ก้องศักดิ์ คู่พงศกร
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ชู "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" พื้นที่ทดสอบท่องเที่ยวไทย

ก้องศักดิ์ คู่พงศกร

 

จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพักผ่อนไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 4.7 แสนล้านบาท แต่วันนี้จากการระบาดของโควิด 19 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือเพียงหลักแสนคน

         

"ผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ครั้งนี้ หนักยิ่งกว่าเจอสึนามิถล่มภูเก็ต 10 ลูกเสียอีก" นี่คือเสียงสะท้อนของคุณก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในจังหวัด ภูเก็ต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางระดับโลก แต่วันนี้ภูเก็ตแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง

 

 

คลื่นโควิด 19 กระหน่ำภูเก็ต

 


 

คุณก้องศักดิ์เล่าว่า นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรกที่มีการปิดเกาะในเดือนเมษายน 2563 จนถึงปัจจุบัน การท่องเที่ยวภูเก็ตแทบจะยังไม่ฟื้นกลับมาเลย แม้หลังการระบาดระลอกแรกคลี่คลายเริ่มมีการเดินทางได้บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับจำนวนห้องพักกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นห้องบนเกาะแห่งนี้ จะมีลูกค้าบ้างก็จากเมืองหลัก ๆ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ หาดใหญ่ และนครศรีธรรมราช ถึงแม้โรงแรมในภูเก็ตจะลดราคาลงมาก แต่ยังไม่สามารถดึงคนไทยกลับมาเที่ยวได้มากเหมือนในอดีต ยิ่งช่วงที่มีการระบาดยิ่งทำให้การเดินทางลดลงเหลือประมาณ 500 - 1000 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางของคนในพื้นที่

          

"ตอนเริ่มพบผู้ติดเชื้อปลายเดือนมกราคม 2563 เราคาดการณ์ว่าผลกระทบโควิด 19 จะคงอยู่ไม่เกิน 6 เดือน หวังว่าประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 นักท่องเที่ยวก็จะกลับมา แต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 สถานการณ์ในประเทศและทั่วโลกเริ่มเลวร้ายลง เราจึงปรับเป้าหมายใหม่เป็นเดือนตุลาคมเพราะระลอกแรกภูเก็ตจัดการการแพร่ระบาดได้ดีมาก ยังหวังว่าเดือนตุลาคม 2563 จะพอฟื้นตัวมาได้บ้างสัก 50% แต่พอโควิด 19 ระลอก 2 เข้ามา ก็มองว่าธุรกิจท่องเที่ยวอาจจะซึมยาวไป 2 - 3 ปี แต่ตอนนี้เกิดการระบาดระลอก 3 ทำให้หนักกว่าที่ผ่านมา เราคาดว่ากว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลา 5 - 6 ปี" คุณก้องศักดิ์กล่าว

 

ถนน

 

ทว่าผู้ประกอบการในภูเก็ตก็ไม่ยอมแพ้ พยายามปรับตัวทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอดได้ ตั้งแต่ประหยัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน ติดต่อขอสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อจ่ายค่าจ้าง เพื่อช่วยเหลือพนักงาน เพื่อพยุงธุรกิจ แต่บางกิจการต้องตัดสินใจเลย์ออฟพนักงานเพราะไม่สามารถไปต่อได้จริง ๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการติดต่อกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล จนเป็นที่มาของ "ภูเก็ตโมเดล" หรือ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ที่จะเริ่มใช้ในเดือน กรกฎาคม 2564 นี้ 

 

 

ชู "ภูเก็ตโมเดล" เป็นทางรอด

 


 

ไม่ใช่แค่ภูเก็ตเท่านั้นที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ภูเก็ตซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกจึงเป็นสถานที่พัฒนาโมเดลในการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะมีทางเข้าออกชัดเจน สามารถออกแบบการบริหารจัดการการเดินทาง รวมถึงมาตรการดูแลนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสที่จะฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว

 

ภูเก็ตโมเดล

 

คุณก้องศักดิ์กล่าวว่าการนำเสนอ "ภูเก็ตโมเดล" หลังการระบาดของโควิด 19 ระลอกแรกไม่สำเร็จ เนื่องจากคนในพื้นที่มีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาด ประกอบกับเกิดการระบาดระลอก 2 และ 3 ตามมาในหลายประเทศทำให้ยังคงระมัดระวังเรื่องการเดินทางจึงต้องพับแผนไป แต่ก็ยังไม่หยุดความพยายามที่จะผลักดันภูเก็ตโมเดลให้เกิดขึ้นให้ได้ สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งในระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ ระดับประเทศ เช่น ธปท. กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สภาพัฒน์ รวมถึงศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) 

           

"เราใช้กลยุทธ์การสื่อสารกับทุกภาคส่วนสื่อสารกับคนในเกาะ คนในประเทศสื่อสารกับรัฐบาล รวมถึงประชาคมโลก อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าภูเก็ตเป็นเหมือนพื้นที่ทดสอบสำหรับการเปิดรับการท่องเที่ยว บนเกาะแห่งนี้มีนักคิด นักกลยุทธ์มาช่วยกันคิดวางแผนยุทธศาสตร์และช่วยกันสื่อสารให้ทุกภาคส่วนยอมรับ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องเปิดให้ท่องเที่ยวก่อนจะขยายไปที่อื่น ๆ หากประสบความสำเร็จ เช่น จังหวัดพังงาและกระบี่ ที่จะสามารถนำโมเดลนี้ไปปรับใช้เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้เช่นกัน" คุณก้องศักดิ์กล่าว 

          

สำหรับแผนการดำเนินงานใหม่ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ที่จะเริ่มในเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะร่วมผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการดำเนินงานในหลายมิติ ทั้งผู้ประกอบการเองต้องยกระดับมาตรฐาน การบริการในเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย ระบบการเดินทาง การขนส่ง ระบบสาธารณสุข สภาพแวดล้อมภายในเกาะ ที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในพื้นที่ โดยภาครัฐจัดหาวัคซีนจำนวน 9.3 แสนโดส เร่งฉีดให้ได้วันละ 15,000 คน ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและคนในเกาะก่อนเปิดอย่างเป็นทางการ

 

ชายหาด

 

 

มุ่งสร้างอนาคตภูเก็ตอย่างยั่งยืน

 


 

คุณก้องศักดิ์กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาเมืองภูเก็ตแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน การขยายตัวของนักท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วจนมีนักท่องเที่ยวกว่า 14 ล้านคนต่อปี ทำให้โครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถพัฒนาได้ทัน การมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายหลาย ๆ ประการก่อให้เกิดธุรกิจที่ไม่ได้รับการอนุญาตอยู่ทุกประเภทธุรกิจไม่เฉพาะโรงแรม การไร้ซึ่งระบบขนส่งสาธารณะทำให้ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สูงเกินกว่าจะรับได้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องมาร่วมกันคิด กำหนดทิศทาง เพื่อพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้

 

นักท่องเที่ยว

 

"ที่ผ่านมา ภูเก็ตมีจำนวนห้องพักกว่า 150,000 ห้อง จากกว่า 3,000 โรงแรม แต่ปัจจุบันมีโรงแรมที่เหลือเปิดให้บริการเพียง 200 - 300 โรงแรม เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์ โควิด 19 คลี่คลายจะมีโรงแรมจำนวนหนึ่งไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกเพราะหมดลมหายใจระหว่างทาง สำหรับโรงแรมที่ยังพอสามารถดำเนินการได้ ภาครัฐต้องสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูธุรกิจในระยะยาวต่อไป" 

          

คุณก้องศักดิ์กล่าวว่า สำหรับมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ถือเป็นมาตรการที่ดีที่ผู้ประกอบการร่วมกับ ธปท. ในการผลักดันให้เกิดขึ้น มีผู้ประกอบการให้ความสนใจจำนวนมากแต่ยังติดที่ขั้นตอนการพิจารณาของแต่ละธนาคารที่ต้องใช้เวลา ขณะที่ผู้ประกอบการกำลังอ่อนแรงลงทุกที หากสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

ตลาด

 

"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ขจัดข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรค การจัดระเบียบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยภาครัฐ การสนับสนุนสินเชื่อโดยภาคการเงินเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการและต้องวางกลยุทธ์ในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน" คุณก้องศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย