พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์
ก้าวผ่านโควิด 19 ด้วยความแข็งแรงทางใจและภูมิคุ้มกันด้านการเงิน

 

 

 

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์  ก้าวผ่านโควิด 19 ด้วยความแข็งแรงทางใจและภูมิคุ้มกันด้านการเงิน

 

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การดูแลจิตใจของประชาชนเป็นอีกสิ่งที่รัฐให้ความสำคัญ กรมสุขภาพจิตในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงได้เร่งพัฒนาบริการที่มีอยู่และเพิ่มเติมบริการใหม่ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรภายนอกเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด โดย พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้ร่วมพูดคุยถึงภาพรวมการทำงานของกรมสุขภาพจิตพร้อมเผยสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของคนวัยทำงานในปัจจุบัน การแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ทุกวันนี้ 1 ใน 4 ของประชากรโลกกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต พญ.ดุษฎีเล่าภาพ ง่าย ๆ ว่า "ประชากร 4 คนจะมี 1 คนที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยแสดงออกมาทางพฤติกรรม อารมณ์หรือทักษะทางสังคม และเมื่อหนึ่งคนมีปัญหาจะมีอีกสองคนได้รับผลกระทบ เช่น คนในครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นผลของปัญหาสุขภาพจิตจึงมากกว่าที่เราเข้าใจ"

 

"ส่งเสริม" และ "ป้องกัน" แนวทางแก้ปัญหาใจป่วย


 

"ส่งเสริม" คือทำให้คนที่แข็งแรงอยู่แล้วแข็งแรงยิ่งขึ้น ซึ่งกรมสุขภาพจิตเน้นสร้างความเข้มแข็งหรือภูมิคุ้มกันที่จะช่วยป้องกันจิตใจเมื่อมีปัญหาเข้ามาและสามารถจัดการกับปัญหาได้ "สำหรับวิกฤตโควิด 19 นั้น อย่างแรกต้องยอมรับก่อนว่าเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ เมื่อยอมรับแล้วเรายึดหลัก 'อึด ฮึด สู้' อึดต้องเกิดก่อนเสมอ ภาษาอังกฤษคือ tolerance เราต้องทนให้ได้ก่อน จากนั้นคือฮึดแล้วก็ลุกขึ้นสู้ต่อ ซึ่งเวลาที่จะลุกขึ้นเราต้องการทั้งกำลังภายในและกำลังภายนอก โดยกำลังภายในคือใจของเราเองที่มองเห็นปัญหาแล้วเลือกใช้ปัญญาเดินไปหาทางออก ส่วนกำลังภายนอกคือแรงสนับสนุนที่มาจากครอบครัว ชุมชน สังคม และรัฐบาลที่พร้อมจะเป็นกำลังใจ และพยุงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตขึ้นมา"

          

สำหรับคำว่า "ป้องกัน" นั้น เนื่องจากการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเข้ามารักษาหรือบำบัดที่ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม ล้วนเริ่มต้นจากความเครียดหรืออาการวิตกกังวล มีอาการข้างในไม่มีความสุข ซึ่งร่างกายก็อาจได้รับผลกระทบและส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ และกินอาหารไม่อร่อย "อาการเหล่านี้ถ้าได้รับการช่วยเหลือดูแลตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นแค่ความเครียด ยังไม่ป่วยเป็นซึมเศร้าไบโพลาร์หรือจิตเภท เราสามารถช่วยได้เยอะมาก"

 

หลากหลายช่องทาง "บริการแก้ปัญหาสุขภาพจิต"


 

แรกเริ่มของสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เกิดจากแนวคิดที่ตั้งใจช่วยคนที่คิดจะฆ่าตัวตายเท่านั้น แต่ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตมีความหลากหลายและมีประชาชนโทรเข้ามารับบริการเป็นจำนวนมาก ทำให้สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตอบโจทย์ได้ไม่ทั่วถึง "จำนวนตัวเลขผู้ที่ต้องการปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตของประเทศไทยมากที่สุดถึงประมาณปีละ 800,000 สาย แต่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 รับได้จริงประมาณ 200,000 สาย เพราะเรามีบุคลากรเพียง 10 คู่สาย ซึ่งแต่ละสายใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและช่วยดูแลจิตใจ แม้ทุกวันนี้มีการปรับขึ้นเป็น 12 คู่สาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นเราจึงต้องเพิ่มช่องทางออนไลน์อื่น ๆ เข้ามาช่วย"

          

ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตมีเว็บแอปพลิเคชัน Mental Health Check-In ให้ประชาชนเข้ามาประเมินสุขภาพจิตตัวเอง โดยการเช็กอินและกรอกเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อกลับในกรณีที่เกิดปัญหาหนัก นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำงานเชิงรุก

          

อีกบริการคือไลน์ KHUIKUN (คุยกัน) ที่เปิดให้ประชาชนทักแชตเข้ามาพูดคุยกับบุคลากรด้านสาธารณสุขแม้ จำนวนเจ้าหน้าที่อาจจะยังไม่มากเท่าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แต่ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ให้การช่วยเหลือที่มีประสิทธิผล นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตเปิดตัว

          

แอปพลิเคชันใหม่ชื่อ "SATI (สติ)" เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยรับฟังในฐานะนักรับฟังเชิงลึก โดยจิตอาสาทั้งหมดต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรของกรมสุขภาพจิต ใครที่มี ความเครียดหรือความทุกข์ใจก็เลือกได้ทั้งรูปแบบการแชตและวิดีโอคอลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

 

ช่องทางการติดต่อ บริการแก้ปัญหาสุขภาพจิต

 

สายด่วนสุขภาพจิต 1323 จับมือ ธปท. เสริมทักษะ "แก้หนี้" รับมือความเครียด


 

"เรากำลังทำงานร่วมกันระหว่างคลินิกแก้หนี้ของ ธปท. และทีมสายด่วน 1323 ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่ ธปท. ขอความช่วยเหลือมาที่กรมสุขภาพจิต โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือเคสลูกหนี้ที่มีจำนวนเยอะมาก ส่งผลให้ เจ้าหน้าที่คลินิกแก้หนี้ที่รับสายมาก ๆ นั้น นำเอาความเครียดมาอยู่กับตัวเอง เบื้องต้นคือเราเข้าไปดูแลจิตใจบุคลากรที่เครียดซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราว สิ่งที่มองต่อไปคือการแก้ปัญหาที่ต้นตอ เราจึงจัดการอบรมเพื่อเสริมชุดทักษะการฟังเชิงลึก หรือ deep listening ที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่เป็นdeep listener ที่ สามารถรับมือกับคนที่เครียดจากหนี้สินได้และในขณะเดียวกันก็ดูแลจิตใจของตัวเองไปด้วย โดยไม่เก็บความทุกข์ของผู้โทรมาเป็นของผู้รับสายเอง"

          

นอกจากการอบรมให้เจ้าหน้าที่เป็น deep listener แล้ว ทาง ธปท. ยังได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิตเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน "ในกรณีที่เคสเกินกำลังเจ้าหน้าที่ ธปท. เราได้มีการอบรมให้ผู้รับสายช่วยถามเพื่อขออนุญาตและขอเบอร์โทรศัพท์ของแต่ละเคสไว้ หากต้องการการดูแลจิตใจนักจิตวิทยาของกรมสุขภาพจิตก็จะติดต่อไปเพื่อให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยตรง ในทางกลับกันผู้ที่โทรเข้ามาที่สายด่วนสุขภาพจิตที่มีความเครียดจากปัญหาด้านการเงิน เจ้าหน้าที่สายด่วนก็จะถามถึงความต้องการในการปรึกษากับเจ้าหน้าที่ ธปท. หากต้องการเราจะส่งต่อเบอร์โทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ของคลินิกแก้หนี้ ให้ติดต่อกลับไปเพื่อให้คำปรึกษา"

          

สำหรับเคสร้ายแรงระดับถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ในโครงการความร่วมมือครั้งนี้ พญ.ดุษฎี ยอมรับว่าต้องมีอย่างแน่นอน โดยเป็นเคสในระดับที่ต้องส่งต่อนักจิตวิทยาสายด่วนสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิตเพื่อให้การดูแล และรักษาต่อไป

 

ปลายทางความร่วมมือคือประชาชน


 

ความคาดหวังในการร่วมมือกับ ธปท. ในครั้งนี้ พญ.ดุษฎีในฐานะตัวแทนจากกรมสุขภาพจิต ต้องการดูแลด้านจิตใจและมองเป้าหมายมุ่งไปเพียงแค่ว่า"ทุกคนจะได้ อะไร" จึงพยายามให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการและมีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการดูแล "พวกเราแทบไม่ได้มองว่าเขาป่วย เพราะในสถานการณ์แบบนี้ถ้าจะเรียกว่าป่วยก็ป่วยกันหมด ดังนั้นไม่ว่าจะเครียดมากน้อยแค่ไหนก็อยากให้ทุกคนเข้าถึงบริการให้มากที่สุด"

          

ส่วนความท้าทายของกรมสุขภาพจิตต่อสถานการณ์แห่งความยากลำบากของวิกฤต โควิด 19 ที่ยังไม่จบลงง่าย ๆ นี้ พญ.ดุษฎีมองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการให้บริการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง "ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดในสถานการณ์โควิด 19 เป็นเคสที่ไม่ได้หนักหนาเกินกว่าที่เคยมีมาในอดีต วิกฤตต้มยำกุ้งหนักหนาสาหัสกว่านี้ พวกเราก็เคยผ่านกันมาได้แล้ว ความท้าทายของการทำงานครั้งนี้จึงอยู่ที่ความครอบคลุมมากกว่าพวกเราสามารถช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ครอบคลุมหรือยัง ช่วยไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ดังนั้น ทำอย่างไรถึงจะจัดบริการให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ "

 

ดูแลจิตใจ "ตัวเรา" และ "คนรอบข้าง" เคล็ดลับบำบัดด้วยตัวเอง


 

เพราะในแต่ละวันคนเรามีทั้งเรื่องที่ทำให้มีความสุขและไม่มีความสุข "อยากให้ทุกคนได้อยู่นิ่ง ๆ กับตัวเอง เพื่อทบทวนสิ่งที่ดีและไม่ดีที่เกิดขึ้น เป็นการฝึกให้มองโลกได้ตามจริง เวลาที่เห็นเรื่องดี ๆ ให้ใช้เวลาอยู่กับ ประสบการณ์นั้นสักพักเพราะนี่คืออาหารใจ มองให้เห็นว่าวันนี้เราทำอะไรได้ดี ส่วนที่ทำได้ไม่ดีต้องเรียนรู้ที่จะทำอะไรใหม่ในวันรุ่งขึ้น ถ้ามองให้เห็นอย่างนี้ โลกมีอะไรดี ตัวเรามีอะไรดี ทำแบบนี้ไปซ้ำ ๆ ในแต่ละวันจะช่วยได้ อีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้อย่างเห็นผลคือการออกกำลังกายและการฝึกสมาธิ"

          

ส่วนใครที่ต้องอยู่กับคนที่มีความเครียด พญ.ดุษฎีแนะนำว่าต้องฝึกเรื่องความเห็นอกเห็นใจแบบที่เรียกว่า "ไม่ร่วมหัวจมท้าย" เป็นการยืนอยู่ในมุมมองที่เห็นตัวเองว่าเรากับเขาคนละคนกัน ปัญหาใครคนนั้นแก้เอง น้ำตาใครคนนั้นต้องเช็ดเอง เราทำได้เพียงยื่นผ้าเช็ดหน้าให้ "ถ้าเลือกที่จะรับขอให้รับความไว้วางใจ เพราะการที่ใครสักคนจะพูดเรื่องความทุกข์ของตัวเองให้เราฟังแปลว่าเขาต้องไว้ใจเรามาก อยากให้ขอบคุณเขาด้วยซ้ำที่เขามอบความไว้วางใจให้เราเป็นมุมมองที่สร้างพลังบวกให้ตัวเราเอง"

 

ภาพประกอบ

 

นอกจากใจที่แข็งแรง ต้องมีภูมิคุ้มกัน ด้านการเงิน


 

"สถานการณ์โควิด 19 ต่างส่งผลกระทบกับทุกคนไม่มากก็น้อย นอกจากอยากเห็นทุกคนมีความเข้มแข็งทางใจที่เกิดขึ้นจากตัวเอง คนรอบข้าง และเจ้าหน้าที่ที่พร้อมจะดูแลแล้ว ยังมีอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือภูมิคุ้มกันด้านการเงิน ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อการผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปเท่านั้น แต่จะดีกว่าเมื่อมีความพร้อมเสมอไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต" พญ.ดุษฎีกล่าวทิ้งท้าย