ธปท. จัดทัพขับเคลื่อนแนวคิดความยั่งยืน

 

 

 

ธปท. จัดทัพขับเคลื่อนแนวคิดความยั่งยืน
The Knowledge

ปัจจุบัน แนวคิดเรื่อง sustainability หรือความยั่งยืน เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรหันมาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนจะเป็นเสมือนต้นทางที่จะส่งต่อผลดีด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาวไปยังระบบนิเวศโดยรวมและตัวธุรกิจเองด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล็งเห็นความสำคัญของแนวคิดนี้ ในฐานะหน่วยงานกำกับ ธปท. จึงพยายามผลักดันแนวคิดนี้ไปยังภาคการเงินการธนาคาร รวมถึงนำมาปรับใช้ภายในองค์กรอีกด้วย BOT People ฉบับนี้ จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักตัวแทนทีมความยั่งยืนของ ธปท.

 

ทัพหน้าผลักดันความยั่งยืนสู่ภาคการเงิน

 

          ในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงแต่ผลกำไรนั้นไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ความคาดหวังของภาคส่วนต่าง ๆ อีกต่อไป ประชาชน ผู้ใช้บริการ และนักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่นหากธุรกิจไม่คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งขาดธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) นอกจากนี้ ด้วยประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะนำมาซึ่งผลกระทบรุนแรงต่อธรรมชาติและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลภาคการเงินทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

 

          คุณปิยะวรรณ เข็มทองประดิษฐ์ ตัวแทนทีม Sustainable Banking ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงินเล่าว่า "จากสาเหตุทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งทีมการธนาคารเพื่อความยั่งยืนหรือ Sustainable Banking ของ ธปท. ในช่วงต้นปี 2562 เพื่อรับผิดชอบการเป็นหน้าด่านและศูนย์กลางการผลักดันประเด็นด้าน ESG โดยเฉพาะเรื่อง climate change ให้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำธุรกิจของสถาบันการเงินไทย" 

The Knowledge

เนื่องจากหลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (sustainable banking) ที่ครอบคลุมประเด็น ESG โดยเฉพาะในมิติสิ่งแวดล้อมและ climate change เป็นเรื่องใหม่ที่ภาคการเงินรวมถึง ธปท. เองก็ยังไม่คุ้นเคย การขับเคลื่อนกรอบ ESG ในองค์รวมจึงจำเป็นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการวางรากฐานที่เข้มแข็ง โดยแผนงานของทีมที่มุ่งเน้นในช่วงแรก คือการสร้างความตระหนักและองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยได้สื่อสารกับสถาบันการเงินและพนักงานภายใน ธปท. ผ่านการจัดงานสัมมนาและเวิร์กช็อป เช่น งาน Bangkok Sustainable Banking Forum ซึ่งได้ช่วยสร้างแรงผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการเงินเริ่มดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และได้นำไปสู่การที่สมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารนานาชาติร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines – Responsible Lending) ซึ่งถือเป็นกรอบการผนวกประเด็น ESG ในทุกกระบวนการให้สินเชื่อที่สำคัญ

 

          "ที่ผ่านมา เราได้เห็นความตั้งใจและการดำเนินการในเรื่องนี้ของธนาคารพาณิชย์มาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อยกระดับการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น ในปัจจุบัน ธปท. ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยควบคู่ที่ขาดไม่ได้ คือการมีสภาพแวดล้อมหรือ ecosystem ที่จะช่วยพัฒนาความรู้เชิงเทคนิคและสนับสนุนการปฏิบัติจริง แผนงานของทีมในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นการพัฒนามาตรฐานและเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากประเด็น ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและ climate change ซึ่งมีตัวอย่างสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดี เรื่องการผนวกปัจจัยด้านความยั่งยืนเข้าไปในทุกกระบวนการของธุรกิจการธนาคาร รวมถึงการพัฒนานิยามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ green taxonomy ให้ระบบสถาบันการเงินไทยใช้อ้างอิงเพื่อจัดสรรเงินทุนได้อย่างสอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ต่อมาคือการศึกษาและพัฒนา Climate Scenario Analysis และ Stress Test สำหรับการประเมินความเสี่ยงจาก climate change ต่อพอร์ตโฟลิโอของระบบธนาคารพาณิชย์ และสุดท้ายคือการพัฒนามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงินในมิติ ESG และ climate change ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อช่วยสร้าง data environment ให้ประชาชน นักลงทุน รวมถึงผู้กำกับดูแลเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้   

 

          "เนื่องจากกรอบประเด็นด้านความยั่งยืนเป็นแนวคิดที่กว้างและยังเป็นความรู้ใหม่ที่ยังต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบกับความท้าทายในขั้นตอนการผลักดันให้เกิดการนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ส่วนงานภายใน ธปท. ไปจนถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแนวปฏิบัติต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นด้าน climate change ของภาคการเงินยังอยู่ในช่วงการศึกษาและลองผิดลองถูกไม่เว้นแม้แต่ในระดับสากลโลก จึงต้องมีการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ดี ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและ climate change เป็นหนึ่งในประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ รวมถึงเป็นวาระที่ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทีมงานจึงมีความภูมิใจที่เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับภาคสถาบันการเงินไทย รวมถึงการดำเนินการด้านความยั่งยืนในระดับประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยตรง"

 

ทัพหลังดูแลการบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใน ธปท.

 

          ธปท. มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ และสำนักงานสาขากระจายอยู่ตามภูมิภาค  นับว่าเป็นครอบครัวที่ใหญ่มาก ถ้าอยากให้คนในครอบครัวรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน เกิดความตระหนักรู้ และมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า จึงไม่สามารถหยุดอยู่แค่การสื่อสารประชาสัมพันธ์ แต่ต้องมองหาต้นแบบที่สามารถเดินตาม และหาวิธีผลักดันให้สมาชิกในครอบครัวทำตาม นี่คือโจทย์ที่ท้าทายสำหรับฝ่ายธุรการและบริหารอาคาร

The Knowledge

คุณกฤศกร อนันตวุฒิกุลและคุณนิรมล หลีกอธรรม ตัวแทนจากฝ่ายธุรการและบริหารอาคารเล่าว่า "ฝ่ายงานมีภารกิจเสมือนพ่อบ้านแม่บ้านในบ้านหลังใหญ่แห่งนี้ ให้ความสะดวกแก่ทุกฝ่ายงานเพื่อสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ ของ ธปท. และยังต้องบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใน ธปท. อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กฎหมาย ข้อกำหนด และมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องรักษาความสมดุลทั้งด้านรักษ์สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของพนักงานไปพร้อม ๆ กัน

 

          "จากการติดตามสถานการณ์ภาวะโลกร้อนก็พบว่า มีหลายโครงการที่จะช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมได้เป็น 'ต้นแบบที่เหมาะสมกับเรา' ที่สามารถนำมาปรับใช้ภายใน ธปท. ด้านต่าง ๆ อาทิ การจัดการพลังงานและทรัพยากร ธปท. มีการบริหารจัดการระบบการจัดการพลังงานตั้งแต่ปี 2538 ให้สอดคล้องกับกฎหมาย และในปี 2557 ก็นำมาตรการลดการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มจากการทยอยเปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED จนครบทุกอาคาร และมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนซึ่งสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้จากเดิมเฉลี่ยถึง 50% นอกจากนี้ ยังมีการลดการใช้พลังงานจากการเปลี่ยนเครื่องทำน้ำเย็นในระบบปรับอากาศให้มีสมรรถนะสูงขึ้น ในด้านน้ำประปาก็มีการเลือกใช้อุปกรณ์และสุขภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำ และมีการนำน้ำที่เหลือทิ้งจากระบบปรับอากาศ (backwash) มารดน้ำต้นไม้ต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด"

talk

ในด้านการจัดการของเสีย ธปท. ได้ตระหนักถึงปัญหาการจัดการของเสียที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยใช้หลักแนวคิด 3Rs คือ Reduce Reuse Recycle เน้นความมีส่วนร่วมของพนักงาน เพื่อให้เกิดการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง อาทิ ยกเลิกการใช้ภาชนะโฟมและถุงพลาสติก เพื่อลดมลภาวะที่เกิดจากวัสดุที่ไม่ย่อยสลาย รณรงค์การใช้ถุงผ้า กล่องบรรจุอาหารและแก้วส่วนตัว แทนพลาสติก และยังมีการแยกขยะเพื่อส่งต่อไปรีไซเคิล สำหรับขยะอินทรีย์จากเศษอาหาร กิ่งไม้ ใบไม้ จะนำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในงานดูแลต้นไม้และงานทำความสะอาดใน ธปท.\

 

          นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นการกำจัดขยะแบบครบวงจร ธปท. ยังได้หาพันธมิตรเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอก เพื่อนำเศษพลาสติกด้อยค่าไปแปรรูป คือ วิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี ซึ่งได้รางวัลสุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน จากรายการ Win Win War Thailand โดยทำ MOU ร่วมกันในโครงการ "Recycle ขยะพลาสติกและขยะไร้ค่าอื่น ๆ ให้กลับมาเป็นพลังงานและวัสดุใช้งานใหม่" เช่น นำพลาสติกไปหลอมเป็นน้ำมันเกรดต่ำเพื่อใช้ในเครื่องยนต์การเกษตร และเผาศพ นำกล่องนมและกล่องน้ำผลไม้ ไปทำเป็นกระเบื้องหลังคา และแผ่นปูพื้นในสวน นำโฟมและถุงอลูมิเนียมฟอยล์ไปทำเป็นหินเทียม

talk

คุณกฤศกรและคุณนิรมลยังทิ้งท้ายว่า "การที่จะผลักดันให้คนในบ้านหลังนี้มีความรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องมีผู้นำเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนให้กับพนักงาน ส่งผลให้พนักงานเกิดความตระหนัก มีส่วนร่วม และให้ความร่วมมือในการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกัน เราก็ยังคงต้องสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่า โครงการต่าง ๆ ที่ตั้งต้นขึ้น จะเป็นการจุดประกายความคิดให้ทุกท่านใน ธปท. เล็งเห็นความสำคัญของการรักษ์สิ่งแวดล้อม และแผ่ขยายไปถึงครอบครัวพนักงาน ชุมชน ท้องถิ่น ให้มีความตระหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มี green mindset ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทุกที่ทุกเวลา ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นให้องค์กร ประเทศ และโลก เป็นสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง"

talk