"ถึงเวลาใช้ชีวิตแบบชิล ๆ แล้ว !!!" น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากป่าวประกาศให้ทั้งโลกได้รับรู้ในวันที่ตัวเองเกษียณ แต่การมีเงินพอใช้ตามวิถีชีวิตที่ปรารถนาหลังโรงละครแห่งการทำงานปิดฉากลงจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนก็เริ่มต้นจากการวางแผนและลงมือทำตามแผน ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี Financial Wisdom ขอแนะนำวิธีวางแผนการเงินสำหรับชีวิตเกษียณ 5 ขั้นตอน

 

5 ขั้นสู่วันเกษียณสุข

 

ขั้นตอนที่ 1 หาข้อมูลเกี่ยวกับอายุของตนเองที่ต้องใช้สำหรับวางแผนเกษียณ


 

ข้อมูลที่ต้องใช้ ได้แก่ อายุปัจจุบัน อายุเกษียณ และอายุขัย เพื่อประเมินจำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ คนส่วนใหญ่มักจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และมีข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2564 ที่ประมาณการอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย โดยผู้ชายเท่ากับ 73.5 ปี ผู้หญิงเท่ากับ 80.5 ปี

 

ขั้นตอนที่ 2 คำนวณเงินที่จะใช้หลังเกษียณ


 

ให้ถามตัวเองว่าหลังเกษียณจะใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ สมมติว่าปัจจุบันอายุ 30 ปี จะเกษียณอายุตอน 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึง 80 ปี ตอนเกษียณอยากใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายพิเศษต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ท่องเที่ยว เปลี่ยนรถยนต์ และซ่อมแซมบ้าน) และต้องไม่ลืมว่าเมื่อเวลาผ่านไปข้าวของย่อมแพงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3% ต่อปี ทำให้เงิน 20,000 บาทในวันนี้ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น 48,545 บาท ทำให้เมื่ออายุ 60 ปี จะต้องมีเงินเกษียณประมาณ 11 ล้านบาท และต้องวางแผนไว้ว่าหลังเกษียณจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ต่อปี และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3% ต่อปี เพื่อจะใช้จนถึงอายุ 80 ปี

 

ขั้นตอนที่ 3 เช็กเงินออมเพื่อเกษียณ


 

สำรวจว่าเราได้เก็บหรือลงทุนเพื่อเกษียณไว้ที่ไหนบ้างและตอนนี้ มีเงินออมเพื่อเกษียณอยู่เท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นภาคบังคับ ได้แก่ กองทุน ประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ ภาคสมัครใจ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกันชีวิตแบบบำนาญ และสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่น ๆ ยกตัวอย่าง อายุ 30 ปี เงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน คาดว่าเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 3% ตอนนี้มีเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 100,000 บาท ในแต่ละเดือนมีอัตราเงินสะสมและอัตราเงินสมทบจากที่ทำงานที่ 3% ต่อเดือน และประมาณการว่าจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี เมื่ออายุ 60 ปี จะมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด 3 ล้านบาท

 

ขั้นตอนที่ 4 คำนวณเงินออมเพื่อเกษียณที่ยังขาดอยู่


 

เปรียบเทียบเงินที่จะใช้หลังเกษียณกับเงินออมเพื่อเกษียณว่าเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอต้องหาวิธี เช่น ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมาเก็บออมหรือซื้อ RMF เพิ่มเพื่อให้ได้เงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากตัวอย่าง หากต้องมีเงินเกษียณ 11 ล้านบาท หักเงินออมเกษียณที่น่าจะได้เมื่ออายุ 60 ปี จำนวน 3 ล้านบาทในขั้นตอนที่ 3 ก็จะพบว่ายังขาดเงินอีก 8 ล้านบาท

 

ขั้นตอนที่ 5 วางแผนออมเงินเพื่อเกษียณเพิ่ม


 

หากต้องออมเงินเพิ่มอีก 8 ล้านบาท โดยลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี เราจะต้องออมเงินเพิ่มสำหรับเกษียณ 8,500 บาทต่อเดือน ซึ่งในปัจจุบันมีสินทรัพย์ทางการเงินให้เราเลือกลงทุนหลายอย่าง เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ และกองทุนรวม ที่เราต้องทำความเข้าใจทางเลือกในการลงทุนอย่างรอบคอบ จากนั้นแบ่งเงินไปลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

คำนวณเงินเกษียณผ่านโปรแกรมออนไลน์


 

เราสามารถคำนวณเงินเกษียณของตัวเองอย่างละเอียดโดยใช้โปรแกรมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเข้าไปที่ www.set.or.th/project/caltools/www/html/retirement.html เมื่อทราบจำนวนเงินเกษียณที่ต้องออมแล้วก็อย่ารีรอแต่ต้องรีบลงมือเดินตามแผนอย่างมีวินัย

          

นอกจากนี้ ควรเตรียมเงินอีกก้อนสำหรับค่าใช้จ่ายพิเศษต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ท่องเที่ยว เปลี่ยนรถยนต์ และซ่อมแซมบ้าน ที่ไม่ได้เป็นรายจ่ายในชีวิตประจำวันแต่อาจต้องจ่ายเป็นครั้งคราว เพราะหากเราไม่ได้วางแผนเก็บเงินในส่วนนี้เพิ่มเติม เราอาจต้องดึงเงินเกษียณที่เตรียมไว้ข้างต้นมาใช้แทนทำให้อาจมีเงินไม่พอใช้ในวันข้างหน้า เพราะตอนนี้ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยไหน ๆ วัยเกษียณจะเดินทางมาถึงแน่ ๆ ในอนาคตจึงไม่ควรชะล่าใจว่ายังมีเวลาที่เหลืออยู่อีกมาก แต่อยากให้เริ่มต้นวางแผนเกษียณและเก็บออมตั้งแต่วันนี้ ชีวิตเกษียณที่สุขกายสบายใจจะได้อยู่ไม่ไกลเกินฝัน