DR BIZ แก้หนี้ครบ จบที่เดียว
R BIZ (ดีอาร์บิส) ชื่อโครงการที่ย่อมาจากคำาว่า Debt restructuring for business ถูกเรียกกันอย่างติดปากจากทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้สถาบันการเงินว่า "ดอกเตอร์บิส" ซึ่งถือเป็นอีกชื่อหนึ่งที่สะท้อนความตั้งใจของโครงการที่ต้องการช่วยเหลือลูกหนี้ บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในโครงการนี้เป็นเหมือนโรงพยาบาลที่รวบรวมหมอเฉพาะทาง ซึ่งก็คือเจ้าหนี้สถาบันการเงินให้มาร่วมพิจารณาแนวทางรักษาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้พร้อม ๆ กันในคราวเดียว
โครงการ DR BIZ จัดตั้งขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายให้ได้รับการบรรเทาภาระหนี้และกลับมาจ่ายคืนหนี้ได้ตามศักยภาพที่แท้จริงผ่านกลไกการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันของลูกหนี้และกลุ่มเจ้าหนี้ โดยมีกรอบแนวทางที่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากลูกหนี้มีกระแสเงินสดรวมเพียงก้อนเดียว หากประสบปัญหาและกระแสเงินสดที่มีไม่เพียงพอกับการจ่ายหนี้ให้ทุกสถาบันการเงิน ลูกหนี้อาจต้องเลือกจ่ายเพียงบางแห่ง และกลายเป็นลูกหนี้ NPL ของสถาบันการเงินบางแห่งไป การปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้โครงการนี้จึงเป็นช่องทางที่เจ้าหนี้สถาบันการเงินทุกแห่งจะมาร่วมกันหาแนวทางเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ตามความสามารถที่แท้จริงของลูกหนี้ รวมถึงลูกหนี้จะยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับหมุนเวียนในธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ การแก้ไขหนี้แบบเบ็ดเสร็จในคราวเดียวผ่านการมองภาพรวมร่วมกันนอกจากจะช่วยลดระยะเวลาในการเจรจาแก้ไขหนี้แยกทีละสถาบันการเงินแล้ว ยังส่งผลดีต่อคุณภาพของการปรับโครงสร้างหนี้ โอกาสในการกลับมาดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ และกระบวนการทำงานของเจ้าหนี้ด้วย
การเจรจาแก้ไขหนี้ระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้และลูกหนี้เพื่อหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ถือเป็นความท้าทายที่สุดของโครงการนี้ บทบาทของ ธปท. จึงไม่ใช่เพียงผู้ประสานงาน แต่ยังขยายไปสู่การเป็นตัวกลางร่วมเจรจาเพื่อให้ได้แนวทางและเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายที่สุด
การร่วมเป็นตัวกลางเจรจาหนี้ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินการในหลายรูปแบบตามความเหมาะสม เช่น การเข้าร่วมประชุมระหว่างกลุ่ม เจ้าหนี้ และลูกหนี้ เพื่อช่วยเจรจาหาแนวทางที่ลดข้อขัดแย้งระหว่างทุกฝ่าย การสร้างความเข้าใจแก่ลูกหนี้ถึงความสำคัญของการให้ความร่วมมือกับกลุ่มเจ้าหนี้ รวมถึงการตอบข้อซักถาม ให้ความเห็น และข้อแนะนำแก่ทุกฝ่าย นอกจากนี้ ในบางกรณีที่การเจรจามีแนวโน้มจะยุติลงเนื่องจากไม่สามารถหาแนวทางดำเนินการร่วมกันได้ ธปท. ได้เข้าช่วยให้ลูกหนี้และกลุ่มเจ้าหนี้กลับมาเจรจาร่วมกันหาทางออกอีกครั้ง และแก้ไขปัญหาภาระหนี้ได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การเจรจาเพื่อให้ได้แนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่ดีที่สุดนั้น นอกเหนือจากการมีตัวกลางเข้าร่วมเจรจาและความร่วมมือที่ดีของกลุ่มเจ้าหนี้แล้ว ยังต้องอาศัยความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ การให้ความร่วมมือ เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อกลุ่มเจ้าหนี้ และความพร้อมที่จะปรับแนวการดำเนินธุรกิจตามคำแนะนำของกลุ่มเจ้าหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย
กรณีแรกที่ ธปท. ได้เข้าร่วมเป็นตัวกลางเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เป็นลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้มากถึง 10 แห่ง มีโครงสร้างหนี้และเครือข่ายธุรกิจที่ซับซ้อน ทั้งยังได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จากการที่มีเจ้าหนี้หลายราย การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้แต่ละรายจึงมีข้อจำกัดและความยุ่งยาก ทั้งในเรื่องระยะเวลา การประสานงาน รวมถึงเงื่อนไขจากเจ้าหนี้ทุกแห่งที่จะเหมาะสมกับกระแสเงินสดคงเหลือในปัจจุบัน โครงการนี้จึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกหนี้รายนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในระหว่างการเจรจาจะมีข้อจำกัดและอุปสรรคหลายอย่างที่ต้องช่วยกันแก้ไข แต่ท้ายที่สุดการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายนี้ก็สำเร็จได้ด้วยดี จากความตั้งใจและความร่วมมือของทั้งลูกหนี้และกลุ่มเจ้าหนี้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นนับว่าเป็นประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแก่ทุกฝ่าย
"ยอมรับว่าในวันนั้น ไม่รู้ว่าการตัดสินใจนี้ถูกหรือผิด แต่เรามองว่าวิกฤตนี้น่าจะยืดเยื้ออีกหลายปี กว่าจะมีการเปิดประเทศ และต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มยอดขายหลักของเรากลับมา ทางทีม DR BIZ ของ ธปท. ทำให้เราประหลาดใจใน feedback และความตั้งใจจริงในการช่วยเหลืออย่างชัดเจนและรวดเร็ว เปรียบเสมือนพายุฝนกำลังตั้งเค้า และ ธปท. ยื่นร่มมากาง ทำให้เราปลอดภัย และดำเนินชีวิตต่อไปได้... โควิด 19 ทั้ง 2 ระลอกที่ผ่านมา ถึงเราจะบาดเจ็บ และต้องลดทอนเงินเดือนพนักงานไปเป็นเวลาร่วมปี และอาจจะยาวนานกว่านั้น แต่ด้วยความช่วยเหลือของโครงการ ทำให้เรายังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ได้ดูแลบุคลากรไว้ทุกครอบครัวใน 8 จังหวัดที่เราตั้งอยู่" เป็นความเห็นจากลูกหนี้ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ
เป้าหมายความสำเร็จที่สำคัญของโครงการ DR BIZ คือการสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้พูดคุยและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ลูกหนี้สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์กลับมาประกอบธุรกิจได้ ซึ่งในภาวะเช่นนี้การช่วยประคับประคองลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าการเร่งรัดหนี้หรือดำเนินการฟ้องร้องตามขั้นตอนปกติ อีกทั้งจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ สถาบันการเงิน และระบบเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย