สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับบทบาทการเยียวยาธุรกิจในวิกฤตโควิด 19 ผ่านมุมมอง สนั่น อังอุบลกุล

สนั่น อังอุบลกุล

 

สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในระลอกที่ 3 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนแต่ยังทำให้สภาพการณ์ของธุรกิจไทยและภาวะเศรษฐกิจของประเทศเหมือนถูกซ้ำเติมให้ได้รับผลกระทบทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในฐานะประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณสนั่น อังอุบลกุล ได้ให้ทัศนะต่อสถานการณ์ดังกล่าว ตลอดจนแนวทางการช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจ รวมถึงความร่วมมือกับรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถก้าวผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน

 

 

ภาพรวมของธุรกิจไทยภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ระลอกที่ 3

 


 

คุณสนั่นให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับสภาพการณ์ในปัจจุบันไว้ว่า "วิกฤตครั้งนี้ไม่เพียงแค่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่เป็นวิกฤตที่มีทั้งความผันผวน ความไม่แน่นอนความซับซ้อน และความคลุมเครือสูง (VUCA) เห็นได้ว่าภายในระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่เกิดการระบาดของโควิด 19 สถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงอย่างต่อเนื่องซึ่งผลกระทบนี้ไม่เพียงส่งผลต่อภาคธุรกิจในประเทศ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก"

         

ประธานหอการค้าไทยฯ กล่าวว่าการระบาดระลอกที่ 3 "ไม่ใช่เซอร์ไพรส์" เพราะเห็นสัญญาณมาพอสมควรตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อมาดูจากแต่ละภาคเศรษฐกิจของไทย โดยเริ่มที่ภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งตอนนี้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มชิ่นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาคเอกชนจึงมองว่าทั้งสองภาคส่วนยังคงเดินหน้าต่อไปได้แม้จะมีความท้าทายเรื่องค่าระวางสินค้า (freight) ค่าวัตถุดิบ และค่าแรงที่สูงขึ้น สำหรับภาคการค้า โควิด 19 ระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าไม่มากนัก ยังคงเปิดค้าขายได้ แต่จะเป็นความท้าทายของรัฐบาลว่า ในระยะต่อไปจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร เพื่อให้ภาคการค้ากลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนมีการระบาด

         

ภาคบริการเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรกการสั่งปิดกิจการในหลายพื้นที่ ตลอดจนมาตรการกักตัวของบางจังหวัดทำให้เกิดการชะลอตัวของนักท่องเที่ยว ชะลอการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือน ในขณะที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยทั้งหมดก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน

 

 

หอการค้าไทยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนด้วยแนวคิด "Connect the Dots"

 


 

แผนการรับมือและช่วยเหลือที่หอการค้าไทยได้เตรียมไว้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการเชื่อมโยงให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในเรื่องเดียวกันและเป็นภาพเดียวกัน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิด "connect the dots" คือ หอการค้าไทยจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการทำงานจากเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน คุณสนั่นกล่าวก่อนเสริมว่า "วิธีการทำงานของเราใช้หลัก RACI เริ่มต้นจาก R - Responsible ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหรือเจ้าภาพในการแก้ปัญหาเรื่องนั้น ๆ A - Accountable ใครเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเชื่อมโยงเพื่อให้บรรลุผล C - Consult ต้องหาผู้รู้และที่ปรึกษาที่สามารถให้ข้อมูล การชี้แนะที่ถูกต้อง และสุดท้ายคือ I - Inform เมื่อได้ทุกองค์ประกอบครบแล้วต้องแจ้งให้ทุกคนทราบว่า นับจากนี้จะมีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง เพื่อความเข้าใจร่วมกัน
         

"เมื่อ connect the dots ได้แล้วจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เมื่อเกิดความเชื่อมั่นก็จะต่อยอดไปเป็นการร่วมกันสร้างสรรค์ จนกลายเป็นการช่วยกันขับเคลื่อน" คุณสนั่นยกตัวอย่างการเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ว่า "เรื่องวัคซีนตามที่มีเป้าหมายคือทำให้ประชาชนได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ของประชากรทั้งประเทศเพื่อให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างรวดเร็วซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฟื้้นตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน เราจึงบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เครือข่ายบริษัทเอกชน และภาครัฐ ในการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ฉีดวัคซีนการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ รวมถึงสนับสนุนภาครัฐในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ"

 

เป้าหมาย

 

ภารกิจฟื้้นฟูเศรษฐกิจไทยใน 99 วันที่หอการค้าไทยตั้งเป้าหมาย โดยนำแนวคิด connect the dots มาใช้เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น แก้ปัญหาระยะสั้น ทั้งการจ้างงานและปัญหาผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ขณะเดียวกันก็ได้ปูรากฐานไปสู่การฟื้้นตัวอย่างยั่งยืน ซึ่งมี 3 มาตรการเร่งด่วน คือ (1) เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ (2) เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วย digital transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น และ (3) แก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้สะดวก (ease of doing business)

 

 

จับมือร่วมฟื้นฟูธุรกิจไทย

 


 

ส่วนสำคัญอีกเรื่องนอกเหนือจากการเร่งฉีดวัคซีนคือ การช่วยให้ SMEs ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องได้ โดยลักษณะเงินทุนที่จะเข้ามาช่วย SMEs มี 2 รูปแบบคือ (1) เงินทุนเพื่อนำไปปรับปรุงและขยายกิจการผ่านสินเชื่อฟื้นฟูตามเกณฑ์ ธปท. ซึ่งมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน และ (2) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านสินเชื่อ factoring โดยธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการค้าปลีกเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs ที่เป็นซัพพลายเออร์ หรือผู้เช่าพื้นที่ได้โดยตรง SMEs จะใช้คำสั่งซื้อและใบแจ้งหนี้จากค่าค้าเป็นหลักประกัน โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่กับธนาคารพาณิชย์ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยคัดกรองและส่งข้อมูลของลูกค้า SMEs ที่เป็นซัพพลายเออร์และผู้เช่าพื้นที่ให้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการใช้ใบคำสั่งซื้อหรือใบส่งของที่มีกับธุรกิจค้าปลีกนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ จะช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ที่มีหลายแสนรายทั่วประเทศ 

         

"ความใกล้ชิดระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกกับผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ระหว่างกันที่ค่อนข้างเข้มงวดอยู่แล้วจะช่วยให้ผู้ประกอบการค้าปลีกส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อได้ และการทำเช่นนี้นับเป็นเรื่องที่ win - win - win ชนะทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งผู้ขายสินค้า ผู้ซื้อสินค้า และสถาบันการเงิน แน่นอนว่าอาจมีความเสี่ยงแต่ยังคงเป็นอัตราที่ยอมรับได้"

 

3 มาตรการเร่งด่วน

 

 

ร่วมมือกับ ธปท. ช่วยผู้ประกอบการในวิกฤตโควิด 19

 


 

"ต้องกล่าวว่านโยบายการพักชำระหนี้ของ ธปท. มีส่วนสำคัญในการช่วยผู้ประกอบการในช่วงที่วิกฤตยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เราได้เห็นถึงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริง ๆ นอกจากนี้ ทางหอการค้าไทยและเครือข่ายยังได้รับความร่วมมือจาก ธปท. ในการส่งวิทยากรมาช่วยบรรยายให้สมาชิกหอการค้า ทั้งหอการค้าจังหวัดและสมาคมการค้าให้เข้าใจว่าสามารถขยายผลได้อย่างไรนับเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

         

"ในขณะเดียวกัน การทำ factoring ที่หอการค้าไทยได้นำเสนอไปนั้น ถือเป็นการต่อยอดจากการทำ e-factoring ที่ริเริ่มโดย ธปท." คุณสนั่นกล่าวก่อนเสริมว่า "ทางหอการค้าได้ร่วมจัดทำระบบ e-factoring โดยจะรวบรวมฐานข้อมูลกลาง และขั้นตอนการนำส่งข้อมูลของผู้ขายสินค้าจากห้างค้าปลีกไว้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความซ้ำซ้อนกรณีซัพพลายเออร์เป็นลูกค้าที่ขอสินเชื่อผ่านหลายธนาคาร โดยธนาคารพาณิชย์จะช่วยพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขายสินค้า และจัดกลุ่มเพื่อใช้แหล่งสินเชื่อจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจวงเงิน 250,000 ล้านบาทของ ธปท. และสินเชื่อ factoring ที่ทางภาครัฐได้มีการเตรียมไว้แล้วโดยมีการทำแผนงานร่วมกันทั้งสถาบันทางการเงิน และห้างค้าปลีกรายใหญ่ ๆ เพื่อสนับสนุน SMEs

           

"นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้ทำาเรื่องเสนอ ธปท. ผ่อนผันหลักเกณฑ์การพิจารณาเงินกู้ให้ SMEs เพื่อให้สถาบันทางการเงินมีอิสระสามารถใช้ข้อมูลหลายมิติในการให้ดุลยพินิจโดยผู้ประกอบการค้าปลีกจะทำการคัดกรองและส่งข้อมูลซัพพลายเออร์ที่มีศักยภาพให้แก่สถาบันทางการเงินที่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประเมินความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น"

 

 

Your success is our success

 


 

แถลงการณ์

 

นอกจากการเป็นประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยแล้ว ในฐานะนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ คุณสนั่นยังได้ชี้แนะแนวทางการปรับตัวรับมือวิกฤตครั้งนี้ว่า "วิกฤตแบบนี้เรื่องสภาพคล่องมาเป็นอันดับหนึ่ง ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็กในช่วงที่มีความผันผวนแบบนี้อย่าลงทุนเกินตัว (over invest) คืออะไรรอได้ก็ต้องรอ ต้องไปดูว่าเงินอยู่ที่ไหน จะไปขายของแล้วก็แข่งกันลดราคาขาดทุนเพื่อจะแย่งตลาด 
เพื่อความอยู่รอดไม่ได้ คือเรื่องของสภาพคล่องทั้งนั้น

          

"ผมว่าวิกฤตและโอกาสมีมาตลอด เราจะทำายังไงที่จะช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศของเราในระยะยาว ตอนนี้เป็นโอกาสที่จะได้เห็นความร่วมมือ การสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันสร้างสรรค์ และช่วยกันผลักดันให้ทำภารกิจที่วางไว้จนสำเร็จ ไม่ใช่เพื่อความสำเร็จของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องคิดไว้ว่า your success is our success จะทำให้ก้าวข้ามวิกฤตไปได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน" คุณสนั่นกล่าวทิ้งท้าย