รวมพลังสร้างมาตรการฟื้นฟูสู้โควิด 19

แถลงข่าว

 

เพื่อตอบโจทย์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 (มาตรการฟื้นฟูฯ) รวมพลังผสานองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการทำนโยบายสำคัญในครั้งนี้จากหลายฝ่ายงานใน ธปท. ขณะเดียวกัน ก็ต้องประสานรอบทิศกับหน่วยงานภายนอก ทั้งในมิติการรับฟังปัญหาและผลักดันแก้ไข แม้ว่าแต่ละคนจะมีบทบาทที่แตกต่างกัน แต่ก็มีเป้าหมายร่วมกันคือ การส่งผ่านความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เดือดร้อนได้ตรงจุดและทันการณ์

 

BEHIND THE SCENE : การทำงานภายใน ธปท. แบบ ONE BOT

 

การจัดทำมาตรการฟื้นฟูฯ มีการระดมความคิดเห็นและประสานความร่วมมือจากหลายสายงานใน ธปท. อาทิ สายงานด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน นโยบายการเงิน กฎหมาย สื่อสาร และไอที ผ่านรูปแบบการทำงานในลักษณะบูรณาการที่เรียกว่า squad 

          

งานของ squad ฟื้นฟู เป็นงานที่มีความท้าทายทั้งเนื้อหาและกระบวนการท่ามกลางภาวะวิกฤตที่แข่งกับเวลา โดยเฉพาะในช่วงแรกของการจัดทำข้อเสนอนโยบาย (policy formulation) ที่ต้องอาศัยรูปแบบการทำงานในลักษณะ cross - function ที่เน้นความยืดหยุ่น ไม่ยึดโยงกับโครงสร้างองค์กร สามารถปรับเปลี่ยนและขยายองค์ประกอบทีมงาน เพื่อเสริมทัพและเสริมทักษะได้ตามพลวัตของงานที่ไม่เคยหยุด นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเลขานุการ squad เป็นแกนกลางในการประสานผลักดันงาน ตั้งแต่รวบรวมข้อมูลความคิดเห็น แจกจ่ายงาน ติดตามความคืบหน้า จัดคิวนัดประชุมระดมสมอง ชงข้อเสนอเพื่อหาข้อสรุป หรืออย่างน้อยก็ต้องขมวดประเด็นให้เห็นร่วมกันว่า จะดำเนินการต่ออย่างไร ตลอดจนจัดเตรียมเอกสารในการนำเสนอกลั่นกรองตามลำดับขั้นตอนซึ่งมีหลายคณะหลายชุดอย่างมาก เริ่มจากคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ภายใน ธปท. ต่อไปที่คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง (กคส.) ผ่านไปยังคณะกรรมการ ธปท. เพื่อขออนุมัตินำเสนอร่างกฎหมายที่ได้จัดทำร่วมกับกระทรวงการคลังต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีมติเห็นชอบผ่านเป็นร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) เข้าสู่ขั้นตอนกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการพิจารณาสอบทานแนวคิดและข้อเสนอมาตรการที่สำคัญยิ่ง

          

จนกระทั่ง พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 10 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา จึงเข้าสู่ช่วงบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะงานสำคัญเพิ่มเติมอีก 2 ส่วน (1) คืองานปฏิบัติการที่จะต้องเชื่อมโยงระบบงานระหว่างองค์กรให้สามารถใช้งานได้จริง และ (2) คืองานสื่อสาร (communication & stakeholder engagement) เพื่อเผยแพร่มาตรการให้เกิดความเข้าใจแก่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงฟังเสียงตอบรับหรือข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะเป็นการปรับปรุงได้ทั้งในมิติกระบวนการและมิตินโยบาย เพื่อให้มาตรการที่จัดทำขึ้นบรรลุผลสัมฤทธิ์ 

          

ดังนั้นในทุก ๆ ขั้นตอนของการทำงาน squad ฟื้นฟูจึงต้องสอดประสานโดยมีเป้าหมายร่วมกันในการตอบโจทย์ประเทศผ่าน tone from the top ที่ชัดเจน ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรและจัดลำดับความสำคัญของงานไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการวางกรอบให้ทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเสมือนจิกซอว์ตัวเล็ก ๆ สามารถเรียงต่อเชื่อมโยงกันเป็นภาพเดียวได้ครบสมบูรณ์ อีกทั้งยังเอื้อให้แต่ละฝ่ายได้เรียนรู้แลกเปลี่ยน เอาใจเขา มาใส่ใจเรา และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยลดการทำงานซ้ำซ้อน และยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนและองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีพลังบวกในการผลักดันงานร่วมกัน เป็นทีมเดียวกันคือทีม ONE BOT ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป

 

 

กลุ่มที่ปรึกษา

 


 

 

มีหน้าที่กำหนดเป้าหมายร่วม พร้อมสื่อสาร tone from the top ที่ชัดเจน ให้คำปรึกษา แนะแนวทางเพื่อเอื้อการทำงานข้ามฝ่ายงาน และเสริมสร้าง mindset ในการเป็น ONE BOT นอกจากนี้ยังประสานความร่วมมือกับ stakeholders ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการรับฟังและแก้ไขปัญหาร่วมกัน

 

รณดล นุ่มนนท์

 

รณดล นุ่มนนท์ 

รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน

 

 หลังจากที่มีการออก พ.ร.ก. ซอฟต์โลนมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงแรกที่เน้นการเยียวยาระยะสั้นและเร่งด่วนแล้ว ในตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าการแพร่ระบาดของ โควิด 19 จะยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่องและเป็นวงกว้างมากขึ้น จึงมีโจทย์สำคัญว่า จะทำอย่างไรให้สินเชื่อซอฟต์โลนเข้าถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้ง่าย รวดเร็ว และทั่วถึงมากขึ้น นำมาสู่การออกแบบมาตรการช่วยเหลือผ่าน พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ ฉบับใหม่นี้ ที่ตอบโจทย์ธุรกิจได้จริง ตรงเป้าหมาย และสามารถรับมือกับสถานการณ์ข้างหน้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีระยะเวลานานได้ 

          

เมื่อพวกเราได้รับโจทย์มา จึงได้รวบรวมบุคลากรจากทุกสายงานในแบงก์ชาติ ตั้งเป็นทีม squad ทำงานในลักษณะข้ามสายงาน (cross - function) มีครบทั้ง "กองหน้า" ที่ต้องออกไปพูดคุยกับ stakeholders และ "กองหลัง" ที่สนับสนุนข้อมูลและช่วยในเรื่องต่าง ๆ มาช่วยกันทำงานเป็นทีม "ONE BOT" เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการออกแบบมาตรการให้เป็นไปตามโจทย์ที่ตั้งไว้ 

          

ในการทำงาน พวกเราได้ประสานความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน สถาบันการเงินถึงเรื่องความกังวล และอุปสรรคต่าง ๆ หน่วยงานรัฐที่มีส่วนช่วยสนับสนุนมาตรการ รวมถึงคณะกรรมาธิการหลายชุดที่ได้ให้ความเห็นและเสนอแนะในการร่าง พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ จนได้มาตรการที่เหมาะกับสถานการณ์ และตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่ายตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 

          

นอกจากการออกแบบมาตรการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์แล้ว สิ่งสำคัญ คือการมุ่งให้เกิดการดำเนินงานที่สัมฤทธิ์ผล จึงมีการสื่อสารในเชิงรุกให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงรายละเอียดของมาตรการ และให้สถาบันการเงินได้เข้าใจถึงการให้ข้อมูล เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือได้อย่าง "รวดเร็ว เพียงพอ และตรงจุด" มากที่สุด รวมทั้งมีการติดตามและประเมินผลการขอสินเชื่ออย่างใกล้ชิด 

          

จากการทำงานของพวกเราที่แม้ว่าจะมาจากต่างสายงาน แต่ทุกคนก็รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการทำงานนี้ ด้วยความต้องการช่วยให้ประเทศ ประชาชน และภาคธุรกิจก้าวพ้นวิกฤตที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

 

จาตุรงค์ จันทรังษ์

 

จาตุรงค์ จันทรังษ์ 

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1

 

โควิด 19 มีผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจมาก แบงก์ชาติที่มีพันธกิจในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ จึงต้องออกมาตรการใหม่ ๆ มาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ 2 เรื่องคือ (1) ลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินอย่างรวดเร็วและเพียงพอ และ (2) สถาบันการเงินต้องมั่นคงและเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินต่อไป ซึ่งการออกแบบมาตรการต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงถึงเป้าหมายทั้งสองเรื่อง จึงเป็นความท้าทายมาก 

          

ในช่วงแรกของการออกมาตรการต่าง ๆ ทั้งเรื่องการพักชำระหนี้ การผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ pre-emptive และมาตรการซอฟต์โลน ความท้าทายสำคัญคือ ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหม่ ไม่มีตัวอย่างหรือสูตรสำเร็จที่นำมาใช้ได้เลย ทีมงานจากหลายสายงานจึงร่วมกันทำงานอย่างหนัก ช่วยกันคิด ช่วยกันหาคำตอบ ช่วยกันทักท้วง และช่วยกันปิดหรือลดความเสี่ยงต่าง ๆ มีการทำงานรับลูกกัน ตัวอย่างเช่นเมื่อมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลหลักฐาน ก็จะแบ่งงานกันไปหาและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งการทำงานแบบนี้ จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ผมเห็นการทำงานร่วมกันแบบนี้ ก็รู้สึกชื่นชมทีมงานเป็นอย่างมาก 

          

นอกเหนือจากการร่วมมือร่วมใจกันท ำงานดังกล่าวแล้ว ทีมงานก็ยังมีความพร้อมที่จะเรียนรู้รับฟังและเปลี่ยนแปลง มีความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ กล้าที่จะเสนอความคิด กล้าที่จะถูกวิจารณ์ และมีความมุ่งมั่นที่จะหาทางทำให้สำเร็จ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็น mindset สำคัญที่ผมเห็น ในทีมงานที่มาร่วมกันออกมาตรการ ทำให้สามารถออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์ ถือว่าสิ่งที่ทีมงานทุ่มเทได้ก่อประโยชน์ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก

 

 

 

กลุ่มกฎหมาย

 


 

 

เป็น strategic partner กับทีมผู้ดำเนินงานหลักในการยกร่างกฎหมายให้เหมาะสมกับบริบทของปัญหา โดยนำประสบการณ์จากครั้งก่อนมาปรับแนวทางชี้แจงกฤษฎีกา เพื่อผ่านร่างกฎหมายที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ผู้ที่เดือดร้อนได้ดีขึ้น

 

กลุ่มกฎหมาย

 

จิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกฎหมาย 

 

อัคคพล ไทยจรรยา รองผู้อำนวยการ ฝ่ายกฎหมาย 

 

คงฤทธิ์ สงวนศักดิ์ นิติกรอาวุโส ฝ่ายกฎหมาย 

 

ชวินทร์ อินทรักษ์ นิติกรอาวุโส ฝ่ายกฎหมาย

 

การแพร่ระบาดของโควิด 19 สร้างโจทย์ทางเศรษฐกิจที่ใหม่และใหญ่มากให้ประเทศไทย ในปี 2563 ธปท. ได้ออกมาตรการเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจ โดยเสนอออก พ.ร.ก. ให้อำนาจ ธปท. ดำเนินการช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐในชื่อ "มาตรการซอฟต์โลน" แต่จากความยืดเยื้อและรุนแรงต่อเนื่องของโควิด 19 ในปี 2564 ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์และนำประสบการณ์จากมาตรการซอฟต์โลนมาพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จนเป็น "มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ" และยังได้เพิ่มเติม "มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้" ด้วย มาตรการทั้งสองได้ถูกออกแบบบนหลักการ "คิดรอบ ตอบได้" ที่คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องบนความจำเป็นเร่งด่วน 

          

เป็นที่น่าภาคภูมิใจและเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าของทีมงานฝ่ายกฎหมายที่ได้ร่วมขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวในภาวะกดดัน มีความคาดหวังสูง ต้องแข่งกับเวลา และต้องบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด พร้อมปฏิบัติงานตลอดเวลา ภายใต้คำแนะนำจากผู้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังได้เรียนรู้และประสานงานเคียงข้างฝ่ายงานต่าง ๆ ตามหลักการของการเป็น strategic partner ของฝ่ายกฎหมายอีกด้วย

 

 

 

กลุ่มผู้ดำเนินงานหลัก

 


 

 

ผลักดันงานทั้งเชิงเนื้อหาและกระบวนการ ตั้งแต่รวบรวมประเด็นความคิดเห็น มอบหมายงาน ติดตามความคืบหน้า จัดประชุมระดมความคิด หาข้อสรุปในแต่ละขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไป รวมถึงจัดเตรียมเอกสารในการนำเสนอ นอกจากนี้ยังประสานงานกับระดับปฏิบัติการทั้งภายใน ธปท. และระหว่างองค์กร เพื่อขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลสัมฤทธิ์ภายใต้ความเร่งด่วน

 

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล

 

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล 

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน

 

ความคาดหวังของมาตรการในครั้งนี้คือต้องตอบโจทย์ลูกหนี้หลายกลุ่มให้ทันต่อเหตุการณ์ และมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้สามารถช่วยผู้ประกอบการที่มี ศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบรุนแรงให้ได้มากที่สุด การลงพื้นที่และเปิดใจรับฟังปัญหาจาก stakeholders ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ จึงเป็นหัวใจในการออกแบบมาตรการครั้งนี้ ผมประทับใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นทีมงานที่มาจากต่างสายงานใน ธปท. ทุกระดับร่วมแรงร่วมใจ เปิดใจ รับฟังทุกภาคส่วน และนำความเห็นต่าง ๆ มาปรับปรุงมาตรการให้สามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบการได้ครอบคลุมและตรงจุดมากที่สุด 

          

ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งจากแนวทางการทำงานของทีมงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความทุ่มเทและตั้งใจที่เกินร้อย ความพร้อมที่จะรับฟัง และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำงานได้เร็ว และการตัดสินใจที่ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง จะทำให้มาตรการนี้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้กำหนดไว้อย่างแน่นอน

 

เมธินี เหมริด

 

เมธินี เหมริด 

รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2

 

ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เลขาฯ squad ด้วยความเป็น "มนุษย์เป็ด" ที่เคยผ่านงานทั้งฝั่ง macro และฝั่งสถาบันการเงิน โดยเฉพาะงานนโยบาย macro prudential มา ทำให้รู้จักคุ้นเคยกับพี่น้องหลายฝ่ายงานอยู่เป็นทุนเดิม หน้าที่รับผิดชอบคือ เป็นมือขวามือซ้ายของ project co-leaders ช่วยเชื่อมภาพ macro-financial linkage ของฝั่งเศรษฐกิจการเงินกับ prudential regulations ในการออกแบบมาตรการฟื้นฟูฯ 

          

ทีมงาน squad ฟื้นฟู เหมือนเป็นจิกซอว์ที่สามารถประสานทักษะ ประสบการณ์ เครือข่าย และพลังบวกเสริมซึ่งกันและกันอย่างลงตัว ทำให้ก้าวข้ามทั้งอุปสรรคในงานและขีดจำกัดของตัวเองไปได้ ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพในขั้นตอนเตรียมชี้แจงกฤษฎีกา ซึ่งได้ปรับแนวจากการตอบเชิงตรรกะกฎหมายเป็นเน้นข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อสะท้อนหลักคิดของมาตรการ ที่เกิดจากการเข้าใจและเข้าถึงปัญหา ซึ่งทีมงาน cross - function ได้ร่วมด้วยช่วยกันเชื่อมโยงองค์ประกอบในหลายมิติ พลังบวกและกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น จึงเป็นความประทับใจที่เต็มเปี่ยมด้วยรอยยิ้ม

 

ชุลีกร ตันติวณิชชานนท์ และชโนทัย ประวิทย์ธนา

 

ชุลีกร ตันติวณิชชานนท์ และชโนทัย ประวิทย์ธนา 

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2

 

บทบาทของพวกเราในมาตรการนี้คือ ทีมเลขาฯ ทีมงานหลังบ้านที่คอยดูแลจัดการงานน้อยใหญ่ให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าหมายที่วางไว้ ตั้งแต่ประสานงาน หารือ ไปจนถึงการวางนโยบายและออกประกาศเพื่อรองรับนโยบาย นอกจากนี้ เพื่อให้มาตรการตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง ผู้บริหารจึงให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็น ทำให้สิ่งที่ท้าทายที่สุดของพวกเราคือ การติดต่อประสานงาน ประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ รับฟังความเห็นในทุกแง่มุมให้ครบถ้วน รวมถึงหาจุดสมดุลเพื่อเสนอแนะนโยบายภายใต้ช่วงเวลาที่จำกัด

 

 

 

กลุ่มสนับสนุนข้อมูล

 


 

 

รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ (quantitative) ในมิติของสถาบันการเงินและลูกหนี้ รวมถึงประสานภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อรวบรวบข้อมูลเชิงคุณภาพที่จำเป็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อความหนักเบาของปัญหา และออกแบบนโยบายที่จับต้อง ชี้แจง และวัดผลได้

 

สิรภพ เดชะรินทร์

 

สิรภพ เดชะรินทร์ 

ผู้ตรวจสอบ ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน

 

ความท้าทายสำคัญของงานนี้คือกรอบเวลาที่เร่งด่วนในการวิเคราะห์และจัดเตรียมข้อมูลในปริมาณมาก เพื่อจะให้มั่นใจได้ว่าการออกมาตรการต่าง ๆ ได้คิดมาอย่างรอบด้านแล้ว และสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างทันการณ์ 

          

ผมขอขอบคุณที่ให้โอกาสผมได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในภารกิจที่สำคัญครั้งนี้ ยังมีทีมงานอีกจำนวนมากที่ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อน และผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตไปได้

 

จิตา จีรเธียรนาถ

 

จิตา จีรเธียรนาถ 

เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

          

ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานออกแบบมาตรการฟื้นฟูฯ โดยรับผิดชอบการเชื่อมโยงข้อมูลภาคเศรษฐกิจและภาคสถาบันการเงิน ซึ่งมีส่วนช่วยให้การกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ของมาตรการชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ก็ได้รับผิดชอบการติดต่อประสานงานกับฝั่งลูกหนี้ผ่านทางสมาคมต่าง ๆ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อจำกัด รวมถึงทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ ซึ่งประเด็นที่ได้รับมา ทีมงานล้วนนำไปพิจารณา และผสานกับความต้องการของหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ในท้ายที่สุดแล้วมาตรการที่ออกมาตอบโจทย์กับทุก ๆ ฝ่าย 

          

การได้มาร่วมงานทำมาตรการครั้งนี้ ได้ใช้ความรู้จากการทำงานใน ธปท. ทั้งด้านเศรษฐกิจและสถาบันการเงินอย่างเต็มที่ และได้เข้าใจว่าการออกมาตรการนั้น เป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะและความรู้ความเข้าใจที่รอบด้าน แม้จะมีอุปสรรคในการทำงานบ้าง แต่ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก และมีส่วนช่วยให้สามารถพัฒนาตนเองได้ด้วย

 

 

 

กลุ่มผู้ดำเนินงานอื่น ๆ

 


 

 

ผลักดันงานเฉพาะจุดกับ stakeholders สำคัญ เช่น บสย. และกระทรวงการคลัง ในเงื่อนไขการค้ำประกัน และสภาวิชาชีพบัญชี รองรับธุรกรรมการตีโอนทรัพย์ที่มีสัญญาซื้อคืน

 

ยุพิน เรืองฤทธิ์

 

ยุพิน เรืองฤทธิ์ 

ผู้อำนวยการ ฝ่ายตรวจสอบ 1

          

ประทับใจกระบวนการทำงานความร่วมมือทั้งภายในและภายนอก ธปท. เช่น การทำงานของ squad ที่สามารถยกประเด็นที่อาจจะขัดแย้งหรือไม่เห็นด้วยมาหารือร่วมกันได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าอยู่ในตำแหน่งหรือสายงานใด ทุกคนมุ่งผลลัพธ์เป็นสำคัญ หรือการที่ทีมผู้ตรวจสอบต้อง ประสานงานกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่ตนรับผิดชอบ เพื่อให้ได้ข้อมูลลูกหนี้ที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ประมาณการเม็ดเงินที่ต้องการ รวมถึง ข้อมูลปัญหาและอุปสรรคทั้งด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการให้ดีขึ้น โดยผู้บริหารและผู้ประสานงาน ของสถาบันการเงินก็พร้อมให้ความร่วมมือ 

          

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสภาวิชาชีพบัญชี โดยเฉพาะคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่ช่วยพิจารณาตอบข้อสงสัยในการปฏิบัติทางบัญชีของสถาบันการเงินและของลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนการออกมาตรการครั้งนี้

 

 

 

กลุ่มปฏิบัติการ (Implementation)

 


 

 

จัดเตรียมระบบงานและกระบวนการปฏิบัติงาน (ข้อมูลและไอที) ในการพิจารณาอนุมัติ รับส่งเอกสาร โอนเงิน ระหว่าง ธปท. สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความถูกต้องและราบรื่น ซึ่งในครั้งนี้ มีความซับซ้อนมากขึ้นจากมาตรการใหม่คือ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้

 

สุรวุฒิ พฤกษ์บำรุง

 

สุรวุฒิ พฤกษ์บำรุง 

ผู้อำนวยการ ฝ่ายตรวจสอบ 2

          

"ประชาชน" คำๆ นี้เป็นหัวใจหลัก ซึ่งเป็นแก่นแท้ของการออกมาตรการฟื้นฟูฯ นับเป็นอีกประสบการณ์ที่ผมได้เห็นการผนึกกำลังชนิดที่เรียกได้ว่าน่าจะครบทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจไทยเลยก็ว่าได้ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ เจ้าหนี้/ลูกหนี้ ตลอดจน คณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ทั้งในส่วนของ สส. และ สว. ที่ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะและมุมมองที่เป็นประโยชน์และปลดล็อกอุปสรรคที่มี เพื่อให้มาตรการเกิดขึ้นได้จริงและประคองผู้ประกอบการและลูกจ้างให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ 

          

ผมมักสังเกตเห็นผู้คนมากมายในวงประชุมที่ต่าง "ถอดหัวโขน" ของตัวเองออกไป แล้วดึงเอาความรู้สึกนึกคิดในฐานะคนธรรมดา เพื่อให้เข้าใจถึงรากของปัญหาที่แท้จริง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย ช่วยกันออกแบบ รายละเอียดมาตรการให้ลงตัว ไม่มีใครเป็นนายเป็นลูกน้อง รับฟังความเห็นต่าง ช่วยกันแก้ช่วยกันสางแม้จะอยู่คนละฝ่าย และนี่คือ behind the scene ที่ตัวผมเองรู้สึกประทับใจ และคิดว่าเป็นแก่นแท้ของความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานที่ลงตัวอย่างแท้จริง #ทีมประเทศไทย

 

ชาดา ลิมป์กิตติสิน

 

ชาดา ลิมป์กิตติสิน 

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ควบ) ฝ่ายตรวจสอบ 2

          

แม้ว่าครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดจากระบบงานซอฟต์โลนแต่หลักเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปพอสมควร รวมถึงยังมีมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ที่ ธปท. ยังไม่เคยดำเนินการมาก่อนด้วย ทำให้ทีมงานต้องเร่งศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดของมาตรการเพื่อเตรียมระบบงานและกระบวนการปฏิบัติงานให้พร้อม 

          

ประทับใจที่ได้เห็นการทำงานในลักษณะ squad ที่มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วและตรงจุด มองปัญหาได้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ ทุกฝ่ายงานมีจุดมุ่งหมายที่จะร่วมผลักดันงานให้สำเร็จและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแผนงานตลอดเวลาตามหลักเกณฑ์ที่ค่อย ๆ มีความชัดเจนขึ้น ทำให้งานลุล่วงไปได้ด้วยดี

 

ดวงพร เลิศสมผล

 

ดวงพร เลิศสมผล 

ผู้ตรวจสอบอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 2

          

ความประทับใจและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานนี้ขอสรุปเป็น 3Cs คือ 

          

Change : การปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำงานเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้การนัดหมายและการจัดประชุมเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง work from home ที่ประชุมผ่านออนไลน์ได้ 

          

Challenge : เป็นงานที่ท้าทาย เนื่องจากไม่ใช่มาตรการปกติที่ ธปท. ดำเนินการ งานลักษณะนี้มีขึ้นเมื่อเกิดวิกฤต เช่น ช่วงน้ำท่วมเมื่อ 10 ปีก่อน หรือมาตรการซอฟต์โลนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด 

          

Coordinate : มาตรการฟื้นฟูฯ นี้ถือเป็นความร่วมมือในการทำงานของฝ่ายงานต่าง ๆ ใน ธปท. สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรการบรรลุเป้าหมายในการบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการจากโควิด 19 ในครั้งนี้

 

กิตติพงษ์ กลมกล่อม

 

กิตติพงษ์ กลมกล่อม

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

          

ผู้บริหารทุกระดับให้ความสำคัญกับงานมาตรการทั้งสองนี้อย่างมาก ทุกท่านพร้อมที่จะแบ่งปันบุคลากร และเวลาจากงานประจำและงานโครงการในความรับผิดชอบมาให้กับงานนี้ ด้วยความรู้สึกว่า "มีคนรอ ความช่วยเหลืออยู่นะ เราต้องรีบช่วยเหลือเขา" 

          

ความท้าทายของงานนี้ คือการส่งมอบระบบงานที่มีคุณภาพในระยะเวลาอันสั้น ภายใต้โจทย์ที่มีความซับซ้อน เปลี่ยนแปลงบ่อยจากเหตุและปัจจัยต่าง ๆ แต่การที่ทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันรับผิดชอบในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เราสามารถ เอาชนะความท้าทายนี้ได้ในที่สุด 

          

ตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงสำนวนไทย "ลงเรือลำเดียวกัน" เปรียบเทียบเหมือนเราพายเรือพาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบไปให้ถึงฝั่ง บางคนพายข้างซ้าย (วิเคราะห์ความต้องการทางธุรกิจ) บางคนพายข้างขวา (พัฒนาระบบงาน) บางคนคัดท้าย (ทดสอบและควบคุมคุณภาพ) ทุกคนทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ แต่เราก็ไม่ได้ก้มหน้าก้มตาพายเรืออย่างเดียว ระหว่างทางเราก็ชะลอเรือ แล้วหันมาทบทวนและถามกันว่า "เรายังมาถูกทางใช่มั้ย? มีอะไรให้ช่วยมั้ย? ยังไหวมั้ย?" และทุกครั้งที่ถามไป เราจะได้คำตอบดี ๆ ที่จะช่วยกันแก้ปัญหา รวมถึงกำลังใจดี ๆ ที่ทุกคนมี ให้ต่อกันทำให้เรามีแรงพายเรือต่อไป เพราะคงไม่มีใครเข้าใจงานและความรู้สึกของคนบนเรือได้ดีเท่าคนบนเรืออีกแล้วครับ

 

 

 

กลุ่ม Call Center

 


 

 

ตอบคำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรการ รับฟังข้อร้องเรียน รวบรวม ประเด็นปัญหาที่มีนัยต่อการสื่อสาร หรือต่อการปรับนโยบาย

 

สมชาย ชนกิจโกศล

 

สมชาย ชนกิจโกศล 

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายตรวจสอบ 1

          

ทีมงาน call center 6112* จัดตั้งขึ้นเพื่อสื่อสารให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เข้าใจหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ที่จะขอรับความช่วยเหลือ และประสานให้สถาบันการเงินเข้าไปช่วยได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงที่ผ่านมาสามารถช่วยลูกหนี้ได้หลายราย ทีมงานเฉพาะกิจ 6112 เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2564 โดยมีพี่ ๆ น้อง ๆ ในฝ่ายตรวจสอบ 1 เวียนกันมาช่วยรับสาย ถ้าช่วงไหนที่ ธปท. มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ วันรุ่งขึ้นก็จะมีสายโทรเข้ามาเป็นจำนวนมาก ถ้ารับสายลูกค้าที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เราจะให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินให้ได้มากที่สุด 

          

นอกจากนี้ ยังมีทีมงาน Q&A เป็นกำลังสำคัญที่นำคำถามจาก call center และจากฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำเป็น Q&A เพื่อเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของแบงก์ชาติให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ และสถาบันการเงินนำไปใช้สื่อสารผ่านสาขาต่าง ๆ เพื่ออธิบายต่อลูกค้าได้ด้วย

 *ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 0 2283 6112

 

 

 

กลุ่มสื่อสาร

 


 

 

ติดตามประเด็นและกระแสต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับรูปแบบกลยุทธ์และช่องทางสื่อสารในเชิงรุก เพื่อให้เข้าถึงและตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

 

อุบลรัตน์ จันทรังษ์

 

อุบลรัตน์ จันทรังษ์ 

ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร

          

แม้ว่ามาตรการจะถูกคิดถูกออกแบบมาดีแล้ว แต่ถ้าวางแผนการสื่อสารไม่ดี คนไม่ทราบหรือไม่เข้าใจ ก็จะทำให้มาตรการดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลตามที่ได้ตั้งใจไว้ แบงก์ชาติตระหนักดีว่า โจทย์ใหญ่ของเราครั้งนี้คือ ทำอย่างไรที่จะเร่งช่วยประชาชนและภาคธุรกิจให้รอดพ้นความเดือดร้อน จากปัญหาโควิด 19 และในการทำงานด้านการสื่อสาร พวกเราก็มุ่งมั่นเพื่อมีส่วนร่วมช่วยขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่าปัญหาหลักคือ การสื่อสารที่ยังไปไม่ทั่วถึง ทั้งในส่วนของประชาชนและพนักงานสาขาของสถาบันการเงิน ดังนั้น ทีมงานด้านสื่อสาร จึงได้เร่งทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำการสื่อสารในครั้งนี้ ทั้งลูกหนี้ องค์กรเอกชน สถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ และสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนมาตรการ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับทีมงานของสถาบันการเงินหลายแห่งจัดทำคลิปสั้นที่สื่อสารโดย CEO เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า สถาบันการเงินมีความตั้งใจช่วยเหลือลูกหนี้ รวมถึงช่วยให้พนักงานที่อยู่สาขาห่างไกลได้ทราบถึงนโยบายของสถาบันการเงินด้วย รวมทั้งมีการสื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลโดยใช้เว็บไซต์ BOT Covid-19 ให้เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่ประชาชนสามารถไปค้นหามาตรการช่วยเหลือที่สอดคล้องกับความต้องการได้สะดวกและรวดเร็ว สุดท้ายขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยทำให้การสื่อสารมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้มาตรการมีประสิทธิภาพ

 

จุฑารัตน์ เลิศสกุลพันธ์

 

จุฑารัตน์ เลิศสกุลพันธ์ 

พ.ปฏิบัติงานพิเศษ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร (งานยุทธศาสตร์สื่อสาร)

          

มาตรการฟื้นฟูฯ เป็นงานชิ้นใหญ่และสำคัญมากในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ได้ร่วมจัดทำแผนสื่อสารมาตรการฟื้นฟูฯ ซึ่งโจทย์สำคัญ คือ มาตรการที่ออกแบบมาครั้งนี้อยู่บนหลัก "คิดรอบ ตอบได้" ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสาธารณชนเข้าใจถึงหลักการสำคัญของมาตรการ โดยจะต้องดูตั้งแต่ผู้มีส่วนได้เสียมีใครบ้าง ข้อความที่ต้องการสื่อสาร ช่องทางและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสื่อสาร รวมไปถึงการเตรียมแผนสื่อสารเพื่อปิดประเด็นที่ประชาชนยังไม่เข้าใจ หรืออาจเกิดความเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ จึงเป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรเพื่อปูพื้นสร้างความเข้าใจในมาตรการดังกล่าว ในระหว่างที่มาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้ ตลอดจนภายหลังมาตรการออกไปแล้ว เราก็ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าและข้อคิดเห็นจากช่องทางต่าง ๆ เพื่อวางแผนการสื่อสารในระยะต่อไปด้วย แม้เราจะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ แต่ก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับการจัดทำมาตรการฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ค่ะ

 

 

BEHIND THE SCENE : การทำงานร่วมกับองค์กรภายนอก BOT Collaboration

 

การออกแบบมาตรการฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ ต้องการให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจได้จริง ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่ง ธปท. ได้ประสานความร่วมมือ รับฟังความคิดเห็น และหารือกับผู้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของลูกหนี้ผ่านสมาคมต่าง ๆ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมไทย และเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบัน การเงินที่เข้าร่วมมาตรการ ตลอดจนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนมาตรการ เราลองมาดูกันว่าการประสานงานกับหน่วยงาน ภายนอกจะมีบรรยากาศเบื้องหลังการทำงานเป็นอย่างไร

 

จิตเกษม พรประพันธ์

 

การทงานร่วมกับภาคธุรกิจ

จิตเกษม พรประพันธ์ 

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

          

การกำหนดมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้น เสียงสะท้อนจาก SMEs จึงถือเป็นสาระสำคัญที่จะนำมาเป็น policy input เพื่อจะได้นำนโยบายไปปฏิบัติและใช้ได้ตรงจุดกับกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านมา ธปท. ได้สร้างสัมพันธ์อันดีกับภาคธุรกิจอย่างสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์ SMEs และสภา SMEs1 มาโดยตลอด ผ่านการเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสถาบันการเงินเป็นประจำทุกเดือน และเมื่อต้องออกแบบมาตรการ การรับฟังข้อคิดเห็นจากประธานสภาและสมาพันธ์ทั้ง 3 แห่ง ทำให้ได้ความคิดเห็นจาก SMEs ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ ซึ่งผลกระทบจากโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รายได้และความสามารถ ในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจลดลง ทำให้จำเป็นต้องได้รับสภาพคล่องและสินเชื่อ เพื่อไปดูแลธุรกิจและการจ้างงาน ตรงกับความต้องการหลักของภาคธุรกิจ 

          

อย่างไรก็ตาม ความต้องการของผู้ประกอบการมีมากน้อยแตกต่างกันไป แต่แน่นอนว่าภาคธุรกิจต้องการต้นทุนทางการเงินที่ต่ำและมีความยืดหยุ่นในการขอสินเชื่อ ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ ธปท. ต้องมีจุดยืนเชิงนโยบายและมีหลักการ โดยต้องหาความสมดุลที่เหมาะสมกับ policy constraint โดยเฉพาะการอธิบายถึงข้อเท็จจริงและเหตุผลว่าสิ่งใดทำได้ และสิ่งใดยังเป็นข้อจำกัด เช่น อยากได้สินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ แต่ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงของธุรกิจ หรือบางรายมีวงเงินเกินนิยามของ SMEs แต่ต้องการได้สินเชื่อตามมาตรการนี้ ซึ่งมีทั้งข้อเรียกร้องที่ต้องนำมาพิจารณาและข้อเสนอที่ต้องปฏิเสธตามหลักการ ทั้งนี้ ผู้นำ/ประธานสภาส่วนใหญ่จะเข้าใจ และไปช่วยอธิบายถึงหลักการของ ธปท. รวมทั้งในบางครั้งยังช่วยเป็น กระบอกเสียงเพื่ออธิบายแทน ธปท. ด้วย 

 

1 สภาหอการค้า ประกอบด้วยผู้ประกอบการที่อยู่ทั้งในภาคการค้าและบริการที่มีหน่วยย่อยลงไปเป็นสมาคมสำคัญต่าง ๆ อาทิ สมาคมผู้ประกอบการค้าปลีกและสมาคมโรงแรมที่เกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กมารวมตัวกัน ซึ่งสมาชิกจะเป็นผู้แทนจากแต่ละภูมิภาคและแต่ละจังหวัด สำหรับสภาอุตสาหกรรม เกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการในภาคการผลิต ซึ่งมีทั้ง SMEs ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ขณะที่สมาพันธ์ SMEs และสภา SMEs เป็นการรวมตัวของ SMEs ขนาดเล็กจำนวนมากในทุกสาขา

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

 

การทงานร่วมกับกระทรวงการคลัง และสมาคมธนาคารไทย 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ 

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2

          

การออกแบบมาตรการฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ ทีมงานของ ธปท. ได้หารือร่วมกับสถาบันการเงินผ่านสมาคมธนาคารไทย (TBA) ซึ่งมีธนาคารสมาชิกเข้าร่วมหารือด้วย ในการหารือเราต้องจัดสรรเวลาให้ดี ต้องหาจุดร่วมเพื่อให้ได้ข้อสรุป และด้วยความที่งานนี้เกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่ายมาก เมื่อคุยกับธนาคารแล้ว ก็เอาประเด็นที่ได้มาคุยกันต่อเลยในที่ประชุม squad ภายใน ธปท. ในการประชุมมีการถกเถียง ให้ความเห็นกันอย่างหนัก กว่าจะประชุมเสร็จแต่ละวันเวลา ก็ล่วงเลยจนดึกดื่น ทำให้หมดสภาพกันไปเลย 

          

stakeholder ที่สำคัญที่สุดอีกหน่วยงานหนึ่งก็คือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องพิจารณามาตรการฟื้นฟูฯ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ในการหารือกับ TBA เราก็จะเชิญ สศค. เข้ามาหารือพร้อมกัน เนื่องจากกลไกสำคัญของสินเชื่อฟื้นฟูฯ คือ การค้ำประกันความเสี่ยงด้านเครดิตที่รัฐจะต้องรับผิดชอบ ในส่วนนี้ สำหรับในส่วนของมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ กระทรวงการคลังก็เป็นหน่วยงานสำคัญที่เข้ามาช่วยลดต้นทุนการดำเนินการโดยการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องให้ 

          

ขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมจัดทำมาตรการนี้ ซึ่งประกอบด้วยหลายฝ่ายงานมาก ๆ และส่วนตัวขอขอบคุณน้อง ๆ ทีมงานในฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ตอนแรกคิดว่าช่วงที่หนักสุดน่าจะเป็นช่วงที่ต้องนำเสนอมาตรการเพื่อให้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการต่าง ๆ ใน ธปท. ถึง 5 คณะภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะเสนอมาตรการไปยังกระทรวงการคลัง อีกทั้งต้องจัดทำเอกสารประกอบการประชุม พร้อมรายงานสรุปผลการประชุมอีกด้วย นอกจากนี้ ในทุกการประชุมทีมงานจะได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากกรรมการทุกชุด ทำให้เราต้องทำการบ้านเพิ่มเติมทุกครั้งก่อนนำเสนอกรรมการชุดถัดไป แต่ปรากฏว่ามีงานช่วง ที่ peak กว่าในหลาย ๆ ครั้ง เพราะพอมาตรการไป ครม. เราก็มีจัดแถลงข่าวใหญ่ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน หลังจากนั้นตัวกฎหมายก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานพิเศษโดยมีท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน สำหรับในฝั่ง ธปท. ก็มีท่านผู้ว่าการฯ นำทีมงานไปชี้แจงการออกมาตรการ จนท้ายที่สุดคือการนำตัว พ.ร.ก. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 งานหนักต่อจากนี้คือ การผลักดันให้มาตรการสามารถส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังภาคธุรกิจตามที่ทุก ๆ คนตั้งใจได้อย่างแท้จริง

 

ปิยมล ตุงควิจิตรวัฒน์

 

การทงานร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม 

ปิยมล ตุงควิจิตรวัฒน์ 

ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

          

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้น เนื่องจาก SMEs เป็นธุรกิจขนาดย่อมที่ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ จึงมีความเปราะบางและอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจได้ง่าย สถาบันการเงินส่วนใหญ่จึงเรียกหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากมีโอกาสเกิดเป็น NPL ได้ง่าย หาก SMEs ไม่มีหลักประกัน ก็จะไม่ได้สินเชื่อ บสย. จึงเป็นกลไกสำคัญที่เข้ามาทดแทนหลักประกันเพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจและให้สินเชื่อกับ SMEs ได้ง่ายขึ้น 

         

ข้อจำกัดในโครงการซอฟต์โลนเดิม ส่วนหนึ่งเกิดจากการชดเชยความเสียหายของรัฐไม่จูงใจหรือลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ การออกแบบมาตรการในครั้งนี้ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยพบว่าลูกหนี้ต้องการได้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง แม้ว่าอาจจะจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้นหรือจ่ายค่าธรรมเนียมบ้างก็ยอมรับได้ สถาบันการเงินต้องการกลไกที่ช่วยลดความเสี่ยงของลูกหนี้ ขณะที่ภาครัฐก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณหรือภาระการคลัง จึงได้ข้อสรุปร่วมกันว่า (1) กลไกของสินเชื่อฟื้นฟูฯ จะส่งผ่านสถาบันการเงิน และ (2) การค้ำประกันความเสี่ยงจะทำโดยภาครัฐผ่านกลไก บสย. โดยกำหนดภาระค้ำประกันสูงถึง 40% รวมถึงการชดเชยความเสียหายกรณีลูกหนี้เกิดเป็น NPL โดยรายเล็กจะได้รับการชดเชยความเสียหายในอัตราที่สูงกว่ารายใหญ่ 

          

ความท้าทายในการทำงานนี้คือ ระยะเวลาที่มีจำกัด จะต้องสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน เพื่อให้ทุกคนบรรลุเป้าประสงค์เดียวกัน สำหรับ บสย. ซึ่งเป็นองค์กรขนาดเล็ก มีพนักงานเพียง 300 กว่าคนเข้ามารับบทบาทสำคัญในการทำงานซึ่งต้องมีความรวดเร็ว สอดประสานไปกับสถาบันการเงินและ ธปท. จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย สุดท้ายนี้ ทีมงานคาดหวังว่ามาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ จะช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างที่ตั้งใจ ประคับประคองการจ้างงาน และทุกคนก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

วิเรขา สันตะพันธุ์

 

การทงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 

วิเรขา สันตะพันธุ์ 

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

          

ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) พบว่า SFIs มีบทบาทและเป็นกลไกสำคัญมากในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด 19 ความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือ เห็นได้จากความพยายามเข้าถึงลูกหนี้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างทันการณ์ทั้งผ่านสาขาและช่องทางออนไลน์ 

          

ธปท. จัดประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของ SFIs เป็นประจำเพื่อหารือ ตอบข้อสงสัย รวมถึงอธิบายหลักการและเป้าหมายของมาตรการฟื้นฟูฯ และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ให้พนักงานของ SFIs ทั้งสำนักงานใหญ่และสาขา เพื่อให้พร้อมอธิบายให้ลูกหนี้เข้าใจและเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการ 

          

ความท้าทายส่วนใหญ่คือ ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือของ SFIs มีจำนวนมาก ตั้งแต่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ร้านค้าปลีกห้องแถว กลุ่มเกษตรกร กลุ่มร้านค้าชุมชน และลูกหนี้ SMEs ขนาดเล็กที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งแก้ไขหนี้เดิม ขอสินเชื่อใหม่ รวมทั้งปรึกษาเพื่อหาช่องทางเสริมรายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ต้องการเม็ดเงินต่อรายไม่สูง บางรายอาจต้องการเพียง 10,000 - 20,000 บาทเท่านั้นด้วยจำนวนและรายละเอียดความต้องการของลูกหนี้ ทำให้ SFIs จำเป็นต้องบริหารจัดการกำลังคน ระบบงาน การกำหนดแนวปฏิบัติ การถ่วงดุลด้านการบริหารความเสี่ยงขององค์กร รวมทั้งสื่อสารนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งผ่านให้ลูกค้าเข้าใจ อีกทั้งร่วมกันแก้ไขหนี้ที่ตรงจุดและรวดเร็ว 

          

ที่ผ่านมาทีมรู้สึกประทับใจในการบริหารจัดการของ SFIs ในช่วงโควิด 19 ที่อาศัยความร่วมมือร่วมใจผ่านเครือข่ายพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็น อสม. กรมการปกครองพื้นที่ เครือข่ายชุมชน แสดงให้เห็นว่า SFIs มีความเข้าใจ พร้อมให้บริการ และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อตอบสนองสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนผู้บริหารระดับสูงของ SFIs ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี มีช่องทางติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับ ธปท. สามารถตอบสนองได้แบบไม่มีวันหยุดหรือเวลาเลิกงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และนำไปพัฒนาการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น

 

อานุภาพ คูวินิชกุล

 

การประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ 

อานุภาพ คูวินิชกุล 

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 2

          

ธนาคารพาณิชย์เป็น stakeholder ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ และพักทรัพย์ พักหนี้ การออกแบบมาตรการจึงต้องพูดคุยและรับฟังความเห็นของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและข้อจำกัดของมาตรการเดิม โดยนำเสียงสะท้อนที่ได้รับมาปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกฝ่ายมากที่สุด 

          

เพื่อให้การดำเนินมาตรการฟื้นฟูฯ เป็นไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ธปท. ได้สื่อสารกับธนาคารพาณิชย์ทั้งแนวนโยบาย และร่วมเตรียมระบบงาน operation ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถรองรับการดำเนินงานตามมาตรการได้ทันทีที่มีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะในครั้งนี้มีมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ที่เป็นมาตรการใหม่จึงต้องทำความเข้าใจกับทุก stakeholders ค่อนข้างมาก 

          

ความท้าทายที่สำคัญคือการผลักดันให้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ และพักทรัพย์ พักหนี้ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และตรงเป้า ซึ่งในระยะแรกการให้สินเชื่อค่อนข้างช้าและน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมระบบงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องทำความเข้าใจและใช้เวลาในการพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อสรุปกับลูกหนี้ ธปท. จึงต้องติดตามความคืบหน้ากับผู้บริหารระดับสูงของแต่ละธนาคารอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เร่งนำมาตรการทั้งสองไปช่วยเหลือลูกหนี้ 

          

การทำมาตรการครั้งนี้ทำให้เห็นความร่วมมือร่วมใจโดยมีจุดหมายเดียวกัน ในการทำงานเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบธุรกิจอันเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

การร่วมมือกับองค์กรภายนอก

 

การร่วมมือกับองค์กรภายนอก

test