รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ www.ไทยมีงานทำ.com
แพลตฟอร์มของวันนี้และอนาคต ช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

 

 

 

รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

 

สถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในประเด็นสำคัญขณะนี้ คือ ปัญหาการว่างงาน ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการจัดงาน Job Expo สร้างงานล้านตำแหน่ง และตั้งคณะทำงานพัฒนาแพลตฟอร์มจัดหางาน โดยมีผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมพัฒนาเว็บไซต์ www.ไทยมีงานทำ.com ที่จะช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างบางส่วนสามารถก้าวต่อไปในช่วงเวลาอันยากลำบาก BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้เป็นประธานคณะทำงานมาเล่าเรื่องการริเริ่มจัดทำเว็บไซต์ไทยมีงานทำ และแนวคิดเรื่องการพัฒนาแรงงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะเอื้อประโยชน์ในระยะยาวสำหรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

กว่าจะเป็น www.ไทยมีงานทำ.com


 

ไทยมีงานทำ

 

รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ด้านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นคณะทำงานหลักที่ริเริ่มให้พัฒนาเว็บไซต์ไทยมีงานทำ เล่าถึงจุดเริ่มต้นไว้ว่า "ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคเพิ่งเริ่มต้นขึ้นธปท. ได้ประเมินสถานการณ์ไว้ว่ามีโอกาสที่คนจะว่างงานหรือเสมือนว่างงาน (การที่นายจ้างลดจำนวนวันทำงานลงไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวันเพื่อลดค่าจ้าง) มากถึง 4.7 ล้านคน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. และกรรมการ สศช. ในขณะนั้น เห็นว่าควรมีแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการแรงงาน (demand) และผู้ใช้แรงงาน (supply) ได้มาพบกัน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีงานทำจะได้ทราบว่า มีงานที่ตรงกับคุณสมบัติของตนเองอยู่ที่ไหนบ้าง จึงนำเสนอแนวคิดนี้ขึ้นและนำมาขยายผลต่อ ในคณะอนุกรรมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฯ หลังจากพัฒนาได้ระดับหนึ่งจึงมอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการต่อ"

 

คุณสมบัติที่มากกว่าแพลตฟอร์มตลาดแรงงาน


 

จุดเด่นของเว็บไซต์ไทยมีงานทำคือ การรวบรวมข้อมูลการจ้างงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ประชาชนทั่วไปสามารถค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานล่าสุดที่เปิดรับสมัคร โดยเลือกจับคู่ตำแหน่งงานตามพื้นที่หรือภูมิลำเนาและการจับคู่ตำแหน่งงานจากความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ทำงานหรือทักษะที่มีอยู่ นอกเหนือจากกลุ่ม แรงงานทั่วไปแล้วยังครอบคลุมถึงกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับประชาชนที่ต้องการยกระดับหรือปรับทักษะความรู้ของตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ "แรงงานในปัจจุบันจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้เหมาะกับตลาดแรงงานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการ upskill หรือ reskill แพลตฟอร์มไทยมีงานทำไม่ได้ให้แค่ข้อมูลงานที่เปิดรับสมัครเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลและหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในแต่ละงานเพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ว่าสิ่งใดที่เหมาะสมสำหรับตัวเขา" รศ. ดร.วรากรณ์กล่าว

 

คุณสมบัติที่มากกว่าแพลตฟอร์มตลาดแรงงาน

 

ตอบโจทย์การแก้ปัญหาตลาดแรงงาน


 

ผลการตอบรับการใช้งานผ่านเว็บไซต์ไทยมีงานทำ ภายใต้กรอบระยะเวลาที่จำกัด นับว่าเป็นไปได้ด้วยดี สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาตลาดแรงงานในระยะสั้นได้ในส่วนหนึ่ง ที่ผ่านมามีอัตรางานที่เปิดรับ 617,746 ตำแหน่ง มีหน่วยงานและบริษัทที่เปิดรับสมัครงาน 56,968 หน่วยงาน (ภาครัฐ 141,228 ตำแหน่ง และเอกชน 476,518 ตำแหน่ง) และมีผู้ที่ได้รับการตอบรับเข้าทำงานมากกว่า 119,036 คน "ที่ผ่านมาแพลตฟอร์มไทยมีงานทำสามารถช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานได้ในระดับหนึ่งแต่อาจยังไม่เท่ากับการคาดการณ์ในเบื้องต้นจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ในช่วงแรกยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งประเภทแรงงานที่ต้องครอบคลุมและชัดเจนเพียงพอ เพื่อให้ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างสามารถจับคู่กันได้รวมถึงเรื่องทักษะของแรงงาน เพราะงานบางประเภทต้องการทักษะที่หลากหลายหรือมีทักษะที่ทับซ้อนกันอยู่ จุดนี้กำลังมีการแก้ไขและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง" เว็บไซต์ไทยมีงานทำสามารถเอื้อประโยชน์ให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เนื่องจากเป็นการรวบรวมงานที่เปิดรับสมัครของภาครัฐและเอกชน รวมถึงมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของแรงงานในแต่ละตำแหน่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว

 

นอกจากเป็นที่รวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานต่าง ๆ ที่เปิดรับทั่วประเทศ เว็บไซต์ไทยมีงานทำยังมีประโยชน์ในเรื่องของการเก็บข้อมูลทั้งจากฝั่งนายจ้างและแรงงาน เพื่อใช้ทำความเข้าใจตลาดแรงงานในระยะยาวได้ "การเก็บข้อมูลแรงงานก็เหมือนกับการเก็บข้อมูลเพื่อพยากรณ์อากาศ หากไม่มีข้อมูลเก่า ๆ เป็นฐานข้อมูลแล้วสิ่งที่จะพยากรณ์ออกไปคงไม่ถูกต้อง ในทางกลับกันหากมีข้อมูลพร้อม การพยากรณ์ก็จะทำได้แม่นยำขึ้น และสามารถนำไปใช้ในการปรับฐานข้อมูลแรงงานสำหรับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตได้" รศ. ดร.วรากรณ์กล่าว

 

ภาพประกอบ

 

บทบาทในอนาคต


 

ต้องยอมรับว่าแม้แพลตฟอร์มไทยมีงานทำจะมีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาแรงงาน แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงานและตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น

 

"จากสถิติการว่างงานที่คาดการณ์ไว้เราตั้งเป้าหมายว่าเว็บไซต์ไทยมีงานทำจะช่วยตลาดแรงงานได้มากกว่านี้ แต่วันนี้ยังมีความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลที่ยังต้องปรับปรุงและพัฒนากันต่อ รวมถึงการสมัครงานในรูปแบบออนไลน์ อาจเป็นสิ่งที่คุ้นเคยของบางกลุ่มแต่ไม่ใช่แรงงานทั่วไป บางครั้งอาจใช้แพลตฟอร์มเพียงแค่ดูข้อมูลการสมัครงานแต่ไม่ได้สมัครผ่านระบบ หรือบางครั้งมีการจ้างงานเกิดขึ้นแล้วแต่นายจ้างหรือบริษัทยังไม่ได้แจ้งมาที่เว็บไซต์ทำให้ยังมีงานที่ตกค้างอยู่ในระบบ ปัจจุบันมีความพยายามปรับปรุงให้แพลตฟอร์มสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น รวมถึงการแยกประเภทและทักษะการทำงานให้มีความละเอียดยิ่งขึ้น" สุดท้ายนี้ รศ. ดร.วรากรณ์ให้ความเห็นว่า การจัดทำแพลตฟอร์มไทยมีงานทำนับเป็นตัวอย่างของการคาดการณ์ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าเพื่อเตรียมการหาทางแก้ไขแต่เนิ่น ๆ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาส่วนหนึ่งได้อย่างทันการณ์  ซึ่งนับเป็นแนวทางในการทำงานที่ดีและอาจพัฒนาสู่การแก้ปัญหาด้านอื่น ๆ ในประเทศไทยเช่นกัน