BOT SYMPOSIUM 2021
สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย BUILDING A RESILIENT THAILAND
งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประจำปี 2564 จัดขึ้นภายใต้ธีม "สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย (Building a Resilient Thailand)" เพื่อชี้ประเด็นสำคัญที่โลกกำลังเผชิญอยู่ทั้งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าสู่สังคมสูงวัย ภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่ พัฒนาการทางสังคม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคอุบัติใหม่ กำลังพลิกโฉมภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาประเทศไทย
ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม เศรษฐกิจและสังคมไทยจำเป็นต้องมี "ภูมิคุ้มกัน" เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน งานวิจัยนี้นำเสนอ 5 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจสังคมไทยต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ประการแรก เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความเปราะบางจากการพึ่งพิงจีนและสหรัฐอเมริกาในหลายด้าน อาทิ การส่งออกที่มีมูลค่ารวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด การท่องเที่ยวที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ประการที่สอง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่หากปรับตัวไม่ทันอาจทำให้ไทยตกขบวนรถไฟได้ โดยคณะผู้วิจัยยกตัวอย่างความเปราะบางของโครงสร้างการส่งออกไทย ที่พบว่ามีมูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้อยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางและขั้นสูง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติมายังธุรกิจไทยที่ยังไม่สูงนัก
ประการที่สาม ภาวะโลกร้อน เป็นภัยเงียบและจะส่งผลใหญ่หลวงต่อไทยหากไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ โดยคณะผู้วิจัยยกตัวอย่างที่อาจยังไม่เคยกล่าวถึงกันมากนัก คือความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทยที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งประเทศมากกว่า 20% ของจำนวนสถานประกอบการ และมากกว่า 10% ของธุรกิจในอุตสาหกรรมส่งออกหลักอยู่ในจังหวัดดังกล่าว
ประการที่สี่ การเข้าสู่สังคมสูงอายุส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลายด้าน โดยหากมองความเปราะบางของโครงสร้างแรงงานไทย พบว่ามีสัดส่วนแรงงานสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจาก 3.4% ในปี 2545 มาเป็น 9.9% ในปี 2562
และประการสุดท้าย วิกฤตโควิด 19 ได้สร้างหลายแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย ตัวอย่างสำคัญคือ ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าครัวเรือนไทยเริ่มผิดนัดชำระหนี้ และมีหนี้เสียเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่อายุน้อย ซึ่งมีหนี้เร็ว โดยสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียมีมากอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤต
งานวิจัยนี้ยังได้นำเสนอความเปราะบางของสังคมไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขความเปราะบางทางเศรษฐกิจ โดยศึกษาผลจากโครงการวิจัย "คิดต่าง อย่างมีภูมิ" ของคณะผู้วิจัย ซึ่งได้ทำการสำรวจออนไลน์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - กันยายน 2564 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,016 ราย ที่สามารถสะท้อนความหลากหลายทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้
คณะผู้วิจัยพบว่า ความสมานฉันท์ในสังคมไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับคุณภาพสังคมด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะในมิติของความเชื่อมั่นในองค์กรที่อยู่ในระดับต่ำในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หากวัดจากทัศนคติและค่านิยม ผู้วิจัยพบว่า คนทุกกลุ่มในสังคมไทยมีความ "คิดต่าง" โดยคนรุ่นใหม่มีค่านิยมค่อนไปทางเสรีนิยมมากกว่าคนรุ่นเก่าอย่างมีนัยสำคัญ และความ "คิดต่าง" ของคนในสังคมอาจนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมได้ เพราะกลุ่มที่คิดต่างมักมีความรู้สึกไม่ดีต่อคนต่างความคิด และมองความต่างมากเกินจริง
นอกจากนั้น คณะผู้วิจัยพบว่า ความต่างวัยและพฤติกรรมการบริโภคสื่อด้านเดียวมีความสัมพันธ์ต่อความแตกแยกทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงในชีวิต และการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน อาจช่วยลดความแตกแยกได้ และที่น่าสนใจคือคนที่คิดต่างอาจไม่ได้ต่างอย่างที่คิด โดยแท้จริงแล้วคนสองกลุ่มมีความเห็นตรงกันในเชิงนโยบายหลายประการ เช่น รัฐควรจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาบริการขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง คะแนนเสียงของทุกคนควรมีค่าเท่ากันในการเลือกตั้ง
ผลการศึกษานี้สะท้อนความเปราะบางของสังคมไทย ซึ่งหากไม่แก้ไข ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ดังนั้น การปลดล็อกความเปราะบางทางสังคมถือเป็นกุญแจสำคัญ และสามารถเริ่มแก้ไขได้ด้วยการ "คิดต่าง อย่างมีภูมิ" โดยเปิดใจที่จะมองเห็น เข้าใจมุมมองคนคิดต่าง รับฟังคนรอบข้าง คนคิดต่าง รับข้อมูลหลากหลาย พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมมือแก้ไขปัญหาด้วยกันระหว่างหลายภาคส่วน เพื่อสร้าง "ความสมานฉันท์ในสังคมไทย" ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความเปราะบางของประเทศอย่างตรงจุด ทันเวลา และนำมาสู่สังคมไทยที่มีการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน
ผู้เขียน : คุณสุพริศร์ สุวรรณิก ดร.ธนิสา ทวิชศรี ดร.ฐิติ ทศบวร ดร.อาชว์ ปวีณวัฒน์ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงานอย่างรวดเร็ว ธุรกิจยักษ์ใหญ่จำนวนมากผันตัวมาเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายหนังสือ (amazon.com) เช่าหนัง (NETFLIX) โรงแรม (airbnb) หรือแท็กซี่ (Uber) ทั้งนี้ The Future of Jobs Report (World Economic Forum 2020) คาดการณ์ว่า งานกว่า 85 ล้านตำแหน่งจะหายไปเพราะโดนแทนที่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) อย่างไรก็ดี จะมีงานกว่า 97 ล้านตำแหน่งเกิดขึ้นมาใหม่ แต่ก็เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ data science เกือบทั้งหมด ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ machine learning ผู้เชี่ยวชาญด้าน digital transformation หรือแม้แต่งานด้านการตลาด ในอดีตบริษัทอาจจะมองหาพนักงานขายที่พูดจาโน้มน้าวลูกค้าเก่ง แต่ในปัจจุบัน บริษัทอาจต้องการคนที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าได้จากพฤติกรรมที่ผ่านมา ว่าคนกลุ่มไหนมีแนวโน้มจะซื้อของ และจะซื้ออะไร
ดร.วิโรจน์ได้เล่าประสบการณ์ว่า แม้ตนเองจะศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Massachusetts Institute of Technology (MIT) แต่หลักสูตรที่มหาวิทยาลัยจัดสอนนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของงานใน Silicon Valley ก่อนที่จะได้ร่วมงานกับเฟซบุ๊ก เราต้องเรียนคอร์สออนไลน์เพิ่มเติมจำนวนมากและฝึกฝนทักษะอีกหลายด้านอย่างเข้มข้น ทำให้เริ่มตั้งคำถามว่า "ทำไมทักษะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในตลาดแรงงานถึงไม่มีการจัดสอนในมหาวิทยาลัย" และจุดประกายให้อยากเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบการศึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานไทยในอนาคต ดร.วิโรจน์มองว่า แม้หลักสูตรในต่างประเทศนั้นยังไม่ตอบโจทย์ทุกอย่าง แต่ก็มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนมากกว่าหลักสูตรของไทย ซึ่งนักเรียนต้องเลือกตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาว่าจะไปทางสายวิทย์หรือสายศิลป์ จากนั้นก็เลือกคณะในมหาวิทยาลัย ขณะที่ความต้องการในตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเรียนการสอนออนไลน์ตอบโจทย์ด้วยการเปิดโอกาสให้นักเรียนจำนวนมากสามารถเรียนรู้กับครูที่เก่งที่สุดในด้านนั้น ๆ โดยครูในห้องเรียนอาจปรับบทบาทมาเป็นที่ปรึกษา รวมถึงหลักสูตรออนไลน์ก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง เลือกเนื้อหา ระยะเวลา และความเร็วช้าในการรับข้อมูลเองได้ ดร.วิโรจน์ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่จะเป็นภูมิต้านทานที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เราเป็นแรงงานที่เป็นที่ต้องการตลอดไป คือ growth mindset คนที่จะอยู่รอดได้คือคนที่เรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา
ผู้เขียน : ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท สคูลดิโอ จำกัด
มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ข้อมูล และการใช้งานข้อมูลขนาดใหญ่
งานวิจัยนี้นำเสนอให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 40 - 50 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิของประเทศไทยในภาพรวมได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 - 2 องศาเซลเซียส ในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 ในขณะที่ปริมาณฝนแปรปรวนสูงในเชิงพื้นที่ โดยมีฝนเพิ่มขึ้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย แต่ปรับลดลงในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งความผันผวนของสภาพอากาศเหล่านี้ส่งผลให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยแล้งและน้ำท่วมมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น
เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวงกว้าง โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้เน้นศึกษาเชิงลึกถึงผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพบว่า ความเสียหายอาจมีมูลค่าสูงถึง 0.61 – 2.85 ล้านล้านบาทระหว่างช่วงปี 2554 - 2588 หรือเฉลี่ย17,912 - 83,826 ล้านบาทต่อปี โดยภาคใต้และภาคตะวันออกจะได้รับความเสียหายมากกว่าภูมิภาคอื่น นอกจากนั้น ภาคเกษตรยังเจออุปสรรคหลากหลายต่อการปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเกษตรกรยังมีการศึกษาน้อยและกำลังเผชิญกับสังคมสูงวัยมากกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น และมีเกษตรกรเพียง 26% ที่สามารถเข้าถึงระบบชลประทานได้
งานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ พบว่าภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การผันผวนของอุณหภูมิ ภัยแล้ง และน้ำท่วม ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ และทำให้ระบบนิเวศของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเกิดความเสียหาย ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับความเสียหายจากกระบวนการผลิตจนอาจต้องหยุดการผลิต
ปัจจุบันประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และได้พัฒนานโยบายและแผนระดับชาติเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1. ผลักดันให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลและจัดส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์
2. พัฒนาระบบตรวจวัด รายงานผลและทวนสอบ และระบบติดตามประเมินผลการดำเนินงานแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับนำข้อมูลไปประกอบการดำเนินนโยบาย
3. ให้ความรู้กับภาคเอกชนในการตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
4. สนับสนุนการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ภาษีคาร์บอน และระบบ Cap and Trade1 เพื่อส่งเสริมกิจกรรม และสร้างแรงจูงใจในการลดก๊าซเรือนกระจก
5. สนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น พันธบัตรสีเขียว สินเชื่อสีเขียว เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ งานวิจัยได้เสนอแนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะในภาคการเกษตร คือ (1) ส่งเสริมการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อลดความผันผวนของสภาพอากาศ (2) เปลี่ยนรูปแบบการให้เงินช่วยเหลือให้เป็นแบบมีเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต (3) ส่งเสริมความรู้สำหรับวิธีการปรับตัวที่เหมาะสมโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ (4) ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับเกษตรกร (5) เพิ่มแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดน้ำ และ (6) พัฒนากลไกการจัดเก็บน้ำในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ
ผู้เขียน : ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตร พลังงาน สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนา รศ. ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย หัวหน้าหน่วยวิจัย Sustainable Energy & Low Carbon, SIIT มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบผลิตพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเทคโนโลยีพลังงาน และ ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับนานาชาติและระดับประเทศมากว่า 20 โครงการ
1 Cap and Trade หรือ Emission Trading คือการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก โดยใช้การพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผู้ประกอบการที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จะได้รับผลตอบแทนเป็นคาร์บอนเครดิต ซึ่งนำไปขายให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกำหนดได้ เช่น โครงการ EU Emission Trading System