ไขข้อข้องใจ...ทำไมลูกหนี้ที่เข้ามหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้แล้วยังถูกปฏิเสธจากเจ้าหนี้อีก?

 

 

 

ไขข้อข้องใจ...ทำไมลูกหนี้ที่เข้ามหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้แล้วยังถูกปฏิเสธจากเจ้าหนี้อีก?

 

หลายปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญต่อการดูแลหนี้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์โควิด 19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีรายได้ลดลง บางคนตกงานแต่ยังมีหนี้สินที่ต้องชำระ ธปท. ตระหนักถึงความยากลำบากของประชาชน จึงขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือและในปีที่ผ่านมาได้ขยายคุณสมบัติผู้สมัครเข้ารับความช่วยเหลือในโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมถึงบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "หนี้บัตร" ตั้งแต่เป็นหนี้เสียก่อนฟ้องไปจนกระทั่งถึงคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว (คดีแดง) ยิ่งไปกว่านั้นตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ - 30 มิถุนายน 2564 ธปท. ได้จัด "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์" โดยการสนับสนุนของกรมบังคับคดีและสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อต่อยอดให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สำหรับกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่รู้สึกฝืดเคือง และกลุ่มอยู่ในชั้นบังคับคดียึดทรัพย์อีกด้วยซึ่งโอกาสจะกลับมาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้เพื่อหาข้อสรุปผ่อนปรนใด ๆ กันอีกนั้นเกิดขึ้นได้ยาก ถึงแม้อาจจะได้ส่วนลดหนี้ในบางกรณีแต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขการชำระให้เสร็จสิ้นในเวลาอันสั้น

 

มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ฯ ดูแลลูกหนี้กลุ่มไหนบ้าง


 

ลูกหนี้ที่เข้ามาลงทะเบียนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ฯ ที่เว็บไซต์ของ ธปท. สามารถเลือกรูปแบบความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับสถานะหนี้บัตรของตนเอง ซึ่งแต่ละสถานะจะได้รับข้อเสนอที่ผ่อนปรนและพยายามให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ (รูปที่ 1) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

 

กลุ่มแรก หนี้บัตรยังไม่เสียแต่รู้สึกฝืดเคืองซึ่งลูกหนี้ต้องการจะขอลดค่างวดที่ผ่อนชำระ หรือต้องการเปลี่ยนจากสินเชื่อแบบใช้หมุนเวียนมาเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดเวลา ซึ่งคิดดอกเบี้ยถูกลงและทราบกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น

 

กลุ่มที่สอง หนี้บัตรที่เป็นหนี้เสีย ทั้งกรณีก่อนถูกเจ้าหนี้ฟ้องและกรณีถูกฟ้องแล้วแต่คดียังไม่พิพากษา ซึ่งลูกหนี้ต้องการกลับมาผ่อนชำระแบบผ่อนปรนตามเงื่อนไขของคลินิกแก้หนี้ ซึ่งสามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยในโครงการที่ต่ำเพียง 4 - 7% 

 

กลุ่มที่สาม หนี้บัตรเป็นคดีมีคำพิพากษาแล้วไปจนถึงบังคับคดียึดทรัพย์แต่ยังไม่ขายทอดตลาด ซึ่งเจ้าหนี้ 23 แห่งตกลงให้กลับมาผ่อนชำระเฉพาะส่วนของเงินต้นนานสูงสุดถึง 5 ปี ทั้งนี้ ไม่เกินระยะเวลาบังคับคดี

 

มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ออนไลน์

 

ประชาชนสนใจร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ฯ เพียงใด


 

มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ฯ ครั้งนี้ มีประชาชนลงทะเบียนมากกว่า 200,000 คน หรือเกือบ 450,000 รายการ (1 คนทำรายการในระบบมากกว่า 2 รายการ) ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรกลุ่มที่ยังไม่เสียแต่รู้สึกฝืดเคือง จากการประมวลผลพบว่า เจ้าหนี้กับลูกหนี้สามารถตกลงกันได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ลูกหนี้แต่ละคนอาจได้รับความช่วยเหลือต่างกัน กล่าวคือ ผ่อนสั้น - ยาวอาจไม่เท่ากัน ขึ้นกับยอดหนี้ความสามารถในการชำระหนี้ และระยะเวลาบังคับคดีคงเหลือ หรือบางคนหากสามารถจ่ายงวดเดียวปิดจบได้เลยก็อาจได้รับส่วนลดเงินต้นด้วย

 

ในทางตรงข้าม ลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ได้ หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเจ้าหนี้ถึงตอบปฏิเสธ และเมื่อถูกปฏิเสธแล้วควรทำอย่างไร

 

ตัวเลขงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ณ 12 เมษายน 2564

 

สาเหตุที่เจ้าหนี้ไม่ยอมตกลงกับลูกหนี้


 

ในภาพรวม พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกหนี้ไม่บรรลุข้อตกลงหรือถูกปฏิเสธ มี 3 เหตุผล 

 

เหตุผลแรก ลูกหนี้มีข้อเสนอใหม่ที่แตกต่างไปจากข้อตกลงกลางที่ได้ตกลงไว้กับ ธปท. เช่น ขอเอาเจ้าหนี้อื่นมารวม หรือในกรณีลูกหนี้ปกติ (ยังไม่เป็น NPL) แต่ต้องการขอลดดอกเบี้ย ขอไม่จ่ายดอกเบี้ย ระบุขอส่วนลดเงินต้น ขอพักชำระหนี้โดยไม่มีกำหนดหรือขอไม่ชำระหนี้เลย ในกรณีเช่นนี้เจ้าหนี้จำเป็นต้องปฏิเสธ เพราะหากเจ้าหนี้ยอมให้ความช่วยเหลือตามแนวทางนี้ ยิ่งส่งเสริมให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพจำนวนไม่น้อยพร้อมมาขอความช่วยเหลือตามแนวทางนี้ทั้งที่ไม่มีความเดือดร้อนจริง (moral hazard) และดึงทรัพยากรของลูกหนี้ที่มีความเดือดร้อนจริงออกไป หากพฤติกรรมเช่นนี้ขยายวงออกไปย่อมสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจอย่างประเมินค่าไม่ได้

 

เหตุผลต่อมา ลูกหนี้อยู่ในมาตรการความช่วยเหลือแล้ว พักชำระหนี้หรือได้รับการผ่อนปรนมาแล้วต่อเนื่องหลายครั้ง ซึ่งสะท้อนว่า ลูกหนี้อาจไม่มีศักยภาพแล้ว

 

เหตุผลสุดท้าย ลูกหนี้อายุมากเกิน 60 ปี ซึ่งเมื่อรวมกับระยะเวลาผ่อนชำระที่ยืดออกไปก็จะเกินกว่าที่เจ้าหนี้จะยอมรับได้ 

 

นอกจากนี้ ยังมีลูกหนี้จำนวนมากที่ลงทะเบียนแล้วเจ้าหนี้ติดต่อกลับไม่พบ หรือเจ้าหนี้หาบัญชีลูกหนี้ไม่พบเนื่องจากไม่ใช่ลูกหนี้ในปัจจุบัน ทั้งในกรณีที่ระบุชื่อเจ้าหนี้ไม่ถูกต้องหรือหนี้เดิมถูกขายตัดออกจากบัญชีของเจ้าหนี้ไปแล้ว

 

ภาพประกอบ

 

 สำหรับประเด็นเฉพาะที่ทำให้ไม่บรรลุข้อตกลงแยกตามกลุ่มลูกหนี้ พบว่า

 

กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL หากไม่ได้รับผลกระทบหรือไม่มีความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด 19 เมื่อเจ้าหนี้ขอให้ส่งเอกสารหลักฐานทางการเงินที่สะท้อนความเดือดร้อนจริงมาประกอบการพิจารณา เช่นสลิปเงินเดือนที่อาจลดลง หรือเอกสารแสดงว่าบริษัทเลิกจ้างหรือปิดกิจการ เป็นต้นลูกหนี้กลุ่มนี้กลับไม่สามารถจะส่งเอกสารเหล่านี้ให้ได้ เจ้าหนี้ย่อมไม่สามารถดำเนินการตามคำร้องขอของลูกหนี้ได้

 

กลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างผ่อนชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเจ้าหนี้เห็นว่าข้อตกลงตามสัญญานี้เป็นเงื่อนไขที่ช่วยเหลือลูกหนี้แล้วจึงตอบปฏิเสธให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลับมา

 

กลุ่มที่ถูกบังคับคดีแล้ว พบว่า ลูกหนี้บางรายต้องการขอลดการอายัดเงิน ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของเจ้าหนี้ที่จะอนุมัติได้

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสาเหตุร่วมกันในกลุ่มลูกหนี้ NPL กับลูกหนี้ในชั้นบังคับคดี (1) ระยะเวลาฟ้องหรือบังคับคดีคงเหลือน้อยเกินไปกว่าที่จะดำเนินการผ่อนปรนได้ เพราะเจ้าหนี้ก็เกรงจะเสียสิทธิ์ตามกฎหมาย (2) ลูกหนี้ขอในเรื่องคดีที่เจ้าหนี้ทำให้ไม่ได้ เช่น ขอให้ถอนฟ้อง ระงับการดำเนินคดีหรือถอนการบังคับคดีโดยไม่มีการชำระหนี้ (3) ลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย และบางรายมีบุริมสิทธิ์ (สิทธิในหลักประกัน) เหนือกว่าเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมมหกรรมครั้งนี้ ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ในมหกรรมยอมงดการขายทรัพย์แล้วก็ตาม ทรัพย์ของลูกหนี้ก็ยังถูกขายทอดตลาดโดยเจ้าหนี้รายอื่นอยู่นั่นเอง

 

คำแนะนำเพิ่มเติม


 

ภาพประกอบ

 

สำหรับลูกหนี้ที่ลงทะเบียนแล้ว ยังไม่ได้ข้อตกลง มีคำแนะนำคือ

 

กรณีหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL ขอให้เจรจาโดยตรงกับเจ้าหนี้เพื่อเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระตามหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนด หากเห็นว่าเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ขอให้แจ้งเบาะแสการปฏิบัติไม่ถูกต้องที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ผ่าน call center 1213 

 

กรณีหนี้เสียแล้วแต่ยังไม่ฟ้องหรือฟ้องแล้ว แต่ยังไม่อยู่ในชั้นบังคับคดี ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ที่ www.คลินิกแก้หนี้.com เพื่อผ่อนชำระหนี้เงินต้นนานสูงสุด 10 ปี ดอกเบี้ยในโครงการ 4 - 7% ที่สำคัญ ธปท. ได้หารือกับผู้ให้บริการทางการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นร่วมกันให้ขยายเวลาของมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 

 

กรณีอยู่ในชั้นบังคับคดีกับเจ้าหนี้ที่ไม่เข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ฯ ขอให้ติดต่อเจรจากับเจ้าหนี้โดยตรง หรือเข้ามาลงทะเบียนกับโครงการทางด่วนแก้หนี้ที่ www.1213.or.th/App/DebtCase ที่เปิดให้บริการประชาชนไปอีกระยะหนึ่งตามที่มีความจำเป็น และแม้งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ฯ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ลูกหนี้ที่ถูกอายัดเงินเดือนสามารถร้องขอต่อกรมบังคับคดีเพื่อลดจำนวนเงินที่ถูกอายัดได้โดยต้องมีหลักฐานแสดงควาเดือดร้อนประกอบ

 

สุดท้ายนี้ แม้ลูกหนี้ส่วนหนึ่งอาจไม่ได้รับเงื่อนไขตามที่เสนอเจ้าหนี้ไป ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย เพราะข้อดีที่เห็นชัดเจนคือ ลูกหนี้เรียนรู้ว่าเมื่อมีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระสามารถเข้ามาเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ได้ และเป็นพฤติกรรมที่ดีและจำเป็นต่อการพัฒนารากฐานระบบการเงินให้เข้มแข็ง ดีกว่าพฤติกรรมเดิมที่พบกันบ่อย ๆ คือ เมื่อไม่มีเงินจ่าย ลูกหนี้จะเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ เจ้าหนี้ก็ติดต่อไม่ได้หาตัว ไม่เจอเจ้าหนี้เลยต้องฟ้องดำเนนิคดีต่อศาลเพื่อให้ลูกหนี้มาเจรจากัน ด้านเจ้าหนี้เมื่อลูกหนี้เข้ามาเจรจา ก็ไม่ต้องจ้าง outsourceหรือสำนักงานกฎหมายติดตามลูกหนี้ ไม่ต้องดำเนินคดีก็ไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่เสียความรู้สึก

 

และนี่คือบทบาทใหม่ของ ธปท. ในการประสานให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้มีโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เจรจากันอีกครั้ง มหกรรมนี้จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ลูกหนี้สามารถเดินต่อได้ ขณะที่เจ้าหนี้ก็ต้องยินดีที่จะลดรายได้ที่คาดว่าจะได้รับโดยได้ลดต้นทุนธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากการติดตามหนี้ เมื่อลูกหนี้พบและตกลงกับเจ้าหนี้ได้ ไม่เพียง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ แต่เศรษฐกิจ สังคม และประเทศก็ได้ประโยชน์ด้วย