ส่องเทรนด์อาชีพผู้สูงวัย "เกษียณแต่ยังมีไฟ ก็ทำงานได้"

 

 

 

ส่องเทรนด์อาชีพผู้สูงวัย "เกษียณแต่ยังมีไฟ ก็ทำงานได้"

 

เพิ่มจำนวนวัยทำงาน ด้วยการขยายอายุเกษียณ


 

หลายประเทศแก้ปัญหาสังคมสูงวัยโดยใช้นโยบายขยายอายุเกษียณเพื่อเพิ่มจำนวนวัยทำงานที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาทิ สิงคโปร์เพิ่มอายุเกษียณ จาก 65 ปี เป็น 67 ปี เกาหลีใต้ขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และญี่ปุ่นขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 65 ปี ในประเทศไทยบางอาชีพก็มีการขยายอายุเกษียณแล้ว เช่น ผู้พิพากษา แพทย์ สัตวแพทย์ และงานช่างศิลปกรรม ส่วนธุรกิจเอกชนอย่างธุรกิจบริการและค้าปลีกมีการขยายอายุเกษียณสำหรับตำแหน่งที่ขาดแคลนแล้วเช่นกัน

 

ค่าจ้าง/เงินเดือนเฉลี่ยของผู้ศุงอายุที่ทำงาน จำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563

 

ภาคบริการและค้าปลีกรับผู้สูงอายุเพิ่ม


 

ปัจจุบัน ธุรกิจบริการและค้าปลีกเป็นกลุ่มหลักที่มีการประกาศรับผู้สูงวัยเข้าทำงานเพราะสามารถใช้ทักษะและมีประสบการณ์ด้านบริการ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผู้บริโภคต้องการผู้แนะนำสินค้าผ่านระบบโทรศัพท์มากขึ้น ปัจจุบันห้างค้าปลีกหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นขยายอายุเกษียณของพนักงานจาก 65 ปี เป็น 70 และ 80 ปี โดยส่วนใหญ่ใช้สัญญาจ้างแบบปีต่อปี เช่น ร้านค้าปลีก Nojima ได้ขยายอายุคนทำงานเพิ่มขึ้นจาก 65 ปี เป็น 80 ปี 

 

สำหรับประเทศไทย ห้างค้าปลีกหลายแห่งมีนโยบายในการรับผู้สูงวัยเข้าทำงานเพิ่มขึ้นในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลของกรมการจัดหางานระบุว่า อาชีพที่ผู้สูงวัยได้รับการบรรจุมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) แนะนำการขายสินค้า (2) จัดเรียงสินค้า (3) ประชาสัมพันธ์ (4) แม่บ้าน ช่างเทคนิค และ (5) งานบริการต่าง ๆ โดยคณะกรรมการค่าจ้างกำหนดอัตราผลตอบแทนผู้สูงอายุเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ คือ ไม่ต่ำกว่า 45 บาท/ชั่วโมง ทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 6 วัน/สัปดาห์ 

 

ภาคบริการและค้าปลีกรับผู้สูงอายุเพิ่ม

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรมที่รับผู้สูงอายุเข้าทำงาน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับบริษัทเอกชน อาทิ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่รับผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 50 - 60 ปี จบการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ร้านหนังสือ นอกจากนี้ ยังมีบริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรมจำกัด บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากกรีนเนท จำกัด บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด และบริษัท เมซโซ่ จำกัด ที่จ้างงานผู้สูงอายุเพื่อทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม

 

โซเชียล อินฟลูเอนเซอร์เทรนด์สูงวัยมาแรง


 

ส่วนอีกเทรนด์ที่มาแรงมากสำหรับอาชีพของผู้สูงวัยในยุคทองของโซเชียลมีเดีย คือ การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เรียกว่า "silver influencers" ปัจจุบันผู้สูงวัยมีบทบาทมากขึ้นบนโลกออนไลน์ ซึ่งจากการศึกษาของ influencerhouse.co.th พบว่า ผู้สูงวัยที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป มากกว่า 55% ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ติดตามอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดีย โดยแพลตฟอร์มที่มีการใช้งานมากที่สุด ได้แก่ LINE 21% เฟซบุ๊ก 13% และสื่อใหม่อย่าง TikTok ก็มีการใช้งานมากขึ้น 

 

10 อาชีพเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ

 

ทุกวันนี้มี silver influencers เกิดขึ้นมากมาย อาทิ Lyn Slater วัย 65 ปี ที่เป็น fashion influencer ในโซเชียลมีเดีย หรือจะเป็นคุณตาชาวจีนที่ใช้ชื่อว่า @Monadashu อายุ 74 ปีที่แต่งตัวเก่งจึงมีผู้ติดตามกว่า 13.7 ล้านคนบนโซเชียลมีเดีย เช่นเดียวกับลุงองอาจ คุณพ่อเจ้าของเพจเฟซบุ๊กมนุษย์ต่างวัยที่เริ่มเป็นนายแบบในวัย 67 ปี จากการชื่นชอบการแต่งตัว แฟชั่น และถ่ายแบบลงเฟซบุ๊ก นอกจากแฟชั่นแล้ว ยังมีผู้สูงวัยที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวอีกด้วย

 

ผู้สูงวัยสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ยิ่งหากมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือยิ่งมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น และกลายเป็นทรัพยากรที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ต่อไป