แปลง "ขยะ" ให้มีมูลค่า ด้วยแนวคิดของธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
"สร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะได้" หนึ่งในแบรนด์ที่ชูแนวคิดนี้ได้อย่างชัดเจนคือ "ควอลี่ (Qualy)" แบรนด์ไทยที่นำเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมมาเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ จนสามารถส่งออกไปได้ถึง 50 ประเทศทั่วโลก
จานรองแก้วเต่าทะเล เซตแม่เหล็กติดตู้เย็นนานาสัตว์ทะเล ที่ตักข้าวทรงกระต่าย กล่องกระดาษชำระรูปวาฬ ฯลฯ ของใช้กระจุกกระจิกที่มีความตะมุตะมิ ย่อมทำให้ใครที่ผ่านมาเจอในพื้นที่ดิสเพลย์อดไม่ได้ที่จะหยุดชมความน่ารัก จนต้องหยิบจับซื้อหากลับบ้านอย่างน้อยสักชิ้นสองชิ้น
ในมุมมองของลูกค้า มันอาจเป็นเพียงของอย่างหนึ่งที่ใช้งานก็ได้ ตั้งโชว์ก็เก๋ แต่เบื้องหลังคือเรื่องราวของควอลี่ แบรนด์ผลิตภัณฑ์ของใช้และของตกแต่งบ้านที่จับประเด็นขยะพลาสติกและสิ่งแวดล้อมมาใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์ เพื่อบอกเล่าถึงจุดยืนในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่ผู้บริโภคเองได้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
เมื่อเปิดประตูไปสู่ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์อีกชั้น ก็พบว่าบุคคลที่ชุบภาพลักษณ์วัสดุพลาสติกให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ามากขึ้น ก็คือคุณไจ๋ - ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้เป็นทั้งผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ (Design Director) และผู้ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนแบรนด์ไปสู่เป้าหมายสำคัญคือความยั่งยืนทั้งของแบรนด์และสิ่งแวดล้อม
แรงบันดาลใจของการก่อตั้งควอลี่มาจากการนำความคิดสร้างสรรค์มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการออกแบบที่มีความแปลกใหม่ ซึ่งขณะนั้นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันนี้ยังมีอยู่น้อยในตลาด และส่วนใหญ่ก็เป็นชิ้นงานพลาสติกที่มีราคาถูก
"ผมเรียนจบมาทางด้านการออกแบบอุตสาหกรรม ก็มองเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญ มันช่วยเพิ่มมูลค่าได้ และพื้นฐานธุรกิจเราคือโรงงาน OEM ผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ทำให้ผลิตภัณฑ์ควอลี่ทำจากพลาสติกเป็นหลัก แต่เน้นเกรดคุณภาพ เพิ่มความหนาขึ้นอีก 50% เพื่อเพิ่มความแข็งแรงต่างจากตลาดทั่วไป"
ในช่วงแรกประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่ได้พูดถึงกันมากนัก ทำให้ควอลี่ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่นเรื่องคุณภาพพลาสติก และดีไซน์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน แล้วค่อย ๆ ปรับตัวตามเทรนด์ จนกลายมาเป็นแบรนด์ที่ใช้วัสดุรีไซเคิลและดำเนินธุรกิจภายใต้ 3 ปรัชญาหลัก คือ ความคิดสร้างสรรค์ ความสุข และความยั่งยืน
"ควอลี่มีการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคและชุมชน เพื่อให้เกิดสภาพสังคมที่มีความสุข เราพยายามสร้างอิมแพ็กเชิงบวก เพราะตระหนักดีว่าเรายังต้องใช้ทรัพยากรร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จึงต้องดูแลมันให้ดี"
คุณธีรชัยตระหนักดีว่าควอลี่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าพลาสติกคือผู้ร้ายทำลายโลก จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขมากกว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา โดยพยายามหาคำตอบในเรื่องความยั่งยืนด้วยการนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประสานกับ SDGs (Sustainable Development Goals) ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนออกมาทั้งหมด 17 ข้อ แล้วแปลงมาเป็นหลักการออกแบบหมุนเวียน (circular design) 3 ข้อด้วยกันคือ (1) การนำขยะให้วนกลับมาใช้ใหม่ได้ (2) การออกแบบต้องเป็นลักษณะอัปไซเคิล ซึ่งช่วยทำให้การกลับมาของวัสดุรีไซเคิลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และ (3) ต้องหมุนเวียนกลับมาได้ในแง่ที่ว่าเมื่อวันหนึ่งหมดอายุการใช้งานไปแล้ว ต้องวนกลับมาเป็นวัสดุรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ ในแง่การขาย ก็ต้องมีเรื่องราวรองรับเพื่อให้เกิดความน่าสนใจและเพื่อให้เกิดอิมแพ็กที่มากไปกว่าน้ำหนักของขยะที่นำมาใช้
แล้วบทสนทนาก็มาถึงประเด็นสำคัญที่ว่า "ขยะ" ที่ควอลี่นำมาใช้นั้นมาจากไหน ซึ่งคุณธีรชัยกล่าวยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่มาก เพราะด้วยกำลังของบริษัทคงไม่สามารถออกไปตั้งจุดรับขยะให้คนนำมาทิ้งแล้วเก็บล้าง ควอลี่จึงเลือกใช้วิธีมองหาพาร์ตเนอร์ที่ทำเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นองค์กรธุรกิจและการทำงานร่วมกับมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) ที่จัดทำโครงการทะเลปลอดอวน (Net Free Seas) ผ่านการรับซื้อขยะจำพวกเศษแห อวน ที่ทางโครงการเก็บรวบรวมมาได้ ด้วยวิธีการนี้นอกจากทำให้ระบบนิเวศมีความปลอดภัยกับสัตว์ทะเลมากขึ้น และบริษัทได้วัสดุมาใช้ ก็ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้และมีแรงจูงใจในการกู้ซากอวนต่อไปด้วย
"ในแง่กระบวนการแปลงวัสดุจากแหเส้นเล็ก ๆ มาเป็นเม็ดเพื่อใช้ตั้งต้นในการผลิต ความจริงแล้วมันมีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่าย เราไม่ได้กำไรในแง่ของวัสดุ แต่การรับซื้อของเราทำให้ชาวประมงมีรายได้ สิ่งแวดล้อมและสังคมได้รับประโยชน์ จึงเป็นแนวทางในการจัดหาวัสดุของเราว่าควรเป็นทำนองนี้"
นอกจากนี้ คุณธีรชัยยังมองไปถึงวัสดุอื่นที่รีไซเคิลได้อีกมากมาย โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหารดิลิเวอรีซึ่งมีอยู่เกลื่อนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ควอลี่จึงได้จัดทำโครงการถาวรในการเปิดรับบริจาคโดยมอบสิ่งตอบแทนเป็นส่วนลด 20 บาทต่อหนึ่งกิโลกรัมเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ของควอลี่ ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยมีปริมาณที่ได้รับมาอยู่ในหลักหลายร้อยกิโลกรัม และยังทำให้ควอลี่ได้เชื่อมต่อกับผู้บริโภคโดยตรง
นับจากวันแรกที่ได้ก้าวข้ามธุรกิจ OEM ดั้งเดิมของครอบครัวมาสู่การมีผลิตภัณฑ์ควอลี่เมื่อปี 2547 ซึ่งทุกคนไม่เคยมีประสบการณ์การทำแบรนด์ของตัวเองมาก่อน แต่ด้วยการมองเห็นโอกาส ดีไซน์ที่โดดเด่น พร้อมการสนับสนุนจากครอบครัวที่เปิดโอกาสให้คุณธีรชัยได้ลองทำเพื่อให้ "ประสบการณ์" เป็น "ใบปริญญา" แทนการเรียนต่อหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 16 ปีผ่านไปเงินลงทุนที่ใช้ไปกับควอลี่แทนค่าเล่าเรียนระดับปริญญาโทเมืองนอกครั้งนั้น ได้ผลิดอกออกผลเป็นรายได้หลักร้อยล้านบาทในวันนี้ และยังส่งออกผลิตภัณฑ์ไปได้กว่า 50 ประเทศทั่วโลก แถมมีรางวัลทางด้านการออกแบบสร้างสรรค์การันตีผลงานอีกมากมาย
"ความสำเร็จในวันนี้เกิดจากดวง" คุณธีรชัยกล่าวอย่างถ่อมตนก่อนขยายความว่า ดวงคือจังหวะและโอกาส "มันเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องพร้อมสำหรับจังหวะและโอกาสที่เข้ามา อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ทำตอนนี้ วันหนึ่งก็ต้องถูกบังคับให้ทำ สิ่งที่เราทำวันนี้คือการทำเชิงรุก มันอาจไม่ได้เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ชัดเจน แต่ลุยไปก่อนแล้วปรับตัว ผิดก็แก้ ไม่ทำอะไรเกินตัว และการมีพาร์ตเนอร์ให้ความช่วยเหลือก็ทำให้เราทำเรื่องที่ใหญ่กว่าตัวเราได้ ความสำเร็จจากเราจึงเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่ง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่รอบ ๆ ก็ไปได้ยาก"
คุณธีรชัยกล่าวต่อไปว่า การทำธุรกิจที่ต้องใช้พลาสติกทุกวันนี้ต้องพยายามอย่างยิ่งในการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ เพราะภาวะโลกร้อนส่งผลต่อการดำเนินนโยบายและการวางมาตรการทางการค้าในประเทศต่าง ๆ ที่เข้มข้นขึ้น สังคมมีการต่อต้านการนำเข้าขยะพลาสติก ซึ่งหากวันหนึ่งถึงจุดห้ามนำเข้าโดยยังไม่มีระบบการดูแลที่ดี ขยะก็จะมีราคาแพงขึ้นและส่งผลสั่นสะเทือนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ธุรกิจจึงต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับการปรับตัว
"สิ่งหนึ่งที่ควอลี่ทำคือการเปิดเผยในเรื่องที่เราทำ พยายามเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ดีพอให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะประเด็นความยั่งยืนเป็นเรื่องของชีวิต ผมอยากเห็นคนในอุตสาหกรรมนี้ทำเรื่องความยั่งยืนกันเยอะ ๆ โดยไม่ต้องมีคำว่า รุ่น 'limited' พ่วงท้าย และเมื่องานดีไซน์เรามีมุมมองเชิงบวก ก็จะเล่าเรื่องพวกนี้ออกมาในโทนไม่เครียดจนเกินไป ทำให้เป็นจุดหนึ่งที่เราแตกต่าง นอกจากนี้ ด้วยความที่องค์กรเรามีทั้งแผนกดีไซน์ มีโรงงาน มีฝ่ายขายของเราเอง ก็ทำให้เกิดความยืดหยุ่น คล่องตัว สามารถปรับตัวได้เร็ว และการปรับตัวเร็วก็สำคัญมากกับการทำธุรกิจในยุคนี้"
ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังมีไม่มากนักซึ่งคุณธีรชัยก็แสดงทัศนะว่าตัวเขาไม่เคยมองใครเป็นคู่แข่ง แต่มองเป็นพาร์ตเนอร์ที่มาร่วมกันทำสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม แล้วช่วยกันสร้างกลุ่มให้ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ
"ในมุมธุรกิจ เราควรทำเค้กให้เป็นก้อนที่ใหญ่ขึ้นมากกว่ามีเค้กก้อนเล็ก ๆ แล้วมาแย่งกัน ส่วนในแง่ความยั่งยืน มันจะยั่งยืนได้อย่างไรถ้ามีบริษัทเดียวที่ประสบความสำเร็จ ความยั่งยืนต้องเกิดจากทุกฝ่าย ต้องมั่งคั่งไปด้วยกัน โดยนิยามความมั่งคั่งในวันนี้ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว เรื่องของความยั่งยืนก็ไม่ได้มีแค่สิ่งแวดล้อมเรื่องเดียว ผู้ที่สนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับความยั่งยืนอาจเริ่มต้นไปศึกษาดูว่าใน 17 ข้อของ SDGs มีข้อไหนที่ตรงกับความสนใจของเรา แล้วเอาอินเนอร์นั้นมาช่วยกันขับเคลื่อนในมุมใดก็ได้"
พร้อมกันนี้ คุณธีรชัยยังทิ้งท้ายมาถึงผู้ประกอบการในสถานการณ์โควิด 19 ด้วยว่า แทนที่จะปรับตัวโดยมุ่งประเด็นเอาตัวให้รอด ให้ลองตั้งคำถามว่าในสถานการณ์เช่นนี้ เราทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ซึ่งมาจากการนำประสบการณ์ที่เขาได้ถามคำถามนี้กับตัวเอง จนมีการทำอุปกรณ์อย่าง แท่งกดปุ่มทัชสกรีนและสเปรย์ฉีด หน้ากากคลุมหน้าพร้อมที่คาดซึ่งเปลี่ยนเป็นโบคาดผมได้ ที่เก็บหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นที่เกี่ยวสายคาดด้วยในตัว จนกลายเป็นผลลัพธ์ทางธุรกิจที่มีบริษัทซื้อไปเพื่อแจกให้พนักงานหรือเป็นของขวัญในวาระต่าง ๆ
"แทนที่จะรอประกาศแนวทางต่าง ๆ จากภาครัฐ ลองเปลี่ยนกรอบความคิดมาเป็นเชิงรุกบ้างดีไหม ลองเปลี่ยนวิธีคิดดูไหมว่าผู้คนต้องการอะไรบ้าง แล้วเราจะมีไอเดียอะไรที่ทำออกไปช่วยสังคมได้"