Innovative Justice ภาพลักษณ์ใหม่ศาลยุติธรรม
มุ่งสู่จุดหมายการเป็นที่พึ่งแห่งแรกของประชาชน

 

 

 

ข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงนโยบายแInnovative Justice ภาพลักษณ์ใหม่ศาลยุติธรรม มุ่งสู่จุดหมายการเป็นที่พึ่งแห่งแรกของประชาชนงงานต่างด้าวในประเทศไทย

 

ไม่มีวงการใดไม่ถูก disrupt แม้แต่วงการ "ศาลยุติธรรม" ที่หลายคนมองว่าเป็น "องค์กรอนุรักษ์นิยม" ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมเป็นหนึ่งในสถาบันที่มีการปรับตัวอย่างมาก เพื่อตอบสนองอย่างเท่าทันกับบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลง จนวันนี้หลายคนเริ่มสัมผัสได้ถึงการพัฒนากระบวนการอำนวยความยุติธรรมที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ "ระบบ D-Court" ระบบออนไลน์ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัด หรือ "กลไกการไกล่เกลี่ย" ที่เกิดจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งสะท้อนมิติการทำงานในเชิงรุก และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น

          

BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณเมทินี ชโลธร ประธาน ศาลฎีกา และคุณพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มาบอกเล่าถึงความจำเป็นและคุณูปการของ "การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง" พร้อมกับแบ่งปันเรื่องราวการปรับตัวของศาลยุติธรรมและกระบวนการอำนวยความยุติธรรม ตลอดจนเป้าหมายในการขับเคลื่อนเพื่อสานต่อสถาบันตุลาการของประธานศาลฎีกาหญิงคนแรกของประเทศไทย

 

เสียงประชาชนและบริบทที่เปลี่ยนจุดตั้งต้นการปรับตัว


 

หากเทียบกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร หลายคนมองว่าฝ่ายตุลาการดูจะเป็นอำนาจ อิสระ ไม่มีการถ่วงดุลกับฝ่ายใด แต่สำหรับคุณเมทินี เธอมองว่า เสียงของประชาชนเป็นอำนาจหลักที่ถ่วงดุลและตรวจสอบการทำงานของศาลยุติธรรม แต่ "ตัวเร่ง" สำคัญที่ผลักดันให้ศาลต้องปรับตัวอย่างก้าวกระโดด ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและโควิด 19

          

"ย้อนไปสัก 10 ปี คนภายนอกมักมองว่า ศาลเป็นองค์กรอนุรักษ์นิยม มีคนสูงวัย มีพิธีการเยอะ แต่จริง ๆ เรามีทั้งผู้พิพากษารุ่นใหม่และอาวุโส ช่วงหลังเราปรับวิธีคิดว่า การทำงานของศาลเป็นการให้บริการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ดังนั้นวิธีการทำงานต้องเปลี่ยน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดูว่าเขาต้องการอะไร สิ่งที่ต้องการ คือ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่าย จึงเป็นที่มาของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทางศาล"

          

"ศาลดิจิทัล" หรือ ระบบ D-Court เป็นตัวอย่างการปรับตัวก้าวใหญ่ โดยเป็นการพัฒนาระบบออนไลน์ขึ้นมาให้บริการคู่ความตลอด 24 ชั่วโมง ทำได้ตั้งแต่การยื่นฟ้องผ่านระบบ e-filing การยื่น ส่ง และรับคำร้องของคู่ความและเอกสารออนไลน์ รวมทั้งการติดตามข้อมูลคดีผ่านระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม (Case Information Online Service: CIOS)

 

5 ประโยชน์ศาลยุติธรรม มุ่งสู่ D-Court

 

คุณเมทินีกล่าวเสริมว่า ระบบ CIOS ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถติดตามผลการส่งหมาย คำสั่งศาล และวันนัดพิจารณาคดี รวมทั้งสามารถสืบค้นและติดตามผลคดีของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ตลอดจนติดตามการประกาศนัดไต่สวนผ่านระบบ e-notice system และติดตามสำนวนคดีผ่านระบบ tracking system ได้ทุกที่ทุกเวลาตามที่ต้องการ ผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของศาลเพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน

          

นอกจากนี้ ศาลยังได้ประยุกต์ใช้สื่อดิจิทัลสมัยใหม่และสื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง ZOOM, Microsoft Teams และ LINE มาสนับสนุนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ พร้อมกับพัฒนาระบบสืบพยานทางจอภาพโดยใช้ VDO/ Web Conference มาช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

          

"สมัยก่อนคนมองว่าศาลเป็นแดนสนธยา เข้าถึงยาก พิธีการเยอะ แต่วันนี้แค่กดเข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน COJ (Court of Justice) ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที และเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีการลดรูปแบบและขั้นตอนที่เยิ่นเย้อลงไปเยอะมาก นี่สะท้อนว่าศาลมีความตื่นตัวต่อเทคโนโลยี และเสียงประชาชน โดยเราได้พัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคของประธานศาลฎีกาท่านก่อน ๆ แต่ก็ต้องขอบคุณโควิด 19 ที่ทำให้ digital court ก้าวมาไกลและก้าวสู่การเป็น smart court ได้ในเวลาอันรวดเร็วอย่างทุกวันนี้"

          

ประธานศาลฎีกาเล่าว่า จากการระบาดของโควิด 19 รอบแรกทำให้คดีกว่า 160,000 คดีต้องถูกเลื่อนออกไป แต่ด้วยการปรับกระบวนการทำงานโดยนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เช่น การพิจารณาคดีออนไลน์ ทำให้ปัจจุบันคดีทั้งหมดที่ค้างไว้กลับมาดำเนินการได้ในเวลาไม่กี่เดือน และการระบาดทั้งสองรอบทำให้ประชาชนและศาลเปิดรับบริการการอำนวยความยุติธรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น

          

"สิ่งที่เราพยายามสื่อสารคือ ประชาชน สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน แม้ในความเป็นจริง ใช่ว่าคน ทุกกลุ่มจะสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ หรืออ่านออกเขียนได้ ฉะนั้น ระบบศาลจึงต้องทำคู่ขนานเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะการที่ประชาชนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องและเป็นธรรมถือเป็นเรื่องอันตราย"

 

พัฒนาจาก "นโยบาย 5 ส" ต่อยอดสู่ Innovative Justice


 

ตลอด 40 ปีที่เป็นผู้พิพากษามา นอกเหนือจากความซื่อสัตย์สุจริตที่ถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของบุคลากรของศาลยุติธรรม คุณเมทินีกล่าวว่า หลักการสำคัญในการทำงานของเธอคือ การทำความเข้าใจว่า ประชาชนต้องการอะไร

          

จากหลักการทำงานของประธานศาลฎีกา นำมาสู่ "นโยบาย 5 ส" ได้แก่ เสมอภาค - ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมอย่าง เสมอภาค, สมดุล - สร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ, สร้างสรรค์ - สร้างกลไกการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีที่ทันสมัย, ส่งเสริม - ส่งเสริมความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการและให้ความสำคัญแก่คุณภาพชีวิตของบุคลากร และส่วนร่วม - สนับสนุนให้เกิดการรับรู้และมีส่วนร่วม

 

ภาพประกอบ

 

คุณพงษ์เดชมีความเห็นว่า "นโยบายของประธานศาลฎีกาเป็น 'นวัตกรรมทางความยุติธรรม' หรือ innovative justice เพราะเป็นแนวนโยบายที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นว่าการให้ความยุติธรรมต้องให้ในหลากหลายรูปแบบ และเป็นนโยบายที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวางโดยเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกคน ซึ่งหลายเรื่องสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับมาทำให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประธานศาลฎีกาแล้ว"

          

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมมองว่า "นวัตกรรม" เป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วดียิ่งขึ้น ฉะนั้น innovative justice จึงหมายถึงการพัฒนา "เครื่องมือ" ที่ศาลมีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างปรากฏการณ์ความยุติธรรมรูปแบบใหม่หรือมิติใหม่ในการทำงานเชิงรุกที่สอดรับกับนโยบาย 5 ส เช่น ศาลจังหวัดสามารถจัดทำคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันให้ผู้ที่ทำผิดในบางคดี ผู้ต้องหาเพียงลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และศาลจะแต่งตั้งผู้นำชุมชนอย่างผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้กำกับดูแล ให้พวกเขาปฏิบัติตามคำสั่งศาลแทนการเรียกหลักประกัน

 

"สร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ" โจทย์สำคัญต่อจากนี้


 

"ถ้าถามว่า 'ส' ที่ต้องเร่งสร้างสำหรับสถานการณ์ยุคนี้น่าจะอยู่ที่'สมดุล' หรือการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิของฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลยและฝ่ายผู้เสียหายหรือโจทก์ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิเยอะแยะ การสร้างดุลยภาพถือเป็นดุลยพินิจของท่านผู้พิพากษาว่าควรจะให้ฝ่ายไหนได้รับสิทธิตามที่ขอ ซึ่งในฐานะประธานศาลฎีกาได้ให้คำแนะนำว่าการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิที่ดี ขาสองข้างของตราชู (สัญลักษณ์ของกระบวนการ ยุติธรรม) ต้องเท่ากัน"

 

ภาพประกอบ

 

ประมุขฝ่ายตุลาการยกตัวอย่างสิทธิของฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น สิทธิขอยื่นปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากศาลมีแนวปฏิบัติที่มุ่งลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน โดยยึดหลัก "ไม่ควรมีใครต้องถูกคุมขังเพียงเพราะไม่มีเงินหรือหลักประกัน" จึงเปลี่ยนไปใช้กลไกอื่นแทน เช่น กำไล EM (Electronics Monitoring) หรือการแต่งตั้งผู้กำกับดูแล รวมถึงสิทธิรอการลงโทษ หรือวางโทษอื่น นอกจากการจำคุก หรือหากต้องรับโทษจำคุก ผู้ต้องหาก็ยังมีสิทธิได้รับการแก้ไขฟื้นฟูเพื่อกลับเข้าสู่สังคมทั่วไป เป็นต้น

         

"แม้เป็นผู้กระทำผิด ศาลก็ต้องมีวิธีการให้บริการที่จะไม่ทำให้เขาเสียหายเกินกว่าโทษที่ได้รับ เช่น ถ้าพิจารณาคดีได้เร็วเขาจะเป็นนักโทษเด็ดขาดเร็ว มีสิทธิยื่นขอพักโทษ ลดโทษ และฝึกวิชาชีพทันที โดยมีมาตรฐานระยะเวลาทำงาน เช่น ถ้ายื่นคำร้องแบบนี้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการภายในเวลากี่ชั่วโมง หรือคดีที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ต้องพิพากษาให้เสร็จไม่เกิน 6 เดือน เพื่อที่จำเลย จะรับรู้คำพิพากษาโดยเร็วและเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลย"

          

ฝ่ายผู้เสียหาย ซึ่งถือเป็น "ผู้ถูกกระทำ" ก็มีสิทธิมากมาย เช่น สิทธิในการขอให้ศาล แต่งตั้งทนายความให้สิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน สิทธิคัดค้านไม่ให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว สิทธิที่จะไม่เผชิญหน้าผู้ต้องหา ฯลฯ ซึ่งผู้เสียหายสามารถขอรับการคุ้มครองสิทธิได้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มคดีไปจนการบังคับคดีแล้วเสร็จ โดยแจ้งที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในคดีอาญาที่มีอยู่ทุกศาล อย่างไรก็ดี ประธานศาลฎีกาเล่าว่าน่าเสียดายที่มีผู้เสียหายจำนวนมากไม่เคยรู้ว่าตนมีสิทธิเหล่านี้

          

"บางครั้งกระบวนการยุติธรรมอาจมองไปที่จำเลยหรือผู้ต้องหาเป็นหลัก จนผู้เสียหายอาจจะถูกลืมไป แต่ตอนนี้ท่านประธานศาลฎีกาให้น้ำหนักกับการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายเพิ่มขึ้น โดยท่านทำตรงนี้ให้เด่นชัด และทำงานเชิงรุกมากขึ้น ฉะนั้น ผู้เสียหายทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา สามารถแจ้งมาที่ศาลผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เสมือนว่าศาลกำลังเดินออกไปหาประชาชน" คุณพงษ์เดชกล่าวเสริม

          

ศาลเน้นการสื่อสารมาอย่างต่อเนื่องด้วยการพยายาม "เข้าถึง" กลุ่มที่อาจจะมีปัญหา และศาลยังต้อง "เข้าใจ" ว่าแต่ละกลุ่มจะสามารถรับข้อมูลเหล่านี้ได้มากแค่ไหน ต้องใช้เครื่องมือใดบ้างเพื่อช่วยให้การสื่อสารนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทุกวันนี้ผู้พิพากษาลงมาจากห้องทำงานเพื่อพูดคุยกับคนที่มาศาลว่ามีความติดขัดลำบากอย่างไร มีอะไรที่จะปรับหรือลดแล้วช่วยพวกเขาได้บ้าง เพื่อให้ใช้ เวลามาศาลน้อยที่สุดแต่ได้ประโยชน์เต็มตามที่ต้องการ รวมถึงการพยายามสร้างความรู้ด้านสิทธิและกฎหมายโดยการนำเจ้าหน้าที่ศาลออกไปให้ความรู้ในเรือนจำและพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้ประชาชนรู้สิทธิของตนเองมากขึ้น

 

ความร่วมมือกับ ธปท. บ่มเพาะ "วัฒนธรรมไกล่เกลี่ย"


 

"ส" ที่มีบทบาทสูงขึ้นท่ามกลางบริบทที่ซับซ้อน คือ "ส่วนร่วม" โดยเฉพาะกับหน่วยงานภายนอกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานความร่วมมือเพื่อหาทางออกของข้อพิพาทที่จะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความ โดยหนึ่งในความร่วมมือครั้งสำคัญ ได้แก่ MOU ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ทำขึ้นกับ ธปท. เพื่อช่วยให้ลูกหนี้มีทางออกในการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการศาลที่ใช้เวลานานและยิ่งซ้ำเติมลูกหนี้

          

"จากเดิมที่ศาลจะดำเนินการใด ๆ ในกระบวนพิจารณาได้ ต้องมีคู่ความคนใดคนหนึ่งมายื่นฟ้องที่ศาล แต่พอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้ เท่ากับว่าแม้ยังไม่มีการยื่นฟ้องที่ศาล คู่ความก็สามารถตกลงยอมความกันได้ แล้วนำเรื่องมายื่นให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ทาง ธปท. เห็นว่าเป็นประโยชน์ทั้งกับลูกหนี้และธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด 19 จึงมาหารือกับเรา เพื่อวางมาตรฐานการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ขณะที่ผู้ไกล่เกลี่ยของศาลก็จะได้เพิ่มความรู้ความชำนาญด้านการเงินด้วย จึงมีการลงนาม MOU มาถึงขณะนี้การดำเนินการได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีหลายคดีที่ใช้ช่องทางไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

         

คุณพงษ์เดชกล่าวอีกว่า การที่ ธปท. เข้ามาช่วยศาลในการทำความเข้าใจกับธนาคารพาณิชย์ ช่วยให้กระบวนการไกล่เกลี่ยง่ายขึ้น เพราะ ธปท. กับธนาคารพาณิชย์มีนโยบายร่วมกันอยู่แล้ว ขณะที่ศาลมีหน้าที่เตรียมการสำหรับเรื่องที่จะเข้ามาไกล่เกลี่ย โดยคำร้องขอไกล่เกลี่ยมาจากฝ่ายเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ก็ได้

 

ภาพประกอบ

 

ส่วนคุณเมทินีกล่าวว่า การไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้คู่ความที่เคยเป็นคู่ค้ากลับมาตกลงกันได้ด้วยดีและพึงพอใจทั้งสองฝ่าย เรียกได้ว่าเป็นการดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ปกติ พร้อมกับมองเห็นปลายทางร่วมกันว่าลูกหนี้จะจ่ายได้เท่าไหร่ และธนาคารมีข้อผ่อนปรนอย่างไร โดยความงามของการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคือถ้าไกล่เกลี่ยสำเร็จ จะลดคดีที่ต้องฟ้องและไม่ต้องมีคำพิพากษา เมื่อไม่มีคำพิพากษา ก็ไม่มีฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะ ไม่มีใครเสี่ยงจะเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งการถูกฟ้องล้มละลายก็ไม่ต่างอะไรจากการถูกลงโทษจำคุกในคดีอาญา

          

"ในคดีอาญา ศาลยังคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาดูแลให้มีโอกาสต่อสู้คดีได้ ให้โอกาสจำเลยที่จะไปฟื้นฟูตัวเอง ยิ่งถ้าโทษไม่รุนแรง ไม่หนี ศาลมักจะแนะนำให้รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษหรือลงโทษปรับ เพื่อไม่ให้มีการจำคุกกักขัง ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพของเขา ดังนั้น ในคดีแพ่ง ศาลก็ควรให้โอกาสในการฟื้นฟูตัวเองเพื่อให้ลืมตาอ้าปากทำมาหาเลี้ยงชีวิตได้เช่นกัน แทนที่จะดับอนาคตเขาด้วยการส่งฟ้องล้มละลาย เพราะถ้าถูกพิพากษาเป็นบุคคลล้มละลาย ลูกหนี้จะเสียโอกาสทำงานบางอาชีพ การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องเป็นการให้ความคุ้มครองลูกหนี้ให้เขากลับมามีชีวิตอยู่และเดินต่อไปข้างหน้าได้"

          

ปัจจุบัน ทุกศาลยุติธรรมจะมีศูนย์ไกล่เกลี่ยและผู้ประนีประนอม โดยเลขาธิการสำนักงานศาลทิ้งท้ายว่า ทั้งศาลและ ธปท. มีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้าง "วัฒนธรรมการไกล่เกลี่ย" ให้งอกงามและยั่งยืนในระบบการเงินไทย

 

ก้าวสู่จุดหมาย "ที่พึ่งแห่งแรกของประชาชน"


 

คุณเมทินีสรุปว่า ความคาดหวังของประชาชนที่มาขึ้นศาลมีเพียง 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ความถูกต้อง ความเป็นธรรม และความรวดเร็ว ซึ่งถ้าศาลสามารถให้บริการได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรม และรวดเร็ว เธอเชื่อว่าแม้แต่ผู้แพ้คดีหรือจำเลยที่ถูกตัดสินจำคุกสูงสุด ก็จะยังพอใจกับการอำนวยความยุติธรรมของศาล

         

ในเรื่องความถูกต้อง เธอกล่าวว่า ศาลยุติธรรมไทยตอบโจทย์ด้านความถูกต้องแม่นยำของตัวบทกฎหมายได้เป็นอย่างดีอยู่แล้วด้วยกระบวนการคัดสรรและคัดเลือกผู้พิพากษาที่เข้มข้น นอกจากนี้ ยังมีการอบรมเพิ่มเติมองค์ความรู้ให้แก่ผู้พิพากษาอย่างสม่ำเสมอ ส่วนเรื่องความเป็นธรรม ศาลปฏิบัติต่อคู่ความและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค และเรื่องความรวดเร็ว นอกจากการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างสะดวกรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ ศาลยังมีการตั้งมาตรฐานระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีและออกคำสั่ง ซึ่งพยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระชับมาตรฐานระยะเวลาให้สั้นลง

 

สมัครใช้บริการ CIOS แบบออนไลน์

 

"เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม เราจึงกำหนดมาตรฐานระยะเวลาของคดี เช่น คดีทั่วไปจะต้องเสร็จภายใน 1 ปี คดีที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณาคดีต้องเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งวันนี้ศาลฎีกาไม่มีคดีจำเลยต้องขังฯ ที่ค้างเกิน 6 เดือนเลย เราทำเสร็จก่อน แล้วเราใช้วิธีอ่านคำพิพากษาผ่านทางจอภาพไปที่กรมราชทัณฑ์ปลายทาง ทำให้ไม่ต้องขนย้ายนักโทษ ซึ่งถ้าคำพิพากษา ศาลฎีกาให้จำคุก จำเลยก็จะได้หมายจำคุกสูงสุด เขาก็จะได้สิทธิในฐานะนักโทษเด็ดขาดทันที แต่ถ้าคำพิพากษากลับยกฟ้อง แทนที่จะต้องรอส่งคำพิพากษาไปแล้วต้องนัดออกหมายปล่อยตัวซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนเหมือนแต่ก่อน ศาลสามารถออกหมายปล่อยตัวในวันนั้นได้เลย เพราะอย่าลืมว่า อิสรภาพแค่วันเดียวก็หอมหวาน"

          

ประมุขแห่งฝ่ายตุลาการทิ้งท้ายว่าทุกวันนี้ศาลยุติธรรมไทยมีการปรับตัวอย่างมากที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งความท้าทายของข้าราชการฝ่ายตุลาการคือ ศาลจะยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาและเป็น "ที่พึ่ง" หรือ "ความหวัง" ว่าจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต้องสามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่าศาลตัดสินอย่างเป็นกลางตามกฎหมาย

         

"สิ่งที่อยากทำให้เกิดขึ้นในช่วงที่ยังทำหน้าที่อยู่ คือการทำให้ประชาชนไทย สังคมไทยเชื่อมั่นในศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม แล้วเข้ามาพึ่งเราโดยเร็วหากถูกละเมิดสิทธิ ไม่ว่ากรณีแพ่งหรืออาญา เช่น ขอใช้สิทธิในฐานะผู้เสียหายหรือยื่นขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องโดยไม่ต้องรอให้ถึงกระบวนการพิพากษาด้วยการปรับตัวและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมจะเปลี่ยนความคิดจาก 'ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย' กลับมาเป็น 'ศาลเป็นที่พึ่งแรก' ของประชาชน" ประธานศาลฎีกาหญิงคนแรกกล่าว