ดร.ทองเปลว กองจันทร์

กับการขับเคลื่อน "ระบบอาหารและเกษตรยั่งยืน"

 

 

 

นับเป็นความท้าทายของโลก เพราะขณะที่บางประเทศมีระบบเกษตรกรรมและกระบวนการผลิตอาหารที่ก้าวหน้าอย่างมาก จนทำให้พลเมืองมีอาหารกินจนล้นเหลือ เกิดปัญหาขยะอาหารล้นโลก แต่อีกหลายประเทศยังมีปัญหาขาดแคลนอาหาร และประชากรเป็นโรคขาดสารอาหาร การสร้างความสมดุลและเท่าเทียมในการเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการอย่างเพียงพอกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งขึ้น เมื่อโลกเผชิญหน้ากับวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงปัญหาโรคระบาดโควิด 19 ที่เพิ่มความยากในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร

 

          ประเทศไทย ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรที่สำคัญอันดับต้นของโลก จนได้ชื่อว่าเป็น "ครัวของโลก" จะมีแนวทางพลิกโฉมระบบอาหารของประเทศอย่างไร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารของไทยและของโลก BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาบอกเล่าถึงแนวทางขับเคลื่อนความยั่งยืนให้กับระบบอาหารและเกษตรของประเทศด้วยเกษตรวิถีใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมาย "อิ่มและดี" ขององค์การสหประชาชาติ และสร้างความ "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" สู่ภาคเกษตรไทย

talk

จาก Global Agenda สู่เป้าหมาย "อิ่มและดี"

 

          ดร.ทองเปลวกล่าวว่า "ความมั่นคงทางอาหาร" หมายถึง ความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งช่วงเวลาปกติและยามวิกฤต ซึ่งบริบทของความมั่นคงทางอาหารจะมีความเชื่อมโยงกับความปลอดภัยทางอาหารและความยั่งยืนทางธรรมชาติ

 

          ความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่ประเด็นปัญหาใหม่ของโลก แต่หลายปีที่ผ่านมา ห่วงโซ่อุปทานของระบบอาหารโลกมีปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ องค์การสหประชาชาติ (United Nation : UN) จึงหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญของประชาคมโลก และจัดให้มีการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food System Summit: UNFSS) เมื่อเดือนกันยายน 2564 โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีการจัดประชุมย่อย ทั้งเวทีระดับโลก เวทีระดับประเทศ และเวทีอิสระ เพื่อระดมข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนทั่วโลก

 

          "ระบบอาหาร หมายถึง ปัจจัยและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคอาหาร ตั้งแต่เพาะปลูก เก็บเกี่ยว เลี้ยงสัตว์ แปรรูป บรรจุภัณฑ์ ขนส่ง การตลาด รูปแบบการบริโภค จนถึงการจัดการของเสียในทุกขั้นตอน   ซึ่งหลายปีมานี้ ห่วงโซ่อุปทานระบบอาหารโลกบ่มเพาะปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาทิ การจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพจนกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาหารที่ไม่ปลอดภัย ไม่มีคุณภาพ รวมถึงความไม่สมดุลในการเข้าถึงอาหาร นำมาสู่การระดมสมองของประชาคมโลก หาแนวทางแก้ปัญหาและพลิกโฉมระบบอาหารโลกไปสู่ระบบอาหารที่ดี ยั่งยืน และเป็นธรรม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของ UN ภายในปี 2573"

 

          จากการประชุม UNFSS เป้าหมายของการพัฒนาระบบอาหารโลก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนทางธรรมชาติ ได้แก่ "อิ่มดี  5 ด้าน" เริ่มจาก (1) "อิ่มดีถ้วนหน้า" ทุกคนได้รับอาหารที่ปลอดภัยและมีโภชนาการ (2) "อิ่มดีมีสุข" ทานอาหารมีประโยชน์ในปริมาณที่พอดี (3) "อิ่มดีรักษ์โลก" มีระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  (4) "อิ่มดีทั่วถึง" กระจายรายได้และการพัฒนาอย่างทั่วถึง และ (5) "อิ่มดีทุกเมื่อ" สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและปรับตัวได้กับทุกวิกฤต

 

          "การประชุม UNFSS เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ต่อประชาคมโลก ผ่านถ้อยแถลงของรัฐบาลไทย มีใจความสำคัญว่า "เราจะสนับสนุนและผลักดันความร่วมมือในการพลิกโฉมระบบอาหารโลกให้ยั่งยืนและสมดุลมากขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้โลกใบนี้    ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ 'มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน' ที่เป็นเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตร"

จาก "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" สู่ 5 ยุทธศาสตร์ กษ.

talk

          ดร.ทองเปลวอธิบายว่า ยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตร "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" มีหัวใจสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ ภาคเกษตรมั่นคง เกษตรกรมั่งคั่ง และทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ข้อได้ ภาคเกษตรกรรมและเกษตรกรต้องปรับตัวสู่ "เกษตรวิถีใหม่" ซึ่งนับว่าท้าทายการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)

 

          จากยุทธศาสตร์ชาติ กระทรวงเกษตรฯ กำหนดเป็น 5 ยุทธศาสตร์หลักที่ใช้เป็น "เข็มทิศ" นำทางสู่เกษตรวิถีใหม่ ประกอบด้วย (1) ยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต" (2) ยุทธศาสตร์ "เทคโนโลยีเกษตร 4.0" (3) ยุทธศาสตร์ "3's" (Safety - Security - Sustainability) (4) ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะโมเดล "เกษตร - พาณิชย์ทันสมัย" และ (5) ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา

 

          ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ย้ำว่า ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์เป็นแผนปฏิบัติการด้านความมั่นคงทางอาหาร ระยะที่ 1 (ปี 2563 - 2565) เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการให้คนไทยมีอาหารที่มีคุณภาพในการบริโภคอย่างพอเพียงและยั่งยืน ภายในปี 2570 จาก 5 ยุทธศาสตร์ถูกถอดมาเป็น 15 นโยบายหลักเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นระบบ

 

          "ความมั่นคงทางอาหารจะเกิดไม่ได้ ถ้าขาด 'ผู้ผลิต' ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพ ความเข้มแข็ง และความเป็นอยู่ของเกษตรกร จึงมีส่วนกำหนดทิศทางความมั่นคงทางอาหารของประเทศ โดยในห่วงโซ่อุปทานของระบบอาหาร ผู้ผลิตมีทั้งเกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน สมาคม สถาบัน จนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ กระทรวงเกษตรฯ มีโครงการเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้เกษตรกร รายย่อย เช่น โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มอำนาจต่อรอง และเพิ่มคุณภาพ และโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ที่จัดสรรงบอุดหนุนให้เกษตรกรรวมแปลงได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยและงานวิจัยที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาไปสู่เกษตรวิถีใหม่"

 

          ในเรื่องความยั่งยืน ดร.ทองเปลวมองว่า ความยั่งยืนในระบบอาหารสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ โดย "หัวใจ" สำคัญในการผลักดันความยั่งยืนให้เกิดขึ้น อยู่ที่การบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน และลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการดิน การบริหารจัดการพันธุ์พืช ตลอดจนการทำเกษตรโดยใช้ "ตลาดนำการผลิต"

 

          "กระทรวงเกษตรฯ ยังได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ เพราะอย่างน้อยความพอเพียงที่เกิดขึ้นในครอบครัวและชุมชน จะสร้างความเข้มแข็งและความพอเพียงในชุมชนนั้น ซึ่งหากขยายผลไปในวงกว้าง ย่อมเกื้อกูลไปถึงสังคม นำความมั่นคงทางอาหารมาสู่สังคมนั้น และถ้าผลิตเพื่อการพาณิชย์ ก็ย่อมจะนำความมั่งคั่งสู่สังคมนั้นได้"

 

ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง สร้าง "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"

 

          จากประสบการณ์ทำงานด้านบริหารจัดการน้ำกว่า 30 ปี บวกกับการเติบโตมาในสังคมเกษตร ดร.ทองเปลวยอมรับว่าหนึ่งในความเปราะบางของเกษตรกรรมของไทย คือภาพจำเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย โดยเฉพาะในเกษตรวิถีดั้งเดิม ที่ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ หรือยิ่งทำไป จากเจ้าของที่ดินกลับกลายเป็นผู้เช่า ภาพเหล่านี้มีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจเข้ามาทำเกษตร โอกาสที่จะเกิดการพลิกโฉมระบบเกษตรของไทยด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ของเกษตรกรรุ่นใหม่จึงมีน้อยลง

 

          "ผมเคยถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น จนพบว่าจุดอ่อนของภาคเกษตรไทยในปัจจุบันคือ ในระบบการผลิต เกษตรกรส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 57 ปีขึ้นไป อาจไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ การขับเคลื่อนการผลิตให้มีมาตรฐานและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจึงทำได้ยาก แต่น่ายินดีที่ปัจจุบันมี 'smart farmer' หรือเกษตรกรที่มีความเป็นปราชญ์อยู่กว่า 1 ล้านคน จากเกษตรกรทั้งหมด 24 ล้านคน ซึ่งต้องรักษากลุ่มนี้ไว้ ควบคู่กับสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ 'young Smart Farmer' เข้ามาทดแทน ซึ่งตอนนี้สร้างไว้แล้วราว 20,000 - 30,000 คน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังให้ทุนเรียนฟรี และมีโครงการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่และสตาร์ทอัปด้านการเกษตร (AgriTech)"

 

          อีกจุดอ่อนสำคัญในระบบเกษตรกรรมไทย คือ ปัญหาเรื่องทุน ตั้งแต่เงินลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญหาสูญเสียที่ดินทำกิน โดยมีหลายแนวทางแก้ปัญหาที่รัฐบาลนำมาช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดินรกร้างให้เกษตรกร หรือการจัดตั้ง "กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร" เพื่อซื้อที่ดินที่เกษตรกรนำไปจำนองกลับมาให้เกษตรกรผ่อนคืนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องนำที่ดินที่ถือครองมาทำเกษตรแบบวิถีใหม่ นอกจากนี้ ยังมี "กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร" ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเงินทุนหมุนเวียนในการทำเกษตร เป็นต้น

 

          ระบบเกษตรกรรมของไทยไม่ได้มีแต่จุดอ่อน ปลัดกระทรวงเกษตรฯ มองว่า จุดแข็งสำคัญของประเทศไทยคือ การมี "ภูมิยุทธศาสตร์" ที่เหมาะสมในการทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุ์พืช นอกจากนี้ ภาคการเกษตรไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีค่าและเป็นอัตลักษณ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทำให้สินค้าเกษตรของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่ทั้งนี้ จุดแข็งเหล่านี้จะอยู่คู่เกษตรกรรมไทยอย่างยั่งยืนได้ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีและเป็นระบบในการสืบสานและต่อยอด

 

          "อีกจุดแข็งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงคือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในภาคเกษตร ทำให้ประเทศไทยและสังคมไทยมีภูมิคุ้มกันตัวเอง โดยภาคเกษตรในช่วงวิกฤตโควิด 19 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดเจน ภาคเกษตรได้รับผลกระทบน้อยมาก และแรงงานในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบยังสามารถถ่ายเทมาสู่ภาคเกษตรได้ ขณะที่เกษตรกรที่ทำเกษตรวิถีใหม่หลายคนสามารถเลี้ยงชีวิตและครอบครัวได้ นี่คือภูมิคุ้มกันของสังคมไทย และเพื่อให้จุดแข็งนี้ยังอยู่คู่สังคมไทย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้น้อมนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา"

 

 

วางรากฐานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อรับมือ "ความปกติใหม่"

talk

          ดร.ทองเปลวกล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนภาคเกษตรไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในเรื่องความมั่นคงของระบบอาหารและเกษตรกรรมไทย ต้องอาศัยการบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์น้ำ ฯลฯ ตลอดจนยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯ เข้าด้วยกัน เพื่อวางรากฐานและโครงสร้างเกษตรกรรมไทยไปสู่ระบบเกษตรวิถีใหม่ พร้อมกับเสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมของเกษตรกรไทย ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อรับมือกับความปกติใหม่

 

          โดยกุญแจสู่ความสำเร็จคือ การทำงานอย่างเป็นเอกภาพและการทำงานแบบบูรณาการของ "คน กษ." โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือแบบบูรณาการกับหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอกกระทรวง"หัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันได้ ต้องเริ่มจากความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง และการคิดใหม่ทำใหม่ ผมเคยสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดในกรมชลประทานมาแล้ว ก็ได้นำเอาแนวคิดนั้นมาใช้กับบ้านหลังนี้ด้วย เช่น ผมแต่งเพลงของกระทรวงชื่อ 'เกษตรวิถีใหม่' ที่รวบรวมแนวทางการทำงานและนโยบายของกระทรวง หรือทุกวันพุธให้ใส่เสื้อสีเขียวของกระทรวง สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบ่มเพาะความเป็นหนึ่งเดียวกันได้

 

          "แต่เหนือสิ่งอื่นใด คงต้องกลับมาดูว่าบ้านมีความมั่นคงอย่างเหมาะสมสำหรับคนในบ้านแล้วหรือยัง นั่นคือการสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับคนทำงาน ให้เขามีเส้นทางอาชีพที่เจริญก้าวหน้าได้ และการวางรากฐานในการทำงานและสร้างศักยภาพให้กับคน กษ. โดยเฉพาะการทำงานเชิงบูรณาการเพื่อรองรับความปกติใหม่ เช่น จากที่เคยผลิตไปโดยไม่รู้เลยว่าความต้องการของตลาดคืออะไร จนผลผลิตล้นตลาด ก็ต้องแก้ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ใช้ 'ตลาดนำการผลิต' ตลาดต้องการผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแบบไหน เมื่อไหร่ จำนวนเท่าไร ฯลฯ จากนั้นจึงมาวางแผนการเพาะปลูก นี่คือตัวอย่างวิถีการทำงานบนความปกติใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ"

 

          ดร.ทองเปลวทิ้งท้ายว่า หลักสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในภาคเกษตรไทย คือการทำงานแบบบูรณาการ แต่หลักที่สำคัญที่สุดคือ คนทำงานต้องมีความเข้าใจภาคเกษตรไทยเพื่อตีโจทย์ให้แตก ซึ่งท่านตั้งปณิธานไว้แล้วว่า เวลาอีก 1 ปีก่อนเกษียณอายุราชการ จะทุ่มเทให้กับการสร้างรากฐานสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้เกิดขึ้นในภาคเกษตรไทย