"การธนาคารเพื่อความยั่งยืน" พลังขับเคลื่อนสู่การพัฒนาในระยะยาว

 

 

 

"การธนาคารเพื่อความยั่งยืน" พลังขับเคลื่อนสู่การพัฒนาในระยะยาว

 

แนวคิดการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงินเริ่มตกผลึกชัดเจนในเวทีการเงินโลกตั้งแต่ปี 2554 จากการจัดตั้ง Network for Greening the Financial System ที่เป็นการรวมกลุ่มของผู้กำกับและตรวจสอบ เพื่อมาดูประเด็นความเสี่ยงด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทย เราเริ่มเห็นการดำเนินการของภาคธนาคารในปี 2561 เมื่อครั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ริเริ่มจัดงาน Bangkok Sustainable Banking Forum เป็นครั้งแรก เพื่อเน้นย้ำบทบาทของธนาคารในการส่งเสริมความยั่งยืนในภาคการเงินไทย

 

          มาถึงวันนี้ การดำเนินกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืนของภาคการเงินไทยก้าวหน้าไประดับไหน BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก คุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และคุณนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน[1]มาร่วมบอกเล่าทิศทางและยุทธศาสตร์ของ ธปท. ในการขับเคลื่อนแนวคิด "การธนาคารเพื่อความยั่งยืน" ไปสู่แนวปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

Executive's Talk

เจตนารมณ์แห่ง "การธนาคารเพื่อความยั่งยืน"

 

 ก่อนทำความเข้าใจว่าการธนาคารเพื่อความยั่งยืนคืออะไร คุณนวอรมองว่าการรับรู้ถึงเจตนารมณ์และที่มาของแนวคิดจะช่วยสร้างความเข้าใจได้มากขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

          "ต้องยอมรับว่า การพัฒนาที่ผ่านมาสร้างปัญหาและผลกระทบเชิงลบในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่แนวคิด 'การพัฒนาที่ยั่งยืน' ซึ่งเน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวและผลประโยชน์โดยรวมของสาธารณชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับผลประกอบการระยะยาวมากกว่าระยะสั้น โดยกรอบการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ ESG หรือการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)"

 

          ความสนใจในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีมากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่สังคมยุคใหม่ให้ความสำคัญและเป็นที่ยอมรับในภาคธุรกิจทั่วโลก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุก ๆ มิติลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่สถาบันการเงินเป็นผู้จัดสรรเงินทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

 

          "การธนาคารเพื่อความยั่งยืนเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องยอมรับว่า การทำเรื่องนี้มีความท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องของความเข้าใจ การตระหนักรู้ และการให้ความสำคัญของสถาบันการเงิน แต่ก็น่ายินดีที่มีธนาคารไทยนำแนวคิดนี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วยตัวเองมาระยะหนึ่งแล้ว จนมีบางธนาคารได้รับเลือกให้เข้าไปอยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ซึ่งเป็นดัชนีหลักทรัพย์ในการจัดอันดับบริษัทที่นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจจนสามารถจับต้องได้"  

Executive's Talk

เริ่มจากสร้างความตระหนักรู้ สู่แนวปฏิบัติ

 

   เช่นเดียวกับคุณรณดลที่มองว่า ความท้าทายในการขับเคลื่อนแนวคิดการธนาคารเพื่อความยั่งยืน คือการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของแนวคิดนี้ ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงิน

 

          "แก่นของความยั่งยืนคือการมุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนระยะยาว แต่พอพูดว่า 'ระยะยาว' คนมักคิดว่าความเสี่ยงด้าน ESG อีกนานกว่าจะส่งผลต่อธุรกิจ ซึ่งต้องย้ำว่า สถาบันการเงินไม่ควรละเลยหรือมองข้ามความเสี่ยง ESG และภายในองค์กรเองก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง เพราะผลกระทบจากเรื่องเหล่านี้มาเร็วและแรงกว่าที่คิด"

 

          คุณรณดลยกตัวอย่างความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมผ่านสถานการณ์ในขั้วโลกเหนือที่งานวิจัยพบว่า ทะเลน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกละลายโดยเฉลี่ย 70,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี และจะไม่มีพื้นที่น้ำแข็งเหลือเลยในปี 2580 หรือไม่ถึง 16 ปีข้างหน้า อันเป็นผลจากฝีมือมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวน (climate change) จากการผลิตและการบริโภคที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน

 

          ธปท. ได้กำหนดเรื่องการธนาคารเพื่อความยั่งยืน เป็นหนึ่งของทิศทางในแผนยุทธศาสตร์ ปี 2563 - 2565 เพื่อผลักดันให้สถาบันการเงินตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้จัด Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดนี้ให้กับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน เพื่อจะได้นำไปผลักดันให้เกิดเป็นแนวนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ตลอดจนส่งเสริมการปลูกฝังเรื่องนี้ให้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร

 

          "ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินผลักดันข้อตกลงความร่วมมือในการกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) โดยนำกรอบ ESG มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ เช่น ให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อให้โครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการปล่อยสินเชื่อ และลดผลกระทบต่อชื่อเสียงของธนาคาร"

 

          ไม่เพียงเท่านั้น อีกกระบวนการที่สำคัญมากไม่แพ้กัน ได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้สอดรับกับกรอบและการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG อย่างโปร่งใสเพื่อให้สาธารณชนรับทราบความมุ่งมั่นของสถาบันการเงินในการดำเนินกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

 

Sustainable Banking ในภาคการเงินไทยวันนี้

 

  คุณนวอรกล่าวว่า ในปัจจุบันความพยายามผลักดันการธนาคารเพื่อความยั่งยืนสู่ระบบการเงินไทยถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างมาก สถาบันการเงินหลายแห่งกำหนดกลยุทธ์โดยคำนึงถึงประเด็นด้าน ESG ขณะที่บางแห่งก็มีการตั้งคณะกรรมการด้านความยั่งยืนขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีการนำเรื่องความยั่งยืนไปเป็นเครื่องมือในการประเมินสินเชื่อตามหลักการของ Responsible Lending และมีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ตามมาตรฐานสากล

 

          "สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ ธปท. กับสถาบันการเงินร่วมกันผลักดันภายใต้กรอบการธนาคารเพื่อความยั่งยืนมีหลายเรื่อง โดยช่วงต้น เราอาจเน้นด้านสังคมกับธรรมาภิบาลค่อนข้างเยอะ อย่างการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) เช่น การดูแลเรื่องค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยบางประเภท นอกจากนี้ ก็มีคลินิกแก้หนี้ ที่ช่วยลูกหนี้แก้ปัญหาหนี้สินเพื่อให้ใช้ชีวิตต่อไปได้ ส่วนเรื่องธรรมาภิบาล ธปท. ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติและจริยธรรมของผู้บริหารสถาบันการเงินมาโดยตลอด"

 

          คุณรณดลมองว่า การธนาคารเพื่อความยั่งยืนในภาคการเงินไทยมีความก้าวหน้าที่ชัดเจน โดยเฉพาะการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม ถือว่ามีพัฒนาการที่จับต้องได้ นับจากวันที่ ธปท. ออกประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้วมาถึงวันนี้ ธนาคารไทยหลายแห่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เสมือนเป็นวัฒนธรรมของธนาคาร เนื่องจากกรอบแนวปฏิบัติเรื่อง Market Conduct สามารถตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืนของธนาคารด้วย

 

          "ถ้าธนาคารดูแลลูกค้าหรือลูกหนี้อย่างเป็นธรรม สิ่งที่จะได้รับก็คือ ธนาคารจะมีการเติบโตที่มีความมั่นคงและยั่งยืน เพราะลูกหนี้หรือลูกค้าย่อมมีความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ว่าเขาจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผมเห็นชัดเจนว่า สถาบันการเงินไทยร่วมมือกันตอบโจทย์เรื่อง Market Conduct ค่อนข้างดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องและพัฒนาปรับปรุงตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องที่ ธปท. และสถาบันการเงินต้องร่วมมือกันดูแล"

 

          ทั้ง 2 ท่านเห็นตรงกันว่า ความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคการเงินไทยต้องร่วมกันคิดและร่วมมือกันทำ เพื่อให้เกิดพัฒนาการความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

 

          "เรื่อง sustainable banking ในมิติสิ่งแวดล้อมจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยในอีก
5 ปีข้างหน้า ส่วน ธปท. ได้ผนวกเรื่อง climate change เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่เราจะให้ความสำคัญในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ แต่ถ้าเพียงแค่พูดว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญและกระตุ้นให้สถาบันการเงินทำ ธปท. ไม่ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ย่อมไม่สร้างความตระหนักถึงความสำคัญอย่างแท้จริง ดังนั้น ธปท. ต้องทำให้เป็นตัวอย่างว่าในฐานะผู้กำกับดูแล ได้มีการดำเนินการภายในองค์กร เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง กิจการผลิตธนบัตร ที่เรามีการปรับกระบวนการผลิตที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง" คุณรณดลกล่าว

 

สร้างเสริมระบบนิเวศสู่ Sustainable Banking

 

คุณนวอรเล่าว่า ความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเร่งด่วน ธปท. จึงได้ร่วมกับสถาบันการเงินวางแนวทางสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยให้ภาคการเงินและเศรษฐกิจไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (taxonomy) เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์เป้าหมายด้านความยั่งยืน

 

          "ภาคการเงินจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น เราอยากเห็นภาคธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม สถาบันการเงินต้องให้ความสำคัญด้วยการเข้าไปสนับสนุนเงินทุนให้ธุรกิจกลุ่มนี้มากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจที่อยู่ระหว่างการปรับตัว ธปท. คงไม่กำหนดให้สถาบันการเงินหยุดให้สินเชื่อเลย แต่ต้องเป็นการให้โดยมีเงื่อนไขที่จะเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินอาจมีแรงจูงใจหรือกลไกสนับสนุน แต่จะทำสิ่งเหล่านั้นได้ ธปท. ก็ต้องกลับมาปรับปรุงกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อที่คำนึงถึงความยั่งยืนได้"

 

          คุณรณดลกล่าวว่า ด้วยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สถาบันการเงินต้องเผชิญความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี ด้านกฎหมายและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ รวมถึงความเสี่ยงด้าน ESG ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างยั่งยืน ธปท. จึงมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุน โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ Basel III Pillar 2[2] เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและความเพียงพอของเงินกองทุนได้อย่างคล่องตัว มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และที่สำคัญครอบคลุมความเสี่ยงใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น

 

          "หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนฯ Pillar 2 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยมีการระบุว่าความเสี่ยงด้าน ESG เป็นสิ่งที่สถาบันการเงินต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า องค์กรประเมินความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร และจะบริหารจัดการเช่นไร" 

 

          ดังนั้น หัวใจสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG คือ การสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่ดีให้องค์กร (risk culture) โดยสถาบันการเงินตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อหาแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และการปรับลดกฎเกณฑ์เพื่อลดภาระให้สถาบันการเงิน ตลอดจนสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนให้เกิดการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืน

 

Sustainable Banking กับความท้าทายยุคดิจิทัล

 

"เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ในมุมของโอกาส ผมมองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินเข้าถึงและได้ใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อให้เป็นไปตามกรอบ Responsible Lending และครอบคลุมความเสี่ยงด้าน ESG แต่โลกดิจิทัลก็พาความเสี่ยงใหม่ ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง cybersecurity หรือการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การดูแลเรื่องการนำข้อมูลดิจิทัลไปใช้ให้ถูกจุดจึงถือเป็นหัวใจสำคัญ"

 

          สำหรับคุณนวอรมองว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมีประโยชน์อย่างมากต่อสังคมและเศรษฐกิจ ในแง่ของการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าฐานรากหรือผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ขณะเดียวกัน ก็มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมายที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม เช่น ปัญหาน้ำเสีย เป็นต้น ซึ่งยุทธศาสตร์ของ ธปท. ในปี 2565 จะให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องดิจิทัลและความยั่งยืนควบคู่กันไป

 

          สุดท้ายนี้ คุณรณดลฝากไว้ว่า เรื่องของความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหัวใจแห่งความสำเร็จในการสร้างการธนาคารเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นนโยบายระดับประเทศ ส่งเสริมผลักดันให้ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

 

          "หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อน sustainable banking คือต้องทำเป็นองคาพยพเดียวกัน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือทำไปพร้อมกัน โดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทุกคน ดังนั้น ทุกคนและทุกภาคส่วนต้องลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่สนับสนุน ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลในภาคการเงิน จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ด้วยการประสานกับทุกภาคส่วน ในการสร้างความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม" คุณนวอรทิ้งท้าย

 

[1] ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการ สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564

[2] Basel Pillar 2 คือ หลักเกณฑ์ที่ออกมาเพื่อกำหนดบทบาทของสถาบันการเงินและผู้กำกับดูแลในด้านการบริหารความเสี่ยงที่ดีโดยมีกระบวนการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ได้เพิ่มการบังคับให้ครอบคลุมสถาบันการเงินทุกแห่ง และกำหนดความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญที่สถาบันการเงินต้องประเมินความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดูรายละเอียดเพิ่มที่ https://www.bot.or.th/Thai/FIPCS/Documents/ FPG/2564/ThaiPDF/25640144.pdf