การลงทุนสีเขียว ... ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของนักลงทุนโลกสวย

 

 

 

การลงทุนสีเขียว ... ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของนักลงทุนโลกสวย

The Knowledge

ความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้คนตระหนักว่าธรรมชาติมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนเป็นอย่างมาก  เมื่อสิ่งแวดล้อมเกิดปัญหา มนุษย์ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ รายงานความเสี่ยงโลก ประจำปี 2564 ของ World Economic Forum ระบุว่า ความล้มเหลวในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงของโลกในอันดับต้น ๆ สูสีกับความเสี่ยงของวิกฤติโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นความพยายามของประชาคมโลกที่จริงจังมากขึ้นกับการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะความตื่นตัวของภาคการเงินที่เป็นตัวกลางจัดสรรสภาพคล่องหรือ "เงิน" ในระบบเศรษฐกิจ 

 

นักลงทุนจะช่วยโลกร้อนได้อย่างไร?

 

          การลงทุนเปรียบเหมือนการรดน้ำต้นไม้ หากเรารดต้นใดสม่ำเสมอก็จะทำให้ต้นไม้นั้นเจริญเติบโตได้ดี ในทางกลับกัน ต้นที่เราไม่รดน้ำก็มักจะเหี่ยวแห้งไป  เช่นเดียวกันกับธุรกิจที่ได้รับเงินลงทุนอย่างสม่ำเสมอก็จะมีโอกาสเติบโตได้ดี  ดังนั้น หากนักลงทุนเลือกลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินการโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น มีการใช้เทคโนโลยีสะอาดที่ไม่ปล่อยคาร์บอน ก็เท่ากับช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนไปในตัว 

 

          Climate Bonds Initiative ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ส่งเสริมการลงทุนเพื่อแก้โลกร้อน ระบุว่า  ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทั่วโลกมีการระดมทุนผ่าน "ตราสารหนี้สีเขียว" (green bonds) สูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.6 ล้านล้านบาท) เม็ดเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การลงทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันและควบคุมมลพิษ หรือกิจกรรมทางธุรกิจที่ส่งเสริมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ  แม้เม็ดเงินดังกล่าวยังคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดตราสารหนี้ที่มีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การระดมทุนผ่านตราสารหนี้สีเขียวมีการเติบโตขึ้นทุกปีและประมาณการว่าอาจมีมูลค่าถึงหลักล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า (รูปที่ 1) สะท้อนแนวโน้มการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

The Knowledge

รักษ์โลกและรักผลการดำเนินงาน

 

          การลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนได้ดีในระยะยาวต้องสอดรับ mega trends กล่าวคือ มีความสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง การดำเนินธุรกิจ วิถีชีวิต รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ดังนั้น เมื่อเทรนด์รักษ์โลกและความยั่งยืนกำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประชาคมโลกให้คุณค่าร่วมกัน (shared value) ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนที่สำคัญของการลงทุนในระยะยาว

 

          ในอีกด้านหนึ่ง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจสร้างความเสียหายทางการเงินได้  เรื่องนี้ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล ได้เล่าตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะปะการังฟอกขาวจากโลกร้อน ซึ่งทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ลดลง[1] ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวจึงต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับมาตรการลดภาวะโลกร้อนระดับสากล ด้วยเหตุนี้ การประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อการดำเนินธุรกิจจึงกลายเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในการประเมินความเสี่ยงของการลงทุน  

 

          เมื่อมองมิติของผลตอบแทนและความเสี่ยงร่วมกัน เราอาจพูดได้ว่า "การลงทุนสีเขียว" คือการเปลี่ยนกรอบการตัดสินใจลงทุน จากเดิมที่นักลงทุนมักจะเน้นพิจารณาผลตอบแทนและความเสี่ยงทางการเงินเท่านั้น มาเป็นพิจารณาผลกระทบที่มีต่อโลก (real-world impact) เข้าไปด้วย (รูปที่ 2)  ในกรณีที่ทางเลือกในการลงทุนต่าง ๆ มีความเสี่ยงและผลตอบแทนใกล้เคียงกัน การลงทุนสีเขียวจะเลือกการลงทุนที่สร้างผลดีต่อโลกสูงที่สุด ในบางครั้ง การลงทุนสีเขียวจึงถูกเรียกอีกอย่างว่า "การลงทุนที่เน้นผลกระทบ (impact-based investment)"

The Knowledge

ธนาคารกลางกับการลงทุนสีเขียว

 

          นักลงทุนสถาบันหลากหลายประเภทให้การตอบรับการลงทุนสีเขียวเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจัดการกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนพัฒนาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงธนาคารกลางซึ่งทำหน้าที่บริหารเงินสำรองทางการ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปที่มีแรงสนับสนุนด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากภาคประชาสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในส่วนของทวีปเอเชีย เราได้เห็นธนาคารกลางหลายแห่งประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนสีเขียว อาทิ ธนาคารกลางจีนที่ได้ประกาศเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว จำกัดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง และพิจารณาความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในการตัดสินใจลงทุน  ด้านธนาคารกลางฮ่องกงดำเนินการลงทุนสีเขียวภายใต้กรอบ "การลงทุนอย่างรับผิดชอบ (responsible investment)" ซึ่งคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาลที่ดี (Governance) หรือมีชื่อเล่นว่า "การลงทุน ESG" สำหรับธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอาเซียน เราก็เห็นการดำเนินงานด้าน ESG ไม่แพ้ที่อื่นในโลกเช่นกัน ดังนี้

The Knowledge

แม้แวดวงธนาคารกลางจะตื่นตัวกับกระแส ESG แต่จนถึงปัจจุบัน นักการธนาคารกลางก็ยังไม่มีฉันทามติในประเด็นดังกล่าว โดยอีกฝั่งมักมองว่า ธนาคารกลางควรมุ่งดำเนินงานตามพันธกิจหลัก เช่น การรักษาเสถียรภาพราคาเท่านั้น ขณะที่งานด้าน ESG จัดเป็นพันธกิจที่ไม่ควรรับมาดำเนินการ (mission creep) อีกคำวิจารณ์ที่พบได้บ่อยคือ การลงทุนสีเขียวนั้นอาจเป็นเพียงกระบวนการสร้างภาพลักษณ์สีเขียว (greenwashing) ซึ่งจะไม่เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง

 

ธปท. กับการลงทุนอย่างรับผิดชอบ

The Knowledge

 การบริหารเงินสำรองทางการของไทยเน้นการลงทุนระยะยาวเพื่อรักษามูลค่าเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศที่ลงทุน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวอย่างสม่ำเสมอ เทรนด์รักษ์โลกซึ่งเป็นหนึ่งใน mega trends ของโลกในยุคหลังโควิด 19 จึงถูกพิจารณาประกอบการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ยังพิจารณาปัจจัยด้านธรรมาภิบาลที่ดีของภาครัฐประกอบการเลือกประเทศที่จะลงทุน และพิจารณาปัจจัยด้านสังคมในการซื้อขายตราสารทุน

          ในระยะต่อไป ธปท. มีแผนการดำเนินงานต่อเนื่องด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ โดยจะศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงของเงินสำรองทางการ ซึ่งจะช่วยให้กระจายความเสี่ยงการลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความหลากหลายของสินทรัพย์ทางการแล้ว ยังช่วยให้พอร์ตโฟลิโอของประเทศไทยเขียวขึ้น  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงที่ร่วมผลักดันการสร้างพลังบวกให้กับโลกของเรา 

 

[1] ดูการบรรยายในหัวข้อ "ผลกระทบของ Climate change ต่อภาคการท่องเที่ยวไทย และแนวทางในการดำเนินการต่อไป" ในงานสัมมนาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ที่ https://www.pier.or.th/forums/2021/12/

 

 

The Knowledge