เสียงสะท้อนและมุมมองหลากมิติต่อการเติบโตของแบงก์ชาติ

 

          การเดินทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 80 แน่นอนว่าย่อมผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในหลายมิติ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธปท. ได้รับทั้งความร่วมมือ ความช่วยเหลือ และคุณูปการจากบุคคลในแวดวงต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เราจึงขอพาท่านผู้อ่านไปรับฟังมุมมองของบุคคลภายนอกที่ได้ร่วมงานกับ ธปท. อย่างใกล้ชิด ทั้งในฐานะสื่อมวลชน นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการ ว่า ธปท. ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในแต่ละมิติจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงความคาดหวังที่แต่ละท่านมีต่อ ธปท.

 

 

คุณสุทธิชัย หยุ่น 

สื่อมวลชนอาวุโส


 

 

คุณสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส

 

          ความเปลี่ยนแปลงของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 10 - 15 ปีที่ผ่านมา ที่ผมเห็นชัดเจนที่สุดคือการเปิดกว้างและตอบคำถามของคนข้างนอกมากขึ้นด้วยภาษาชาวบ้าน และพยายามทำความเข้าใจคำถามของสังคมต่อการทำหน้าที่ของ ธปท. มากขึ้น เป็นการปรับเปลี่ยนที่ผมเข้าใจว่ามาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรเอง ที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ ซึ่งทำให้การสื่อสารด้านเดียวไม่อาจจะตอบโจทย์ของภารกิจของธนาคารกลางของประเทศได้อีกต่อไป

 

          ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มีผลทำให้บุคลากรของ ธปท. เห็นความสำคัญของการอธิบายและการตอบคำถามของประชาชนทั่วไปผ่านสื่อมวลชนในลักษณะที่เข้าใจง่ายและทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กล่าวได้ว่าบุคลากรของ ธปท. สามารถสลัดคราบของความเป็นข้าราชการได้อย่างเห็นได้ชัด


          ความสลับซับซ้อนของปัญหาเศรษฐกิจและบทบาทของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้นทำให้ผู้บริหารของ ธปท. ตอบสนองด้วยการเปิดกว้างและพยายามบอกกล่าวให้คนในสังคมทุกวงการได้เข้าใจถึงพันธกิจของธนาคารกลาง


          ผมจึงเห็นว่า การปรับตัวของกลไกการสื่อสารของ ธปท. ยังคงจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะสังคมเรียกร้องข้อมูลข่าวสารและคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมืองที่โยงใยถึงเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น ถี่ขึ้นและลึกซึ้งมากขึ้นตามลำดับ ยิ่งเมื่อเกิดการระบาดของโควิด 19 ก็ยิ่งทำให้ข้อมูลและแนวโน้มของเศรษฐกิจในทุกระดับจากการวิเคราะห์และมุมมองของสถาบันที่เป็นมืออาชีพอย่าง ธปท. ยิ่งมีความสำคัญและเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น 

 

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา 
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย


 

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

 

          ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้ติดตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา เช่น การสื่อสารถึงสภาวะเศรษฐกิจรายเดือนที่ชัดเจน การฉายภาพการเติบโตและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว และการดำเนินนโยบายทางการเงินที่รวดเร็วในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา นับจากภัยน้ำท่วมใหญ่ ปัญหาการเมือง ปัญหาการส่งออกจากสงครามการค้า และล่าสุดจากวิกฤตโควิด 19 สิ่งที่น่าชื่นชมคือ ธปท. รับรู้ถึงข้อจำกัดของตนเองว่านโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เนื่องจากหลายส่วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กรณีที่ผู้ส่งออกตกอยู่ในวังวนค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง การที่ ธปท. ใช้มาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือแม้แต่มาตรการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็ทำได้เพียงประคองสถานการณ์ ที่ต้องรอให้เอกชนเร่งนำเข้าสินค้าทุน แต่ ธปท. สามารถรับมือความผันผวนด้วยการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

 

          มองต่อไปข้างหน้าที่นโยบายการเงินจะยิ่งเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีผลต่ออัตราการเติบโตและการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อ และทุนเคลื่อนย้าย เราน่าจะเห็นบทบาทของ ธปท. ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยการมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะจุด ในกลุ่มธุรกิจหรือครัวเรือนที่ฟื้นตัวช้า หรือมีภาระหนี้สูง และอาจมีความอดทนต่ออัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นและประวิงเวลาให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเต็มที่ก่อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โจทย์เงินเฟ้อและบทบาทของ ธปท. จะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของนโยบายการเงินในปีหน้านี้

 

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)


 

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

 

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โจทย์และความท้าทายของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องตามบริบทโลกและบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจและการเงิน ขีดจำกัดของนโยบาย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี


          ในฐานะที่ ธปท. เป็นทั้งผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายทุนเคลื่อนย้าย และเป็นทั้งผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน เพื่อตอบโจทย์สำคัญในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการเงินให้มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สร้างความท้าทายให้กับ ธปท. อย่างต่อเนื่อง และทำให้องค์กรต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถหยุดนิ่งได้


          ซึ่งเราจะได้เห็นว่า ธปท. ได้มีการปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบโครงสร้างและยุทธศาสตร์องค์กร การรักษาความเป็นอิสระและความรับผิดชอบ รูปแบบการทำงาน การกำหนดกรอบนโยบาย และการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์องค์กรและรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง โดยยังคงยึดมั่นในหลักการ ความเป็นมืออาชีพ และความซื่อสัตย์สุจริต


          แม้ในบางช่วงบางเวลา ความท้าทายที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความเสียหายและบทเรียนราคาแพงของทั้ง ธปท. และเศรษฐกิจไทย เช่น วิกฤตสถาบันการเงินหลายครั้ง วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และการตอบสนองต่อวิกฤตจากปัญหาโควิด 19 แต่เราได้เห็นว่า ธปท. มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อใช้ตอบโจทย์ใหม่ ๆ ที่อาจจะทำไม่ได้ภายใต้ข้อจำกัดเดิม เช่น การใช้กรอบนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ การแก้ปัญหาสถาบันการเงิน การใช้นโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือระบบพร้อมเพย์ และมีการนำบทเรียนจากปัญหามาปรับปรุงการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ


          มองไปข้างหน้า บริบทของโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินที่จะยังคงเปลี่ยนไป พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเร็วอย่างต่อเนื่อง จะเป็นความท้าทายที่ ธปท. จะต้องตั้งคำถามและมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะการทำงานรูปแบบเดิม อาจจะไม่ตอบโจทย์ขององค์กร หรือทำให้องค์กรถูกลดความสำคัญลง แต่เชื่อว่าการทำงานที่ยึดมั่นในแก่น หลักการและหน้าที่ขององค์กร และความสามารถของบุคลากรของ ธปท. และบทเรียนจากในอดีต จะทำให้ ธปท. ก้าวไปข้างหน้าและทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพและพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการเงินได้อย่างมั่นคง

 

 

รศ. ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 


 

 

รศ. ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

 

          ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวและความท้าทายทางเศรษฐกิจมากมาย ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการวางโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนา และการกำกับระบบสถาบันการเงินที่เอื้อต่อการจัดสรรทรัพยากรของประเทศได้ นอกจากนี้ การที่ ธปท. ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพยังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างเข้มแข็ง ช่วยให้เรารอดพ้นจากวิกฤตภายนอกได้เป็นอย่างดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

          ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เราคงต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยที่เติบโตได้อย่าง "เหมาะสม" "มีเสถียรภาพ" และ "ทั่วถึง" แต่วันนี้ เมื่อเรามองไปที่ GDP per capita ที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่า 70 เท่าตัวในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา เรากลับพบว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ถูกออกแบบให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง ซึ่งการเติบโตอย่างทั่วถึงสามารถเกิดขึ้นได้ หากเราส่งเสริมให้หน่วยเศรษฐกิจมี "ความเท่าเทียมกันของโอกาส" ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากร ความเท่าเทียมกันของการเข้าสู่ตลาด และความเท่าเทียมกันของการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำมันอาจเป็นเงื่อนไขตั้งต้นโดยธรรมชาติได้ แต่การสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว และการให้โอกาสกับคนที่มีศักยภาพ แต่ขาดเงินทุนจึงควรเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาระบบการเงินของประเทศ เพราะนั่นคือการสร้างเงื่อนไขของการเติบโตอย่างทั่วถึง

 

         เมื่อมองไปข้างหน้า ระบบการเงินจะเปลี่ยนไปอีกมากจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าหน้าต่างของโอกาส กำลังเปิดให้เราสามารถสร้าง "ระบบการเงินที่ทั่วถึง" ของระบบเศรษฐกิจไทย … วันนี้ โจทย์เปลี่ยนไป ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบการเงินที่คนไทยทุกคนเข้าถึงได้ ช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกัน และระบบเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อย่าง "ทั่วถึง" ในที่สุด

 

 

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร 
ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)


 

 

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร  ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

 

          ดิฉันเริ่มรู้จักธนาคารแห่งประเทศไทยตอนที่เรียนอยู่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2532 เนื่องจากได้ใช้ข้อมูลจาก ธปท. ประกอบการทำรายงาน และบ่อยครั้งที่ได้ไปที่ห้องสมุดของ ธปท. เพื่อคัดลอกข้อมูล บทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของ ธปท. ดิฉันได้ใช้ข้อมูลและบทวิเคราะห์ของ ธปท. จนถึงการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกาในปี 2542 ซึ่งในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมีหนังสือชุดข้อมูลของ ธปท. อยู่ด้วย


         จากวันนั้นถึงวันนี้ การเปิดเผยและเผยแพร่ข้อมูลของ ธปท. ได้เปลี่ยนไปมาก มีการเปิดเผยข้อมูลกว้างขึ้นและถี่ขึ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ คุณภาพของข้อมูลก็ดีขึ้นและตามนิยามสากลมากขึ้น คุณภาพงานวิเคราะห์และวิจัยของ ธปท. ก็ได้พัฒนาขึ้นโดยใช้ข้อมูลทางเลือกมากขึ้นและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการวิเคราะห์ มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ภายใต้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และมีการเขียนผลลัพธ์ของงานวิจัยให้ง่ายต่อการเข้าใจของประชาชนทั่วไป รวมถึงการจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีที่เปิดกว้างขึ้นทั้งในด้านหัวข้อและผู้นำเสนองานวิจัย ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกองค์กร


         นอกจากนี้ ธปท. ได้สร้างภาคีเครือข่าย สำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลเพื่อออกนโยบายทางการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและความมั่นคงของเศรษฐกิจ อาทิเช่น โครงการ Young Economists ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปี เพื่อสร้างเครือข่ายสำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ภายนอก ธปท. ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้ความเห็นทางวิชาการกับ ธปท. รวมถึงมีโครงการออกเยี่ยมและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยสำนักงานภาคของ ธปท. สำหรับการสร้างความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการดำเนินงาน ปัญหา และการปรับตัวของธุรกิจ นอกจากนี้ ในหลายปีที่ผ่านมา ธปท. ได้เพิ่มบทบาทสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะการช่วยแก้ไขหนี้สำหรับประชาชนโดยผ่านโครงการต่าง ๆ ของ ธปท. รวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชนประกอบด้วย