ทรานส์ฟอร์มลงทุนไทยอย่างไร? ให้ออกจากดักแด้ลายเป็นเสือ

 

 

ในภาวะวิกฤตที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ลดลงมาก โดยเฉพาะการลงทุนของทุกประเทศที่เหมือนหนอนในระยะดักแด้ซึ่งอยู่ในภาวะจำศีล แต่สำหรับประเทศไทยถือว่าเผชิญความท้าทายที่มากกว่านั้น เพราะในช่วงก่อนหน้าประเทศไทยก็เติบโตในอัตราต่ำอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้านการลงทุน” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้เต็มศักยภาพ (potential growth) ในโลก หลังโควิด 19 บทความนี้จะชวนท่านผู้อ่านเจาะลึกเรื่องการปรับโครงสร้างการลงทุนของประเทศว่าควรเดินไปในทิศทางใด
 
 
ทรานส์ฟอร์มลงทุนไทยอย่างไร? ให้ออกจากดักแด้กลายเป็นเสือ

 

 

ประการแรก ในภาพรวม ไทยจำเป็นต้องเพิ่มขนาดการลงทุนในประเทศ โดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ลดลงตามลำดับ สาเหตุหนึ่งมาจากการลงทุนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อคำนึงถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างของประเทศ ซึ่งส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง โดยงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ในระยะข้างหน้า ไทยจำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องจนสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 4% จาก 23% ในปี 2562 เป็น 27% เพื่อให้หลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางในอีก 15 ปีข้างหน้า

          

ประการที่สอง ไทยต้องเน้นคุณภาพการลงทุนให้ตรงจุด ให้สอดรับกับบริบทโลกใหม่ ที่ต้องเผชิญในระยะข้างหน้าภายใต้ทรัพยากรทางการเงินจำกัด โดยในระยะเริ่มต้นที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังคงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตโควิด 19 และไม่สามารถขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศได้อย่างเต็มที่ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีบทบาทหลักในการปรับโครงสร้างการลงทุนด้วยการผลักดันและเร่งให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เสริมสร้างศักยภาพการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย (strategic investment) ให้เท่าทันและสอดรับกับกระแสโลกใหม่ รวมทั้งจูงใจให้ภาคเอกชน ลงทุนตาม (crowding-in effects) ได้แก่

 

1. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งด้าน hardware และ software ที่ผ่านมา ภาครัฐได้เร่งให้เกิดการประมูลเพื่อลงทุนในโครงข่ายโทรคมนาคม 5G ทำให้ปัจจุบันบริษัทโทรคมนาคมของเอกชนกำลังดำเนินการลงทุนตามแผน นับว่าเป็นเพียงไม่กี่ธุรกิจที่ยังคงมีการลงทุนแม้อยู่ในภาวะวิกฤตโควิด 19

 

 

สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของไทยเทียบกับประเทศในแต่ละกลุ่มรายได้

 

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น hardware แล้ว ภาครัฐควร พิจารณาลงทุนในด้าน software เพื่อให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย เช่น การบูรณาการระบบฐานข้อมูลภาครัฐ (e-government) ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกิจ และทำให้ภาครัฐสามารถวิเคราะห์การให้นโยบายความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุด การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยจับคู่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในระบบ รวมถึงอาจขยายความครอบคลุมไปจนถึงการหางานในระดับตำบล หรือหมู่บ้านที่เป็น self-employed ด้วย และการสร้างแพลตฟอร์มช่วยให้ประชาชนหรือ SMEs สามารถขายของออนไลน์ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ปิดช่องว่างแพลตฟอร์มในปัจจุบันที่ดำเนินการโดยเอกชน

          

2. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ให้เชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยลดต้นทุนและลดเวลาในการขนส่งสินค้าและการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้วางยุทธศาสตร์การลงทุนในส่วนนี้ไว้แล้วแต่ ความท้าทายอยู่ที่การผลักดันให้เกิดขึ้นจริงตามแผน

          

3. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบบริหารจัดการน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเพื่อป้องกันน้ำท่วม ระบบการจัดการขยะในเมืองใหญ่ และการสร้างสถานีชาร์จสำหรับรองรับรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ภาครัฐยังจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปและลดระเบียบกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อนและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจด้วย เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่มีความพร้อม และฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง

          

ในระยะต่อไป ภาคเอกชนควรมีบทบาทเข้ามาลงทุนต่อยอดและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐลงทุนไว้ ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ เช่น การทำการเกษตรแบบอัจฉริยะ (smart farming) ที่ช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ทำให้สามารถปลูกพืชที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและทนทานต่อสภาพอากาศได้มากขึ้น การนำหุ่นยนต์ รวมถึงระบบ automation มาเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพในการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนการรักษาคนไข้ผ่านระบบโทรเวชกรรม (telemedicine) ที่ตอบโจทย์ทั้งกระแสคนรักสุขภาพและการก้าวสู่สังคมสูงวัย

          

ประการสุดท้าย ไทยต้องลงทุนในทุนมนุษย์ (human capital) โดยเฉพาะการยกระดับ ทักษะด้านดิจิทัลให้กับแรงงาน ซึ่งจำเป็นอย่างมากในอนาคต คงไม่เป็นประโยชน์นัก หากภาครัฐและเอกชนเร่งลงทุนด้านดิจิทัลอย่างเต็มที่ แต่ภาคแรงงานกลับขาดทักษะ รวมถึงไม่สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ แรงงานที่ขาดทักษะด้านดิจิทัลก็อาจได้รับผลกระทบ เชิงลบจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงานในภาคธุรกิจซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ในอนาคตด้วย          

ขณะที่จีนมีโครงการพัฒนาเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative : BRI) ที่รวมเอาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทั้งถนน รางรถไฟ และท่าเรือ รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ถือเป็นระบบโลจิสติกส์ภาคพื้นดินสำคัญที่จะเชื่อมเอเชียและยุโรป ซึ่งจะย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากจีนถึงยุโรปเหลือไม่เกิน 18 วัน มีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศ และจะมีส่วนสำคัญในการพลิกโฉมการค้าของไทยในอนาคต

 

 

ไทยต้องลงทุนในทุนมนุษย์ (human capital) โดยเฉพาะการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลให้กับแรงงาน ซึ่งจำเป็นอย่างมากในอนาคต คงไม่เป็นประโยชน์มากนัก หากภาครัฐและเอกชนเร่งลงทุนด้านดิจิทัลอย่างเต็มที่ แต่ภาคแรงงานกลับขาดทักษะ

 

 

 

ไทยต้องลงทุนในทุนมนุษย์

 

 

การจัดอันดับทักษะด้านดิจิทัลของ 133 ประเทศในรายงาน Network Readiness Index ปี 2563 ของ Portulans Institute สะท้อนให้เห็นว่า ทักษะด้านดิจิทัลของคนไทยในปัจจุบันยังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค โดยอยู่ในอันดับที่ 63 เทียบกับสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่อยู่ในอันดับ 5 10 และ 49 ตามลำดับ

          

โดยสรุป ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ การลงทุน ของทุกประเทศอยู่ในภาวะจำศีล เปรียบเสมือน หนอนที่อยู่ในดักแด้ ความท้าทายของผู้วางนโยบาย คือ ทำอย่างไรให้ไทยออกจากดักแด้ แล้วจะไม่เป็นเพียงผีเสื้อ แต่ต้องทรานส์ฟอร์มเป็นเสือที่แข็งแกร่งเพื่อแข่งขันได้ในโลกอนาคต ปัจจัยสำคัญจึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้วางนโยบายจะให้อาหารอะไรเข้าไปในดักแด้ในช่วงจำศีล ซึ่ง “การปรับโครงสร้างการลงทุน” คือ คำตอบดังกล่าว

         

อีกทั้งยังถือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อน ภายใต้ทรัพยากรทางการเงินที่มีจำกัดและในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ภาครัฐควรมุ่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นยุทธศาสตร์และเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง โดยคำนึงถึงทั้งขนาดที่เพียงพอ และคุณภาพการลงทุนที่ตรงจุด ควบคู่ไปกับ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดรับกับโลกใหม่ ซึ่งจะทำให้ผลิตภาพการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของแรงงานในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนตามในระยะปานกลางและระยะยาว

 

 

* หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย