เปิดมุมมอง รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ
กับการพัฒนาทักษะแรงงานไทยเพื่อรองรับการทำงานในอนาคต

 

 

 

เปิดมุมมอง รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ  กับการพัฒนาทักษะแรงงานไทยเพื่อรองรับการทำงานในอนาคต

 

อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่รวบรวมโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2563 อยู่ที่ 6.5 แสนคน และมีความเสี่ยงที่จะตกงานอีกกว่า 2 ล้านคน กลายเป็นปัญหาทับซ้อนที่เกิดขึ้นกับตลาดแรงงานไทย รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดแรงงานไทยมาแบ่งปัน

 

ปัจจัยเสี่ยงก่อนเกิดโควิด 19


 

ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 19 มีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานไทยจากเทรนด์สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ขาดแคลนแรงงานวัยทำงาน ขณะเดียวกัน กลับมีความต้องการแรงงานในธุรกิจด้านสุขภาพ เพราะคนสูงวัยจำนวนมากขึ้นก็ต้องการดูแลสุขภาพมากขึ้นไปด้วย ประการที่สอง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายในมาใช้รถยนต์ ไฟฟ้าที่มีชิ้นส่วนน้อยลง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่มีประมาณ 6 - 7 แสนคน ซึ่งต้องเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะไปเรียนรู้เกี่ยวกับยานยนต์แห่งอนาคตมากขึ้น และประการสุดท้าย คือ เทคโนโลยี ระบบ automation และหุ่นยนต์มีแนวโน้มถูกนำมาแทนที่แรงงานคนมากขึ้น แม้เดิมทีจะมีการ คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่แรงงานที่ทำงานซ้ำ ๆ ในอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่ในระยะที่ผ่านมาพบว่าหุ่นยนต์ยังสามารถทำงานอื่นที่ไม่ใช่รูปแบบเดิมได้ เช่น การขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์ ทำให้กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือแรงงานระดับกลางที่หากไม่สามารถพัฒนาทักษะให้ก้าวสู่แรงงานระดับสูงได้จะต้องกลายเป็นกลุ่มแรงงานระดับต่ำที่ได้รับค่าจ้างลดลง

          

รศ. ดร.กิริยาเสริมต่อว่า "กลุ่มแรงงานที่มี ความเสี่ยงน้อยคือ งานที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทดแทนได้ เช่น งานที่ทำด้วยมือซึ่งต้องใช้ความละเอียดสูง งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานออกแบบ รวมถึงงานที่ใช้ทักษะทางสังคม และอารมณ์ (social & emotional skill) เช่น ทักษะการเป็นผู้นำการบริหารงานและการเจรจาต่อรอง"

 

ภาพประกอบ

 

ชีวิตวิถีใหม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยง ในตลาดแรงงาน


 

สถานการณ์โควิด 19 นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในตลาดแรงงานไทย ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่ซึ่งแตกต่างจากเดิม เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก และการทำงาน ที่บ้าน ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานเช่นเดียวกัน

          

"กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากคือ กลุ่มที่ให้บริการลูกค้าในพื้นที่ เช่น แคชเชียร์ พนักงานขาย ในร้านค้า และพนักงานต้อนรับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการที่มีแรงงานจำนวนมาก ด้วยรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ เปลี่ยนแปลงไปหันไปซื้อของผ่านช่องทาง e-commerce มากขึ้น ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีความจำเป็นในการเปลี่ยนทักษะไปสู่ภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม supply chain management เช่น การเป็นพนักงานบรรจุ สินค้าตามคำสั่งซื้อออนไลน์ คนส่งของและคนให้บริการหลังการขาย และแม้ว่าโควิด 19 จะหายไปทักษะแรงงานเดิมก็ยังคงมีความเสี่ยง เพราะผู้บริโภคได้เปลี่ยนพฤติกรรมไปจากเดิมแล้ว" รศ. ดร.กิริยากล่าว

          

แรงงานอีกกลุ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือ พนักงานบางส่วนที่ทำงานประจำในสำนักงานไม่ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เช่น นักการเงิน นักบัญชี รวมถึงพนักงานสาขาธนาคาร เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปรับบริการที่สาขาอีกต่อไป

          

กลุ่มสุดท้ายคือ แรงงานที่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะการเดินทางเพื่อทำธุรกิจลดลง บริษัทเปลี่ยนมาประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์แทน ขณะที่การท่องเที่ยวจะใช้เทคโนโลยีมากขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถสแกน QR code เพื่อเช็กอินโรงแรมที่พัก สั่งอาหาร รวมทั้งชำระค่าบริการได้โดยไม่ต้องใช้คน หรือผู้ประกอบการอาจเลือกแรงงานที่มีทักษะหลายด้าน (multi skills) มาทดแทนการจ้างงานตามตำแหน่งแบบปัจจุบัน

 

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ของแรงงานไทย


 

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการดิสรัปต์ในหลายธุรกิจ แต่งานบางอย่างได้รับผลกระทบน้อยหรือมีความต้องการมากขึ้น งานที่เป็นโอกาสของแรงงานไทย ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ health care รวมทั้งแพทย์และพยาบาล กลุ่มธุรกิจ logistics เมื่อมีการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจขนส่งสินค้าจึงต้องการแรงงานมากตามไปด้วย และกลุ่มธุรกิจ home support & personal care เช่น คนดูแลเด็กและผู้สูงอายุในบ้าน ที่ปรึกษาด้านครอบครัว คนดูแลทำความสะอาดบ้าน ช่างทำผม หมอนวดแผนไทย และเทรนเนอร์ออกกำลังกาย งานในกลุ่ม STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ วิศวกร cloud computing วิศวกรการพิมพ์ แบบ 3 มิติ ผู้เชี่ยวชาญการซ่อมหุ่นยนต์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักเทคโนโลยีสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีงานกลุ่มงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้ามามีบทบาทในการผลิตพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีสีเขียว สุดท้ายคือ กลุ่มงานสร้างสรรค์ งานออกแบบ ศิลปะ ดนตรี และแฟชั่น ที่หุ่นยนต์ยังเข้ามาทดแทนไม่ได้

          

รศ. ดร.กิริยา ยังให้ข้อสังเกตเรื่องความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานในครั้งนี้ว่า "สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ ความสามารถในการเคลื่อนย้ายไปสู่อาชีพใหม่ ที่ผ่านมาเมื่อคนตกงานจากการแทนที่ด้วยเทคโนโลยี แรงงานจะสามารถเปลี่ยนอาชีพได้ง่ายโดยเฉพาะในงานที่มีทักษะระดับใกล้เคียงกัน เช่น จากพนักงานกรอกข้อมูลไปเป็นแคชเชียร์ หรือจากคนเสิร์ฟไปค้าขาย แต่โควิด 19 ทำให้สภาพตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป คือทำให้งานทักษะใกล้เคียงหรือต่ำกว่ามีปริมาณน้อยลงหรือหดหายไป ส่งผลให้แรงงานระดับกลางที่ยกระดับทักษะไม่ได้ไม่มีที่ไป แรงงานกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่แรงงานระดับสูง ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้นกว่าเดิมแต่การเปลี่ยนย้ายงานในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย"

 

ทักษะสำคัญของแรงงานยุคใหม่

 

ผลักดันการแก้ไขปัญหาแรงงานไทย ให้เป็นวาระแห่งชาติ


 

ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาตลาดแรงงานและอาจารย์ผู้ให้ความรู้แก่คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต รศ. ดร.กิริยา จึงได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และเอกชน เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยภาคการศึกษาจะต้องร่วมมือกับภาคเอกชนผลิตแรงงานที่มีทักษะตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตลาด ขณะที่ภาครัฐควรสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อสร้าง "โอกาส" ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยนำทางให้แรงงานสามารถเปลี่ยนไปสู่อาชีพใหม่ได้

      

"กระทรวงแรงงานควรเป็นผู้ชี้นำเส้นทางอาชีพซึ่งต้องเริ่มต้นจากการแยกแยะจัดประเภททักษะ จัดให้มีการฝึกอบรม ทดสอบ และรับรองทักษะ ซึ่งแรงงานจะต้องมีความสามารถในการปรับตัวและมีการเรียนรู้ทักษะใหม่ตลอดชีวิต โลกยุคใหม่จะไม่เน้นว่าเรียนจบอะไรมา แต่จะให้ความสำคัญกับ 'ทำอะไรได้บ้าง'"

          

อีกโจทย์สำคัญสำหรับหน่วยงานของรัฐของไทยเป็นการปรับรูปแบบสวัสดิการตามบริบทสังคมสมัยใหม่ เช่น ความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ของ gig worker ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด 19 การให้เงินสนับสนุนกับแรงงานที่สมัครใจลาออกเพื่อพัฒนาทักษะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานใหม่ในอนาคต รวมถึงการช่วยเหลือให้แรงงานได้เคลื่อนย้ายไปสู่พื้นที่อื่นที่มีการจ้างงาน (relocation) "สิ่งสำคัญต้องเป็นการร่วมมือกันของทุกฝ่ายเพื่อให้การแก้ไขปัญหาด้านแรงงานเป็นไปอย่างยั่งยืน" รศ. ดร.กิริยากล่าวทิ้งท้าย