วรวัฒน์ สภาวสุ Trash Hero กับปฏิบัติการเปลี่ยนโลกด้วยสองมือ

วรวัฒน์ สภาวสุ Trash Hero กับปฏิบัติการเปลี่ยนโลกด้วยสองมือ

talk

เมื่อสภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมมาถึงจุดวิกฤตที่หลายคนไม่อาจนิ่งดูดาย Trash Hero คือหนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครที่ออกปฏิบัติการเก็บขยะ ด้วยพลังเล็ก ๆ ที่หวังจะคืนความงดงามให้กับโลกใบนี้

 

          Trash Hero จัดตั้งขึ้นด้วยจิตมุ่งมั่นในการร่วมด้วยช่วยกันทำสิ่งเล็ก ๆ นั่นคือการเก็บขยะตามชายหาดที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ช่วงวันพ่อในเดือนธันวาคม 2556 โดยเป็นการรวมตัวระหว่างอาสาสมัครคนไทยและชาวต่างชาติ แต่จุดเริ่มต้นในครั้งนั้นได้ก่อเกิดพลังร่วมจนขยายตัวสู่ระดับโลกจากการจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ภายใต้ชื่อ Trash Hero World ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีเครือข่ายรวมกันกว่า 160 พื้นที่ใน 20 ประเทศทั่วโลก สามารถจัดเก็บขยะได้กว่า 2 ล้านกิโลกรัม ด้วยจำนวนอาสาสมัคร 391,791 คน1

 

          ขบวนการ Trash Hero เชื่อมโยงชุมชนทั่วโลกด้วยแนวคิด "We Clean. We Educate. We Change." ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือความกระตือรือร้นในการลงมือทำบางอย่างเกี่ยวกับวิกฤตขยะในพื้นที่ของตัวเอง สำหรับประเทศไทยมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศกว่า 30 พื้นที่ โดย Trash Hero Bangkok มีคุณบิ๊บ - วรวัฒน์ สภาวสุ หนึ่งในแกนนำคนสำคัญ ที่ได้ให้เกียรติมาบอกเล่าถึงการดำเนินกิจกรรม และมุมมองต่อการจัดการขยะในประเทศไทย

talk

ปลุกพลังเปลี่ยนโลก

 

          จุดเริ่มต้น Trash Hero Bangkok ของคุณวรวัฒน์มาจากการไปเรียนดำน้ำที่เกาะเต่าเมื่อ 7 - 8 ปีก่อน แล้วเห็นชาวต่างชาติเดินเก็บขยะตามชายหาด ทำให้ฉุกคิดว่าเราในฐานะคนไทยน่าจะทำอะไรได้บ้าง จึงเริ่มเข้าร่วมเก็บขยะไปพร้อม ๆ กับศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับขยะและสิ่งแวดล้อม กระทั่งได้เห็นกระติกน้ำที่มีโลโก้ Trash Hero ในร้านค้าแห่งหนึ่ง จึงได้เข้ามารู้จักและร่วมกิจกรรมกับ Trash Hero Bangkok เท่าที่โอกาสจะอำนวย

 

          "ก่อนเข้าร่วม Trash Hero เมื่อ 3 - 4 ปีที่แล้ว ผมไปเรียนดำน้ำที่บาหลีแล้วเห็นขยะพลาสติกปะปนอยู่กับปะการังก็รู้สึกสลดใจมาก และยังพบว่าไทยติดอันดับประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก การมีขยะในทะเลจำนวนมากไม่ได้ทำลายประเทศเราอย่างเดียวแต่ทำลายโลกใต้ทะเลไปด้วย เลยรู้สึกต้องลุยแล้ว ผมต้องทำเรื่องเก็บขยะให้มันจุดติดให้ได้"

 

          จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คุณวรวัฒน์เข้ามามีบทบาทใน Trash Hero Bangkok จริงจังมากขึ้นคือคราวที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะแถวบ้านในย่านพระรามเก้า แล้วพบว่าเจ้าของกิจกรรมเป็นเพียงนักศึกษาฝึกงานชาวอเมริกันคนหนึ่งที่นัดหมายอาสาสมัครมาช่วยกันเก็บขยะก่อนจะเดินทางกลับประเทศในวันรุ่งขึ้น

 

          "เขาเป็นนักศึกษาต่างชาติ แต่ก่อนกลับประเทศยังมีใจทำกิจกรรม มีมากันแค่ 10 คน เดินถือถุงกันคนละใบ จบแล้วแยกย้าย เออมันง่ายกว่าที่เราคิด เขามาเมืองไทยแค่ 2 เดือนยังทำได้เลย เราอยู่ที่นี่รู้จักคนมากกว่าเขา เราเองก็ต้องทำได้"

 

          คุณวรวัฒน์เล่าว่า ตั้งแต่เป็นส่วนหนึ่งของ Trash Hero นอกจากลงพื้นที่เก็บขยะร่วมกับอาสาสมัครมากมาย ยังได้ร่วมเก็บขยะกับคนดังที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อย่างการเก็บขยะบนชายหาดกับ โตโน่ - ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ในโครงการ "เก็บรักษ์" และร่วมพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยากับ ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย

 

          "ทำแล้วรู้สึกว่าอิมแพ็กจากสิ่งที่เราทำ มันส่งพลังไปสู่คนอื่นได้ อย่างโตโน่ก็ติดต่อเข้ามาเอง แล้วมีอะไรคล้าย ๆ แบบนี้อีกจนรู้สึกว่ามันไปได้ไกลมากกว่าที่คิด แค่เริ่มที่ตัวเรา ลงมือทำ ก็ต่อยอดไปได้เอง"

 

          แม้จะมีใจเกินร้อยมากแค่ไหน แต่คุณวรวัฒน์ก็ยอมรับว่ามีช่วงหนึ่งที่อยากพัก จึงไปเป็นอาสาสมัครเลี้ยงพะยูน "มาเรียม" อยู่ 10 วัน แต่ในระยะเวลาสั้น ๆ นั้น ได้สร้างความเจ็บปวดให้กับตัวเขาอย่างมาก เมื่อพบว่ามาเรียมได้จากโลกนี้ไปเพราะขยะพลาสติกที่อยู่ในท้อง จึงเกิดพลังขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะกับกิจกรรมที่คุ้งบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ในปี 2562 ที่นอกจากจะมีอาสาสมัครเข้าร่วม 200 คนแล้วก็ยังเก็บขยะได้กว่า 1 ตันในเวลาแค่ 1 ชั่วโมง

talk

ปลายทางที่ทับถม

 

          จากข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า สุขภาพของทะเลไทยนับว่าอยู่ในขั้นโคม่า เพราะติดอันดับ 6 เรื่องการปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดในโลก โดยเมื่อปี 2563 มีซากขยะลอยติดอวนเฉลี่ย 25,741 ชิ้นต่อวัน น้ำหนักรวม 398 กิโลกรัมต่อวัน คิดเป็น 9,395,465 ชิ้นหรือเทียบเท่า 145 ตันต่อปี และขยะที่พบมากที่สุดคือพลาสติกแผ่นบาง คิดเป็น 62% ของขยะทั้งหมด รองลงมาคือพลาสติกแข็ง 15% วัสดุผ้าและไฟเบอร์ 10%2

 

          ในปีนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด 19 ที่ทำให้การจัดกิจกรรมต้องหยุดชะงักไป คุณวรวัฒน์บอกว่า หลังคลายล็อกดาวน์เขามีโอกาสไปเก็บขยะที่ระยองพบว่า นอกเหนือจากขยะพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ดิลิเวอรี ก็มีขยะหน้ากากอนามัยและถุงมือยางปรากฏให้เห็นแล้ว ขณะเดียวกันปัญหาขยะในประเทศไทยยังถูกซ้ำเติมด้วยการนำเข้าขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ที่หลังจากรัฐบาลจีนสั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ขยะเหล่านี้ก็ได้เปลี่ยนเส้นทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

          "โควิด 19 ทำให้เกิดปัญหาขยะติดเชื้อ แต่ที่แย่ยิ่งกว่าคือการนำเข้าขยะระหว่างประเทศที่กระจายมาอยู่แถวอาเซียน จนทำให้ขยะในบ้านเราสูงขึ้นไปไม่รู้กี่เท่า ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นถังขยะของโลกแล้ว น่าเศร้ามากที่เราทำอะไรไม่ได้"

talk

Trash Hero สู่ Zero Waste

 

          แม้จะเป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้า แต่หนึ่งในแกนนำ Trash Hero Bangkok ผู้นี้ ยังมีมุมมองเชิงบวกที่พอจะเป็นความหวังในการจัดการขยะ นั่นคือการรวมกลุ่มทำกิจกรรมกับ Trash Hero

 

          "ไม่ว่าใครก็เข้ามาเป็น Trash Hero ได้ เพราะเราไม่มีพิธีรีตองอะไร แค่ 'Just show up. No sign up' รู้ว่าจะมีการเดินเก็บขยะที่ไหนก็มาร่วมลุยกันได้เลย เราเตรียมถุงมือ เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม"

 

          สำหรับเส้นทางของขยะที่เก็บได้จะไปที่ใดต่อนั้น คุณวรวัฒน์บอกว่าขึ้นอยู่กับการจัดการในแต่ละพื้นที่ ส่วนตัวเขานั้น ในคราวจัดกิจกรรมที่ชุมชนบึงพระรามเก้า เขาได้เชิญชวนกลุ่มอาสาสมัคร Precious Plastic Bangkok เข้ามาร่วมขับเคลื่อนเรื่องการรีไซเคิลขยะ แล้วมีการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นกระถางต้นไม้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าขยะพลาสติกยังมีค่าและมีทางไปต่อได้ แต่เขาก็ยังเห็นว่าการจัดการขยะที่ดีที่สุดไม่ใช่เรื่องรีไซเคิล แต่เป็นการลดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเอง

 

          "ตัวเรานี่แหละที่สร้างปัญหาขยะเยอะมาก นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ปี 2593 จะมีขยะในทะเลมากกว่าปลา ผมมั่นใจว่ามันจะเร็วกว่านั้นอีก เราจึงต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต สร้างขยะน้อยที่สุด ต้องคิดตั้งแต่แรกเลยว่าจะซื้อของชิ้นนี้ไหม ทุกวันนี้ผมพยายามใช้ชีวิตแบบ zero waste ไปให้สุดคือไม่มีขยะ ผมไม่ซื้อน้ำขวด จะดื่มน้ำมะพร้าวก็เลือกซื้อที่เป็นลูกจากตลาดข้างบ้าน เสร็จแล้วเอามาทำเป็นปุ๋ยต่อ เศษอาหารที่ย่อยสลายได้ผมจะเอาไปทำปุ๋ย ที่ย่อยยากหน่อยเลี่ยงได้ผมก็เลี่ยง นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำกับตัวเราเองและบอกชุมชนให้ทำอย่างนี้มากขึ้น หรือในแง่องค์กรก็ควรเริ่มที่ผู้นำองค์กร ใจต้องมาก่อน แล้วมาลองทำในลักษณะเดียวกับ Trash Hero ก็จะเข้าใจ มองเห็นปัญหา แล้วจะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมไปเอง แต่ถ้าเราไม่เริ่ม ไม่มีความเชื่อ มันก็ไม่มี motivation จึงต้องเปลี่ยนจากข้างในตัวเราก่อนจะไปเปลี่ยนคนอื่น"

talk

พลังเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่

 

          Trash Hero ในทุกพื้นที่รวมถึงเครือข่ายทั่วโลก จะทำงานภายใต้ปรัชญาเดียวกันคือการเป็นจิตอาสา เป็นพลังบริสุทธิ์ที่ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่พาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมก็ต้องเป็นองค์กรที่ไม่สร้างมลพิษจากพลาสติก หรือแค่หวังจะสร้างภาพรักโลกรักสิ่งแวดล้อม

 

          คุณวรวัฒน์กล่าวว่า Trash Hero เน้นการทำด้วยใจ ทุกคนที่มาช่วยกันมันเป็นแรงเล็ก ๆ แต่ทรงพลัง และทำให้องค์กรมีความแข็งแกร่งและยั่งยืน ส่วนทิศทางการทำงานของ Trash Hero Bangkok หลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย แม้การทำกิจกรรมจะเริ่มกลับมา แต่การกำหนดก้าวต่อไปของทางกลุ่มยังคงต้องมีการระดมความคิดเห็นร่วมกัน และโดยส่วนตัวนั้น เขาพอใจกับการทำงานเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เช่นนี้เพื่อให้สารที่จะสื่อมีความซับซ้อนน้อยที่สุด แต่ต้องการให้กระจายไปในแบบรากหญ้า คือมีกลุ่ม Trash Hero เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ไปให้มากที่สุดทั่วโลก

 

          "เราอาศัยอยู่บนโลก เราจึงต้องดูแลโลก แต่คนสมัยนี้ตัดขาดจากธรรมชาติเลยเป็นปัญหา แล้วยังมีความคิดผิด ๆ กันเยอะ กิจกรรมของ Trash Hero ทุกครั้งที่ลงมือเก็บขยะเราจึงมีการสอดแทรกความรู้ ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขยะและสิ่งแวดล้อม ผมอยากให้คนมาร่วมกันมาก ๆ โดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว มันก็จะกลายเป็นพลังที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น" คุณวรวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

talk

แหล่งที่มาของข้อมูล :

1https://trashhero.org/success/

2www.pmdu.go.th