในอนาคต
ด้วยความตั้งใจที่จะคลายทุกความกังวลของผู้ให้บริการ Factoring ธปท. จึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลางที่มีต้นทุนต่ำเข้าถึงง่าย และปลอดภัย เพื่อยกระดับธุรกรรม Factoring ให้เกิดขึ้นในรูปแบบดิจิทัลด้วย
(1) ฐานข้อมูล Central Web Service (CWS) โดยจะบันทึกและตรวจสอบสถานะของใบแจ้งหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน อีกทั้งยังเปิดกว้างตามหลักการ open architecture โดยไม่จำกัดว่าผู้ที่มาเชื่อมต่อจะต้องเป็นผู้ให้บริการ Factoring แบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้ใช้ฐานข้อมูล CWS เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็น marketplace สำหรับสินเชื่อ Factoring ซึ่งจะสนับสนุนให้มีการแข่งขันของผู้ให้บริการ ทั้งด้านเงื่อนไขการให้สินเชื่อและ ด้านราคา
(2) มาตรฐานใบแจ้งหนี้ดิจิทัล (digital invoice) สำหรับธุรกรรม Factoring มีเป้าหมาย ที่จะขจัดปัญหาการฉ้อโกงออกจากระบบด้วยการลดความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อเอกสารได้อย่างสะดวก และยืนยันความถูกต้องของใบแจ้งหนี้ดิจิทัลด้วย digital signature ซึ่งใบแจ้งหนี้ดิจิทัลนี้ สามารถทำผ่านระบบบัญชีออนไลน์หรือผ่านเว็บไซต์กลางของผู้ให้บริการ
ระบบ Digital Factoring มีกระบวนการที่สนับสนุนให้ครอบคลุมทุกขั้นตอนของการขอสินเชื่อ Digital Factoring ไว้ด้วยกัน เพื่อให้กระบวนการอนุมัติเรียบลื่นไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นระบบการรู้จักตัวตนลูกค้า (Know Your Customer: KYC) เพื่อพิสูจน์ตัวตนว่ามีจริงและป้องกันการแอบอ้างบุคคลอื่น ระบบบัญชีออนไลน์ (online accounting / Enterprise Resource Planning: ERP) ระบบชำระเงินดิจิทัล และการโอนสิทธิอัตโนมัติเพื่อลดภาระของผู้ซื้อ รวมถึงการทำประกันภัยการส่งมอบสินค้าและบริการ และการค้ำประกันธุรกรรม Digital Factoring ให้กับผู้ให้บริการสินเชื่อ Digital Factoring โดย บสย.
เมื่อใบแจ้งหนี้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล กระบวนการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยืนยันความถูกต้องของใบแจ้งหนี้ การแจ้งรับโอนสิทธิ การเงิน และกระบวนการชำระเงิน ก็สามารถบริหารจัดการในรูปแบบดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัว SMEs ผู้ขายเองที่จะมีแหล่งสภาพคล่องในต้นทุนต่ำไว้เลือกใช้ ผู้ซื้อก็สามารถยืนยันความถูกต้องของใบแจ้งหนี้ดิจิทัลผ่านระบบบัญชีออนไลน์ และสามารถชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลได้ และผู้ให้บริการ Factoring ก็หมดกังวลเรื่องการฉ้อโกงและการปล่อยสินเชื่อซ้ำซ้อนถือว่าเป็นธุรกรรมสินเชื่อที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างแรงจูงใจ และคาดว่าจะชนะใจทุกฝ่ายด้วยระบบนิเวศดิจิทัลที่สมบูรณ์
ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลสำหรับธุรกรรม Digital Factoring ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จะช่วยให้ SMEs ไทยเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ตามศักยภาพและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 นี้ ยิ่งไปกว่านั้น เชื่อว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นแรงส่งให้ SMEs รายย่อยได้เปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ และพัฒนาตนเองเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอนาคต