ข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงนโยบายแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

 

 

 

ข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงนโยบายแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

 

ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากยิ่งขึ้น ทั้งแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำที่เข้ามาทำงานที่คนไทยไมนิ่ยมทำ หรือแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมสำคัญการศึกษาข้อมูลแรงงานต่างด้าวในไทยจึงมีความน่าสนใจและสามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างได้ เพื่อให้เศรษฐกิจและโครงสร้างแรงงานของไทยก้าวต่อไปได้พร้อมกัน เราจึงขอสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแรงงานต่างด้า้วในไทยพร้อมทั้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

 

แรงงานต่างด้าวทักษะสูงในไทยมีเพียง 1%


 

ตลาดแรงงานไทยพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในอดีต และมีการไหลเข้าของแรงงานต่างด้าวติดอันดับที่ 17 ของโลก

 

ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำปรับสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีนโยบายสำคัญ คือ ช่วงที่มีการขึ้นค่ำแรงขั้นต่ำ ในปี 2554 และช่วงที่มีการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในปี 2561 ทำให้ปี 2562 มีจำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำที่เป็นผู้ประกันตนภาคบังคับจำนวน 1,025,293 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 8.7% ของผู้ประกันตนทั้งหมด ขณะที่แรงงานต่างด้าวทักษะสูงกับแรงงานทั้งหมดยังถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างน้อย โดยปัจจุบันเรามีแรงงานต่างด้าวทักษะสูงราว 86,830 คนอย่างไรก็ตาม นโยบายที่กล่าวไปก่อนหน้าไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงแต่อย่างใด สะท้อนจากสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณ 1% ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็น 8% ของแรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคม ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีนโยบายบริหารแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน จะพบว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมีสัดส่วนที่สูงกว่าไทยมาก อาทิ แคนาดา (53%) ออสเตรเลีย (41%) อังกฤษ (37%) สิงคโปร์ (29%) และสหรัฐอเมริกา (25%) (OECD, 2559)

 

แรงงานต่างด้าวทักษะสูงกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่


 

บริษัทที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำมักจะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ขณะที่แรงงานต่างด้าวทักษะสูงอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง (FDI) จากประเทศนั้น ๆ หากนำข้อมูลนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำทั้งหมดกว่า 6 หมื่นรายมาพิจารณาระดับการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว โดยวัดจากสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำต่อแรงงานทั้งหมดในบริษัท (dependency ratio) พบว่าระดับการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจะแตกต่างกันไปตามประเภทของธุรกิจและขนาดของบริษัท โดยบริษัทที่มีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำมักจะเป็นบริษัทที่เน้นการใช้แรงงานและเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ขณะที่บริษัทที่ไม่ค่อยมีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำมักเป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งเป็นบริษัทขนาดใหญ่

 

สำหรับแรงงานต่างด้าวทักษะสูงส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในหลายสาขาเศรษฐกิจและอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ (รูปที่ 1) สาเหตุที่กระจุกตัวในบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดจากกฎเกณฑ์บางประการ เช่น นายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต้องมีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2 ล้านบาทและจะต้องมีสัดส่วนแรงงานต่างด้าวต่อคนไทย 1 ต่อ 4 คน (กระทรวงแรงงาน, 2563) ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับกิจการขนาดเล็กหรือสตาร์ทอัปที่ต้องการจ้างแรงงานทักษะสูงได้

 

สัดส่วนการกระจายตัวของแรงงานต่างด้าวทักษะสูง แยกตามประเภทธุรกิจ

 

ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 แรงงานต่างด้าวทักษะสูงต้องเพิ่มขึ้น


 

แรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ทำงานในกิจการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ (S-curve) มีเพียงแค่ 34% ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงทั้งหมด

 

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุค 4.0 ย่อมต้องการแรงงานทักษะสูงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในภาพรวมการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายยังมีสัดส่วนไม่มากนักโดยกลุ่มที่มีการจ้างงานมากที่สุด คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (affluent, medical and wellness tourism) ซึ่งคิดเป็นเพียงประมาณ 5% เท่านั้น รองลงมาคือ อุตสาหกรรมดิจิทัลที่ 4% และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronics) และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (robotics) ที่ 3% เมื่อเทียบกับแรงงานไทยทักษะสูงทั้งหมด

 

นอกจากนี้ พบว่าในปี 2562 สัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูง ที่ทำงานในกลุ่มอตุสาหกรรมเป้าหมายมีเพียงประมาณ 33.5% ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูง ทั้งหมดเท่านั้น โดยอยู่ใน First S-Curve1 และ New S-Curve2 15.5% และ 18.0% ตามลำดับ ทั้งนี้ สัดส่วนของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในกลุ่ม First S-Curve มีแนวโน้มลดลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นสำคัญ ขณะที่ในกลุ่ม New S-Curve มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 15.9% เป็น 18.0% จากอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์เป็นสำคัญในภาพรวม จะเห็นได้ว่าเรายังมีแรงงานทักษะสูงอีกเกือบ 70% ที่กระจายอยู่ในกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยตรง ซึ่งในอนาคตจำเป็นต้องมีการวางแผนการดึงดูดแรงงานทักษะสูงที่ชัดเจน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเหล่านี้หันเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกที่จำเป็นต้องเปิดรับเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมากขึ้น

 

5 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย


 

ภาพประกอบ

 

ข้อเท็จจริงข้างต้นมีนัยเชิงนโยบายหลายประการด้วยกัน ในส่วนที่พบว่ามีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำเพิ่มสูงขึ้นมากนั้น ตัวเลขนี้ยังขาดข้อมูลของแรงงานต่างด้าวนอกระบบประกันสังคม และแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง (1) วางระบบโครงสร้างการลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าวเพื่อให้มีตัวเลขที่สะท้อนภาวะจริงมากที่สุดโดยเร่งให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย การลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการลงทะเบียน การกำหนดค่าธรรมเนียมที่พอประมาณ (เพื่อป้องกันการเลี่ยงไปใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย) เพื่อประโยชน์ในการติดตามและให้ความคุ้มครองดูแล โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกิดโรคระบาด


นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่แม้จะทำงาน 3D3 แต่มีแนวโน้มที่จะขยายขอบเขตการทำงานเข้าไปยังประเภทธุรกิจอื่นมากขึ้น ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่แรงงานไทยจะถกู แยง่ งานได้ ดังนั้น การมีนโยบายที่ชัดเจนในการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำย่อมเป็นสิ่งจำเป็น อย่างเช่น (2) การกำหนดอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นในการจ้างแรงงานต่างด้าว หรือการเลือกรับเฉพาะแรงงานที่มีทักษะตามที่ต้องการในแต่ละกิจกรรม โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่จะมาช่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับแรงงานไทย ดังนั้นภาครัฐจึงควร (3) สร้างระบบนิเวศในการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะ เช่น การสร้างเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เนื่องด้วยเรายังขาดแรงงานทักษะเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน ซึ่งกระบวนการสร้างระบบนิเวศนั้นควรดำเนินการไปพร้อมกับ (4) การสร้างแรงจูงใจด้วยการอำนวยความสะดวกให้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการต่อวีซ่าการให้ความคุ้มครองด้านสิทธิ์ของแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด 19 การตรวจโควิดแบบเชิงรุกและฉีดวัคซีนให้กับแรงงานก่อนเข้าประเทศถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มแรงจูงใจให้กับทั้งนายจ้างและตัวแรงงานเอง รวมไปถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกับคนไทยและความมั่นคงปลอดภัยด้านอื่น ๆ

 

ท้ายสุดเราได้ประสบการณ์จากการที่แรงงานต่างด้าวหนีกลับประเทศจนมีการขาดแคลนแรงงานมาแล้วในอดีต ดังนั้นเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในระยะข้างหน้า จึงควร (5) เร่งสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดและให้บริการในภาคบริการ การใช้วัสดุสำเร็จรูปในภาคก่อสร้าง การใช้โดรนในภาคเกษตรกรรม หรือแม้แต่การใช้ช่องทางออนไลน์ สำหรับภาคการค้า เพื่อลดต้นทุนในการจ้างแรงงานและเพิ่มผลิตภาพในการดำเนินธุรกิจ