แรงงานอีสานคืนถิ่น... ปรับตัวอย่างไรในวิกฤตโควิด 19
วิถีชีวิตของคนอีสานมีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีต แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน แรงงานอีสานกว่า 3 ล้านคน1 จึงต้องยอมจากบ้านเกิด เพื่อไปหางานทำในเมืองใหญ่ โดยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคกลาง 2.8 ล้านคน (กรุงเทพฯ 1.2 ล้านคน) ขณะที่แรงงานอีสานที่อยู่ในภาคเหนือและภาคใต้มีเพียง 1.3 แสนคน และ 0.9 แสนคนตามลำดับ แม้จะมีโอกาสทางอาชีพและรายได้สูงกว่าแต่แรงงานเหล่านี้ยังคงมีเงินออมไม่มากนัก เพราะการใช้ชีวิตในเมืองมีค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูงและยังต้องส่งเงินอีกส่วนหนึ่งกลับบ้านเกิด เพื่อเลี้ยงดูและให้ครอบครัวเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นวงกว้าง ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและคนส่วนใหญ่อยู่ติดบ้านมากขึ้น ทำให้หลายธุรกิจจำเป็นต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่บางบริษัทที่พยายามประคับประคองธุรกิจ อาจต้องลดต้นทุนด้วยการให้พนักงานพักงานอย่างไม่มีกำหนด โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่มีการปิดโรงงานชั่วคราว ซึ่งธุรกิจเหล่านี้พึ่งพาแรงงานอีสานเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคติดต่อรายงานว่า มีแรงงานอีสานประมาณ 8 แสนคน2 เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ตกงาน และตัดสินใจคืนถิ่นเพื่อไปตั้งหลักที่บ้านเกิด เมื่อกลับไปแล้วแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้ปรับตัวไปประกอบอาชีพใหม่ เพื่อหารายได้ระหว่างที่รอสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย ขณะที่แรงงานคืนถิ่นบางส่วนปรับตัวได้ยาก และกลายเป็นผู้ว่างงาน
เกษตรกรรมเป็นอาชีพที่แรงงานอีสานคืนถิ่น 2 ใน 3 เลือกทำเนื่องจากมีที่ดิน และครอบครัวเป็นเกษตรกรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สะท้อนจากหลายพื้นที่ของภาคอีสานที่มีการขุดสระเพื่อรองรับการทำการเกษตรเพิ่มขึ้น และมีการสั่งซื้อวัสดุรวมถึงเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาใช้มากขึ้น ขณะที่แรงงานที่ไม่มีที่ดินทางการเกษตรเป็นทุนเดิมต้องปรับตัวมากกว่า และจากการลงพื้นที่พูดคุยกับตัวแทนแรงงานคืนถิ่น พบว่าแรงงานกลุ่มนี้มีความพยายามในการปรับตัว 3 รูปแบบ คือ (1) นำเงินเก็บบางส่วนมาลงทุนซื้อรถกระบะหรือนำรถกระบะเก่าที่มีไปต่อเติมเป็นรถรับขนของ แม้กระทั่งเป็นรถพุ่มพวง (2) ขับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร และ (3) เปิดร้านขายของขนาดเล็ก แผงลอย หรือขายของ ออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้าน ซึ่งแม้จะยังสร้างรายได้ให้ได้ไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอให้เลี้ยงชีพ และผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้บ้าง
"ในทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาส" การแพร่ระบาดของโควิด 19 ไม่ได้เพียงสร้างวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง โควิด 19 ก็เปิดโอกาสให้แรงงานอีสานได้กลับมาใกล้ชิดกับครอบครัวอีกครั้ง และยังช่วยลดต้นทุนในการครองชีพ แรงงานคืนถิ่นยังได้นำเอาองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความถนัดมาถ่ายทอดภายในชุมชน สะท้อนจากลูกหลานที่กลับมาต่อยอดธุรกิจของพ่อแม่ โดยยกระดับไปทำการค้าออนไลน์ หรือผันตัวจากการทำงานรับจ้างมาเป็นผู้ประกอบการเอง ซึ่งสามารถช่วยส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังทำให้แรงงานอีสานมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้นและไม่จำเป็นต้องจากครอบครัวเพื่อไปทำงานที่เมืองใหญ่เหมือนในอดีต
อย่างไรก็ตาม แรงงานคืนถิ่นบางส่วนอาจยังคุ้นเคยกับการทำงานในเมืองใหญ่ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกแรกปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และธุรกิจบางส่วนทยอยกลับมาเปิดดำเนินการมากขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ทำให้มีแรงงานอีสานคืนถิ่นบางส่วนตัดสินใจกลับเข้ามาทำงานในเมืองอีกครั้ง จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการรายหนึ่งได้ข้อมูลว่า หลังจากที่สถานการณ์โควิด 19 ปรับดีขึ้น มีพนักงานเพียงครึ่งหนึ่งที่ประสงค์จะกลับมาทำงานที่เมืองใหญ่ เพราะที่เหลือต้องการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิด
จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2563 พบการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมน้อยกว่าการระบาดระลอกแรก แต่ก็เชื่อว่า มีผลกระทบต่อแรงงานทำให้ต้องเดินทางกลับบ้านเกิดอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยตัวเลขทางการ1ที่ประเมิน ณ สิ้นปี 2563 พบว่า แรงงานอีสานคืนถิ่นมีอยู่ที่ประมาณ 4 แสนคน ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มที่เพิ่งกลับไป ทำงานในเมืองใหญ่ได้ไม่นานและต้องกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิดอีกครั้ง เนื่องจากมีธุรกิจปิดกิจการเพิ่มเติม
โควิด 19 ทำให้บริบทและความท้าทายเชิงโครงสร้างทั้งภายในและภายนอกประเทศเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงกว่าเดิม ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เช่น ยกระดับทักษะเดิม (upskill) และเรียนรู้ทักษะใหม่ (reskill) หรือการพัฒนาทักษะการทำงานให้สอดคล้องกับลักษณะของงานประจำให้มากขึ้น3 การย้ายออกจากเมืองใหญ่กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แรงงานอีสานคืนถิ่นจะได้นำเอาองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เรียนรู้จากการทำงานที่ผ่านมากลับมาพัฒนา หรือต่อยอดธุรกิจในชุมชน ซึ่งหากภาครัฐมีนโยบายที่เข้ามาช่วยเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดการสร้างอาชีพใหม่หรือยกระดับอาชีพเดิม จะช่วยให้การพัฒนายั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว เช่น การยกระดับภาคเกษตรโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน และการส่งเสริมสตาร์ทอัปในท้องถิ่น โดยแรงงานกลุ่มที่มีทักษะเฉพาะส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่บ้านเกิดมาตลอด หรือเคยสะสมประสบการณ์จากการทำงานในเมืองใหญ่จะสามารถปรับตัวและเริ่มต้นใหม่ได้เร็ว รวมทั้งยังมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าแรงงานกลุ่มที่ไม่มีทักษะเฉพาะ
ตัวอย่างการปรับตัวของแรงงานอีสานคืนถิ่นที่กลับมาพึ่งพาภาคเกษตรอย่าง คุณแม้ว - เพียงพิศ ลิวงษ์ ที่ไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟบนเกาะสมุย แต่เมื่อธุรกิจถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 และเจ้าของร้านอาหารจำเป็นต้องปิดกิจการ ทำให้คุณแม้วตกงานโดยไม่ทันตั้งตัว จึงตัดสินใจกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิดจังหวัดขอนแก่นและถือโอกาสกลับมาดูแลคุณพ่อที่ป่วยติดเตียง
เมื่อกลับมาคุณแม้วได้ช่วยคุณแม่เลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัว แต่รายได้ยังคงไม่เพียงพอ กับค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องมองหางานอื่น ๆ ทำเพิ่มเติม แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจประกอบกับข้อจำกัดด้านอายุและการศึกษา ทำให้การหางานไม่ง่ายนัก เมื่อได้มารู้จักกับโครงการ “จ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 1 (โครงการสร้างอาชีพ สร้างชีวิต สร้างชาติ)” ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรออนไลน์และพัฒนาทักษะต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรเกษตรพอเพียง การออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ การวางแผนเกษียณอายุ และการวางแผนทางการเงิน ซึ่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับเพื่อนบ้านและการเข้าร่วมอบรมโครงการ “จ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 1 (โครงการสร้างอาชีพ สร้างชีวิต สร้างชาติ)” ทำให้คุณแม้วเกิดแรงบันดาลใจและมีความมั่นใจในการทำการเกษตรมากขึ้น ทำให้เกิดความคิดในการทำโรงเรือนเลี้ยงไก่บ้านบนที่ดินของตัวเอง ซึ่งเป็นการต่อยอดประสบการณ์ที่เคยเลี้ยงไก่อยู่เดิมและมีตลาดรองรับที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม แนวคิดการทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ของคุณแม้วจะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านองค์ความรู้และเงินทุน
หลังจากที่ห่างบ้านไปทำงานที่เกาะสมุยมาหลายปี การกลับบ้านครั้งนี้ทำให้คุณแม้วตระหนักว่าการทำงานที่บ้านและได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวนั้นมีความสุขเพียงใด จึงตัดสินใจว่า หากเป็นไปได้จะไม่กลับไปทำงานในเมืองใหญ่อีก และจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่จังหวัดขอนแก่น
คุณแพร - นภนันท์ บุญญศาสตร์พันธุ์ อีกหนึ่งแรงงานอีสานคืนถิ่นที่ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น หลังเรียนจบปริญญาตรี คุณแพรได้ออกไปตามหาความฝันในเมืองใหญ่ โดยเริ่มจากการเรียนเป็นครูสอนทำอาหารที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะเริ่มสอนทำอาหาร และเบเกอรี่ให้กับนักท่องเที่ยวในโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ตหลังจากทำงานได้ 3 ปี โรงแรมที่จังหวัดภูเก็ตต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด 19 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหายไปเกือบทั้งหมด แรงงานในจังหวัดภูเก็ตไม่มีทางเลือกจึงต้องกลับภูมิลำเนา เพื่อไปตั้งหลักใหม่
ในช่วงแรกที่คุณแพรกลับมาอยู่จังหวัดขอนแก่นยังไม่มีงานใหม่ทำจึงทำขนมไปแจกเพื่อน ๆ ที่ทำงานในโรงพยาบาล เพื่อให้กำลังใจในการต่อสู้กับโควิด 19 โดยเริ่มจากโดนัท เนื่องจากเป็นขนมที่ทำง่าย เมื่อเพื่อน ๆ ได้ลองทาน ก็มีเสียงตอบรับที่ดีมากและช่วยบอกต่อกัน จนทำให้คุณแพรได้รับออเดอร์ขนมเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ จนจุดประกายให้คุณแพรเห็นช่องทางในการทำธุรกิจสร้างรายได้ ด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่และทักษะการทำขนมที่สะสมมาหลายปี จึงได้เริ่มพัฒนาขนมอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้า ทั้งทอฟฟี่เค้ก และมาการอง อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากโควิด 19 ได้สอนให้คุณแพรลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจจึงเลือกทำขนมตามที่ลูกค้าสั่งไว้เท่านั้น การท ำธุรกิจของคุณแพรนอกจากจะสร้างรายได้ให้ตนเองแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจอื่น ๆ ในท้องถิ่นจากการเลือกใช้วัตถุดิบ อาทิ ดอกไม้ แป้ง และส่วนผสมต่าง ๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ คุณแพรยังได้เริ่มทำการตลาดผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และด้วยการโต้ตอบอย่างเป็นกันเองจึงสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าเป็นอย่างมาก
ปัจจุบัน ธุรกิจขายขนมกำลังไปได้ดี คุณแพรจึงเริ่มวางแผนที่จะต่อยอดธุรกิจด้วยการเปิดหน้าร้านของตัวเองควบคู่ไปกับการบุกเบิกธุรกิจใหม่ คือ โรงเรียนสอนกิจกรรม เช่น วาดรูปและทำขนม ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณแพรทำแล้วมีความสุข นับเป็นการนำทักษะติดตัวมาประยุกต์ใช้ ขยายกิจการ และสร้างรายได้ ให้ธุรกิจอื่นในบ้านเกิดได้อีกด้วย
1 ประมาณการจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะการมีงานทำ (Labor Force Survey: LFS) ไตรมาสที่ 4 ปี 2563
2 บทความ โควิดทุเลาแรงงานบ้านเฮาสิเฮ็ดเกษตรจังได๋ Regional letter ฉบับที่ 4/2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย
3 ปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์, จิรวัฒน์ภู่งาม, อวิกาพุทธานุภาพ และวริทธิ์นันท์ชุมประเสริฐ (2564), นัยของการพัฒนาทักษะแรงงานต่อความเหลื่อมล้ำของค่าจ้าง : มุมมองจากตลาดแรงงานภูมิภาค