80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย 
กับการเปลี่ยนแปลงเพื่อยืนหยัดดูแลเศรษฐกิจการเงินไทย

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

 

ในโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดำเนินงานครบ 80 ปีในปี 2565 นี้ BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 21 มาสื่อความในใจที่มีต่อพนักงานทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถึงการเดินทางอันยาวนานของธนาคารกลาง สิ่งที่เปลี่ยนไป และอะไรที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

 

          พี่ ๆ อดีตพนักงาน เพื่อน ๆ พนักงาน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยทุกท่านครับ นับตั้งแต่พิธีเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ที่ถนนสี่พระยา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 เป็นต้นมา ในปี 2565 นี้ ธปท. จะถือว่าได้ดำเนินการมาครบ 80 ปีพอดี

          ช่วงเวลาเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา ธปท. ต้องรับมือกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่วิกฤตค่าเงินบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การขาดแคลนธนบัตร วิกฤตการณ์ราชาเงินทุน วิกฤตต้มยำกุ้ง จนมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มมาจากโควิด 19 และยังอยู่กับเราจนปัจจุบัน ซึ่งตลอด 80 ปีนี้ ธปท. ได้ยืนหยัดและทำงานเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

          การที่ ธปท. เดินทางมาถึงจุดนี้ เป็นองค์กรที่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม ทั้งในเรื่องความสามารถ ความเป็นมืออาชีพ ความโปร่งใส ในอันดับต้น ๆ ของประเทศมาอย่างต่อเนื่องนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีพนักงาน ธปท. ทุกท่าน ทั้งที่อยู่กับองค์กร ณ ขณะนี้ และที่สำคัญคือ พี่ ๆ รุ่นก่อน ๆ ที่เข้ามาร่วมกันสร้าง "สถาบัน" แห่งนี้ขึ้น และดูแลให้เรายังยืนหยัดทำหน้าที่ได้ดีตลอดมา

          ดังนั้น เนื่องในโอกาสที่ ธปท. จะครบรอบ 80 ปี ผมคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะชวนพวกเราทุกคนมาย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ระหว่าง 80 ปีที่ผ่านมาว่า ธปท. ได้ผ่านอะไรมาบ้าง รวมถึงชวนคิดต่อไปด้วยว่าในอนาคตอีก 80 ปีข้างหน้า ธนาคารกลางแห่งนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

 

 

ทุนขององค์กร : ประสบการณ์กับความน่าเชื่อถือ


 

ด้วยเวลาที่ผ่านมาเกือบ 80 ปี ธปท. ถือว่าเป็นธนาคารกลางที่มีอายุมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคนี้[1] รองจากธนาคารกลางญี่ปุ่นและอินเดีย ถ้าจะเปรียบกับคนก็ต้องเรียกว่า ธปท. เป็นคนที่มีอายุพอสมควร และถึงเวลาที่ต้องคิดถึงเรื่องการส่งผ่านความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้สั่งสมมาตลอดชีวิตให้แก่คนรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดต่อไป แต่สิ่งที่ทำให้องค์กรต่างจากคนทั่ว ๆ ไป ก็คือการไม่มีอายุขัย ซึ่งทำให้องค์กรสามารถเติบโตไปได้เรื่อย ๆ สั่งสมความรู้และประสบการณ์ต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆ และนั่นก็คือ "ทุน" ที่องค์กรทุกแห่งจะได้รับและเก็บสะสมไว้

          "ทุน" สำคัญที่องค์กรสามารถสะสมไว้ได้ มีสองอย่างด้วยกัน คือประสบการณ์และความน่าเชื่อถือ ผมเชื่อว่าถ้าจะเทียบธนาคารกลางของประเทศเกิดใหม่สักประเทศหนึ่ง กับธนาคารกลางที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน ถ้ามองในเรื่องความรู้ทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ นโยบายการเงิน การใช้โมเดลต่าง ๆ หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ คงจะไม่ได้มีใครเก่งยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่สิ่งที่ธนาคารกลางใหม่ ๆ ยังไม่มี ยังไม่สามารถสั่งสมได้ก็คือประสบการณ์และความน่าเชื่อถือนั่นเอง

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

 

ในเรื่องของประสบการณ์ ผมได้เกริ่นไปบ้างแล้วว่า ธปท. ของเราผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ต้องเผชิญกับวิกฤต ความท้าทายต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา และต้องยอมรับว่า เราอาจไม่ได้รับมือกับวิกฤตได้ดีในทุกครั้ง แน่นอนว่าพวกเราที่อยู่หน้างานในช่วงวิกฤตต่างก็ทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังให้ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ณ ขณะนั้น แต่ย่อมจะมีบางเรื่องที่ถ้ามองย้อนกลับไป ด้วยประสบการณ์หรือความรู้ที่เรามีมากขึ้น และเห็นภาพต่าง ๆ ชัดเจนขึ้นแล้ว ทำให้เห็นได้ว่าในวิกฤตบางครั้ง เราน่าจะทำอะไรที่แตกต่างออกไปได้

          กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ผมมองว่า ธปท. ทำได้ดีมากคือ การเรียนรู้จากวิกฤตต่าง ๆ และนำบทเรียนเหล่านั้นมาปรับปรุงการทำงานของเรา อย่างที่ Winston Churchill อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ได้กล่าวไว้ว่า "อย่าปล่อยให้วิกฤตดี ๆ เสียเปล่า (Never let a good crisis go to waste.)" จากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น ธปท. ได้ปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลต่าง ๆ จนทำให้ทุกวันนี้ระบบสถาบันการเงินของไทยมีขนาดใหญ่และมั่นคงขึ้นมาก เงินกองทุนอยู่ในระดับสูง เงินสำรองสำหรับหนี้เสียก็อยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานสากล อีกทั้งการบริหารจัดการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้วยข้อมูลที่ลึก ทันการณ์ และตรงประเด็นขึ้น สามารถนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงแต่ละประเภทได้ดีกว่าในอดีต

          นอกจากประสบการณ์แล้ว ทุนอย่างที่สองที่องค์กรสามารถสะสมไว้ได้ ก็คือความน่าเชื่อถือ ทั้งในด้านความโปร่งใสและด้านความสามารถ ด้วยความที่ ธปท. ต้องทำงานที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและต้องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล ทุนส่วนนี้จึงมีความสำคัญมาก ซึ่ง ธปท. ก็ได้พิสูจน์จนเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นองค์กรที่สาธารณชนให้ความไว้วางใจ สะท้อนจากผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ที่ในปีนี้ ธปท. อยู่ในระดับ A ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และผลการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ธปท. ที่ชี้ว่า ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ เชื่อมั่นในความรู้ ความสามารถของพนักงานองค์กรของเรา ทั้งประสบการณ์และความน่าเชื่อถือจึงเป็นทุนสองอย่างที่ ธปท. ได้สะสมมาทีละเล็กทีละน้อยตลอดเวลาเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา จนทำให้เรามายืนอยู่ที่จุดนี้ได้

          อย่างไรก็ดี มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ความไว้ใจนั้นใช้เวลาเป็นปี ๆ ในการสร้าง แต่ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการทำลาย และใช้เวลาชั่วชีวิตในการกอบกู้คืนมา ดังนั้น "ทุน" โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือที่สะสมมานี้จึงเป็นสิ่งที่เปราะบาง และสามารถพังทลายได้ในเวลาอันสั้นเช่นกัน

          ในความเห็นของผม ความเสี่ยงสำคัญที่สุดที่จะกระทบความน่าเชื่อถือขององค์กรของเรา หรือองค์กรใด ๆ ที่ถูกก่อตั้งมาเป็นเวลานานแล้ว ก็คือการที่องค์กรนั้นไม่สามารถปรับตัวให้ทันสถานการณ์ ซึ่งอาจทำให้องค์กรไม่สามารถทำตามพันธกิจได้ในที่สุด

 

 

"ทุน" ตัวถ่วงหรือเครื่องทุ่นแรง?


 

โลกทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเทคโนโลยี และต่อจากนี้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น รวดเร็วขึ้นอีก

          ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ บังคับให้ทุกคน ทั้งประชาชน ธุรกิจ หน่วยงาน รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตัว มีคำกล่าวเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการว่า "สายพันธุ์ที่อยู่รอดไม่ใช่สายพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดหรือสายพันธุ์ที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นสายพันธุ์ที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด" คำกล่าวนี้ไม่เพียงแต่ใช้ได้ดีกับการอยู่รอดของสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต แต่รวมถึงองค์กรอย่าง ธปท. ด้วย

 

แต่ในบริบทของโลกที่เปลี่ยนเร็ว เราอาจไม่สามารถปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง ได้เสมอไป ดังนั้น แทนที่จะมุ่งรักษาเสถียรภาพเพียงอย่างเดียว เราจะ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง resiliency หรือความเข้มแข็งทนทาน โดยต้องพร้อมรับมือและฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น"

 

ในวันนี้ เมื่อเราเป็นองค์กรที่นับว่ามีประสบการณ์พอสมควร คำถามที่สำคัญคือ เราจะใช้ประสบการณ์และความน่าเชื่อถือที่ ธปท. สั่งสมมานี้ มาเป็นตัวถ่วงไม่ให้เราปรับตัว หรือจะมาเป็นเครื่องทุ่นแรงให้เราสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น

          ในแง่หนึ่ง ถ้าเราไม่ระมัดระวัง ทุนที่เรามีอยู่ อาจกลายมาเป็นตัวถ่วงไม่ให้เราปรับตัวได้ เราคงเคยได้ยินเรื่องของบริษัทใหญ่บางบริษัทที่ไม่ยอมปรับตัวให้ทันกับกระแสของโลก จนสุดท้ายก็กลายเป็นบริษัทที่ล้าสมัย ผู้คนไม่สนใจ และต้องปิดตัวไปในที่สุด บริษัท Kodak ที่ยืนยันจะไม่หันไปพัฒนาเทคโนโลยีสื่อดิจิทัลและมุ่งมั่นผลิตฟิล์มถ่ายภาพท่ามกลางยอดขายกล้องฟิล์มที่ลดลงเรื่อย ๆ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เคยได้ยินกันบ่อย

          การที่ทุนนี้กลายมาเป็นตัวถ่วงเกิดได้จากสองปัจจัย ปัจจัยแรกคือทุนทางกายภาพ บริษัทที่ตั้งโรงงานใหญ่โต มีเครื่องจักรมากมายเพื่อผลิตสินค้าอย่างหนึ่ง เมื่อสินค้านั้นตกยุคไป บริษัทที่มีทุนเหล่านี้มากกว่า ก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าในการปรับตัว ปัจจัยที่สองคือทุนทางความคิด ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับองค์กรผู้ออกนโยบายอย่าง ธปท.

          องค์กรที่ประสบความสำเร็จ มีประวัติยาวนาน มีแนวโน้มที่จะคิดว่า สิ่งที่เคยทำมาเป็นสิ่งที่เหมาะสมเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรก้าวมาถึงจุดนี้ได้ นี่เป็นความคิดที่ค่อนข้างน่ากลัว เพราะในบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เราเคยทำแล้วแก้ปัญหาได้ในอดีต อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาที่เราจะเผชิญได้เสมอไป

          ผมจะขอยกตัวอย่างหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "ความคิด" ของผู้ออกนโยบายอย่างพวกเรา

          ในฐานะธนาคารกลาง พวกเรามีความคุ้นชินมากกับเรื่องเสถียรภาพ ก่อนหน้านี้ ในขณะที่โลกยังเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ วิธีที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพก็คือการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง นี่เป็นที่มาของภาพความเป็น "อนุรักษ์นิยม" ที่ติดตัวธนาคารกลางหรือหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด หากมีใครมาขออนุญาตทำสิ่งที่เรายังไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลอย่างไร ทางที่ง่ายที่สุดที่จะรักษาเสถียรภาพไว้คือการไม่อนุญาตให้ทำ เราจะยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อเรามั่นใจแล้วว่าจะไม่เกิดอะไรที่ไม่ดีขึ้น

          แต่ในบริบทของโลกที่เปลี่ยนเร็ว เราอาจไม่สามารถปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงได้เสมอไป ดังนั้น แทนที่จะมุ่งรักษาเสถียรภาพเพียงอย่างเดียว เราจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง resiliency หรือความเข้มแข็งทนทาน โดยต้องพร้อมรับมือและฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น เนื่องจากหากเราคำนึงถึงเสถียรภาพเพียงอย่างเดียว เราอาจกังวลถึงความเสี่ยงของการปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้น ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือเทคโนโลยีที่ทำให้บริษัทที่เพิ่งก่อตั้ง มีเงินทุนไม่สูง สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ให้กับคนทั่วโลกได้ ดังนั้น แม้ว่าการไม่อนุญาตให้ทำสิ่งใหม่จะทำให้เราควบคุมคนที่อยู่ในระบบได้ อาจสบายใจขึ้นและมีเวลามากขึ้นที่จะดูผลกระทบ แต่กิจกรรมก็ยังเกิดขึ้นได้อยู่ดี เพราะคนจะวิ่งไปหาสิ่งใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพกว่า ทำให้อาจไปเกิดขึ้นนอกระบบ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อเสถียรภาพในระยะยาวมากกว่า

 

นอกจากส่วนที่ sปท. จะต้องเปลี่ยน หรือพัฒนาแล้ว ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่ง อยู่คู่กับองค์กรของเรามาตั้งแต่ก่อตั้ง เมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้ว และผมเชื่อว่า จะต้องคงอย่ต่อไป นั่นคือการยืนหยัด ในการทำหน้ำที่อย่างเต็มกำลัง"

 

ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้ประสบการณ์และความน่าเชื่อถืออย่างถูกวิธี ทุนสองอย่างนี้ก็สามารถกลายมาเป็นตัวช่วยในการทำให้องค์กรปรับตัวได้ง่ายขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อองค์กรต้องตัดสินใจปรับตัว ทำอะไรที่อาจจะยังไม่เป็นที่เข้าใจในวงกว้างแต่ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก ซึ่งหากองค์กรไม่มีประสบการณ์และความน่าเชื่อถือเป็นทุนเดิม ย่อมจะทำให้สังคมเกิดความไม่มั่นใจ และกลายเป็นกระแสรั้งให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ยาก แต่หากองค์กรนั้นได้รับความไว้วางใจจากสังคม ทั้งในเรื่องความโปร่งใสและความสามารถ สังคมก็จะเชื่อมั่นว่าความเปลี่ยนแปลงที่องค์กรเสนอ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศ และได้ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว

          ถ้าเรายังจำกันได้ เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงที่เริ่มใช้ระบบพร้อมเพย์ ผู้ใช้มีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ความเสี่ยงในการถูกโอนเงินออกหากผู้อื่นทราบหมายเลขประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชี แต่ด้วย "ทุน" ที่สะสมมา และการสื่อสารทำความเข้าใจต่อเนื่อง ทำให้สาธารณชนไว้วางใจ และจนทุกวันนี้ ระบบพร้อมเพย์มีผู้ใช้บริการถึง 67.5 ล้านหมายเลข เฉลี่ยต่อวัน 34.9 ล้านรายการ 97.1 พันล้านบาท (ข้อมูล ณ ตุลาคม 2564) และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ค่าบริการโอนเงินของประชาชนลดลงมาก สร้างประโยชน์ให้กับหลายภาคส่วนและช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยในอีก 80 ปีข้างหน้า


 

พี่ ๆ อดีตพนักงาน และเพื่อน ๆ พนักงานทุกท่านครับ ธปท. เป็นองค์กรที่พวกเราทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลให้เติบโตไปพร้อมกับโลกและสังคมรอบข้าง การเป็นผู้ดูแลที่ดีนั้น นอกจากจะเก็บรักษาของเดิมที่ดีไว้แล้ว เราก็ต้องคอยพัฒนา เสริมสร้างองค์กรให้ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น เท่าทันขึ้น มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เพื่อส่งต่อไปยังผู้ดูแลรุ่นต่อ ๆ ไป ที่จะมารับหน้าที่ในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศต่อจากเรา

          และหากผมต้องตอบคำถามให้กับน้อง ๆ รุ่นต่อ ๆ ไปว่าอีก 80 ปี จะเกิดอะไรขึ้นกับ ธปท. หรือเศรษฐกิจของประเทศบ้าง ในวันที่ความเปลี่ยนแปลงก้าวเข้ามาเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ผมคิดว่าคงจะมีสองส่วน

          ส่วนแรก คือส่วนที่ ธปท. จะต้องเปลี่ยน ต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เท่าทันกับบริบทของโลก ในเรื่องนี้ มีหลายอย่างที่เราพอจะเห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำ FX ecosystem ให้เงินทุนเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศได้ง่ายตามความกังวลเรื่องกระแสเงินไหลเข้าออกที่ไม่สมดุล หรือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลรายละเอียดจากสถาบันการเงินหรือการติดตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ ธปท. สามารถออกมาตรการได้ตรงจุดมากขึ้น เช่น การติดตามภาวะหนี้ หรือการออกเกณฑ์ LTV การปรับกลยุทธ์การสื่อสารให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น จากเดิมที่ต้องรอให้มั่นใจว่าข้อมูลทุกอย่างถูกต้องจึงจะสื่อสาร มาเป็นการสื่อสารที่ให้ข้อมูลประชาชนไปพร้อม ๆ กับการติดตามสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางเรื่องเรากำลังดำเนินการและคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในอีกไม่ช้านี้ ทั้งการผลักดันแนวคิดการธนาคารเพื่อความยั่งยืน เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ภาคเอกชนมีความตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา CBDC การผลักดันให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องหันมาใช้มาตรฐานการชำระเงินแบบ ISO 20022 หรือการศึกษาผลกระทบของสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจการเงิน และก็คงมีอีกหลายอย่างที่เราจะมีโอกาสพัฒนาต่อ ๆ ไป ซึ่งเราอาจเริ่มจากการตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ เช่น financial landscape ที่ผ่าน ๆ มา ที่เราทำทุกสามปี ยังเป็นแนวทางที่เหมาะสมหรือไม่

          Winston Churchill เคยกล่าวไว้ว่า "Generals are always prepared to fight the last war." ซึ่งหมายความว่า นายพลทุกคนพร้อมที่จะสู้ในสงครามครั้งที่แล้วเสมอ ในทำนองเดียวกัน ผู้กำกับดูแล ก็มักจะพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นแล้วเหมือนกัน แต่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เราจะต้องมองไปข้างหน้าและเตรียมพร้อมองค์กรของเราที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตที่กำลังจะมาถึง ในส่วนนี้ ผมก็อยากจะชักชวนพวกเราทุกคนให้ช่วยกันคิด มองไปข้างหน้าด้วยกันว่างานต่าง ๆ ที่เราทำอยู่นั้น สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ หรือไม่ มีอะไรที่คิดว่าจะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ ธปท. สามารถทำตามพันธกิจขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

 

นอกจากส่วนที่ ธปท. จะต้องเปลี่ยนหรือพัฒนาแล้ว ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งอยู่คู่กับองค์กรของเรามาตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้ว และผมเชื่อว่าจะต้องคงอยู่ต่อไป นั่นคือการยืนหยัดในการทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ถ้าเราย้อนกลับไปฟังคำกล่าวของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. เมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว ท่านได้กล่าวไว้ในงานปฐมนิเทศพนักงานใหม่ว่า

 

          "ธนาคารต้องการวิชาความรู้ความสามารถจากคุณทั้งหลาย ให้มาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องจักรใหญ่เพื่อที่จะทำหน้าที่ของธนาคารได้โดยดี เรื่องความสามารถและวิชาความรู้ที่คุณทั้งหลายมีแต่ละคนนั้นไม่เป็นที่สงสัยแน่นอน... ข้อที่ต้องการจากคุณข้อที่สองคือ ความอุตสาหะวิริยะ... เมื่อมีความสามารถแล้วก็ควรจะพยายามอุทิศเวลาอุทิศความสามารถและความคิดนั้นให้แก่ธนาคาร ให้ทำงานให้เป็นประโยชน์แก่ธนาคารมากที่สุดที่จะมากได้... และสำคัญไปกว่านั้น ข้อที่สามที่ธนาคารต้องการจากพวกคุณคือ ความซื่อสัตย์และความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าขาดความซื่อสัตย์สุจริตเชื่อถือกันได้แล้ว ธนาคารนี้ล้ม ไม่มีทางที่จะทำอะไรได้..."

 

          คำกล่าวนี้ เป็นจริงมาตั้งแต่ ธปท. เริ่มดำเนินการ เป็นจริงในสมัยอาจารย์ป๋วย ยังคงเป็นจริงอยู่ในทุกวันนี้ และก็ยังจะเป็นจริงต่อไปในอนาคต ดังนั้น ธปท. จะต้องเป็นองค์กรที่ยึดมั่นกับการยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน เพื่อสั่งสม "ทุน" ขององค์กร เป็นองค์กรที่มีพันธกิจในการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบต่าง ๆ เหล่านี้สามารถรองรับ เรียนรู้ และเติบโตจากความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเข้ามากระทบ เพื่อให้ ธปท. สามารถทำหน้าที่ตามพันธกิจ ในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทยได้

 

[1] ประกอบด้วย ประเทศ ASEAN รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย