ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน :
เข็มทิศนำทางที่จะทำให้ ธปท. ยังคงมีความหมายต่อสังคมเศรษฐกิจไทย

ภาพประกอบ

 

"ผมมักจะถามในที่ประชุมว่า 'หน้าที่ของเราคืออะไร' หลักการตั้งต้นแบบนี้ช่วยให้มองเห็นชัดเจนขึ้นว่าพันธกิจและเป้าหมายคืออะไร แล้วเราก็จะค่อย ๆ แยกแยะได้ว่าอะไรควร - ไม่ควร อะไรสำคัญ - ไม่สำคัญ วิธีการทำงานของผมคือการมองภาพใหญ่และกลับไปสู่หลักการตั้งต้นเสมอ วิธีนี้ช่วยได้มากเวลาที่ต้องตัดสินใจ โดยเฉพาะการตัดสินใจที่อาจไม่ถูกใจคน"

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

 

          ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและความผันผวนของสังคมเศรษฐกิจโลก หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วโลกต่างถูกกดดันและเรียกร้องให้ปรับตัว หลายองค์กรหันกลับมาตั้งหลักทบทวนคุณค่าและความหมายของตัวเองใหม่ว่า จะอยู่อย่างไรในโลกแบบนี้

 

          แม้จะเป็นสถาบันที่เก่าแก่ มีความมั่นคง และสะสมทุนทางสังคมมาอย่างยาวนาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)" ก็จำเป็นต้องกลับมาตั้งหลักทบทวนตัวเองใหม่ในสถานการณ์อันท้าทายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับวิกฤตสุขภาพ

 

          "ค่านิยมร่วม (core values)" คือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ ธปท. นำมาใช้เป็นเข็มทิศนำทางในยามที่ต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากและท้าทาย รวมถึงช่วยให้ ธปท. ตอบคำถามได้ว่า ทั้ง "ธปท." ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลเศรษฐกิจมหภาค และ "คน ธปท." ที่ต้องรับผิดชอบภารกิจสำคัญนี้ จะมีส่วนในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทยได้อย่างไร

 

          "ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน"  คือค่านิยมทั้งสี่ที่คน ธปท. ได้ถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อรักษาและสร้างความน่าเชื่อถือของ ธปท. ในสายตาประชาชนและสังคมทั้งในและต่างประเทศ

 

 

ยืนตรง


 

          "ยืนตรง" คือการยึดหลักการชัดเจนในสิ่งที่ทำ ไม่โอนอ่อนยอมให้ทำในสิ่งที่ผิดหลักการและยึดความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง การ "ยืนตรง" เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของการเป็นนายธนาคารกลาง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธา

 

          กล่าวได้ว่าการยืนตรงเป็นค่านิยมที่คน ธปท. ให้ความสำคัญที่สุดและปลูกฝังกันจากรุ่นสู่รุ่น ดังที่เราเคยได้ยิน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการที่กล่าวระหว่างประชุมภายใน ธปท. ในหลายโอกาสว่า "คนข้างนอก เขาอาจกล่าวหาว่าเราไม่ฉลาด ไม่เก่ง แต่ไม่เคยมีใครว่าได้ว่า เราโกง"

 

          ภาพของการยืนตรงสะท้อนได้ชัดเจนจากหลายกรณี เช่น ความพยายามจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ Sovereign Wealth Funds (SWFs) และการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มาเป็นหนี้ของ ธปท. ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความเป็นการเมืองสูง และอาจส่งผลให้ ธปท. ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ 

 

          อย่างไรก็ดี การยืนตรงของ ธปท. ไม่ใช่การกอดหลักการแบบแข็งทื่อตายตัว หากแต่ต้องมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ ตราบเท่าที่ยังอยู่ภายใต้หลักการที่ถูกต้องและการคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ผ่านสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ให้ประคับประคองและฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินต่อไปได้ รักษาระดับการจ้างงาน และช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้ตามหลักการอาจมองได้ว่ามาตรการนี้เป็นการให้กู้ของธนาคารกลางแก่ภาคเอกชน ซึ่งผิดหลักการทำงานของธนาคารกลางในสถานการณ์ปกติ แต่เมื่อคำนึงถึงความจำเป็นของประเทศ ธปท. จึงได้เห็นชอบการให้ soft loan เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs เป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกแบบมาตรการอย่างรัดกุม อาทิ มีการจำกัดวงเงิน พร้อมกำหนดระยะเวลาของมาตรการอย่างชัดเจน โดยไม่สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้จงใจผิดชำระหนี้ (moral hazard)

 

สำนักงานธนาคารชาติไทย

 

มองไกล


 

          "มองไกล" คือ การมีวิสัยทัศน์และคิดให้รอบคอบ ในฐานะธนาคารกลาง ธปท. มีหน้าที่หลักคือ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน แต่ก็เป็นโจทย์ระยะยาวที่ต้องอาศัยการมองไปข้างหน้าสูง ฉะนั้น ธปท. ต้องรู้รอบ รู้ลึก รู้จริง รู้ทัน และมองไปข้างหน้าตลอดเวลา เพื่อเตรียมพร้อมวางนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจการเงินได้ทันสถานการณ์ และต้องสามารถส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงและความผันผวนของเศรษฐกิจได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

          การมองไกลของ ธปท. เห็นได้ชัดในหลายกรณี เช่น การผลักดันให้เกิดระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินดิจิทัลแบบทันทีในปี 2559 โดย ธปท. เล็งเห็นว่าเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบการเงิน สร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยราคาที่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

 

          ปัจจุบันบริการพร้อมเพย์มีบทบาทอย่างมากในการทำธุรกรรมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถจ่ายเงินหรือรับเงินสวัสดิการภาครัฐ โดยไม่ต้องไปสาขาธนาคารพาณิชย์ 

 

          อีกหนึ่งนโยบายที่สะท้อนการมองไกลของ ธปท. คือ การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเเละลดต้นทุนการโอนเงินของภาคธุรกิจระหว่างประเทศ (wholesale CBDC) และต่อยอดไปสู่การใช้จ่ายเงินดิจิทัลในประเทศ (retail CBDC)

 

          การพัฒนา CBDC เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนมีทางเลือกที่เชื่อถือได้และปลอดภัยสำหรับการปรับเปลี่ยนไปสู่โลกการเงินดิจิทัล โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการหรือภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่หลากหลาย และสนองความต้องการแก่ผู้บริโภคได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

 

 

ยื่นมือ


 

          "ยื่นมือ" คือ การพร้อมและยินดีประสานงานกับคนทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีและให้งานบรรลุเป้าหมาย โดย "ยื่นมือ" ยังหมายรวมถึงการปรับทัศนคติ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ

 

          การยื่นมือจะช่วยให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสองมิติ มิติแรกคือ การช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในระบบเศรษฐกิจ ยิ่งคนในระบบเศรษฐกิจเข้าใจว่านโยบายที่ ธปท. กำลังขับเคลื่อนส่งผลต่อพวกเขาแค่ไหน นโยบายก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น มิติที่สองคือ การสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโลกปัจจุบันที่เศรษฐกิจซับซ้อนมากขึ้น การดำเนินนโยบายใด ๆ จะสัมฤทธิ์ผลได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

 

          การยื่นมือของ ธปท. เห็นได้ในหลายรูปแบบ เช่น การทำงานของสำนักงานภาคทั้งสามแห่งของ ธปท. ที่เป็นกลไกสำคัญในการการจับชีพจรและลงพื้นที่ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมในระดับภูมิภาค ข้อมูลและความคิดเห็นจากพื้นที่จะช่วยให้การทำงานของ ธปท. ตอบโจทย์ได้ตรงจุด อยู่บนฐานความเข้าใจประชาชนอย่างแท้จริง

 

          นอกจากนี้ ธปท. ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่พ้นไปจากความคุ้นชิน เดิม ธปท. มักทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แต่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป อาทิ การใช้ mobile banking ทำให้ ธปท. ต้องทำงานและเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่สอดคล้องกันและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดย ธปท. มีแนวโน้มที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลนอกภาคการเงินในลักษณะนี้มากขึ้นในอนาคต

 

          นอกจากนี้ การทำงานภายในของ ธปท. ก็ใช้หลักการยื่นมือด้วยเช่นกัน เช่น การประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน รวมไปถึงการส่งเสริมคนทำงานจากล่างขึ้นบน (bottom - up) ด้วยการเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเลือกพัฒนาศักยภาพของตนได้ตามความต้องการ เพื่อเพิ่มทักษะที่เป็นประโยชน์ต่องานในปัจจุบันและต่อการเติบโตต่อไปในอนาคต

การลงพื้นที่ในระดับภูมิภาคเพื่อเก็บข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่จริง รวมถึงให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงินแก่ประชาชน

 

ติดดิน


 

          "ติดดิน" คือ การเข้าใจปัญหา เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงและการถ่อมตน ซึ่งมาจากสองทาง ทางแรกคือการเปิดใจรับฟังความเห็นและมุมมองที่แตกต่างจากภายนอก ทางที่สองคือ การสื่อสารกับสาธารณะของ ธปท. ที่ต้องเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง ทำเรื่องยากให้ง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดย ธปท. ตระหนักอยู่เสมอว่า การติดดินจะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่าง ธปท. กับสาธารณะ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินนโยบายของ ธปท. ที่อยู่บนฐานความรู้ที่มีความซับซ้อน นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงและเกิดผลลัพธ์ตามต้องการ

 

          นอกจากนี้ การติดดินยังช่วย ธปท. เข้าใจสาธารณะและยึดโยงกับสังคม ไม่ใช่องค์กรที่ทำงานอยู่บนหอคอยงาช้างที่ไม่เข้าใจชีวิตจริงของผู้คน เรื่องนี้สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือและศรัทธาให้กับ ธปท.

 

          การติดดินของ ธปท. สะท้อนผ่านการปรับวิธีการสื่อสารองค์กรสู่สาธารณะในรูปแบบใหม่ โดย ธปท. มองเห็นว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ ธปท. โดยเฉพาะประชาชนคนไทย มีความหลากหลายและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น รูปแบบการสื่อสารของ ธปท. จึงมีความหลากหลาย อาทิ งานวิชาการ ข้อมูล และบทวิเคราะห์เชิงนโยบายที่เหมาะสำหรับกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร และคนที่ทำงานในภาคการเงิน และงานสื่อสารกับสังคมวงกว้างและประชาชนทั่วไปที่สกัดเฉพาะแก่นเนื้อหา เล่าด้วยภาษาที่ง่าย และมีความผ่อนคลายมากกว่า เป็นต้น

 

          นอกจากการปรับปรุงในเชิงเนื้อหาแล้ว ธปท. ยังพัฒนาช่องทางสื่อสารที่หลากหลาย สอดคล้องกับแนวทางดำรงชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนไป โดย ธปท. ได้เพิ่มช่องทางสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ เช่น Facebook  Twitter  Line และ YouTube เพื่อสื่อสารได้เร็วและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ธปท. ก็ปรับช่องทางการสื่อสารแบบเดิม เช่น ปาฐกถา เวทีเสวนาต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT Symposium) ที่หันมาให้ความสำคัญกับรูปแบบเวทีที่หลากหลาย วิทยากรหลากวงการ และวิธีการเล่างานวิชาการให้สนุกและสร้างสรรค์กว่าที่เคยเป็น   

 

           อีกหนึ่งหมุดหมายที่สะท้อนถึงความ "ติดดิน" ของ ธปท. คือ การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับแบ่งปันความรู้ที่เปิดให้ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการผ่านช่องทางปกติและทางออนไลน์ ศูนย์การเรียนรู้ฯ ไม่เพียงแต่จะเป็น "พื้นที่" ให้คนภายนอก ธปท. เข้ามาใช้ทำงานส่วนตัวเท่านั้น หากแต่ยังเปิดโอกาสคนที่เข้ามาใช้ได้เข้าใจบทบาทหน้าที่และวิธีคิด วิธีการทำงานของ ธปท. มากขึ้น ในด้านกลับกัน ธปท. ก็มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากประชาชนหลากหลายกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ ธปท. สามารถปรับปรุงเนื้อหาและวิธีการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

 

รูปภาพประกอบเนื้อหา

 

          ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ซับซ้อน คลุมเครือ และไม่แน่นอน การ "ยืนตรง" และ "มองไกล" จะทำให้ ธปท. เป็นหลักให้กับเศรษฐกิจไทยได้อย่างแท้จริง ในขณะที่การ "ยื่นมือ" และ "ติดดิน" จะช่วยทำให้ ธปท. มีคุณค่า ความหมาย และยึดโยงกับสังคมไทย