ส่องเศรษฐกิจปี 2565 ก้าวแรกหลังมรสุมโควิด 19
ผ่านปีหนัก ๆ ไปอีกปีแล้วกับวิกฤตโควิด 19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องและทิ้งรอยแผลสดให้กับเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า แต่เศรษฐกิจในปีหน้าจะเป็นเช่นไร มีปัจจัยใดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ หรือมีประเด็นใดที่พึงระวัง บทความนี้จะขอพาทุกท่านไปสำรวจการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงที
ปี 2565 จะยังคงเป็นปีของการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นเป็นลำดับ โดยล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2564 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2565 จะขยายตัวที่ 4.9% ชะลอลงจากปี 2564 ที่ขยายตัว 5.4% ในปีหน้า เศรษฐกิจโลกอาจยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ และมีความเปราะบางในช่วงแรกของการฟื้นตัว โดยเฉพาะการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 เนื่องจากการกระจายวัคซีนในหลายประเทศยังทำได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับการใช้แนวทาง living with COVID[1] ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่การแพร่ระบาดจะกลับมาเป็นระยะ ตามที่เริ่มเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2564 และบางประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกรอบ ดังนั้น ประเด็นที่เราจะต้องจับตามองในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้
แนวโน้มการฟื้นตัวแบ่งเป็น 2 กลุ่มชัดเจน
กลุ่มแรกคือ กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวดีต่อเนื่อง เนื่องจากสามารถเปิดเมืองและเปิดประเทศได้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Advanced Economies: AEs) เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป และสิงคโปร์ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่คืบหน้ามากกว่าชาติอื่น ๆ รวมถึงมีการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ[2] จึงมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี ซึ่งอานิสงส์นี้ได้ส่งต่อมายังกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้า เช่น เม็กซิโก เวียดนาม ประกอบกับบางประเทศ เช่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้น ตามกระแสโลกดิจิทัลและ work from home เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ส่งออกหลักในตลาดโลก
อีกกลุ่มคือ กลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวได้หลังการทยอยเปิดเมืองและเปิดประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs) ที่การกระจายวัคซีนทำได้ช้ากว่าและพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูง เช่น กรีซ โปรตุเกส ไทย และมาเลเซีย โดยบางประเทศที่การท่องเที่ยวพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนจะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องในปี 2565 จากการที่ประเทศจีนยังใช้นโยบายปิดประเทศตามนโยบายความอดทนต่อโควิด 19 เป็นศูนย์ (zero tolerance) ทำให้การฟื้นตัวของรายรับจากการท่องเที่ยวของประเทศกลุ่มนี้ยังกลับมาไม่เต็มที่
ปัญหา Global Supply Disruption มีแนวโน้มยืดเยื้อถึงกลางปี และยังต้องติดตามแนวโน้มราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนและเงินเฟ้อ
ปัญหา global supply disruption ทั้งการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ในภาคการขนส่ง มีแนวโน้มยืดเยื้อไปจนถึงกลางปี 2565 เนื่องจากอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต่างกันในแต่ละประเทศทำให้เกิดความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ปัญหาจะทยอยคลี่คลายเป็นลำดับ โดยอุปทานของเซมิคอนดักเตอร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและรองรับอุปสงค์ได้มากขึ้นตามการขยายกำลังการผลิตและลงทุนสร้างโรงงานใหม่ของผู้ผลิตในช่วงที่ผ่านมา สำหรับการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการขนส่งสินค้าที่ใช้ระยะเวลานาน คาดว่าสถานการณ์จะปรับดีขึ้น เนื่องจากหลายประเทศจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองการปรับตัวของราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ในตลาดโลกภายใต้กระแส green economy ที่อาจสร้างแรงกดดันให้ต้นทุนและอัตราเงินเฟ้อของโลกปรับสูงขึ้น
ตลาดการเงินโลกผันผวนขึ้นจากการปรับนโยบายการเงินเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) ของธนาคารกลางประเทศหลัก
เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน เช่น นิวซีแลนด์ โปแลนด์ ฮังการี และเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 31 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ อาทิ Bank of Korea (BOK) ที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วในเดือนสิงหาคม 2564 Monetary Authority of Singapore (MAS) ที่ปรับไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าในเดือนตุลาคม 2564 นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็มีแผนจะปรับลดวงเงินโครงการซื้อสินทรัพย์ (QE tapering) ตั้งแต่ปลายปี 2564 เช่นกัน และอาจพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นได้หากแรงกดดันเงินเฟ้อเร่งมากกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น ในปี 2565 นโยบายการเงินที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางหลายแห่งและธนาคารกลางหลัก อาจทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน และกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด 19
หากเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่ฟื้นตัวช้า เพราะมีสัดส่วนการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูง พิษจากโควิด 19 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจซบเซามากว่า 2 ปี แต่หลังจากที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ธปท. คาดว่าในปี 2565 นี้จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยมีอัตราการขยายตัวได้ราว 3.9% ปัจจัยสำคัญมาจากการได้รับวัคซีนซึ่งถือเป็นยาถูกขนานทำให้เศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาเดินเครื่องได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลัก อย่างไรก็ดี เส้นทางข้างหน้าอาจไม่ราบรื่นนัก ยังมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมาก จากทั้งในและต่างประเทศที่ไทยจะต้องเตรียมรับมือ
แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเปลี่ยนมาเป็นอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้ามีทิศทางชะลอตัว
จากการที่แนวโน้มการระบาดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และอัตราการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าต่อเนื่อง จึงคาดว่ารัฐบาลจะเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดได้โดยไม่ต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มการระบาดในวงกว้างอีก ส่งผลให้ประชาชนและห้างร้านต่าง ๆ สามารถกลับมาใช้ชีวิตและเปิดกิจการได้มากขึ้น ดังนั้น แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจในปี 2565 จึงมาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศเป็นหลัก ทั้งการบริโภค การลงทุน และการเดินทางท่องเที่ยวภายใน ประเทศ ซึ่งจะมาทดแทนการส่งออกสินค้าที่จะชะลอลงบ้างหลังจากได้เร่งฟื้นไปก่อนหน้าแล้ว ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่รายรับจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะดีขึ้นชัดเจนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป
การฟื้นตัวยังเปราะบางและไม่ทั่วถึง หรือเป็นแบบ K-Shaped Recovery
แม้จะเปิดประเทศ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มกลับมาได้เพียงบางส่วน โดยในช่วงแรกเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ และยุโรป ขณะที่ชาวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของไทย (11 ล้านคนในปี 2562) ยังกลับเข้ามาน้อย เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลจีนยังคงเข้มงวดการเดินทางระหว่างประเทศของชาวจีนตามนโยบาย zero tolerance ประกอบกับหลายประเทศดำเนินนโยบายการกักตัวนักท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน ทำให้ในปี 2565 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่กลับเป็นปกติ โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 6 ล้านคน หรือเพียง 15% ของระดับก่อนวิกฤตโควิด 19 และเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนในปี 2566 และใช้เวลาหลังจากนั้นอีก 3 ปีจึงจะกลับไปสู่ระดับปกติที่ 40 ล้านคน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะต้องใช้เวลา ทำให้ธุรกิจบางส่วนยังไม่สามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ รวมถึงแรงงานบางกลุ่มที่อาจยังต้องตกงานหรือว่างงานแฝงไปอีกระยะหนึ่ง
อัตราเงินเฟ้อยังไม่เป็นอุปสรรค แต่ต้องจับตามอง
สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อของไทยยังไม่น่ากังวลเท่าประเทศอื่น ๆ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ส่งผลต่อไทยไม่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการภาครัฐโดยเฉพาะการตรึงราคาน้ำมันดีเซล อีกส่วนมาจากการที่ผู้ประกอบการยังแบกรับต้นทุนไว้เองเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การแบกรับต้นทุนของผู้ประกอบการส่งผลต่อความเข้มแข็งของฐานะการเงินภาคธุรกิจ และแนวโน้มการลงทุนในอนาคต ดังนั้น หากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจเห็นการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการให้ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
แรงกระตุ้นจากภาครัฐลดลงบ้างตามความจำเป็นของเศรษฐกิจ ปรับเข้าสู่ภาวะเร่งฟื้นฟู และปรับโครงสร้าง
การใช้จ่ายของภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ต้องปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาด ทั้งนี้ จากภาพรวมเศรษฐกิจปี 2565 ที่ฟื้นตัว ทำให้ความจำเป็นของแรงกระตุ้นจากภาครัฐลดลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยเหลือเพียงบางส่วนในภาคท่องเที่ยวและบริการเท่านั้นที่ยังไม่ฟื้นตัวและต้องการการประคับประคองจากภาครัฐต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะเดียวกัน ความจำเป็นในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสำหรับกระแสโลกอนาคตที่กำลังเกิดขึ้นก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางส่วนอาจต้องอาศัยการกระตุ้นจากภาครัฐด้วย
ก้าวถัดไปของเศรษฐกิจไทย โอกาสและความเสี่ยงจาก Global Mega Trendsวิกฤตโควิด 19 ทั่วโลกอันยาวนานถึงสองปีในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่าง ๆ และทำให้ global mega trends มาถึงเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยให้เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคหลังโควิด 19 ซึ่ง global mega trends ที่ไทยต้องรีบปรับตัวให้ทัน ประกอบไปด้วย
อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะกลายมาเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมของโครงสร้างการค้าโลก โดยในระยะที่ผ่านมาชาติมหาอำนาจได้ดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อโครงสร้างการค้าโลกให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น สหรัฐฯ และยุโรปได้ออกกฎหมายควบคุมการนำเข้าที่เน้นสินค้ากลุ่ม carbon footprint ต่ำขณะเดียวกัน จีนเองก็ออกมาตรการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และรณรงค์ให้ลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน หันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงควรเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการส่งออกสินค้าที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น อีกทั้งต้องรับมือหากมีการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมบางประเภทที่กระบวนการผลิตขัดกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสากลเข้ามาในประเทศ
ก้าวสู่ยุคดิจิทัล
แม้ว่าการเข้าสู่ยุคดิจิทัลจะเป็นกระแสที่ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและบทบาทของโลกดิจิทัลในการดำเนินชีวิตของคนจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยสำคัญให้กับภาคการผลิตในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในหลายประเทศ ดังนั้น ในระยะถัดไปเราจะได้เห็นการลงทุนและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่เข้มข้นขึ้น โดยกลุ่ม AEs จะเน้นลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ Artificial Intelligence (AI) และ Quantum Computing เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้า การลงทุน และการเงิน ขณะที่กลุ่ม EMs มีแนวโน้มที่จะยังเดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาศักยภาพการผลิตเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
จะเห็นได้ว่า ในปี 2565 นี้จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจไทยจะเดินออกจากมรสุมโควิด 19 อย่างเต็มตัว เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวทยอยกลับมาทำงานได้ตามปกติมากขึ้น แต่ฟ้าหลังมรสุมนี้ก็อาจไม่ได้สดใสนัก ยังมีอุปสรรคและความท้าทายจากรอบด้านที่จะต้องเผชิญ อีกทั้งมรสุมใหญ่ครั้งนี้ยังทำลายขนบเดิม เร่งให้โลกเดินเข้าสู่ new global trends ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมรับความผันผวนและเผชิญกับอุปสรรค เพื่อจะได้เปิดรับโอกาสในโลกหลังโควิด 19 ที่จะมาพร้อมความท้าทายเหล่านี้
[1] คือ แนวทางที่ยังคงเปิดให้มีกิจกรรมตามปกติ แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งจะตรงข้ามกับแนวทาง zero tolerance ที่จะล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อใหม่เกิดขึ้น
[2] กลุ่ม AEs มีการอัดฉีดเงินถึง 14 - 28% ของ GDP ขณะที่กลุ่ม EMs เฉลี่ยอยู่ที่ 4% ของ GDP