80 ปีในรอยจำ…ธนาคารแห่งประเทศไทย

พนักงานสำนักงานธนาคารรุ่นแรก ปี 2483

 

ในวาระพิเศษที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 80 แน่นอนว่าได้ผ่านประสบการณ์มามากมายทั้งในฐานะ "ผู้สร้าง" ผู้วางรากฐานระบบการเงินให้สอดคล้องไปกับระดับการพัฒนาของประเทศ และ "ผู้ซ่อม" ที่ทำหน้าที่ฝ่าคลื่นลมมรสุมทางเศรษฐกิจร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถล่องลำนาวาไปตามกระแสวิวัฒนาการโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ในบทความนี้ เราจะมาร่วมกันรำลึกถึงที่มาและบทบาทของ ธปท. ในด้านการพัฒนาและรักษาความมั่นคงทางการเงินให้กับประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

 

 

ปฐมบทแห่งรอยจำ : จุดเริ่มต้นธนาคารแห่งชาติ


 

          ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง ธปท. ที่มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 สมัยนั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะคับขันท่ามกลางภาวะสงครามโลกครั้งที่สองที่ต้องร่วมเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประวัติศาสตร์การก่อตั้งธนาคารกลางของประเทศไทยในภาวะเช่นนี้จึงถือได้ว่ามีความพิเศษไม่เหมือนชาติใดในโลก เนื่องด้วยสาเหตุสองประการ

 

          ประการแรก รัฐบาลไทยได้มีการจัดตั้ง "สำนักงานธนาคารชาติไทย" ขึ้นมาก่อนเกิดสงครามในปี 2483 ในฐานะส่วนหนึ่งของกระทรวงการคลัง เพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคตที่ต้องการจะยกระดับขึ้นเป็นธนาคารกลางได้อย่างสมบูรณ์ โดยเป็นแหล่งฝึกคนให้มีความรู้เพียงพอในด้านกิจการธนาคารกลาง ผู้ที่ริเริ่มและผลักดันคือนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น และเป็นผู้กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยมาทรงเป็นที่ปรึกษา ซึ่งต่อมาทรงมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง ธปท. จนเป็นผลสำเร็จ และทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. พระองค์แรก

 

คูณปรีดี พนมยงค์ ที่พิธีเปิดสำนักงานธนาคารชาติไทย

 

          ประการที่สอง การจัดตั้ง ธปท. เกิดมาจากความจำเป็นอย่างฉับพลันทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาตั้งธนาคารกลางแทน และจัดการพิมพ์ธนบัตรสำหรับใช้จ่ายทางการทหารได้ตามอำเภอใจอย่างที่ทำกับประเทศอื่น ๆ ที่กองทัพญี่ปุ่นเข้าไปรุกราน "ข้ออ้าง" ของรัฐบาลไทยในขณะนั้นคือ ประเทศไทยกำลังจะจัดตั้งธนาคารกลางของตนเองอยู่แล้วจากการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยที่เกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งในที่สุดจึงนำไปสู่การร่างกฎหมาย โดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงเป็นผู้ร่างและรัฐสภาผ่านพระราชบัญญัติ ธปท. ในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อทรงเจรจาลับกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นทั้งในด้านการจัดการการเงินการคลังระหว่างไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งทรงเจรจาให้ประเทศไทยตั้งธนาคารกลางขึ้นด้วยตนเอง

 

ที่ทำการของสำนักงานธนาคารชาติไทย

 

          การจัดตั้ง ธปท. อย่างรีบด่วนนี้ ในด้านหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่รอดพ้นจากการรุกรานอธิปไตยทางการเงินของประเทศ ในช่วงนั้นพลังอำนาจทางการทหารของญี่ปุ่นอยู่ในช่วงสูงสุดซึ่งอาจไม่มีความจำเป็นต้องยอมตามคำขอของประเทศไทย แต่หากมองอีกด้านถือได้ว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งว่าการตั้งธนาคารกลางอย่างเร่งด่วนเช่นนี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ข้อแรกคือปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ต้องดูแลมิให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงท่ามกลางค่าใช้จ่ายสงครามที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการจัดหาธนบัตรที่ขาดแคลน ยิ่งไปกว่านั้นระบบการเงินไทยที่ยังไม่พัฒนาส่งผลให้มีเครื่องมือทางการเงินจำกัดและมีประสิทธิผลน้อย ข้อสองคือความไม่พร้อมในด้านพนักงานที่ยังขาดความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจการเงิน เพราะญี่ปุ่นกำหนดเงื่อนไขการจัดตั้งว่าต้องเป็นพนักงานคนไทยเท่านั้น ไม่สามารถขอคำปรึกษาทางการเงินจากผู้เชี่ยวชาญต่างชาติได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีที่ปรึกษากระทรวงการคลังเป็นชาวอังกฤษมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

 

          นอกจากนี้ เมื่อแรกตั้ง ธปท. ยังไม่มีที่ทำการของตนเอง แต่ใช้ตึกธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด เป็นที่ทำการชั่วคราว จากการที่รัฐบาลไทยยึดมาจากเจ้าของชนชาติอังกฤษที่เป็นคู่ศัตรูสงคราม บรรยากาศการทำงานของ ธปท. ท่ามกลางภาวะสงครามนั้น จึงเรียกได้ว่าต้องคอยระแวดระวังภัยอยู่ตลอดว่าเมื่อใดที่มีเสียงหวอเตือนภัยว่าอาจมีการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร ก็ต้องหอบเงินและเอกสารสำคัญวิ่งลงไปห้องใต้ดินเพื่อรักษาชีวิต ส่วนผู้ว่าการพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งทรงเป็นคนไทยที่มีความรู้ทางการเงินมากที่สุดในขณะนั้น ก็ต้องทรงคอยติดตามข่าวสถานการณ์สงครามอย่างใกล้ชิด ถึงขั้นที่ว่าพระองค์เจ้าฯ ทรงติดแผนที่โลกไว้ในห้องทรงงานเพื่อติดตามข่าวทางวิทยุว่ากองทัพฝ่ายไหนกำลังได้ชัย ก็จะปักหมุดลงในแผนที่เพื่อประเมินแนวโน้มว่าสงครามจะจบลงเมื่อใด เพื่อจะได้เตรียมวางแผนในการฟื้นฟูบูรณะระบบการเงินของประเทศ

 

          ปัจจุบัน เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ธปท. สามารถดำเนินการมาจนเข้าสู่ปีที่ 80 และทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางการเงินสมดังเจตนารมณ์ทางกฎหมายเมื่อแรกตั้ง ในส่วนต่อไปของบทความนี้ เราจะมาร่วมรำลึกถึงวิวัฒนาการของบทบาทของ ธปท. จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในการมีส่วนพัฒนาและร่วมวางรากฐานทางการเงินให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยจะแบ่งเรื่องออกเป็นทั้งหมด 3 ด้าน คือการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การวางรากฐานระบบการเงิน และการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

พระวรงวศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ฉายพระรูปร่วมกับพนักงาน

 

 

จากจุดเริ่มต้นของการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน สู่หลักการ "ยืนตรง"


 

          ปัญหาสำคัญของ ธปท. ที่เผชิญในทันทีเมื่อเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงสงคราม คือการจัดหาธนบัตรที่ขาดแคลนให้เพียงพอต่อความต้องการของรัฐบาลและเป็นค่าใช้จ่ายของกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ปัญหานี้เป็นความจำเป็นทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อมองในด้านเศรษฐกิจแล้ว ธปท. ต้องหาวิธีบรรเทาผลกระทบของปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเงิน การดำเนินการของ ธปท. ในระยะเริ่มต้นนี้ได้พยายามป้องกันเงินเฟ้อในทุกวิถีทาง แต่การยับยั้งการเพิ่มของปริมาณเงินและการควบคุมเครดิตได้ผลเพียงชั่วคราว เพราะการใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงสงครามเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณการออกธนบัตร

 

          ในช่วงนี้เอง ได้เกิดเหตุการณ์ที่ถือได้ว่าเป็น "จุดเริ่มต้น" ของการแสดงออกให้เห็นว่าการดำเนินงานของ ธปท. นั้นยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ คือในเดือนกันยายน 2489 ธปท. พยายามลดปริมาณเงินเพื่อคุมเงินเฟ้อด้วยการแบ่งขายทองคำจากทุนสำรองเพื่อดูดธนบัตรออกจากระบบ แต่ได้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและคณะกรรมการ ธปท. ในวิธีการขายทองคำ ทาง ธปท. เสนอให้ขายโดยวิธีประมูลราคา ขณะที่ทางรัฐบาลได้สั่งให้ขายโดยกำหนดราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการ ในเรื่องดังกล่าวนี้ คณะกรรมการ ธปท. ได้ทำหนังสือตอบรัฐบาลดังความบางส่วนว่า "…สิ่งใดที่คณะกรรมการเห็นว่าถ้าทำไปจะเป็นการเสียหาย หรือไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว คณะกรรมการจะขืนทำไปหรือกระทำไปโดยคำสั่งของผู้หนึ่งผู้ใดไม่ได้ทั้งสิ้น การไม่ปฏิบัติตามหลักที่ว่านี้ คณะกรรมการก็ต้องรับผิดโดยไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ …" เมื่อคณะรัฐมนตรียังยืนยันมติตามเดิม จึงได้นำไปสู่การลาออกของผู้ว่าการพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

 

          สงครามโลกครั้งที่สองส่งผลอย่างรุนแรงต่อกิจการการค้าและการผลิต โจทย์ของ ธปท. ภายหลังสงครามยุติคือการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อฟื้นฟูการค้าระหว่างประเทศ งานเร่งด่วนของ ธปท. จึงเป็นเรื่องการสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะสามารถกำหนดและรักษาค่าของเงินบาทให้เหมาะสมได้ ในระหว่างดำเนินการนี้เอง ได้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาลและ ธปท. อีกครั้ง โดยรัฐบาลต้องการลดราคาสินค้านำเข้าและค่าครองชีพไปพร้อมกันด้วยการเพิ่มค่าเงินบาท แต่ ธปท. เสนอให้คงอัตราแลกเปลี่ยนเสรีเป็นไปกลไกตลาด เป็นผลให้หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ผู้ว่าการ ธปท. ลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2495 และผลปรากฏว่านโยบายของรัฐบาลในการยับยั้งเงินเฟ้อก็ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

 

          จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของ ธปท. เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับการยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และหลายครั้งหลายครามักจำเป็นต้องท้วงติงเมื่อเห็นว่าการดำเนินการของภาครัฐอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือได้สร้างความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 7 ได้เคยกล่าวไว้ว่า การดำเนินโยบายไม่เพียงต้องใช้ศาสตร์ แต่ยังต้องใช้ศิลปะในการสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินการคลังสอดคล้องกัน ดังที่ผู้ว่าการในระยะต่อมา เช่น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่ต้องนำพาองค์กรท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมือง ได้เขียนบทความในรูปจดหมายจากผู้ว่าการถึงอาจารย์ป๋วย โดยในฉบับแรกว่าด้วยการประสานนโยบายกับภาครัฐ และได้เน้นว่างานสำคัญด้านหนึ่งคือการสร้างค่านิยมที่ดีของ ธปท. ซึ่งสามารถสรุปเป็นคำง่าย ๆ ว่า "ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน"

 

 

 

งานวางรากฐานระบบการเงิน กับภารกิจ "มองไกล"


 

          เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ ธปท. ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีต้นเหตุช่วงแรกมาจากสงคราม และต่อมาจากการขาดวินัยการคลังของรัฐบาล งานด้านการวางรากฐานระบบการเงินที่แท้จริงเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2498 อันเป็นปีที่ ธปท. ได้จัดตั้งทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อเป็นพื้นฐานของการค้าขายระหว่างประเทศ และได้ดำเนินงานเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษจนกระทั่งปี 2540 ที่ประเทศไทยยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ในเวลาต่อมา ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปทางกฎหมายครั้งสำคัญ อันได้แก่ พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ในช่วงนี้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึงกว่า 12 ปี ได้นำพา ธปท. ให้เป็นธนาคารกลางเพื่อการพัฒนา โดยไม่เพียงแต่พยายามชักจูงให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินให้สอดรับกับความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น ธปท. ยังมองไปข้างหน้าถึงความจำเป็นที่ต้องมีตลาดทุน จึงได้ริเริ่มให้มีการศึกษาโครงการตลาดทุนขึ้นในปี 2512 ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร และการเปิดสำนักงานสาขาในต่างจังหวัด ต่อมาในยุคของ ดร.เสนาะ อูนากูล ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 9 ได้สานต่องานพัฒนาเพิ่มเติมในหลายด้าน เช่น การปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และพัฒนาตลาดเงินในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้นโยบายการเงินทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ผู้ว่าการป่วย อึ๊งกากรณ์ ในงาน Second Meeting The Governor of Central Bank Southeast Asia Conference

 

          งานปฏิรูประบบการเงินได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เริ่มต้นในปี 2533 เมื่อ ธปท. ได้ดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการเงินซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกในขณะนั้น ในช่วงนี้ ธปท. ปรับบทบาทจากการควบคุมระบบการเงินเป็นการส่งเสริมให้กิจกรรมทางการเงินเป็นไปอย่างเสรีตามกลไกตลาด ภายหลังการเปิดเสรีทางการเงิน ธปท. อนุญาตให้สถาบันการเงินดำเนินกิจการวิเทศธนกิจ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ผนวกกับการที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกับดอลลาร์สหรัฐไว้ค่อนข้างคงที่ ทำให้นักลงทุนมีมุมมองว่าความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับต่ำจึงดึงดูดให้มีเงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้นจากภาคเอกชนที่ผ่านทางกิจการวิเทศธนกิจ ผลจากการไหลเข้าของเงินทุนจำนวนมากนี้ได้ทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายภาคเอกชนขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะฟองสบู่ และสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง เป็นชนวนให้เกิดการโจมตีค่าเงินบาท จนในที่สุด ธปท. ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 และนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ของไทย

 

          บทเรียนจากวิกฤตการณ์ปี 2540 ถือเป็นรอยต่อที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของ ธปท. เพราะทำให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อฟื้นคืนความน่าเชื่อถือจากประชาชนโดยดำเนินนโยบายที่มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบและมีการสื่อสารต่อสาธารณชน เช่น การดำเนินนโยบายการเงินโดยอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายตั้งแต่ปี 2543 และได้ผลักดันการปรับปรุงกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับจนเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2551 คือ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และ พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ. ธปท. ฉบับใหม่นี้ได้กำหนดกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ ให้มีความโปร่งใสและเปิดกว้าง

 

บรรยากาศการทำงานในโรงพิมพ์ธนบัตร (เดิม) และ ผู้บริหาร รปท. แถลงข่าวการเข้าโปรแกรม IMF

 

          อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในการวางรากฐานระบบการเงินเกิดขึ้นเมื่อ ธปท. เริ่มจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินอย่างเป็นระบบ โดยแผนระยะที่ 1 (2547 - 2551) มุ่งให้เกิดการควบรวมกิจการเพื่อให้รูปแบบสถาบันการเงินมีระเบียบที่ชัดเจนขึ้น แผนระยะที่ 2 (2553 - 2557) มุ่งส่งเสริมการแข่งขันเพื่อสร้างประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงิน และให้ประชาชนเข้าถึงการใช้บริการได้ทั่วถึงมากขึ้น เช่น ไมโครไฟแนนซ์ ส่วนแผนระยะที่ 3 (2559 - 2563) เป็นช่วงที่ ธปท. เล็งเห็นถึงภูมิทัศน์ใหม่ทางการเงินที่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี จึงวางยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการใช้บริการทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ การสนับสนุนการเชื่อมโยงต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค การส่งเสริมการเข้าถึงของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม และการสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน

 

ผู้ว่าการป้วย อึ้งกากรณ์ ส่งมอบงานให้เก่ผู้ว่าการพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ และ งานเลี้ยงสมาคมธนาคารไทย (จากซ้ายไปขวา) คุณบุญชู โรจนเสกียร คุณตามใจ ขำกโต คุณสุพัฒน์ สุธาธรรม และ ตร.เสนาะ อูนากูล

 

          ภายใต้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางการเงินเอื้อให้เกิดทั้งผู้เล่นรายใหม่ และมีการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ การพัฒนาระบบการชำระเงินถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจมองไกลของ ธปท. เพราะหากระบบการชำระเงินขัดข้อง ธุรกรรมทางเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ผ่านมา ธปท. ได้เริ่มวางแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินมาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันอยู่ในช่วงแผนฉบับที่ 4 (2562 - 2564) มุ่งให้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นทางเลือกหลักของการชำระเงิน เพื่อลดการใช้เงินสดที่มีต้นทุนสูงและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม เช่นด้าน e-commerce โดยจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องนี้เกิดขึ้นมาจากโครงการระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Plan) ที่ ธปท. มีส่วนในการพัฒนาระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลางที่เปิดกว้าง และในที่สุดนำไปสู่ระบบนิเวศทางการเงินใหม่ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมและการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจไทย

 

 

 

"ยื่นมือ" และ "ติดดิน" สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง


 

          ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกในปี 2504 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นในปี 2493 ทำหน้าที่เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าและปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาล โดยในช่วงนั้น ธปท. ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรวบรวมตัวเลขทางเศรษฐกิจที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ เพื่อใช้ในการติดตามและวิเคราะห์เศรษฐกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำข้อมูลสถิติที่เกี่ยวโยงกับภาวะเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ และต่อมานำไปสู่หนังสือ "เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย" ในปี 2498 เขียนโดยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ซึ่งเป็นตำราที่วิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจไทยภายหลังสงครามเป็นเล่มแรก และ ธปท. ได้มีการเผยแพร่เป็นหนังสือรายงานสถิติภาวะเศรษฐกิจรายไตรมาส นับได้ว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลสถิติทางเศรษฐกิจสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ธปท. ได้เสนอให้ประเทศไทยริเริ่มการวางแผนพัฒนาประเทศ โดยเสนอให้รัฐบาลขอความช่วยเหลือจากธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (ธนาคารโลก) และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปี 2500 และในที่สุดนำไปสู่การออก พ.ร.บ. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และนี่คือจุดตั้งต้นของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

 

          ในช่วงแรกของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศยากจน ประชาชนมีรายได้ต่อหัวต่ำ และเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพิงรายได้จากการขายผลผลิตจากภาคการเกษตรดั้งเดิมเป็นหลัก ภาครัฐจึงทำหน้าที่เป็นบทบาทผู้นำในการสร้างบริการพื้นฐานต่าง ๆ โดยรายได้ของประเทศมาจากการส่งออกสินค้าเพียง 4 ชนิด คือข้าว ยางพารา ดีบุก และไม้สัก ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความอ่อนแอเป็นอันมาก ธปท. ในฐานะธนาคารกลางในประเทศกำลังพัฒนาจึงมีบทบาทเริ่มเป็นผู้ให้กู้แก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยริเริ่มโครงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรและการส่งออก ต่อมาได้พัฒนาเป็นโครงการสินเชื่อสู่ชนบท นอกจากนี้ ธปท. ในยุคแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจ ยังได้มีนโยบายเรื่องการเปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ โดยกำหนดให้การขออนุญาตเปิดสาขาในเขตกรุงเทพฯ นั้น จำเป็นต้องเปิดสาขาในชนบทด้วย

 

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ใต้, เหนือ

 

 

          สำหรับบทบาทของ ธปท. ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ผู้ว่าการเสนาะ อูนากูล ได้เคยแสดงความเห็นไว้ว่า แม้ว่างานด้านเสถียรภาพยังคงต้องเป็นงานหลักและจำเป็นแต่ไม่เพียงพอ ธนาคารชาติในประเทศกำลังพัฒนาควรจะต้องมีบทบาทที่กว้างขวางมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะ ธปท. ถือเป็นสถาบันหลักที่มีทั้งทรัพยากรและเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคม ในปัจจุบัน มุมมองด้านการพัฒนาเศรษฐกิจได้มุ่งที่คุณภาพของการพัฒนาและเน้นเรื่องของความ "ยั่งยืนและทั่วถึง" ในกรณีของสถาบันการเงินที่ ธปท. กำกับดูแล ในปัจจุบันจึงได้นำแนวคิดการธนาคารเพื่อความยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้น

 

          นอกจากนี้ ยังจำเป็นที่ ธปท. ต้องติดดินทั้งในด้านการสื่อสารและการรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมา ธปท. มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) และพูดคุยกับประชาชนและนักธุรกิจผ่านสำนักงานในภูมิภาคทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และ ธปท. ยังได้ริเริ่มจัดตั้งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลางทำหน้าที่เชื่อมต่อองค์ความรู้ทางเศรษฐกิจไทยกับนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังสร้างพื้นที่ส่วนกลางผ่านศูนย์การเรียนรู้ ธปท. เปรียบเสมือนการเปิดประตูบ้านของแบงก์ชาติให้ประชาชนผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ผ่านการจัดกิจกรรมที่หลากหลายทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาคนและนำไปสู่การพัฒนาชาติในที่สุด

 

          นี่คือภาพการเดินทางตลอดระยะเวลาก้าวเข้าสู่ปีที่ 80 ของ ธปท. พันธกิจที่ยังคงแจ่มชัดในหัวใจคน ธปท. ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มถึงปัจจุบัน คือการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจของประเทศ แม้ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทำให้ระหว่างทางบทบาทและหน้างานของ ธปท. อาจกว้างขึ้น เพื่อรองรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเท่าทันที่สุด ในอนาคต ธปท. อาจมีบทบาทที่เปลี่ยนไปอีก แต่เชื่อมั่นได้ว่า ธนาคารกลางแห่งชาตินี้จะธำรงอยู่เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนอย่างแน่นอน

 

ผู้เขียน ผศ.ตร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม