จากเยียวยาสู่ฟื้นฟู...มาตรการรับมือวิกฤตโควิด 19 ในต่างประเทศ
ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในหลายประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเริ่มกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น เช่น อิสราเอลและสหรัฐอเมริกา ที่ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ขณะที่ในหลายประเทศยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยที่เกิดการระบาดระลอก 3 และมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง Global Trend ฉบับนี้ จะพาไปทำความรู้จักมาตรการเยียวและฟื้นฟูเศรษฐกิจในต่างประเทศว่าทำอย่างไรบ้าง
"วัคซีน" เป็นตัวแปรสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพประเทศต่าง ๆ จึงพยายามเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนได้เร็วก็เป็นเสมือนการห้ามเลือดได้สำเร็จเท่านั้น เราจึงเห็นว่าประเทศส่วนใหญ่กำลังเดินหน้าต่อเพื่อเร่งสมานบาดแผลที่โควิด 19 ได้ทิ้งไว้กับระบบเศรษฐกิจ ก่อนที่บาดแผลนี้จะทิ้ง "รอยแผลเป็น" ไว้อย่างถาวร
แม้หลายประเทศเริ่มเดินหน้าผ่อนคลายให้ประชาชนทยอยกลับมาใช้ชีวิตปกติเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายด้านได้เกิดขึ้นแล้ว และอาจไม่มีวันกลับไปเป็นแบบเดิม เช่น กระแสการทำงานที่บ้านเป็นที่ยอมรับแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลก การกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน การผลิตสินค้า รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุขมากขึ้น หลายประเทศจึงมีการกำหนดทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นที่ตั้ง เพื่อให้ยังแข่งขันได้ในบริบทของโลกใหม่ และฟื้นฟูศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการใช้เม็ดเงินอย่างคุ้มค่าและไม่ย้อนกลับมาเป็นภาระทางการคลังเพิ่มเติมในระยะยาว โดยเฉพาะในภาวะที่นโยบายการคลังได้ใช้กระสุนไปมากแล้ว เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรักษาแต้มต่อ และได้เริ่มดำเนินการแล้วแม้การระบาดยังไม่สิ้นสุดลง
สหรัฐฯ ประกาศมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กันในแผนเดียว คือ "Build Back Better" ซึ่งถือ เป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่และอายุยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ คือกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 28% ของ GDP) เพื่อเยียวยารายได้ของแรงงานในระยะสั้น และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจในช่วง 8 - 10 ปีข้างหน้า โดยมาตรการดังกล่าวแบ่งเป็นแผนงาน American Rescue Plan (ARP) 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.9% ของ GDP ที่มุ่งเยียวยาแรงงานและภาคธุรกิจ อาทิ การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือร้านอาหาร (Restaurant Revitalization Fund หรือ RRF) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อมแห่งสหรัฐอเมริกา ที่เปิดให้ร้านอาหารหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงทะเบียนเพื่อรับเงินอุดหนุนกว่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปในช่วงการระบาดโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้เงินจำนวนดังกล่าวก่อนเดือนมีนาคม 2566 และไม่จำเป็นต้องคืน หากใช้ในการจ่ายค่าเช่า เงินเดือนพนักงานเป็นต้นทุนซื้อสินค้า หรือใช้ในการซ่อมแซม
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอีก 2 ส่วนที่มุ่งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คือ American Jobs Plan (AJP) และ American Families Plan (AFP) โดยแผนงาน AJP (มูลค่ำ 2.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10.5% ของ GDP) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการจ้างงานและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี โดยเน้นลงทุนในเทคโนโลยี 5G พลังงานสะอาด การวิจัยและพัฒนาสำหรับแผนงาน AFP (มูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.4% ของ GDP) มีระยะเวลาถึง 10 ปี เพื่อพัฒนาผลิตภาพแรงงานในอนาคต โดยมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาและความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชน เพื่อสนับสนุนเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสให้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงพัฒนาระบบการดูแลเด็กและเยาวชน ทั้งในด้านความเป็นอยู่และระบบโภชนาการเพื่อเสริมสร้างอนาคตของประเทศในระยะยาว
สำหรับสหภาพยุโรปได้ดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยยึดแนวทำงใกล้เคียงกับสหรัฐฯ แต่ทำในลักษณะการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจง และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม โดยในส่วนแรก มีการจัดตั้ง National Tourism Fund ด้วยวงเงิน 2 พันล้านยูโร เพื่อเข้าซื้อโรงแรมหรือหุ้นของธุรกิจโรงแรม โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และอาจให้สิทธิ์ผู้ประกอบธุรกิจซื้อกลับได้ภายในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว สำหรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมนั้น ดำเนินการผ่าน EU Recovery Fund วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (ประมาณ 5.4% ของ GDP สหภาพยุโรป) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศสมาชิก โดยวงเงินดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) เงินให้เปล่าแก่ประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 จำนวน 3.9 แสนล้านยูโร (2) เงินปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจำนวน 3.6 แสนล้านยูโร โดยประเทศสมาชิกที่จะขอรับเงินกู้จะต้องดำเนินการสอดคล้องกับเป้าหมายตามที่ประเทศสมาชิกตกลงกัน คือ ต้องมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาด้านดิจิทัล มีแผนการสร้างงานและการเพิ่มความยืดหยุ่นทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงต้องสอดคล้องกับคำแนะนำรายปีของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)
สำหรับประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการตามแนวทาง Five Pillars ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเยียวยาไปจนถึงการฟื้นฟู และการลดความเสี่ยงในห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ โดยแนวทาง Five Pillars แบ่งเป็นแนวทางรับมือกับโรคระบาด (Pillar 1 - 2) และพัฒนาเศรษฐกิจ (Pillar 3 - 5) ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้มีการวางแผนไว้เป็นลำดับขั้น กล่าวคือ มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เริ่มจาก Pillar 3 การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นอันดับแรก ได้แก่ การท่องเที่ยว การขนส่ง และอุตสาหกรรมอาหาร ขั้นตอนต่อไปคือ Pillar 4 การเสริมสร้างเศรษฐกิจให้มีโครงสร้างที่ยืดหยุ่นสามารถรองรับความเสี่ยง หากมีโรคระบาดเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนภาคธุรกิจที่ต้องการย้ายฐานการผลิต ทั้งกรณีย้ายฐานกลับมายังประเทศญี่ปุ่นและการกระจายฐานการผลิตออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และขั้นตอนท้ายสุดคือ Pillar 5 การเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินพิเศษำหรับรับมือกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต
ขณะที่ประเทศจีนนั้นไม่ได้มีการปรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบของโควิด 19 เป็นการเฉพาะ ส่วนหนึ่งอาจเพราะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่เกิดแผลขนาดใหญ่ที่ต้องได้รับการเยียวยาเร่งด่วนแต่มีข้อสังเกตว่าแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี "Dual Circulation" ที่ได้ประกาศออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 หลังการระบาดคลี่คลายลงไม่นานนั้น มีความสอดรับกับกระแสของโลกหลังโควิด 19 เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาหลังยุคสงครามการค้า ผ่านการเพิ่มแรงจูงใจทางภาษีเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ โดยจีนตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2568 จะมีสัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลถึง 10% ของ GDP
ไม่เฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำ ลังพัฒนาหลายประเทศเริ่มมีการผลักดันแผนฟื้นฟูในทิศทางเดียวกัน เช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่มีแผน "The Korean New Deal" เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด 19 โดยเน้นสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม และประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้มีการออกกฎหมาย Corporate Recovery and Tax Incentives for Enterprises Act โดยมุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านที่สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาประเทศของฟิลิปปินส์ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มในระดับสูง อุตสาหกรรมบุกเบิกใหม่ และการสนับสนุนการลงทุนในชนบท
มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศผู้นำของโลกที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่การระบาดยังไม่สิ้นสุดลงนั้น เป็นภาพสะท้อนว่าประเทศเหล่านี้ต่างเร่งสร้างแต้มต่อเพื่อให้สามารถกลับมาวิ่งแข่งได้อีกครั้งอย่างรวดเร็วที่สุด สำหรับประเทศไทยนั้น แม้นโยบายในปัจจุบันยังเน้นไปที่การเยียวยารายได้และห้ามเลือดในระยะสั้น แต่อาจศึกษาแนวทางการกำหนดเงื่อนไขเพื่อเปลี่ยนผ่านและจูงใจภาคธุรกิจและแรงงานไปสู่โลกใหม่ โดยเกาะไปกับกระแสการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นจุดร่วมสำคัญของนโยบายในเกือบทุกประเทศข้างต้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง