ความสำเร็จข้ามศตวรรษ ตำนานองค์กรที่มีอายุยืนนานของโลก

 

ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความไม่แน่นอนในโลกเป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ส่งผลให้แนวโน้มธุรกิจยุคใหม่เป็นแบบเกิดไวแต่มีวงจรชีวิตสั้น ขณะเดียวกันก็ยังมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนานนับศตวรรษ องค์กรระดับตำนานเหล่านี้ปรับตัวอย่างไรเพื่อก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและยังคงความแข็งแกร่งอยู่ในปัจจุบัน

 

 

เสน่ห์แห่งเอกลักษณ์ของธุรกิจมรดกทางวัฒนธรรม


 

ร้านชาญี่ปุ่น Tsuen Tea (通圓) เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของธุรกิจที่ได้รับมรดกทางวัฒนธรรมและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยจนสืบทอดมากว่า 861 ปี Tsuen Tea เป็นร้านชาร้านแรกของเมืองอุจิ จังหวัดเกียวโต ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งชาเขียว และร้านชาแห่งแรกในญี่ปุ่น ตั้งแต่ก่อตั้งจนมาถึงการสืบทอดของทายาทรุ่นที่ 24

 

ภาพประกอบ

 

จุดแข็งของธุรกิจนี้ คือมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ กำเนิดธุรกิจจากซามุไรในสมัยเฮอัน (พ.ศ. 1703) โดยหัวใจหลักเป็นการทำธุรกิจด้วยความสุขที่ได้เห็นลูกค้าเพลิดเพลินกับการดื่มชา Tsuen Tea จึงเป็นที่พักผ่อนจิบชาของชนชั้นสูงอย่างเจ้าเมือง นักบวช และซามูไรในสมัยนั้น แม้ปัจจุบันจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจำนวนมากแต่ยังคงเป็นเป้าหมายของนักเดินทางจากทั่วโลกที่มาดื่มชาเขียวที่มีชื่อเสียง ปรัชญาการดำเนินธุรกิจของ Tsuen Tea ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือการตั้งเป้าเป็นร้านชาที่ดีที่สุดของทุกยุคทุกสมัย รวมถึงต้องการส่งมอบความสุขผ่านถ้วยชาให้แก่ลูกค้าและคนในชุมชน ท่ามกลางบรรยากาศร้านชาญี่ปุ่นดั้งเดิม ชาชั้นดีชงด้วยวิธีโบราณ ต้มน้ำกับเตาถ่าน ตักน้ำด้วยกระบวยไม้ไผ่ และใช้ช้อนไม้ไผ่ปลายดัด (ชาฉะคุ) ตักชา

 

ภาพประกอบ

 

อย่างไรก็ดี ธุรกิจครอบครัวที่ไปได้ดีก็ต้องปรับตัวเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกมาถึง กาแฟหรือชาสำเร็จรูปได้รับความนิยม แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยความเชื่อมั่นในบริการที่เน้นความสุขของลูกค้าและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย นอกจากนั้นยังเพิ่มตัวเลือกให้หลากหลายมากขึ้นและเพิ่มเมนูของหวานให้โดนใจคนยุคใหม่ เช่น ไอศกรีมชาเขียวพาร์เฟต์รสเข้มข้นกับโมจิ อีกทั้งอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโดยออกผลิตภัณฑ์ชาออร์แกนิกในรูปแบบถุงชา ชาบรรจุกระป๋อง และกระจายสินค้าในคาเฟหลายแห่งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ ทำให้ลูกค้าทั่วโลกได้มีโอกาสชิมชาชั้นดีผ่านการขายออนไลน์

 

 

แล่นผ่านกาลเวลาไปกับธุรกิจยานยนต์โลก


 

ในอุตสาหกรรมยานยนต์ BMW (Bayerische Motoren Werke AG) เป็นอีกองค์กรที่เป็นตำนาน แรกก่อตั้งในปี 2459 มาจากบริษัทผลิตเครื่องยนต์เครื่องบิน BMW เคยผ่านการปรับองค์กรมาหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้งที่ได้ผลิตเครื่องยนต์ให้เครื่องบินของกองทัพเยอรมัน เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม ทำให้ต้องหันไปผลิตเครื่องมือทำฟาร์มเพื่อความอยู่รอด และในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังเยอรมนีแพ้สงคราม BMW สูญเสียทั้งโรงงานและเครื่องจักร ต้องปรับมาผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน ประสบการณ์ทางธุรกิจที่ BMW ได้เรียนรู้หลังกลับสู่วงการมอเตอร์ไซค์และรถยนต์เมื่อได้ผลิตรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุดในยุคนั้น แต่ความต้องการของผู้คนหลังสงครามคือเครื่องอุปโภคบริโภค บริษัทจึงประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ต่อมาปรับกลยุทธ์มาผลิตรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

 

ภาพประกอบ

 

องค์กร BMW ดำเนินธุรกิจมาถึง 106 ปี ด้วยความเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ยึดแนวคิดขับสนุก สมรรถนะยอดเยี่ยม ประหยัดน้ำมัน ลดมลภาวะ ควบคู่ไปกับความปลอดภัย ส่งผลให้ BMW เป็นผู้นำนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ รถยนต์ไร้คนขับ และรถยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบัน BMW เป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

          อีกแบรนด์หนึ่งที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่องได้แก่ Toyota บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากญี่ปุ่นที่มีอายุองค์กรกว่า 84 ปี ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร Toyota ฝ่าฟันอุปสรรคในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ พิษเศรษฐกิจจากสงครามโลกครั้งที่ 2 วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และวิกฤตทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกมากมายแต่สามารถฝ่าฟันมาได้ด้วย 5 หลักคิดพื้นฐานของคุณ Sakichi Toyoda ผู้ก่อตั้ง คือ (1) ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ทุ่มเทให้งานจนสุดความสามารถ (2) ขยัน มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่นที่จะก้าวให้เร็วกว่ายุคสมัย (3) ลงมือทำจริงจัง (4) สร้างบรรยากาศในที่ทำงานเหมือนบ้าน อบอุ่น เป็นกันเอง (5) ขอบคุณและให้ความเคารพจิตวิญญาณของผู้คน

 

ภาพประกอบ

 

หลักคิดทั้ง 5 พัฒนามาสู่วิถีแห่งโตโยต้า (Toyota Way) หนึ่งในนั้นคือ หัวใจหลักอย่างไคเซ็น (Kaizen) มาจากภาษาญี่ปุ่น หมายถึง “เปลี่ยนให้ดีขึ้น” ซึ่งมุ่งเน้นการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง และเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับช่วงเวลานั้น ๆ ที่เห็นได้ชัดคือการปรับการผลิตรถยนต์แบบเดียวกันเป็นจำนวนมากไปสู่การผลิตจำนวนน้อย เนื่องด้วยรถยนต์หลายรูปแบบและหลายรุ่นเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคมากกว่า และการผลิตรถยนต์แบบเดียวกันจำนวนมากนอกจากไม่ตรงตามความต้องการโดยตรงของตลาดแล้ว ยังก่อให้เกิดความสูญเปล่าอื่น ๆ ที่มีต้นทุน อาทิ เครื่องจักรทำงานหนัก ต้องสต็อกสินค้าจำนวนมาก บวกกับบริษัทคิดค้นระบบการผลิตที่ประหยัดเวลา ลดกระบวนการสิ้นเปลือง โดยเมื่อสามารถลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นและผลิตสินค้าที่หลากหลายได้ตรงความต้องการของผู้บริโภค จนเกิดเป็นผลิตภาพ (productivity) ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถก้าวขึ้นเป็นบริษัทยานยนต์ที่ผลิตได้มากที่สุดในโลกและสร้างยอดขายในปี 2562 สูงที่สุดของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ไคเซ็นจึงนับเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ Toyota ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และนำพาองค์กรฝ่าฟันอุปสรรคอย่างแข็งแกร่ง ในที่สุดก็สามารถก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลก

 

 

การปรับตัวเพื่อรับ Digital Transformation


 

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลกอย่าง Microsoft ที่มีอายุยาวนานถึง 46 ปี ยังต้องปรับตัวตามให้ทัน ในปัจจุบัน Microsoft มุ่งเน้นไปที่ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ “Multi - device” ที่สามารถใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ “Artificial Intelligence: AI” ซึ่งสามารถเรียนรู้และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ “Serverless” คือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จากทุกที่

          นอกจากนี้ Microsoft ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับ digital transformation โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับการทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา การสร้างสรรค์แอปพลิเคชันเชิงธุรกิจตัวใหม่อย่าง Microsoft Dynamics 365 ที่รวมเอาระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) และระบบจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management: CRM) เข้าด้วยกัน รวมถึงมี Hybrid Cloud ที่เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างระบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบ Private Cloud และ Public Cloud ที่ถูกนำมาใช้ร่วมกัน เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการได้มากยิ่งขึ้น

ภาพประกอบ

 

ธุรกิจไทย (อายุ) ไกลเกินร้อย


 

ในประเทศไทยเองก็มีองค์กรอายุยืนยาวหลายแห่งที่ผ่านการปรับตัวเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อาทิ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด องค์กรรัฐวิสาหกิจอายุ 141 ปีที่ต้องปรับกลยุทธ์ในสนามโลจิสติกส์แข่งกับเอกชนอีกหลายเจ้า และยังเพิ่มรูปแบบธุรกิจ เช่น ส่งของกิน “อร่อยทั่วไทย” และจับมือไปรษณีย์ญี่ปุ่นเปิด Cool EMS ส่งผลไม้สดและปลาดิบถึงบ้าน หรือบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ที่ก่อตั้งมากว่า 130 ปี จากร้านขายยาเล็ก ๆ ย่านสำเพ็ง เดินทางมาจากการเป็นธุรกิจครอบครัวก้าวสู่การปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ เปิดโอกาสให้นักบริหารมืออาชีพเข้าร่วมงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง พร้อมนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหาร จัดการข้อมูล พร้อมขยายตลาดไปยังต่างประเทศและขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล

          แม้องค์กรเหล่านี้จะดำเนินธุรกิจมานาน ด้วยความใส่ใจคุณภาพสินค้า ให้บริการลูกค้าด้วยใจ มีหลักธรรมาภิบาลที่ดี ยึดมั่นในความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะยืดหยุ่นและปรับตัวเมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งต่อไปไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม

 

ภาพประกอบ