แบงก์ชาติกับการผลิตธนบัตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แบงก์ชาติกับการผลิตธนบัตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

The Knowledge

ท่านทราบหรือไม่ว่า การผลิตธนบัตรที่เราใช้หมุนเวียนกันอยู่ในปัจจุบันต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง ใช้พลังงานมากแค่ไหน และทำให้เกิดของเสียที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

          

ด้วยปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในปัจจุบันและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง ในภาพใหญ่ ธปท. มุ่งสร้างความยั่งยืนตามแนวคิด ESG ที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนให้ทัดเทียมกับธนาคารกลางชั้นนำในต่างประเทศ BOT Get to Know ฉบับนี้ ขอพาทุกท่านไปเจาะลึกถึงแนวคิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตธนบัตรของสายออกบัตรธนาคาร ธปท. ไปสู่การผลิตธนบัตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

โรงพิมพ์ธนบัตรหลายแห่งเร่งปรับตัว

 

          งานผลิตและกระจายธนบัตรไปถึงมือประชาชนเป็นงานที่ต้องใช้ทรัพยากรปริมาณมาก ธปท. จึงได้นำนโยบายด้าน ESG มาเป็นหลักการสำคัญในการบริหารจัดการธนบัตร รวมถึงประยุกต์ใช้เทคนิค 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 

          จากการศึกษากรอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโรงพิมพ์ธนบัตรในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านความยั่งยืนกับบริษัทผู้ผลิตธนบัตรชั้นนำ เช่น De La Rue และ Giesecke+Devrient (G&D) เพื่อนำมาเทียบเคียงกับการดำเนินการของ ธปท. พบว่า โรงพิมพ์ธนบัตรในหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควบคู่ไปกับการประหยัดพลังงาน

 

          ขณะที่ธนาคารกลางหลายแห่งก็ได้มีการทบทวนนโยบาย รวมถึงพัฒนารูปแบบและคุณลักษณะของธนบัตร เพื่อให้ธนบัตรมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนคือการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ทดแทนธนบัตรกระดาษ โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคาต่ำที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้นและมีปริมาณหมุนเวียนจำนวนมาก ธนบัตรพอลิเมอร์มีอายุการใช้งานประมาณ 2.5 เท่าของธนบัตรกระดาษ ด้วยคุณสมบัติเรื่องความทนทานนี้จึงช่วยลดการขนส่งธนบัตรใหม่เข้าสู่ระบบ รวมถึงลดการทำลายธนบัตรที่เสื่อมสภาพ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าธนบัตรกระดาษ การศึกษาดังกล่าวยังช่วยให้เห็นโอกาสในการปรับปรุงงานด้านต่าง ๆ ใน ธปท. อาทิ กระบวนการผลิต การจัดการด้านพลังงาน และการเลือกใช้วัตถุดิบ โดยบางส่วนได้ดำเนินการแล้ว และบางส่วนถูกกำหนดเป็นแผนงานสำหรับช่วง 1 - 2 ปี ข้างหน้า

The Knowledge

ปรับสายการผลิตและวางผังใหม่เพื่อลดการใช้พลังงาน

 

          โรงพิมพ์ธนบัตรเปิดทำการมาเป็นเวลานาน จึงมีเครื่องจักรรุ่นเก่าอยู่หลายเครื่อง แผนแรกในการลดการใช้พลังงานจึงเป็นการปรับสายการผลิต (streamline) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยกเลิกการใช้เครื่องจักรเก่าและทดแทนด้วยเครื่องจักรใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงานในการผลิตในภาพรวมได้มากกว่า 15% (ตามภาพที่ 1)

          

การผลิตธนบัตรในแต่ละวันจะมีการขนย้ายวัสดุระหว่างผลิตด้วยรถลากไฟฟ้ากว่า 500 เที่ยว จึงมีการปรับผังพื้นที่ภายในโรงพิมพ์ใหม่ นำเครื่องจักร หรือวัสดุที่ต้องใช้งานต่อเนื่องมาตั้งใกล้กัน ทำให้สะดวกขึ้น ประหยัดเวลาและพลังงานในการขนย้ายวัสดุระหว่างผลิตในแต่ละขั้นตอน สามารถลดระยะทางการขนย้ายด้วยรถลากไฟฟ้าลงได้มากกว่า 50%

 

ลดขั้นตอน ลดการใช้ทรัพยากร

 

          เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานในขั้นตอนการผลิต ธปท. จึงปรับแผนการผลิตบางขั้นตอนมาเป็นแบบต่อเนื่องโดยไม่มีการรอคอย (Just-in-Time) แทนการผลิตแบบเดิมที่เมื่อจบขั้นตอนหนึ่งแล้วนำไปเก็บเข้าห้องจัดเก็บวัสดุระหว่างผลิต ก่อนนำออกมาดำเนินการผลิตในขั้นงานถัด ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขณะที่ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดระยะเวลาระหว่างขั้นตอน ลดปริมาณการขนย้าย และจัดเก็บงานระหว่างผลิตอีกด้วย  

The Knowledge

 นอกจากนี้ การปรับปรุงวิธีบรรจุห่อธนบัตรก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากร เดิมมีการใช้สายรัดพลาสติกสำหรับห่อธนบัตรเป็นการเพิ่มวัสดุสิ้นเปลือง ดังนั้น จึงยกเลิกการใช้สายรัดพลาสติกสำหรับห่อธนบัตรในกระบวนการผลิต ซึ่งลดไปได้เป็นจำนวนมากกว่า 500,000 เมตรต่อปี หรือคิดเป็นระยะทางได้ไกลจากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่นเลยทีเดียว

The Knowledge

เนื่องจากการพิมพ์ธนบัตรเป็นงานที่มีความละเอียดสูง อุณหภูมิและความชื้นของห้องผลิตต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อควบคุมการยืดหรือหดตัวของแผ่นพิมพ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และควบคุมให้ตำแหน่งของภาพพิมพ์มีความแม่นยำ ดังนั้น การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในกระบวนการผลิตจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญมาก ธปท. ได้ปรับปรุงอุปกรณ์ระบบทำความเย็น (chiller) ที่ใช้ในกระบวนการผลิตธนบัตรให้เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งใช้พลังงานลดลงและมีขนาดที่เหมาะสม ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้มาก และยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย

 

คงคุณภาพ แม้เปลี่ยนวัตถุดิบเพื่อสิ่งแวดล้อม

 

          การผลิตธนบัตรมีหลายขั้นตอน วัตถุดิบที่ต้องใช้จึงมีจำนวนมากและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป การเลือกใช้วัตถุดิบแต่ละชนิด นอกจากจะพิจารณาคุณสมบัติที่จำเป็น ราคา และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดต่อผู้ใช้งานแล้ว ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ ธปท. นำมาพิจารณาด้วย อาทิ ลดการใช้สารที่มีส่วนประกอบของโลหะหนักในการผลิตหมึกพิมพ์ธนบัตร เพราะโลหะหนักเป็นสารที่มีอันตรายและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าการเปลี่ยนไปใช้สารที่ไม่มีส่วนประกอบของโลหะหนักจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแต่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้รับ ทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ผลิตธนบัตร และลดมลพิษทางน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิตธนบัตร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพธนบัตรที่ออกไปสู่มือประชาชน

 

          นอกจากนี้ ธปท. ยังเลือกใช้วัสดุพิมพ์ที่มีการเคลือบสารที่คงทน เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของธนบัตร ทำให้ประชาชนได้ใช้ธนบัตรที่สะอาดอยู่เสมอและช่วยลดปริมาณธนบัตรที่ต้องทำลาย

 

การใช้พลังงานทางเลือก

 

          ธปท. ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตธนบัตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มหันมาใช้พลังงานทางเลือกจากระบบโซลาร์เซลล์แทนการใช้พลังงานไฟฟ้าบางส่วนในการผลิตธนบัตรตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 400,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี หรือเทียบเป็นค่าไฟได้ถึง 1,720,000 บาทต่อปี และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 215 Ton CO2e ต่อปี หรือลดลง 3.37% ต่อปี

The Knowledge

ระบบการจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพ

 

          ของเสียต่าง ๆ ที่เกิดในกระบวนการผลิต เช่น เศษธนบัตร น้ำเสียจากกระบวนการผลิต ธปท. ได้รับการบริหารจัดการให้สอดคล้องตามมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังส่งเสริมการแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำไปกำจัดได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย ในการบริหารจัดการของเสียประเภทเศษธนบัตร ธปท. ดำเนินการส่งต่อให้บริษัทกำจัดนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงต่อไป ส่วนการบริหาจัดการน้ำ มีการบำบัดและปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตธนบัตร รวมทั้งนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วบางส่วนหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดปริมาณการใช้น้ำใหม่ นอกจากนี้ ธปท. มีการควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งและอากาศที่ปล่อยออกสู่ภายนอกให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทำให้ที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อร้องเรียนจากชุมชนโดยรอบในเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

 

รางวัลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

 

          การบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ ธปท. คำนึงถึงและปฏิบัติมาโดยตลอด จนได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่ากระบวนการผลิตธนบัตรของ ธปท. มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและสอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากล

 

          นอกจากนี้ สายออกบัตรธนาคารได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านการบริหารจัดการพลังงานดีเด่นในอาคารขนาดใหญ่ จากการประกวดรางวัล ASEAN Energy Awards 2013 และรางวัลระดับดีเด่น ด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารควบคุม จากการประกวดรางวัล Thailand Energy Awards 2013 ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่ให้ความสำคัญในเรื่องการประหยัดพลังงาน มีการใช้แสงธรรมชาติในอาคารเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าให้แสงสว่าง มีการออกแบบให้พื้นที่ระหว่างอาคารเป็นพื้นที่สีเขียว รวมทั้งมีการติดตั้งระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ (Building Automation System) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในอาคาร

 

          ในปี 2560 สายออกบัตรธนาคารได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus: Operations) ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นเลิศในด้านกระบวนการทำงานโดยรวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

 

ก้าวต่อไปของการเปลี่ยนแปลง

 

          รางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับไม่เพียงเป็นความภาคภูมิใจของ ธปท. แต่ยังเป็นเป้าหมายที่ทำให้เราไม่หยุดก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้โรงพิมพ์ธนบัตรไทยทัดเทียมกับมาตรฐานของโรงพิมพ์ธนบัตรชั้นนำในโลกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในระยะต่อไป ธปท. จะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนากระบวนการผลิตธนบัตรที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นแนวทางลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงกว่าปัจจุบัน เพิ่มการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนการใช้ไฟฟ้า พัฒนาระบบปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดพลังงาน สนับสนุนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศและวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนรอบข้าง รวมทั้งเริ่มประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้า ในการคำนวณความต้องการใช้ธนบัตรในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อวางแผนการผลิตให้เพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการธนบัตรของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเรื่องการใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ในชนิดราคาต่ำ เช่น 20 บาท เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการผลิตธนบัตรที่รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยลงด้วย