สำนักงานภาคกับการ "ยื่นมือและติดดิน" 

เพื่อประชาชน ธุรกิจ และเศรษฐกิจในพื้นที่

โครการผู้บริหาร ธปท.

 

หนึ่งในพันธกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะธนาคารกลาง คือการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินให้มีเสถียรภาพและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ครอบคลุมทั้งประเทศไทย คอลัมน์เศรษฐกิจติดดินในครั้งนี้ จึงขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ ธปท.  ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด พวกเขาเดินสำรวจตลาด พูดคุยกับเกษตรกร ดูแลความเป็นไปของเศรษฐกิจต่างจังหวัด การค้าชายแดน และแรงงานคืนถิ่น รวมไปถึงความปลอดภัยด้านการเงินให้กับคนไทยในมาเป็นเวลาเกือบ 60 ปี

 

 

ทำไม ธปท. ต้องจัดตั้งสำนักงานภาค


 

          ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา ธปท. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค จึงเริ่มจัดตั้งสำนักงานภาคแห่งแรกขึ้นในปี 2507 คือสำนักงานภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ตามมาด้วยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่นในปี 2511 และสำนักงานภาคเหนือที่จังหวัดลำปางในปี 2512 ก่อนย้ายมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2540 ตามลำดับ เพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางให้กับแต่ละภูมิภาค

 

          สำนักงานภาคจะอาศัยข้อได้เปรียบที่มี คือความรู้ ความเข้าใจ และความใกล้ชิดกับพื้นที่ มาช่วยหาข้อมูล วิเคราะห์ และสนับสนุนการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของ ธปท. ได้อย่างตรงจุด ขณะเดียวกัน สำนักงานภาคยังมีบทบาทในการช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่โดยการช่วยคิดและให้คำปรึกษาในประเด็นเศรษฐกิจการเงินที่เชื่อมโยงและเป็นประโยชน์กับภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนความช่วยเหลือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตต่าง ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจภูมิภาคสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

          โดยบทบาทสำคัญของสำนักงานภาคมี 2 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ คือการติดตามภาวะและวิเคราะห์วิจัยประเด็นเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นเกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่น่าสนใจในภูมิภาค และด้านการเงิน คือการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและมาตรการทางการเงินที่สำคัญ ตลอดจนการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและวินัยทางการเงินให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่

 

 

ลงพื้นที่จับชีพจรเศรษฐกิจ


 

          การจับชีพจรเศรษฐกิจที่ครอบคลุม รวดเร็ว และทันการณ์มีความสำคัญต่อการวางแผนและการตัดสินใจของประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเกษตรและภาคการผลิต ซึ่งการตัดสินใจที่ถูกต้องจะไม่เพียงส่งผลดีต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคและประเทศในภาพรวม

 

          ในการจับชีพจรเศรษฐกิจ ธปท. ไม่ได้อาศัยเพียงข้อมูลสถิติหรือตัวเลข แต่ยังอาศัยข้อมูลเชิงคุณภาพจากการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกับภาคธุรกิจผ่านโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจ (Business Liaison Program: BLP) ที่เริ่มทำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐ

 

ภาพประกอบ

 

          ประเด็นที่ ธปท. สนใจ อาทิ ปัญหาในการดำเนินธุรกิจ รายได้ การจ้างงาน ต้นทุน และความเชื่อมั่นต่อสภาพเศรษฐกิจ และนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงิน ขณะเดียวกัน โครงการ BLP ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางของ ธปท. ในการสื่อสารแนวทางการดำเนินนโยบายและมาตรการทางการเงินต่าง ๆ รวมถึงได้มีโอกาสรับฟังมุมมอง ข้อกังวล หรือข้อเสนอแนะของประชาชนและภาคธุรกิจที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อนำมาประกอบการออกแบบหรือปรับปรุงนโยบายและมาตรการทางการเงินของ ธปท. ให้เหมาะสมและตรงจุดกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

 

 

ศึกษา - วิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้เศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน


 

          สำนักงานภาคยังจัดทำบทวิเคราะห์วิจัยและงานศึกษา ทั้งในรูปแบบสั้นและเชิงลึก เพื่อเป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค โดยบทวิเคราะห์วิจัยแบบสั้นจะเน้นประเด็นที่เกาะกระแสหรือกำลังเป็นที่สนใจ เช่น การเผาอ้อยที่เป็นสาเหตุของ PM 2.5 เทรนด์อาหารโลก plant-based meat ที่อาจสามารถยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรได้ รวมไปถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าจีน - ลาวที่มีนัยต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อให้การวิเคราะห์ทันต่อเหตุการณ์และเป็นประโยชน์ในช่วงเวลานั้น ๆ

 

          สำหรับงานศึกษาวิจัยเชิงลึก จะเน้นประเด็นที่จะเกิดขึ้นหรือมีผลกระทบในระยะยาวมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งบทความและงานศึกษาเหล่านี้ จะอยู่ในรูปแบบที่อ่านและเข้าถึงได้ง่าย ผ่านเว็บไซต์ ธปท. เป็นหลัก พร้อมทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามและแลกเปลี่ยนมุมมองหรือข้อคิดเห็นกับผู้ทำการศึกษาได้อีกด้วย

 

 

ดึงเทคโนโลยีเข้าช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการ


 

          ความรู้ความเข้าใจและความใกล้ชิดกับพื้นที่ยังทำให้ ธปท. ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของท้องถิ่น อย่างช่วงที่ผ่านมา ชาวนาประสบกับปัญหาการปลูกข้าวแบบดั้งเดิมที่อาจทำให้ราคาและปริมาณผลผลิตข้าวตกต่ำ รวมถึงคุณภาพข้าวลดลง อาทิ ข้าวมีความชื้นสูง ทำให้ราคาข้าวไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร การจะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับหลักทางการวิชาการ เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต และยกระดับมาตรฐานคุณภาพข้าว โดยทาง ธปท. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ริเริ่มโครงการนำร่อง Social lab เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวตามหลักวิชาการ โดยร่วมกับอีก 4 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมการข้าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บริษัท คิว บ็อกซ์ พอยท์ จำกัด และบริษัท สฤก จำกัด ซึ่งนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ขอนแก่น พิจิตร และร้อยเอ็ด โดยนำเอาเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์มสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในแต่ละขั้นตอน โครงการนี้ทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้และเข้าใจการปลูกข้าวตามหลักวิชาการ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพร้อมทั้งได้ลงมือปฏิบัติจริง และยังช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถอดบทเรียน เพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้ การลงพื้นที่จริงยังทำให้พบว่า มีชาวนาจำนวนไม่น้อยเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตและการทำการเกษตรมากขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต

 

ภาพประกอบ

 

          การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วประเทศเผชิญกับความท้าทายหลากหลายประการ ธปท. จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีข้อมูลและเครื่องมือที่รวดเร็วและทันการณ์มากขึ้น จึงยกระดับการติดตามภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาค ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เพิ่มเติม ด้วยการพัฒนาเครื่องชี้เร็ว ภายใต้ชื่อ BOT Regional Activity Tracker (BOT RAT) เพื่อให้สามารถติดตามภาวะเศรษฐกิจและประเมินเศรษฐกิจได้อย่างทันการณ์มากขึ้น เพราะข้อมูลที่ติดตามในสภาวะปกติมักมีความถี่รายเดือนและล่าช้า โดยเครื่องมือนี้จะอาศัยข้อมูลที่มีความถี่และความเร็วสูง เช่น Facebook Movement Range ที่สะท้อนการเคลื่อนที่ของประชาชนในภูมิภาคในระดับรายอำเภอ ดัชนีสะท้อนการเดินทางทางบกที่สะท้อนถึงการท่องเที่ยวในภูมิภาคผ่านการเดินทางโดยยานพาหนะ 4 ล้อ และดัชนีการซื้อสินค้าออนไลน์ที่สะท้อนความสนใจของประชาชนในภูมิภาคในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ข้อมูลเร็วเหล่านี้จะช่วยสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ตอบโจทย์กลุ่มผู้ประกอบการที่สามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจในระยะข้างหน้าได้ รวมถึงยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปที่สนใจอีกด้วย

 

 

สร้างภูมิคุ้มกันและเสริมเกราะป้องกันทางการเงิน


 

          อีกบทบาทที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบทบาทด้านเศรษฐกิจ คือการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความรู้และพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ตั้งแต่การวางแผนทางการเงินในชีวิตประจำวัน การออมเงิน การลงทุน การบริหารจัดการหนี้ และการเตือนภัยทางการเงิน ซึ่งจะนำไปสู่การมีภูมิคุ้มกันที่ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในช่วงที่ดีหรือซบเซาได้ โดย ธปท. ได้ให้ความรู้กับประชาชนผ่านการบรรยายทั้งในพื้นที่และช่องทางออนไลน์ การเขียนบทความและการทำสื่อที่เข้าใจง่ายอย่างคลิปเสียงภาษาท้องถิ่น นำไปเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนในพื้นที่ท้องถิ่นและพันธมิตรเครือข่ายการสื่อสารในระดับจังหวัด รวมถึงสื่อสารผ่านผู้นำชุมชนให้แจ้งเตือนผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน เพื่อให้ความรู้และการเตือนภัยทางการเงินกระจายไปยังกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม ขณะเดียวกันประชาชนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้สะดวกขึ้นด้วย

 

          นอกจากการให้ความรู้โดยตรงแล้ว ธปท. ยังได้จัดอบรมให้กับตัวแทนพนักงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้นำความรู้ทางการเงินไปถ่ายทอดต่อในองค์กรและกระตุ้นการปรับพฤติกรรมทางการเงินให้บุคลากรของตนเอง

 

          ความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับการส่งเสริมความรู้ทางการเงินในภูมิภาคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ในการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ ธปท. ร่วมจัดทำกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สะท้อนว่าในภาพรวม ไทยมีพัฒนาการทางการเงินที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2563 คนไทยมีระดับทักษะทางการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 71% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 และปี 2561 ที่ 61% และ 66.2% ตามลำดับ รวมถึงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 60.5% และหากพิจารณาองค์ประกอบของทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ทางการเงิน พฤติกรรมทางการเงิน และทัศนคติทางการเงิน พบว่า คนไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้านเช่นกัน

 

การบรรยายให้ความรู้ทางการเงิน

 

อุ่นใจกับผู้ให้คำปรึกษาปัญหาหนี้


 

          อีกหนึ่งบทบาทด้านการเงินของสำนักงานภาค คือ การให้คำปรึกษาผู้ใช้บริการทางการเงินทั้งที่เป็นผู้ประกอบการและรายบุคคลในแต่ละภูมิภาค ผ่าน call center หมายเลข 1213 โดยในปีที่ผ่านมา ผู้ขอรับคำปรึกษาส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้มีรายได้ลดลง ขณะที่ยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระและไม่ทราบว่าจะต้องจัดการหนี้อย่างไร ธปท. ได้ช่วยให้คำปรึกษาพร้อมทั้งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อย่างแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การทำแผนชำระหนี้ที่ชัดเจน วางแผนทางเลือกที่สอดคล้องกับกระแสเงินสดเพื่อเสนอต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ รวมถึงหาทางออกอื่น ๆ เพื่อลดภาระหนี้จนผู้ประกอบการและประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนได้สำเร็จ

 

          การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบททางเศรษฐกิจและการเงินในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ ธปท. ยิ่งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารและการสร้างความเข้าใจด้านเศรษฐกิจและการเงินเชิงรุกที่ถูกต้องและทั่วถึง ในระยะ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ธปท. จึงมุ่งสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและระบบการสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในภูมิภาค ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานการศึกษา และสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์สำคัญเชิงพื้นที่ให้ได้ดียิ่งขึ้น กล่าวคือ เข้าใจปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ และสำนักงานภาคสามารถช่วยคิด ให้มุมมอง ให้คำแนะนำและคำปรึกษาในประเด็นด้านเศรษฐกิจการเงินที่เชื่อมโยงและเป็นประโยชน์กับภูมิภาคได้ พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มความครอบคลุมและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ของ ธปท. ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ตลอดจนเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างทันท่วงที

 

          จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ เกือบ 60 ปีของการจัดตั้งสำนักงานภาค ได้มุ่งมั่นในการทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางให้กับแต่ละภูมิภาค และหากมองไปข้างหน้า สำนักงานภาคจะยังคงดูแล พัฒนา และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาคให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป