HOW TO มีชีวิตการเงินที่ยั่งยืน

 

 

 

The Knowledge

เรื่องเงินเป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเราตลอดชีวิต หลายคนจึงปรารถนาให้มีความสบายใจเรื่องการเงินในทุก ๆ วัน มีเงินใช้ ไร้กังวล กินอิ่ม และหลับสบาย  Financial Wisdom จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาร่วมหาคำตอบว่า ความสบายใจเรื่องการเงินในทุก ๆ วัน หรือการมีชีวิตการเงินที่ยั่งยืนประกอบด้วยอะไรบ้าง และต้องทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้

 

           เริ่มต้นที่ความสบายใจเรื่องการเงินอย่างแรก "มีเงินพอใช้ตลอดไป" แต่ต้องทำอย่างไร? ขอเสนอว่าทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามาให้แบ่งเงินเป็นส่วน ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งในวันนี้และวันหน้า ด้วยการทำแผนใช้เงิน (budgeting) แล้วปรับเพิ่มลดให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตและรายได้ของเรา ซึ่งค่าใช้จ่ายที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ควรเตรียมเงินไว้ให้พร้อม คือ ค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน และแบบที่มาเป็นระยะ เช่น ค่าเทอมลูก และค่าผ่อนสิ่งของที่เราซื้อมาด้วยเงินกู้ นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในอนาคตหรือเพื่อทำความฝันให้เป็นจริง เช่น เรียนต่อปริญญาโท ท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย เตรียมเงินไว้ใช้สบาย ๆ ในช่วงหลังเกษียณ รวมทั้งแบ่งเงินอีกส่วนไว้เพื่อความสุขของตัวเองโดยไม่ทำให้เราและคนรอบข้างเดือดร้อน และไม่เพลิดเพลินกับการซื้อของที่อยากได้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว

 

          อย่างที่สอง "พร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด" ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันกับเราเมื่อไหร่ทั้งเรื่องร้ายเรื่องดี เช่น ตกงาน เจ็บป่วย อุบัติเหตุ หลังคาบ้านรั่ว ต้องเสียภาษีจากรางวัลที่ได้จากการส่งชิงโชคในห้างสรรพสินค้า เงินออมเผื่อฉุกเฉินจึงเป็นเงินออมก้อนแรกที่ทุกคนควรมีเพื่อให้เรามีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในเหตุการณ์ทำนองนี้ โดยวางแผนทยอยเก็บเล็กผสมน้อยจนครบ 3 – 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน สมมติว่า เรามีรายจ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ประมาณเดือนละ 10,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น เราควรมีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน 30,000 - 60,000 บาท ซึ่งขอแนะนำให้เก็บไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่สามารถถอนมาใช้ได้สะดวกและแยกเงินออมก้อนนี้ไม่ให้ปนกับเงินออมก้อนอื่น หรือเสริมด้วยตัวช่วยอื่น ๆ เช่น สวัสดิการจากที่ทำงาน ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนฟูกที่พร้อมรองรับเราในยามที่ล้ม เราจะรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย และใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นท่ามกลางความไม่แน่นอนสารพัดเรื่องด้วย

The Knowledge

อย่างที่สาม "ไม่ให้เงินไหลไปหามิจฉาชีพ" รู้เท่าทันและระมัดระวังภัยทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้ในหลากหลายรูปแบบ มุกที่มิจฉาชีพใช้หลอกมีทั้งมุกเดิมและมุกใหม่ เช่น ขู่ให้กลัว โดยอ้างว่าเหยื่อพัวพันกับสิ่งผิดกฎหมาย ต้องโอนเงินในบัญชีของเราให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หรือใช้ความโลภล่อเหยื่อ ด้วยการชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง การันตีผลตอบแทนสูง แต่เอาเงินลงทุนจากสมาชิกใหม่มาจ่ายคนเก่าไปเรื่อย ๆ หากเราหลงเชื่อและทำตามที่โจรบอก เงินที่เราอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตอาจหายไปในชั่วพริบตา และแทบไม่มีโอกาสได้เงินคืนมาอีกเลย

 

          เพื่อป้องกันการตกหลุมพรางกลโกง  ขอแนะนำให้หยุดคิดให้ดีก่อนตัดสินใจโอนหรือให้เงินไป ยิ่งถ้าคนชวนลงทุนบอกว่าจะได้เงินจำนวนมากหรือผลตอบแทนสูงมากที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ยิ่งต้องเอะใจ  สงสัยข้อมูลตรงไหนก็อย่าอายที่จะถามหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เช่น ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โทร. 1207 และอัปเดตข่าวต่าง ๆ รวมทั้งข่าวกลโกงเป็นประจำ ทั้งหมดนี้ เราสามารถสรุปสั้น ๆ เป็นคาถากันภัยทางการเงินที่ควรท่องให้ขึ้นใจว่า "มีสติ อย่าโลภ สงสัยให้ถาม ติดตามข่าวสาร" หากทำได้ตามนี้แล้ว โอกาสที่ภัยทางการเงินจะมาสร้างความเสียหายให้เราก็จะลดลงไปมาก

 

          นอกจาก 3 เรื่องข้างต้นแล้ว อีกเรื่องที่ไม่ควรลืมคือการรักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง เพราะค่ารักษาพยาบาลก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี มีความเสี่ยงที่เงินที่เราเตรียมไว้จะไม่เพียงพอ ที่สำคัญ การมีเงินมากมายแต่ร่างกายทรุดโทรมหรือจิตใจย่ำแย่ก็คงไม่ใช่ชีวิตที่ใครคาดหวังหรือมีความสุขได้ ถ้าทำได้ครบ ดูแลตัวเองได้ดีทั้งเรื่องเงินเรื่องสุขภาพแล้ว ความฝันที่อยากมีชีวิตการเงินที่ยั่งยืนจะกลายเป็นความจริงได้อย่างแน่นอน