มองโลกย้อนมองไทยผ่านเลนส์ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ 

"นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา"

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์

 

ในประเทศไทยอาจจะมีนักเศรษฐศาสตร์อยู่มาก แต่เมื่อใดที่สังคมต้องการมุมมองหรือทางออกสำหรับเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รายชื่ออันดับต้น ๆ ที่ทุกคนนึกถึง หนีไม่พ้น "ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์" ด้วยชื่อเสียงและประสบการณ์การทำงานที่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ในฐานะอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) รวมถึงในฐานะอดีตรัฐมนตรีกระทรวงด้านเศรษฐกิจหลายกระทรวง และ "ศิษย์เก่า" ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ มาร่วมสนทนาบอกเล่าถึงแนวทางการปรับตัวและปรับบทบาทของประเทศไทยในบริบทใหม่ของโลก พร้อมด้วยแง่คิดในการทำงานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาตัวเอง

 

 

บริบทโลกหลังโรคระบาดโควิด 19


 

          "ทุกคนพูดว่าจะเกิด 'new normal' ผมไม่เคยเชื่อในคำนี้ ไม่มีสถานการณ์ไหนที่เป็นทั้ง new ทั้ง normal พอเราเริ่มยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม ไม่ใช่ new normal แต่เป็น abnormal ก่อนมีโรคระบาด เรามีโลกป่วยเป็นโลกปกติมานาน สมัยผมอยู่สหประชาชาติ เราพูดกันเรื่องโลกร้อน ผ่านมากว่า 10 ปี เราก็ยังคงพูดเรื่องนี้" 


         คุณศุภชัยมองว่า มนุษย์อาจต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคโควิด 19 ในลักษณะเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ คือ ดำเนินชีวิตต่อไป ทำมาหากินและติดต่อคมนาคมกันได้ แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปในบริบททางเศรษฐกิจประการแรกคือบทบาทของภาครัฐและบทบาทของตลาด

 

          "ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นถึงความสำคัญของบทบาทภาครัฐ ทั้งการเข้าไปรักษาเยียวยาผู้เจ็บป่วย การค้นคว้าหาวัคซีน การจำกัดการเดินทาง (ล็อกดาวน์) ฯลฯ ซึ่งไม่มีบทบาทของตลาดเข้ามาตัดสินเรื่องเหล่านี้ โลกหลังยุคโควิด 19 บทบาทของภาครัฐจะยิ่งมีความหมายมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐไทยอาจไม่เคยเตรียมไว้ เพราะเราปล่อยหลายอย่างให้เป็นไปตามระบบตลาด แต่โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยปัจจัยที่ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจ เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม ฯลฯ จึงปล่อยให้ระบบตลาดเพียงอย่างเดียวมาตัดสินไม่ได้ ภาครัฐต้องตระหนักและเตรียมพร้อมทั้งเครื่องมือ ความสามารถ วิสัยทัศน์ ภาวะผู้นำ ความยืดหยุ่น (resilience) และความน่าเชื่อถือ"

 

          ดร.ศุภชัยยกตัวอย่างบทบาทภาครัฐที่จะสำคัญมากขึ้น ได้แก่ การวางนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญ (industrial policy) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านสุขภาพอนามัย อาทิ ยารักษาโรค เครื่องมือการแพทย์ ตลอดจนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ภาคธุรกิจสีเขียว (green / BCG economy) และภาคธุรกิจด้านดิจิทัล ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นความน่ากังวลถัดไป เพราะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในจุดต่าง ๆ จะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออำนาจเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี ฯลฯ ได้ย้ายจากโลกตะวันตกมาสู่โลกตะวันออก จนมีความเป็นห่วงว่า สถานการณ์จะลุกลามจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า "กับดักธูสิดีดิส (Thucydides's Trap)[1]"

 

          การเปลี่ยนแปลงประการที่สามคือ การเข้าสู่ "ยุคผงาดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Century)" ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในมิติทางเศรษฐกิจ เพราะเกินกว่าครึ่งของเศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก แต่ทั้งนี้ ดร.ศุภชัยมองว่า Asia Pacific Century จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หากภูมิภาคนี้ยังไม่เร่งพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ดูแลคนด้อยโอกาสไม่ให้เสียเปรียบ และพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การเงิน ไปจนถึงมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล ฯลฯ

 

          "ภูมิภาคเอเชียมีดีคือการรวมตัวที่เรียกว่า 'เขตการค้าเสรี (FTA)' ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าหลายภูมิภาค โดยเฉพาะการรวมกลุ่มที่มี 'อาเซียน (ASEAN)' เป็นหลัก พร้อมกับมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อาเซียนเราไปได้ดีในแง่ที่เราพยายามดึงให้ทุกประเทศไปด้วยกัน มีการนำกระบวนการของนโยบายการเงินและนโยบายต่างประเทศมาตั้งศูนย์ (re - align) ให้ใกล้กัน ซึ่งก็ยังอยากเห็นการมีกองทุนการเงินของเอเชียเอง เพราะจะเข้าใจปัญหาของภูมิภาคได้ดีที่สุด แต่ที่ยังไปไม่สุด คือมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องพัฒนาต่อไปทั้ง ASEAN และ RCEP"

 

มนุษย์อาจต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคโควิด 19 ในลักษณะเดียวกับ โรคไข้หวัดใหญ่ คือ ดำเนินชีวิตต่อไป ทำมาหากินและติดต่อ คมนาคมกันได้ แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปในบริบททางเศรษฐกิจ ประการแรกคือบทบาทของภาครัฐและบทบาทของตลาด"
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์

 

บทบาทไทยในการขับเคลื่อนอาเซียน


 

          คุณศุภชัยเชื่อว่า เมื่อยุคผงาดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาถึงอย่างสมบูรณ์ บทบาทของ "อาเซียน" ในภูมิรัฐศาสตร์ของโลกจะเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจหลักของอาเซียน จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญตามไปด้วย

 

          "ตอนผมอยู่ยุโรป เขามองว่าอาเซียนมีประเทศเศรษฐกิจหลักคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย แต่เขามองว่าคนที่จะสร้างบริบทที่มีความเป็นผู้นำให้กับอาเซียนน่าจะมาจากไทย เพียงแต่เราต้องกระตุ้นและปรับตัว เริ่มจากเปลี่ยน 'อาเซียนวิถีเดิม (ASEAN way)' ที่ไม่แทรกแซงประเทศสมาชิกเลย ขอให้เก็บเป็น 'มรดกจากอดีต' แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้เรามาแทรกแซงซึ่งกันและกันไปทุกอย่าง เพียงแต่โลกปัจจุบัน ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การทหาร การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ บ่อยครั้งที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้าน จึงอาจต้องแทรกแซงในบางเรื่องที่กระทบเราหรืออาเซียน"

 

ทุกคนพูดว่าจะเกิด new normal ผมไม่เคยเชื่อในคำนี้ไม่มีสถานการณ์ไหน ที่เป็นทั้ง new ทั้ง normal wอเรา เริ่มยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ทุกอย่าง ก็กลับไปเหมือนเดิม ไม่ใช่ new normal แต่เป็น abnormal ก่อนมีโรคระบาด เรามีโลกป่วยเป็นโลกปกติมานาน สมัยผมอยู่สหประชาชาติ เราพูดกัน เรื่องโลกร้อน ผ่านมากว่า 10 ปี เราก็ ยังคงพูดเรื่องนี้"

 

          หลังจากเปลี่ยน "วิถีอาเซียน" ดร.ศุภชัยแนะนำว่า บทบาทสำคัญต่อไปที่ไทยควรทำคือ ผลักดันอาเซียนให้เป็น "ตัวกลาง" หรือ "ผู้ไกล่เกลี่ย" ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา แทนที่จะถูกกดดันให้เลือกข้าง แต่ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศอาเซียนต้องตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกัน และต้องมีการเปิดเจรจากับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในเวทีโลกให้มากขึ้น ซึ่งถ้าทำเช่นนี้ได้ บทบาทในการถ่วงดุลสองขั้วมหาอำนาจหรือบทบาทการเป็นตัวกลางของอาเซียนจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

 

          นอกจากนี้ คุณศุภชัยอยากให้ประเทศไทยเป็น "ตัวตั้งตัวตี" ในการเคลื่อนไหวเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งให้กับสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) โดยเฉพาะการสรรหาคนเก่งคนดีให้เข้ามาทำงานในองค์กรนี้ และการให้ความสำคัญกับองค์กรในฐานะที่เป็นตัวแทนทำงานแทนประเทศอาเซียน

 

          พร้อมกันนี้ ดร.ศุภชัยเตือนว่า อย่าพยายามสร้างความร่วมมือเป็นกลุ่มย่อยในภูมิภาค (Sub - regional cooperation) มากเกินไป เพราะมีความซ้ำซ้อนกันอยู่มาก แต่ควรโฟกัสกลุ่มความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ แล้วพัฒนา
ให้ดียิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งเป็นความร่วมมือที่มีพลังเพราะมีจีนร่วมด้วย และไทยก็มีบทบาทมากในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นี้ และในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของทั้ง ASEAN และ GMS รวมทั้งมีความสัมพันธ์พิเศษในกรอบของ CLMVT
จึงควรผลักดันให้เกิดการประสานกัน เพื่อทำให้อาเซียนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

 

ภาพประกอบ

 

Roadmap การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง


 

          Roadmap การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างควบคู่กับการเสริมความแกร่งให้อาเซียน ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนไป โดยคุณศุภชัยเล่าว่า ผู้นำต่างประเทศเคยบอกกับท่านว่าประเทศไทยมีดีทุกอย่าง ขาดอย่างเดียวคือความต่อเนื่องในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ "แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" ถือเป็น roadmap เพื่อวางรากฐานสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่จะนำพาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมมาสู่ประเทศไทยได้ในระยะยาว

 

          "แผนยุทธศาสตร์ชาติฯ เป็นสิ่งที่จะทำให้เราสามารถมองแบบมีวิสัยทัศน์ มีนโยบายเป็นอันหนึ่งอันเดียว มีความคงเส้นคงวา ต่อเนื่องไปถึงอนาคตที่จะทำให้ต่างประเทศเชื่อถือเราได้ เชื่อไหมว่า แผนดูแลสุขภาพและระบบสาธารณสุขที่ช่วยให้เราต่อสู้โรคโควิด 19 ได้อย่างดี ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตในแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ มาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การยกระดับเศรษฐกิจนอกระบบ การทำให้ระบบการเงินเข้มแข็ง การลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปรับภาครัฐให้เป็นดิจิทัล การพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ฯลฯ ล้วนอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ แล้วทั้งหมด แต่อยู่ในรายละเอียดที่ต้องนำไปปฏิบัติ ปัญหาด้านโครงสร้างต้องการการพัฒนาและการดำเนินนโยบายต่อเนื่อง"

 

ตอนผมอยู่ยุโรป เขามองว่าอาเซียนมีประเทศเศรษฐกิจหลักคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย แต่ขามองว่าคนที่จะสร้างบริบทที่มีความเป็นผู้นำให้กับอาเซียน น่าจะมาจากไทย เพียงแต่เราต้องกระตุ้นและปรับตัว เริ่มจากเปลี่ยนอาเซียนวิถีเดิม (ASEAN way) ที่ไม่แทรกแซงประเทศสมาชิกเลย ขอให้เก็บเป็นมรดกจากอดีต"

 

          ดร.ศุภชัยกล่าวถึงนักเศรษฐศาสตร์ 2 ท่าน เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ปี 2562 "Abhijit Banerjee" และ "Esther Duflo"  ซึ่งแก้ปัญหาความยากจน โดยแทบไม่ได้คิดค้นการพัฒนาใหม่ แค่พิสูจน์ว่าการแก้ไขกลไกเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ละเรื่องก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้แล้ว

 

          "ผมเชื่อในแนวคิดนี้ 100% เพราะตอนที่ผมทำโครงการที่ UN เวลาไปแก้ปัญหาผลิตภาพของแรงงานที่แอฟริกา เราไม่ได้เอาเทคโนโลยี ใดไปให้ แต่เอามุ้งกันยุงไปให้ เพราะคนที่นั่นเป็นโรคมาลาเรียกันมาก ฉีดวัคซีนแล้วก็เป็น การเป็นมาลาเรียทำให้อ่อนเปลี้ย ผลิตภาพจึงต่ำมาก พอเอามุ้งไปลงได้ ผลิตภาพจึงดีขึ้นมาก อยากให้คนในรัฐบาลมองไปในยุทธศาสตร์ชาติฯ ซึ่งมีเป็นพันโครงการ ไปดูในจุดเล็ก ๆ ย่อย ๆ แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดผล จุดเล็ก ๆ รวมกันก็สะสมเป็นเรื่องใหญ่ได้"

 

 

ยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อปฏิรูปโครงสร้าง


 

          จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดร.ศุภชัยยก 4 ยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องการให้รัฐเร่งดำเนินการ ยุทธศาสตร์แรกคือ ความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงความมั่นคงทางด้านการทหาร ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านการต่างประเทศ ความมั่นคงทางการเงิน ฯลฯ โดยส่วนที่ท่านให้ความสำคัญมาก ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนรอบประเทศ

 

          "ชายแดนไม่ได้มั่นคงเพราะมีรั้วลวดหนามที่แข็งแรง ชายแดนจะมั่นคงได้เพราะ 'คนข้างบ้าน' เป็นมิตรซึ่งกันและกัน พวกเราที่ WTO พูดกันเสมอว่า เมื่อไหร่ที่สินค้าไม่ผ่านแดน เมื่อนั้นรถถังจะผ่านแดน สมัยที่อยู่กระทรวงพาณิชย์ ผมก็เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องการค้าชายแดน เพราะเป็น lifeline ของคนและเป็นความมั่นคงในชายแดน"

 

          ยุทธศาสตร์ที่สอง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยนำนวัตกรรมเข้าไปพัฒนาในอุตสาหกรรมสำคัญ
ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ซึ่ง 2 อุตสาหกรรมสำคัญที่คุณศุภชัยมองว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำนวัตกรรมเข้ามาต่อยอด ได้แก่ การแพทย์และการเกษตร

 

          "เราต้องนำนวัตกรรมไปช่วยเรื่องเล็ก ๆ บางเรื่องเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เพราะการฟื้นฟูหลังโควิด 19 เราจะฟื้นได้จริงก็ต่อเมื่อสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าและบริการ ส่วนการท่องเที่ยวของเราจะฟื้นได้ ต้องเป็นการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่เรียกว่า development - based tourism คือ การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาในชุมชน ซึ่งเรื่องเล็ก ๆ พวกนี้ต้องอยู่ในแผนพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน"

 

ภาพประกอบ

 

          ยุทธศาสตร์ที่สาม ความเสมอภาค ซึ่งเป็นปัญหาของทั้งสังคมไทยและสังคมโลก โดยคุณศุภชัยมองว่า แนวทางแก้ไขปัญหาคือ การนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปลูกฝังให้ชุมชนทั่วทุกหมู่บ้านในประเทศเข้าใจและนำไปปฏิบัติ

          "เศรษฐกิจพอเพียง ผมแปลทั่ว ๆ ไปว่า 'เศรษฐกิจชุมชน' คือเศรษฐกิจที่พึ่งระบบความรู้ของชุมชน ระบบสหกรณ์ ฯลฯ เราต้องพัฒนาคนที่เป็นนักพัฒนาและรู้ปัญหาชุมชน เหมือนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ช่วยแก้ปัญหาโควิด 19 ระดับชุมชน เราก็ใช้โมเดลคล้ายกันนี้ผลักดันเศรษฐกิจชุมชน ผมเชื่อว่า เป็นกลไกที่สร้างความเสมอภาคได้ ซึ่งก็อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติแล้ว"

 

          ดร.ศุภชัยมองว่ายังมีอีก 2 ยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสุดท้ายคือยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบการบริหารของภาครัฐ 

 

          "แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมมองว่าเป็น 'ฟางเส้นเดียว' ที่จะทำให้ประเทศเรามีความต่อเนื่องในทางวิสัยทัศน์และนโยบาย น่าแปลกใจที่มีคนนำไปเล่นเป็นเรื่องการเมืองได้ การเมืองบ้านเรายุ่งกับเรื่องรัฐศาสตร์มากกว่าเรื่องเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการทำให้บ้านเมืองไปได้ในทางเศรษฐกิจ"

 

 

"ศิษย์เก่าแบงก์ชาติ" สถาบันแห่งความภาคภูมิใจ


 

          "ผมไม่ได้อยู่แบงก์ชาตินานเหมือนคนอื่น (2517 - 2529) แต่ผูกพันมาก ผมเชื่อในสิ่งที่เป็นหลักปฏิบัติของที่นี่ สถาบัน 'ธปท.' ของเราเป็นแหล่งความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเป็นแหล่งที่รักษาการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเงินมากที่สุด ผมเชื่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และผมชื่นชมเสมอที่แบงก์ชาติยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง ความกล้าหาญตรงนี้ถือเป็นค่านิยมหลัก (core value) ของแบงก์ชาติ"

 

          ทั้งนี้ ดร.ศุภชัยได้ฝากข้อคิดหลายประเด็น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการทำงานของ ธปท. ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกยุคโควิด 19 เริ่มจากการเตือนให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้านก่อนจะกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบ "ตึงตัว"

 

          "พอเสร็จจากการทำศึกกับไวรัส ทุกประเทศจะเริ่มกลับมาใช้นโยบายแบบเข้มงวด เพราะรัฐบาลขาดดุลเยอะ
ใช้เงินไปเยอะ กู้เงินไปเยอะ พวกเราใน UNCTAD ก็เตือนว่าอย่าใช้นโยบายตึงตัวเร็วเกินไป เพราะการฟื้นฟูยังไม่จบ โลกกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจจะล่มสลาย ทั้งประเทศใหญ่และประเทศยากจน คนยังมีความยากลำบากในการจ้างงาน
ค่าเงินยังอ่อนแอ ฯลฯ ถ้าใช้นโยบายแบบตึงตัวเร็วเกินไป เราเป็นห่วงมากว่าจะกระทบคนจนเร็วกว่ากระทบคนรวย"

 

          "ศิษย์เก่าแบงก์ชาติ" ยังฝากให้ ธปท. พยายามมากยิ่งขึ้นในการดูแลนโยบายสินเชื่อ SMEs ให้เข้าถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กอย่างทั่วถึงมากขึ้น พร้อมทั้งแนะนำให้จัดตั้ง "ศูนย์รับแจ้งปัญหาสำหรับผู้ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทางการ" นอกจากนี้ ยังฝากความหวังให้ ธปท. เป็น "หัวจักร" ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในประเทศไทย

 

          "ผมพูดนานแล้วว่า อยากให้จังหวัดที่รวยที่สุดไปจับคู่กับจังหวัดที่จนที่สุดของประเทศ แล้วให้ช่วยกันทำให้คู่จังหวัดของตัวเองพัฒนาทางเศรษฐกิจขึ้นมา ทำให้ค่าเฉลี่ยรายได้ขึ้นมาใกล้เคียงกัน และกระตุ้นให้มีการผ่องถ่ายการลงทุนระหว่างกัน สำหรับแบงก์ชาติ ผมอยากเห็นนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าไปช่วยชนบท โดยเฉพาะใน 20 จังหวัดที่ยากจนที่สุด

 

          "สมัยผมอยู่แบงก์ชาติ เราเคยทำเรื่อง 'สินเชื่อเกษตร 10% ของสินเชื่อทั้งหมด' เพราะสมัยนั้นเงินไม่ลงไปภาคเกษตรเลย มีคนต่อว่าบ้างว่าไม่ควรแทรกแซง ผมอาจเป็นนักการเงินที่ไม่ดีนัก แต่ในฐานะนักพัฒนาเศรษฐกิจ ผมทำเต็มที่ และผมก็อยากเห็นแบงก์ชาติเข้าไปช่วยแนะนำ ไปทำนุบำรุงแหล่งการออมและการให้สินเชื่อในระดับเศรษฐกิจชุมชนซึ่งจะช่วยจังหวัดที่ยากจนได้มากทีเดียว อันนี้เป็นหัวใจเลยที่อยากเห็นแบงก์ชาติลงไปช่วยตอนนี้"

 

          สุดท้ายนี้ ดร.ศุภชัยฝากด้วยความเป็นห่วงถึงการก้าวเข้าสังคมดิจิทัล (digitalization) อย่างรวดเร็วของไทย พร้อมกับฝากให้ ธปท. ทบทวนความเร็วในการก้าวกระโดดเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อระวังไม่ให้เกิด "shadow finance" และทบทวนว่า รู้หรือไม่ว่าเรากำลังจะทำอะไรกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ก่อนปล่อยเสรีเต็มที่

 

          "ผมเชื่อในหนังสือ Thank You for Being Late (โดย Thomas L. Friedman) ผมมองว่า กระบวนการ digitalization ดำเนินไปเร็วเกินความสามารถของมนุษย์ที่จะก้าวทันกับผลลัพธ์ของการพัฒนาทางดิจิทัลที่เติบโตอย่างมากหรือไม่ ถ้าการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในขอบเขตของภาคเกษตร การผลิตอาหาร การศึกษา การแพทย์ และการพยาบาล ผมรับได้หมด และคิดว่าต้องทำเต็มที่ ต้องลงทุนให้เยอะขึ้น แต่ภาคการเงิน ผมฝากให้แบงก์ชาติลองพิจารณาให้ถี่ถ้วน" ดร.ศุภชัยกล่าวทิ้งท้าย

 

 

เคล็ด (ไม่) ลับความสำเร็จฉบับ "ศุภชัย"


 

 

คุณสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส
อยากให้จังหวัดที่รวยที่สุดไปจับคู่กับจังหวัดที่จนที่สุดของ ประเทศ แล้วให้ช่วยกันทำให้คู่จังหวัดของตัวเองพัฒนา ทางเศรษฐกิขึ้นมา ทำให้ค่าเฉลี่ยรายได้ขึ้นมาใกล้เคียงกัน และกระตุ้นให้มีการผ่องถ่ายการลงทุนระหว่างกัน สำหรับ แบงก์ชาติ ผมอยากเห็นนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าไปช่วย ชนบท โดยเฉพาะใน 20 จังหวัดที่ยากจนที่สุด"

 

          แนวทางปฏิบัติที่เป็น "หัวใจ" แห่งความสำเร็จทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของประเทศไทยและในเวทีโลกที่มีชื่อว่า "ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์"

 

          (1) ต้องมี "ความมุ่งมั่นในชีวิต (determination)" ทำทุกอย่างในชีวิตด้วยการคิดระยะยาว และวางแผนตลอดเวลา

 

          (2) รู้ซึ้งถึงบทบาทของตน และเล่นบทบาทนั้นให้ดีที่สุด  

 

          (3) หมั่นวิพากษ์วิจารณ์ผลการทำงานของตัวเอง (self - criticism) อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น "ทุกปี พอปลายปี ผมจะมานั่งทบทวนงานที่ผมทำมาทั้งปี เอาที่จดไว้ว่าไปประชุมหรือไปพูดที่ไหน มานั่งดูว่าตอนนี้ เรื่องนี้เราล้าหลังไปหรือยัง พูดอะไรผิด ๆ ถูก ๆ ไว้ ปีหน้าต้องวิเคราะห์ใหม่ให้ดี แล้วบอกให้คนอื่นรู้ด้วยว่าเราคิดเรื่องนี้ผิดไป ทำเช่นนี้ทุกปี ผมเป็นคนเก็บเลกเชอร์ตั้งแต่หลายสิบปีมาแล้ว ฉะนั้น ผมเช็กได้ตลอดว่าไปทำอะไร ที่ไหน พูดไว้อย่างไร"

 

          (4) ให้ความสำคัญมากกับเรื่องจริยธรรม (ethics) "เรื่องจริยธรรมทำให้ผมรักแบงก์ชาติมาก ผมเชื่อมั่นในจริยธรรมของคนแบงก์ชาติ แล้วผมก็พยายามรักษาไว้ตลอด"

 

          (5) แบ่งเวลาระหว่างครอบครัวกับงานอย่างพอเพียง เพราะงานก็สำคัญ แต่ครอบครัวที่อบอุ่น ช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น

 

          (6)  กตัญญูรู้คุณ

 

          (7) มีความอดทนอดกลั้น

 

          (8) การทำงานเป็นทีมสำคัญมาก

 

          "การทำงานเป็นทีมยิ่งสำคัญมากในช่วงที่ 'ทีมโลก (พหุภาคี)' กำลังแตกสลาย การทำงานเป็นทีมโลกให้ได้ต้องมี global governance การทำงานเป็นทีมเป็นอุดมคติเล็ก ๆ ของผม และเป็นหลักการที่สำคัญในชีวิตและการทำงาน"

 

 

[1] กับดักธูสิดีดิส (Thucydides's Trap) คือแนวคิดที่ว่าเมื่อมีมหาอำนาจใหม่เกิดขึ้นก็จะเกิดการแข่งขันกับมหาอำนาจเดิม จนทำให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดและนำไปสู่สงคราม แนวคิดนี้ได้รับการกล่าวถึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วง "การผงาดขึ้นมาของจีน (The Rise of China)" และ "การตกต่ำของสหรัฐอเมริกา (The Decline of America)" ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา