"ผลิตภาพแรงงานไทย" ความท้าทายสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

 

 

 

เปิด 4 เทรนด์การทำงานของโลกในยุค New Normal

 

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2563 สร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่องและรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดย "รอยแผล" สำคัญ คือจำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อวิกฤตโควิด 19 คลี่คลายลง แรงงานเหล่านี้จะกลับสู่การจ้างงานได้ทั้งหมดหรือไม่ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงโควิด 19 ซึ่งเป็นวิกฤตที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงด้วยดีนี้ สามารถส่งผลอย่างไรต่อแรงงานไทยในระยะยาว และในช่วงก่อนเกิดการระบาดระลอกที่ 3 BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก คุณเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาช่วยไขข้อสงสัยและพูดคุยถึงความท้าทายที่แรงงานไทยต้องเผชิญ รวมถึงแนวทางการยกระดับศักยภาพของตลาดแรงงานไทยเพื่อความพร้อมสู่ "โลกธุรกิจยุคใหม่"

 

ผลกระทบจาก "โควิด 19" สู่ตลาดแรงงานไทย


 

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกแรกในไทยเริ่มขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักทำให้ในไตรมาส 2 มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคน เป็น 7.5 แสนคน และ "ผู้เสมือน ว่างงาน" ซึ่งหมายถึงแรงงานที่มีชั่วโมงทำงานต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันเพิ่มจาก 2 - 3 ล้านคน เป็น 5.4 ล้านคน

 

เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลทยอยผ่อนคลายการล็อกดาวน์และออกหลากหลายมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและต่อลมหายใจให้ธุรกิจ เศรษฐกิจจึงเริ่มกลับมาฟื้นตัว การจ้างงานก็เริ่มดีขึ้น กระทั่งปลายเดือนธันวาคมที่เกิดการระบาดรอบใหม่

"แม้ความรุนแรงของรอบนี้จะไม่เท่าระลอกแรก แต่ผลกระทบอาจไม่น้อยกว่ากันเลย เพราะธุรกิจและผู้ใช้แรงงานมีความอ่อนล้าสะสมมามาก เป็นผลให้ไตรมาส 1 ปีนี้ จำนวนผู้เสมือนว่างงานกลับมาที่ 5.4 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่เสี่ยงจะตกงานเพิ่มสูงถึง 4.7 ล้านคน ตัวเลขเหล่านี้จะสะท้อนกลับไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในมิติของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และประสิทธิภาพการผลิตของประเทศที่ลดลง"

 

รองผู้ว่าการเมธีระบุว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับแรงงานไทยคือ หลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย ผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในช่วงวิกฤตอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทั้งหมด เพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด ธุรกิจเร่งปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งระบบดิจิทัล (digitalization) และระบบอัตโนมัติ (automation) มาใช้ สร้างผลพวงสำคัญคือทำให้ความต้องการแรงงานลดลง ขณะที่ทักษะแรงงานที่โลกธุรกิจยุคใหม่ต้องการก็เปลี่ยนไป

 

"เรามีการประมาณการว่า ระบบ automation และ digitalization จะมาทดแทนการทำงานแรงงานคนได้มาก และอาจมีแรงงานสูงถึง 15 ล้านคนที่มีความเสี่ยงจะถูกทดแทนด้วย เทคโนโลยีเหล่านี้"

 

หลากมาตรการเพื่อ "ธุรกิจอยู่รอด แรงงานอยู่ได้"


 

 คุณเมธีกล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด 19 ในปีที่ผ่านมา ธปท. ได้ใช้หลายมาตรการทาง การเงินในการประคับประคองธุรกิจและแรงงานให้สามารถยืนหยัดได้ยาวนานขึ้นเพื่อรอจนวิกฤตเริ่มคลี่คลาย ทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพื่อให้มีกระแสเงินสดสำหรับดำรงชีพและประกอบอาชีพ หรือมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

 

"ไม่เพียงหน้าที่ด้านนโยบายการเงินที่ ธปท. ทำเต็มที่อยู่แล้ว เรายังเข้าไปประสานงานกับภาครัฐและภาคเอกชนอยู่เป็นประจำเพื่อนำความรู้ความสามารถไปช่วยภาคธุรกิจให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เรามองว่าถึงจะไม่ใช่บทบาทหลัก แต่มีความจำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจไปต่อได้ เช่น การผลักดันให้บริษัทขนาดใหญ่ลดระยะเวลาช ำระหนี้จากที่ยืดออกไปในช่วงแรกที่เกิดโควิด 19 ให้ลดลงมากลับสู่ปกติหรือชำระเร็วขึ้น เพื่อช่วยให้บริษัทขนาดเล็กไม่ขาดสภาพคล่อง"

 

รองผู้ว่าการเล่าว่า กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการทางการเงินให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ โดยเมื่อ ธปท. เล็งเห็นว่า หลายมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรองรับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงเช่นทุกวันนี้ได้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ธปท. จึงร่วมกับกระทรวงการคลังเตรียมออก 2 มาตรการใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายและเตรียมพร้อมรับมือโลกยุคหลังโควิด 19 ได้ดีขึ้น ประกอบด้วย

 

(1) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับธุรกิจ SMEs โดยมีการขยายขอบเขตลูกหนี้ ขยายการชดเชยหรือค้ำประกันความเสี่ยงที่สูงขึ้น และให้กำหนดดอกเบี้ยที่เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ ถือเป็นการปลดล็อกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(soft loan) เดิมและ (2) มาตรการ "พักทรัพย์ พักหนี้" ซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้ โดยสามารถตีโอนทรัพย์ และมีสิทธิ์ซื้อคืนในราคาตีโอนบวกกับค่าดูแลรักษา (carrying cost) ซึ่งช่วยให้ลูกหนี้ทำธุรกิจต่อได้ ช่วยลดความเสี่ยงที่ต้องขายสินทรัพย์ในราคาที่ต่ำเกินไป (fire sale) และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ลูกหนี้ก็สามารถซื้อสินทรัพย์คืนได้ ในราคาไม่สูงเกินไป

 

หลายความเสี่ยงที่อาจสร้าง "แผลเป็น" หลังโควิด 19


 

ผ่านมากว่า 1 ปี สถานการณ์โควิด 19 ในหลายประเทศเริ่มดีขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยเองก็ได้รับอานิสงส์จนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่บริบทการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็ดูจะเป็นความเสี่ยงในระยะถัดไปของแรงงานไทย

 

คุณเมธีกล่าวว่า ลักษณะสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย คือ (1) เป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง (uneven) ทั้งในมิติของขนาดธุรกิจ มิติเชิงพื้นที่ และมิติด้านสาขาเศรษฐกิจ (2) เป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างใช้เวลานาน (long) ซึ่งส่งผลกระทบถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยอย่างมีนัยสำคัญ และ (3) มีความไม่แน่นอน (uncertain) ในเรื่องของการเปิดประเทศและการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน ที่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวล่าช้าออกไป

 

"จะเห็นว่าวันนี้ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวน้อย เพราะยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ และการ ท่องเที่ยวของเราพึ่งพาต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งการท่องเที่ยวขับเคลื่อน GDP ไทยถึง 11% สูงกว่าประเทศอื่นซึ่งอยู่ที่ 7 - 8% ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ขณะที่การส่งออกของไทยกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็ยังช้ากว่า เพราะสินค้าของเราไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นความต้องการของตลาดที่ฟื้นตัว"

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีจุดเปราะบางแฝงอยู่จนกลายเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัว ได้แก่ ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก ซึ่งพิษโควิด 19 ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจนแตะ 89.3% ของ GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ส่งผลต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ในเวลาเดียวกันการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่ต่ำกว่าเป้ายังกระทบถึงความสามารถในการใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งความ เปราะบางเหล่านี้ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยอาจยิ่งช้าลง

 

จำนวนผู้ซื้อของผ่านระบบอนนไลน์ทั่วโลก

 

"แม้ว่ามาตรการที่รัฐบาลระดมใช้ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา หลายโครงการได้ผลดี แต่เหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการชั่วคราว สิ่งที่ต้องตระหนักคือ ยิ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ความทนทานต่อวิกฤตของภาคธุรกิจและแรงงานก็ยิ่งลดลง โอกาสและจำนวนแรงงานที่จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ก็ยิ่งช้าลงและน้อยลง จนอาจก่อให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (economic scars) และอาจเป็นแผลลึก จนยากที่จะเยียวยาฟื้นฟู"

 

รองผู้ว่าการย้ำว่า แม้รายได้ของภาครัฐจะลดลง แต่ความจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลับเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้แผลเป็นมีขนาดเล็กลงและตื้นขึ้น โดยสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญนับจากนี้คือ เลือกกระตุ้นให้ตรงจุดมากที่สุด และควรเป็นมาตรการที่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยหนึ่งในนั้นคือ มาตรการเพื่อยกระดับแรงงาน

 

ทฤษฎี "กบต้ม" กับภาพสะท้อนตลาดแรงงานไทย


 

 "นักเศรษฐศาสตร์บางท่านเปรียบเศรษฐกิจไทยว่าเหมือนกบที่กำลังถูกต้ม แต่เราไม่ค่อยรู้ตัว วิกฤตโควิด 19 เหมือนตัวเร่งความร้อน ให้น้ำร้อนเร็วขึ้น ไม่ใช่ค่อย ๆ ร้อน กบจะต้องรีบกระโดดออกมา แต่ถ้าช้าก็อาจจะกลายเป็นต้มยำกบ"

 

คุณเมธีอธิบายว่า ก่อนมีโรคระบาด ศักยภาพของตลาดแรงงานไทยถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูงอยู่แล้วด้วยโลกธุรกิจปรับเปลี่ยนไปอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (technology disruption) ส่งผลให้ความต้องการทักษะแรงงานของภาคธุรกิจเปลี่ยนไป แต่โควิด 19 เป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เร็วขึ้นและเป็นวงกว้าง ทำให้แรงงานที่มีทักษะไม่สอดคล้องกับธุรกิจยุคใหม่จึงตกงานและมีจำนวนผู้เสี่ยงที่จะตกงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ไม่เพียงคุณภาพแรงงาน จำนวนคนในวัยทำงานเองก็เป็นอีกปัญหาสำคัญของตลาดแรงงานไทย ในปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ซึ่งถือว่าเข้าสู่ "สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์" ขณะที่ในอีก 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนคนไทยที่อายุ 60 ปีขึ้นไปอาจสูง ถึง 30% รองผู้ว่าการยกตัวอย่างภาคเกษตร ซึ่งปัจจุบัน แรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย อายุสูงกว่า 50 ปี การปรับตัวให้เข้าสู่เกษตรยุคใหม่ จึงเป็นเรื่องยาก ทำให้แนวโน้มประสิทธิภาพการผลิตจะต่ำลงเรื่อย ๆ ขณะที่วัยเพิ่มสูงขึ้น

 

"การที่ประเทศมีผู้สูงวัยในสัดส่วนสูง ทำให้ความสามารถในการสร้างรายได้ของประเทศลดลง การนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือการที่แรงงานในปัจจุบันมีทักษะไม่ตรงกับที่ภาคธุรกิจต้องการ (skill mismatch) เหล่านี้ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานไทยที่มีมานานแล้ว แต่สถานการณ์โควิด 19 มาช่วย 'เปิดแผล' ที่ซ่อนอยู่ให้เห็นชัดเจนขึ้น พร้อมกับบ่งชี้ว่า รัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการเรื่องใด"

 

"เพิ่มผลิตภาพแรงงาน" แนวทางยกระดับเศรษฐกิจไทย


 

"เพิ่มผลิตภาพแรงงาน" แนวทางยกระดับเศรษฐกิจไทย

 

คุณเมธีแนะว่า สำหรับมาตรการระยะสั้น รัฐบาลควรกระตุ้นให้เกิดการจัดการแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันก่อน ในแง่ของการช่วยให้แรงงานเข้าถึงตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับศักยภาพของตน (job matching) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มผลิตภาพให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงในแง่ของการเพิ่มทักษะแรงงาน ที่เรียกว่า "upskill-reskill" ให้เหมาะสมกับโลกธุรกิจยุคใหม่

 

จึงเป็นที่มาของ www.ไทยมีงานทำ.com แพลตฟอร์มกลางในการจับคู่งานกับทักษะแรงงาน เพื่อกระตุ้นให้แรงงานกลับเข้าสู่ตลาดงานได้เร็วขึ้นและมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น โดยเกิดจากความร่วมมือของกระทรวงแรงงาน คณะอนุกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และอีกหลากหลายหน่วยงาน รวมถึง ธปท. นอกจากการจับคู่งานกับแรงงานแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังเอื้อให้เกิด การแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีความสามารถ ระหว่างธุรกิจ SMEs กับบริษัทขนาดใหญ่ และยังเชื่อมต่อระบบกับแพลตฟอร์มด้านการฝึกอบรมที่กระทรวง อว. พัฒนาขึ้น เพื่อการยกระดับและปรับทักษะให้กับแรงงาน

 

สำหรับระยะปานกลางและระยะยาว รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพประสานความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ ในการวาง "ยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านแรงงาน" เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย และการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงสร้างศักยภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับแรงงานไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่จะยกระดับแรงงานไทยและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน

 

"ถ้าประเทศไทยไม่มีระบบพัฒนาโครงสร้างแรงงานที่ดี และแรงงานไทยเองก็ไม่ลุกขึ้นพัฒนาศักยภาพตัวเอง ย่อมทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศถดถอยลง จากที่ศักยภาพการเติบโตของไทยเคยอยู่ ที่ 4 - 5% ตอนนี้อาจเหลือแค่ 3% แต่ถ้ายังไม่ทำอะไร ก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายแล้ว จากปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นชนวนไปสู่ปัญหาสังคม ทั้งในระดับมหภาคและระดับครัวเรือน ซึ่งในระยะยาว จะกลายเป็น 'แผลเรื้อรัง' ที่หยั่งรากลึกจนยากเกินจะแก้ไข"