สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย
สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 หรือ BOT Symposium 2021 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ "สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย" นอกจากจะมีการนำเสนอผลการศึกษาที่น่าสนใจในมิติต่าง ๆ จากนักวิชาการแล้ว ผู้ว่าการ ธปท. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ยังได้กล่าวถึงมุมมองต่อความท้าทายจากวิกฤต และแนวคิดในการเพิ่มขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย เราจึงขอนำคำกล่าวบางส่วนมาฝากผู้อ่าน
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเศรษฐกิจไทย
ปี 2564 เป็นปีที่ม่ีความท้าทายยิ่ง ไม่เพียงแต่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกจิที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่ประเทศไทยังอยู่ในช่วงหัวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิน ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และซ้ำเติมความเปราะบางที่สั่งสมอยู่เศรษฐกิจและสังคมไทยมานาน ดังนั้น หากประเทศไทยจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน (resiliency) เราจำเป็นต้องมี "ภูมิค้มกัน"
ในอดีตท่ีผ่านมา เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจมักถูกกล่าวถึงในมิติของความยั่งยืนทางการคลัง ความมั่น คงของระบบสถาบันการเงิน และความเข้มแข็งของดุลการชำระเงิน ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพในมิติต่าง ๆ เหล่านี้ในระดับค่อนข้างดี อย่างไรก็ตามภายใต้ภาพเศรษฐกิจที่ดูมั่นคงนั้น เศรษฐกิจของไทยกลับไม่ resilient และมีความเปราะบางมาก สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ตอกย้ำว่า นิยามของ "เสถียรภาพ" จะต้องเปลี่ยนไป ต้องมองในมุมที่กว้างขึ้นและครอบคลุมถึงปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะมีความสำคัญและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากขึ้นเรื่อย ๆ
ความสามารถในการ หลีกเลี่ยง - รับมือ - ฟี้นตัว
เศรษฐกิจไทยจะ resilient ได้อย่างไรในบริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนสูง? คำตอบคือต้องมีลักษณะที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) ความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการ เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (2) ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และ (3) ความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว
ประการที่หนึ่ง เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ค่อนข้างจำกัด โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ ต้องพึ่งพาต่างประเทศอยู่มากในแทบทุกมิติ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี รวมถึงการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จากสภาวะสังคมสูงวัย เศรษฐกิจไทยจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองโลกได้ยาก
นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว ไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์ ที่เรากำาลังเผชิญอยู่ในขณะนี้รุนแรงแบบที่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ได้ออกรายงานคาดการณ์ว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น แม้ว่าประชาคมโลกจะพยายามลดก๊าซเรือนกระจกลงบ้างแล้วก็ตาม
ดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index 2021 ของ German Watch จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ด้วยสภาพอากาศแบบสุดขั้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้น และความผันผวนของปริมาณน้ำฝน ได้ซ้ำเติมความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมาก เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญ และยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของไทยอีกด้วย
ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานสินค้า นโยบายการลงทุน และนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เช่น การออกแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยุโรป รวมถึงการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกสินค้าของไทยอย่างรวดเร็ว โดยมาตรการ CBAM จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2566 นี้
ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถที่จำกัดในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือ (1) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ช่วยให้ครัวเรือนและธุรกิจมีสภาพคล่อง หรือสายป่านที่ยาวเพียงพอให้อยู่รอดจนผ่านพ้นวิกฤต และ (2) ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนอาชีพของแรงงาน และการปรับวิถีการผลิตและการตลาดของธุรกิจ
สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างจำกัด ก็เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำสูงและมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่ ซึ่งกลุ่มเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ อาทิ ครัวเรือนยากจน แรงงานที่เพิ่งเรียนจบ แรงงานอิสระที่ได้ค่าจ้างเป็นรายวัน และธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนมากและมักอยู่นอกระบบ ไม่สามารถรับมือและปรับตัวต่อภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้
กลุ่มเปราะบางเหล่านี้มักมีสายป่านทางการเงินที่สั้น เนื่องจาก (1) มีเงินออมที่ไม่เพียงพอ (2) กู้ยืมเงินได้ยาก (3) ไม่สามารถพึ่งพาความช่วยเหลือจากเครือข่ายทางสังคม เนื่องจากคนอื่น ๆ อาจประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน และ (4) ไม่ได้รับการชดเชย ช่วยเหลือ และเยียวยาจากภาครัฐอย่างรวดเร็วและเพียงพอเพราะอยู่นอกระบบ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มเปราะบางเหล่านี้มีข้อจำกัดด้านทักษะและเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการปรับตัว รวมถึงทางเลือกในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานอีกด้วย
ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ยังขึ้นกับปัจจัยทางสังคม โดยเฉพาะ "ความสมานฉันท์" ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามารถผ่านกลไกใน 2 ระดับ คือ
(1) ระดับชุมชน ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันเป็นรากฐานของเครือข่ายทางสังคม จากงานวิจัยในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย พบว่าเครือข่ายทางสังคมมีบทบาทในการช่วยครัวเรือนและธุรกิจรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ผ่านความถ้อยทีถ้อยอาศัยในหลายด้าน ทั้งเงินทุน แรงงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
(2) ระดับประเทศ สังคมที่ผู้คนยอมรับและเคารพความแตกต่างของกันและกัน เชื่อใจ และประนีประนอมกันได้บนพื้นฐานของเหตุผล จะสามารถสร้างฉันทามติในการดำเนินนโยบายสาธารณะ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติต่าง ๆ รวมถึงการออกมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ช่วยเยียวยาผู้ประสบภัย อันเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ประเทศ resilient ต่อความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
หลายปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยนำไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังลึก สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Values Survey ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันที่พบว่า ดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความไม่เชื่อใจนั้นบั่นทอนกลไกในการสร้าง resiliency ของระบบเศรษฐกิจไทย
ประการสุดท้าย เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบต่าง ๆ ที่จำกัด การที่ครัวเรือนและธุรกิจในกลุ่มเปราะบางมักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรุนแรง รายได้ที่ขาดหายไปก่อให้เกิด "แผลเป็น" ทางเศรษฐกิจที่ทำให้การฟื้นตัวของครัวเรือนและธุรกิจเหล่านี้ใช้เวลานาน และเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ สินทรัพย์ของครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงทักษะของแรงงานที่ลดลง ในขณะที่หนี้สินพอกพูนขึ้นจนเกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ครัวเรือนและธุรกิจมีความสามารถในการบริโภคและการลงทุนที่ต่ำ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
การที่กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ และตอกย้ำความร้าวฉานในสังคมให้ลึกลง สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย มีความน่ากังวลตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด 19 และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นจากการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบมากกว่า แต่มีความสามารถในการฟื้นตัวน้อยกว่ากลุ่มอื่น ความเสี่ยงที่จะเกิดความตึงเครียดทางสังคมจึงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต
ในครั้งนี้ ดร.เศรษฐพุฒิยังได้เสนอแนวทาง 7 ข้อ ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทย resilient ต่อความท้าทายในอนาคต
1. ต้องมีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศที่ดี มีการบูรณาการของข้อมูลและองค์ความรู้ และมีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ที่พิจารณาถึงสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นต่ำแต่สร้างความเสียหายสูง โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อให้ข้อมูล องค์ความรู้ และมุมมองครบถ้วนรอบด้าน โดยภาครัฐอาจทำหน้าที่ประสานงาน หรือจัดหาแพลตฟอร์มในการดำเนินการ
2. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ resilient ต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงความท้าทายในด้านอื่น ๆ ทั้งเทคโนโลยี สังคมสูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยภาครัฐมีบทบาทในการออกนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืนขึ้น
3. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ดีขึ้น ลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป และเพิ่มการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนเป็นหลัก ส่วนภาครัฐมีบทบาทในการชี้ทิศทางและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในกิจกรรมและพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
4. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ แรงงาน และธุรกิจต่าง ๆ สามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในยามวิกฤต โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานและธุรกิจเข้ามาอยู่ในระบบ
5. ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาส ทั้งด้านการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการกำกับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม
6. สร้างโครงข่ายความคุ้มครองในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต ตั้งแต่ความสามารถในการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายระหว่างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน และระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นบทบาทการดำเนินการของภาคเอกชนเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบ ส่วนความช่วยเหลือเยียวยาโดยตรงจากภาครัฐที่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต และปัญหา moral hazard ควรจำกัดอยู่ในเฉพาะสถานการณ์ที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้
7. ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไป สร้างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ และกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
แนวทางดังกล่าวนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่ง ธปท. ก็มีบทบาทในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทย resilient ต่อความท้าทายต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจที่ ธปท. ดำเนินนโยบายรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบการเงิน เพื่อช่วยให้เราหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ด้านสังคม ธปท. มีแนวทางในการพัฒนาระบบการเงินและส่งเสริมความเข้าใจทางการเงินให้ครัวเรือนและธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและความขัดแย้งทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น และด้านสิ่งแวดล้อม ธปท. มีแนวทางที่จะสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น การเปิดเผยข้อมูลเรื่องการดำเนินการด้านความยั่งยืน และการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
"ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานสัมมนาวิชาการประจําปีนี้จะสร้างความตระหนักรู้และจุดประกายความคิดให้พวกเราทุกคนได้เห็นแนวทางปฏิบัติที่จะนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวทิ้งท้าย