ถนนทุกสายมุ่งสู่ ESG
ถนนทุกสายมุ่งสู่ ESG
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน สังคม และเศรษฐกิจไปทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคเกิดการตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงของมนุษย์และธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น แน่นอนว่ากระแสการตระหนักรู้นี้ย่อมทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
ผลสำรวจ Global Consumer Insights Pulse Survey ของ PricewaterhouseCoopers ประจำเดือนมิถุนายน 2564 จากผู้บริโภคจำนวน 8,681 คน ใน 22 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าทึ่งในปัจจุบัน โดย 50% ของผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ถึง 76% โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าจะเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีจิตสำนึกและสนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
ผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "eco - conscious" มากขึ้น คนยอมที่จะจ่ายแพง หากสินค้าและบริการที่ได้รับกลับมาจะมีคุณภาพ และช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม ยิ่งโลกหลังโควิด 19 จะเห็นพฤติกรรมดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น ภาคธุรกิจจึงหันมาใส่ใจกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) มากกว่าเดิม
ขณะที่ปี 2563 เราตื่นตัวเรื่องภัยจากโรคระบาด แต่ปีนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็หันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบจากสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน ข้อมูลจาก Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ค้นพบสัญญาณที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์เริ่มรุนแรง เช่น โลกร้อนขึ้นกว่า 1.09 องศาเซลเซียส ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในรอบ 2 ล้านปี การเกิดไฟป่าในออสเตรเลีย และระดับน้ำทะเลสูงกว่าในอดีตถึง 3 เท่า โดย IPCC คาดว่าระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น 2 เมตรในศตวรรษนี้ และอาจสูงถึง 5 เมตรภายในปี 2693 หรือเพิ่มขึ้น 3.7 มิลลิเมตรต่อปี
ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ได้ทยอยออกมาประกาศจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) หรือการไม่ปล่อยก๊าชเรือนกระจกไปมากกว่าที่สามารถกำจัดได้ภายในปี 2593 ก่อนจะมีการประชุมใหญ่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือนพฤศจิกายนนี้
อังกฤษเป็นประเทศแรก ๆ ที่กำหนดเป้าหมายใหม่ในการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ให้เร็วขึ้น พร้อมบรรจุเป็นกฎหมายเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และทยอยออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามมา เช่น กำหนดให้อาคารที่สร้างใหม่ทุกแห่งจะต้องมีที่ชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันอังกฤษมีสถานีชาร์จรถไฟฟ้า 25,600 แห่งทั่วประเทศ และต้องเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่าภายในปี 2573 เพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลที่จะยกเลิกให้ได้ในปี 2573
ความกังวลเรื่องภาวะโลกร้อน ทำให้เวทีระดับโลกกำหนดทิศทางใหม่หลายเรื่อง เช่น European Green Deal ผลกระทบจากการเก็บภาษีคาร์บอน Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้าที่ยั่งยืน (Sustainability Product Initiative) ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทาน
การปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังมีกิจกรรมอีกจำนวนมากที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ สำหรับภาคธุรกิจสามารถเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อขับเคลื่อนไปสู่อนาคตได้อย่างน้อย 3 แนวทาง
แนวทางแรก คือการผลักดันความร่วมมือเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) หรือการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ เพิ่มสัดส่วนการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหลายประเทศ ภาครัฐได้ออกเป็นกฎหมาย เช่น การเก็บภาษีตามปริมาณขยะที่ทิ้ง หรือออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งหลายประเทศได้ทยอยออกกฎหมายในเรื่องดังกล่าวแล้ว ขณะที่ประเทศไทยจะยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในปี 2565 เป็นต้นไป (มติเห็นชอบจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีหมู่บ้าน "The Aardehuizen" ในเมือง Olst ซึ่งแปลตรงตัวว่า "บ้านดิน" เป็นหมู่บ้านอีโคแห่งแรกที่ใช้โมเดลของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้ขยะและวัสดุธรรมชาติมาสร้างบ้าน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาแบ่งปันกันใช้ รวมถึงการใช้น้ำแบบรีไซเคิล ตลอดจนกระบวนการผลิตอาหารตามหลักการ Permaculture[1] เพื่อสร้างวิถีชีวิตกินอยู่อย่างยั่งยืน
แนวทางที่สอง คือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) สาเหตุที่ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร เพราะปัจจุบันเกือบ 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดจากกระบวนการผลิตอาหาร เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การลงทุนในเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต และใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ AgriTech มีตั้งแต่การใช้ระบบเซนเซอร์เพื่อควบคุมและติดตามการเติบโตของผลผลิตแบบเรียลไทม์ ไปจนถึงการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น การใช้โดรนเพื่อการเกษตร ภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลสภาพภูมิอากาศ การใช้บิ๊กดาต้าและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาช่วยในการวิเคราะห์และประมวลผลในขั้นตอนต่าง ๆ ของการเพาะปลูก อย่างสิงคโปร์ แม้จะมีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยกว่า 1% แต่เพิ่งประกาศตัวว่าจะเป็นศูนย์กลาง AgriTech ของภูมิภาคเอเชีย โดยใช้เทคโนโลยีในการทำฟาร์มภายในอาคาร (indoor farming) เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารที่สูงถึง 90%
สำหรับประเทศไทย ถือเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลก AgriTech จะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ เพิ่มคุณภาพในกระบวนการผลิต เพื่อตอบโจทย์ความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นหลังวิกฤตโควิด 19
แนวทางสุดท้าย ภาคธุรกิจต้องผนวกแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร ต้องวางแผนการจัดการกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน
เมื่อถนนทุกสายมาบรรจบกันและมีเป้าหมายเดียวกัน คือการสร้างโลกที่ยั่งยืนในอนาคต ความฝันที่จะได้เห็นโลกใบใหม่ที่สวยงามกว่าเดิมคงไม่ไกลเกินเอื้อม
แปลและเรียบเรียงจาก
ESG investment funds more than doubled in 2020 (cnbc.com)
June 2021 Global Consumer Insights Pulse Survey | Consumer Markets : PwC
https://www.sdgmove.com/2021/02/16/11-th-business-gold-class-sustainability-yearbook-2021-esg/
https://www.nxpo.or.th/th/bcg-economy/
การเสวนาออนไลน์ "ผลกระทบโลกร้อนที่ตอกย้ำในรายงาน IPCC Climate Changes 2021 ไทยพร้อมรับมือเพียงใด"
[1] Permaculture คือ หนึ่งในวิธีทำการเกษตรที่เกิดในยุค 70s โดย Bill Mollison เป็นการทำการเกษตรโดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่เกษตรกรทั่วโลก