Plant-based meat กลไกการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารสู่ความยั่งยืน
Plant-based meat กลไกการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารสู่ความยั่งยืน
ในช่วงที่ผ่านมา กระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้รับการกล่าวถึงในเวทีโลกอย่างกว้างขวาง ประเทศไทยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ (Bio-Circular-Green economy: BCG) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาสร้างจุดแข็งให้กับประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ อุตสาหกรรมอาหาร
ปี 2562 อุตสาหกรรมอาหารไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 611,481 ล้านบาท[1] และมีจำนวนผู้ประกอบการ 5,872 ราย ในปี 2564 อุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีการจ้างงานมากถึง 1.4 ล้านคน[2] โดยกว่า 40% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอยู่ในภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรสำคัญของประเทศ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดจุดแข็งเดิมของไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติในการเป็น "ครัวของโลก" ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจด้านการเกษตรและอาหาร แต่ยังช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนจากการปลูกพืชผลทางการเกษตรป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการในตลาดโลก
คอลัมน์เศรษฐกิจติดดินฉบับนี้ จึงขอหยิบยกตัวอย่างนวัตกรรมด้านอาหารรูปแบบใหม่อย่าง plant-based meat หรือเนื้อจากพืช เพื่อเป็นหนึ่งคำตอบให้โจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ พร้อมทั้งช่วยจุดประกายให้ผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการปรับตัวและร่วมกันสนับสนุนให้ plant-based meat เป็นหนึ่งตัวช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
การระบาดของโควิด 19 และโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ มีส่วนผลักดันให้ผู้คนทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม plant - based meat เป็นอาหารทางเลือกที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดโลก จึงได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ plant-based meat ยังนับว่าเป็นอาหารแห่งอนาคต ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับมนุษยชาติ โดยธนาคารโลกคาดว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกเท่าตัว[3] ทำให้ความต้องการอาหารปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันตลาดผู้บริโภค plant-based meat ที่ใหญ่ที่สุดคือ ยุโรป และรองลงมาคือ เอเชียแปซิฟิก อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง ตามลำดับ ซึ่งตลาดผู้บริโภคนับว่ามีอิทธิพลต่อรูปแบบของผลิตภัณฑ์ plant-based meat อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสังเกตได้จากการที่ครึ่งหนึ่งของ plant-based meat อยู่ในรูปของไส้กรอกและเนื้อสำหรับทำเบอร์เกอร์ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทวิจัยตลาด Markets and Markets Analysis คาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่าของ plant-based meat ในตลาดโลกจะสูงถึง 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 14%
สำหรับตลาดในไทย plant-based meat ทั้งในฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคยังนับว่าอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น โดยผู้ประกอบการและนักวิชาการส่วนใหญ่คาดว่า ไทยต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีในการพัฒนาธุรกิจดังกล่าวให้ทันกับต่างประเทศ เพราะแม้ว่าไทยจะมีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบจากการมีผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ แต่การเร่งวิจัยและพัฒนา (Research and Development หรือ R&D) นวัตกรรมด้านอาหารยังมีความจำเป็น ซึ่งการทำ R&D ควบคู่ไปกับความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน จะทำให้ plant-based meat เป็นโอกาสในการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้อย่างแท้จริง
ผู้ประกอบการนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยการเพิ่มคุณภาพสินค้าและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสอดรับกับกระแสความนิยมในตลาดโลก บทความนี้จึงขอหยิบยก 2 ตัวอย่างผู้ผลิตที่ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับภูมิภาคผ่านการริเริ่มพัฒนาด้าน R&D เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงได้
บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ธุรกิจขนาดกลางในจังหวัดเชียงใหม่ ผลิตสินค้าแปรรูปจากการเกษตร เครื่องปรุงรส เครื่องเทศ ที่หันมาสนใจการทำธุรกิจนี้ โดยคำนึงถึงนวัตกรรมและความยั่งยืน ในปี 2560 บริษัท นิธิฟู้ดส์ ได้ตั้งสถาบันวิจัยรสชาติอาหารเพื่อช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กให้มีโอกาสเข้าถึงการวิจัยและพัฒนาได้ง่ายยิ่งขึ้น จนได้รับรางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมธุรกิจบริการจากเวที SME Thailand Inno Awards 2019 ในปี 2562 และต่อมาได้ต่อยอดธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรม plant-based meat ด้วยการมองเห็นโอกาสที่อาหารกับสุขภาพต้องไปด้วยกันตามกระแสลดการกินเนื้อสัตว์และเปลี่ยนมาเป็นกินพืชกินผักแทน นอกจากนี้ ยังได้จูงใจให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกถั่วเหลืองที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรแทนการปลูกพืชที่ต้องบุกรุกพื้นที่ป่าและเผาจนเกิดเป็นปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ
จุดเริ่มต้นมาจากการที่เจ้าของธุรกิจหันมากินอาหารมังสวิรัติ ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่คือ เต้าหู้และเห็ด แต่หลังจากเห็นแบรนด์ดังจากต่างประเทศอย่าง Beyond Meat ที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาเปลี่ยนพืชให้มีสารอาหารและรสสัมผัสที่เหมือนเนื้อสัตว์ จึงเริ่มหันกลับมามองจุดแข็งของตัวเองที่มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และมีนักวิจัยอยู่ในโรงงาน ทำให้เห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ plant-based meat ได้ โดยในปี 2562 นิธิฟู้ดส์ได้ทำการวิจัยภายใต้แบรนด์ของตนเองที่ชื่อว่า "Let's Plant Meat" ซึ่งเป็นเบอร์เกอร์เนื้อจากพืช โดยแปรรูปโปรตีนจากถั่วเหลืองและข้าวเป็นส่วนประกอบหลัก อีกทั้งใช้ไขมันจากพืช (น้ำมันรำข้าวและน้ำมันมะพร้าว) และบีทรูท ในการเพิ่มสีสันและรสสัมผัส รวมทั้งปรุงรสโดยใช้สมุนไพรและเครื่องเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้วางจำหน่ายในปี 2563 ในห้างท้องถิ่นและโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด บริษัทสตาร์ทอัปของคนรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานด้านธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ แต่ได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้วย โดยยึดหลักการ 3P ในการดำเนินธุรกิจคือ ทำธุรกิจโดยมุ่งเน้นไปที่คน (people) สร้างประโยชน์ (profit) และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโลก (planet) กล่าวคือ บริษัทคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สุขภาพผู้บริโภค สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม คำนึงถึงความกินดีอยู่ดีของผู้คนอย่างเกษตรกรและคนในชุมชนด้วย บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทคมีความสนใจในผลิตภัณฑ์ plant-based meat และเริ่มนำเข้าจากต่างประเทศตั้งแต่ปลายปี 2560 ซึ่งมีส่วนทำให้คนไทยรู้จักกับ plant-based meat มากขึ้น และเมื่อมีลูกค้าเพิ่มขึ้น ก็พบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพและเมนูอาหารของผู้บริโภคไทยมากนัก จึงได้หันมาผลิตเองภายใต้ชื่อ "More Meat" โดยเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็ก ๆ ตามเงินทุนที่มีและร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยมากขึ้น โดยจุดเด่นของ More Meat คือ มีโซเดียมต่ำ ง่ายต่อการปรุงเมนูอาหารไทย และใช้วัตถุดิบหลักที่แตกต่างอย่าง "เห็ดแครง" ที่เป็นเห็ดจากพื้นที่ภาคใต้ของไทย ซึ่งที่ผ่านมา More Meat ได้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในภาคใต้จากการขายเห็ดแครงสุทธิต่อเดือนประมาณ 15,000 – 20,000 บาท นับเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับการปลูกยางพารา ทำให้การผลิตเห็ดแครงที่ตรงตามมาตรฐานโรงงานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรในพื้นที่ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งยังสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับบริษัทได้ หากมีการส่งต่อนวัตกรรมและขยายผลเป็นวงกว้าง จะทำให้มีความต้องการใช้วัตถุดิบจากชุมชนในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีกมาก แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แต่ชุมชนยังสามารถผลิต plant-based meat สำหรับไว้กินเองได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพคนในชุมชนด้วย
จากที่กล่าวมาข้างต้น ภาคธุรกิจและเกษตรกรต่างเป็นส่วนประสานที่สำคัญ ทั้งในฐานะผู้ผลิต plant-based meat และผู้ผลิตวัตถุดิบ เพราะการผลิตจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ย่อมต้องการวัตถุดิบที่เพียงพอ มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน การรวมกลุ่มของเกษตรกรจะช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภูมิภาคได้มากขึ้น
ภาครัฐนับเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรม plant-based meat ของไทยที่อยู่ในระยะเริ่มต้น โดยที่ผ่านมา ภาครัฐได้ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรและแรงงานรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถในการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการส่งเสริมด้านนวัตกรรม งานวิจัยจากสถาบันอาหาร สถานศึกษาที่มีหลักสูตรเกี่ยวกับการแปรรูปอาหาร และหน่วยงานของรัฐ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคต โดยล่าสุดภาครัฐได้จัดทำ roadmap ตั้งแต่ต้นน้ำถึงการผลิตปลายน้ำร่วมกับผู้ประกอบการ plant-based meat ในไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่า การส่งเสริมให้มี ecosystem ที่พร้อม จูงใจ และเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ สิทธิพิเศษทางภาษี ความร่วมมือด้านการตลาด รวมถึงการสนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจนี้มากขึ้น จะเป็นแรงส่งสำคัญให้กับอุตสาหกรรมนี้
จะเห็นได้ว่าสามประสานที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อน plant-based meat จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย ตลอดจนการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
[1] ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและและสังคมแห่งชาติ
[2] ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ข้อมูล เดือนมิถุนายน 2564)
[3] ธนาคารโลก คาดว่าอีก 30 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคน จาก 7.9 พันล้านคนในปัจจุบัน