ถอดแนวคิดรับมือ "เงินเฟ้อ" ของ ธปท. 
ในห้วงแห่งความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก

 

ถอดแนวคิดรับมือ "เงินเฟ้อ" ของ ธปท. ในห้วงแห่งความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก

 

image

 

*สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565*

 

ปี 2565 เป็นอีกปีที่ท้าทายการทำงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอย่างมาก ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ปัญหาการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันของเศรษฐกิจไทย และแรงกดดันล่าสุด "สถานการณ์เงินเฟ้อ" ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่กลางปี 2564 และทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น หลังสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. และเลขานุการ กนง. มาถ่ายทอดแนวคิดของ กนง. ในการรับมือความผันผวนของเงินเฟ้อ และการดูแลเศรษฐกิจไทยท่ามกลางเหวลึกแห่งความเปราะบาง และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

 

เหตุแห่ง "มติ" คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี

 

        การประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี ดร.ปิติอธิบายว่า ปัจจัยหลักในการพิจารณาของ กนง. ประกอบด้วยเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน 3 ด้าน คือ การดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างไม่สะดุด การดูแลสถานการณ์เงินเฟ้อ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ขยายวงกว้างและไม่ฝังลึกในระบบเศรษฐกิจ และการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม

 

        "กนง. ชั่งน้ำหนักระหว่าง 3 เป้าหมาย ซึ่งถ้ามอง ณ ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเพิ่งเข้าสู่ช่วงแรกของการฟื้นตัวหลังชะลอตัวมากว่าหนึ่งปีจากการระบาดของโรคโควิด 19 ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไปค่อนข้างเยอะตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้านแรงกดดันจากเงินเฟ้อ แม้จะเร่งตัวขึ้นในช่วงแรกของปีนี้แต่ก็มีขอบเขตจำกัด เป็นการปรับเพิ่มราคาในสินค้าบางกลุ่ม ได้แก่ พลังงานและอาหารสดบางประเภท ซึ่งยังไม่มีสัญญาณการปรับราคาขึ้นเป็นวงกว้าง ด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน แม้จะยังมีปัญหาหนี้สูง แต่ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการทางการเงินมาช่วยดูแลอยู่พอสมควร ดังนั้น ครั้งนี้ กนง. จึงให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากที่สุด เพื่อให้คนมีงานทำ ทำให้รายได้ฟื้นตัว คิดว่าน่าจะดีที่สุด"

 

        ดร.ปิติย้ำว่า กนง. ยังให้ความสำคัญกับการติดตามปัจจัยที่อาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ทั้งการระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) ความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น และส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังสินค้าอื่น ทั้งยังต้องติดตามความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการการเงิน เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ 

 

         ทั้งนี้ หลังจากเห็นทิศทางเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักที่อัตราเงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปี ในขณะที่เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ก็เริ่มสูงขึ้นเช่นกัน อีกทั้งยังมีเค้าลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่นำมาสู่การเปิดฉากสงครามช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีทีท่าว่าอาจลุกลามไปสู่สงครามเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเพิ่มแรงกดดันให้ กนง. ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดมากขึ้น

 

"เงินเฟ้อ" ความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด

 

        โดยนิยาม "เงินเฟ้อ" หมายถึง ภาวะราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากย่อมกระทบกับปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง หลายประเทศจึงมีการตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) เพื่อยึดเหนี่ยวการคาดการณ์ด้านเสถียรภาพราคาในระยะปานกลาง ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 1 - 5% ต่อปี ส่วนประเทศไทยตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1 - 3% ต่อปี

 

        ก่อนเปิดฉากสงครามรัสเซีย - ยูเครน กนง. มองว่าช่วงแรกของปีนี้ เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มจะสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เพราะราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภทเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยเฉพาะของหมวดสินค้านั้น เช่น ปัญหาในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และอุปทานเนื้อหมูที่ลดลงจากโรคระบาด ขณะที่เงินเฟ้อโดยรวมทั้งปีน่าจะยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบฯ ไม่เกิน 3% ต่อปี โดยคาดว่าราคาพลังงานและอาหารสดจะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง

 

        "เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยการขึ้นราคาสินค้า แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเปราะบาง และกำลังซื้อของประชาชนยังไม่กลับมา การผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังลูกค้าอาจทำให้ธุรกิจเสียหายยิ่งกว่า หรือหากมีการปรับขึ้นราคา ก็น่าจะเป็นการปรับเพียงครั้งเดียว เป็น 'เงินเฟ้อชั่วคราว' ไม่น่าส่งผลให้เงินเฟ้อคงอยู่นานพอที่จะกลายเป็นแรงกดดันให้เกิดการขอขึ้นค่าแรง จนผลักดันให้เกิดการปรับขึ้นราคาสินค้าต่อเนื่องเป็น 'วัฏจักรเงินเฟ้อ' ซึ่งบริบทของประเทศไทย ณ ตอนนี้ ทั้งอำนาจการต่อรองของตลาดแรงงาน และความสามารถของผู้ประกอบการในการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมีค่อนข้างจำกัด โอกาสที่ประเทศไทยจะเกิดเงินเฟ้อรุนแรงและยืดเยื้อจึงไม่เข้าขั้นน่ากังวล"

 

        เลขานุการ กนง. อธิบายว่า หาก กนง. มองว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นแบบชั่วคราว อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก เมื่อมีการผลิตสินค้าได้อย่างเพียงพอโดยไม่สร้างแรงกดดันต่อการขึ้นค่าจ้างอย่างรวดเร็ว ในไม่ช้า เงินเฟ้อก็จะเริ่มชะลอลงมาเอง ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดกับภาวะเงินเฟ้อลักษณะนี้ มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นการฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น ดังนั้น สิ่งสำคัญประการแรกก่อนกำหนดนโยบายดูแลเงินเฟ้อคือ การมองให้ออกว่าภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นมีลักษณะแบบชั่วคราวหรือต่อเนื่อง

 

         "ธปท. ติดตามภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด แต่เรามองในระยะปานกลาง สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน เรามองว่าเป็นเงินเฟ้อแบบชั่วคราว จึงไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะกว่าที่อัตราดอกเบี้ยฯ ใหม่จะถูกส่งผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็ใช้เวลา 1 - 2 ปี ถึงตอนนั้น เงินเฟ้อก็ลงมาก่อนแล้ว ดังนั้น การตัดสินใจเรื่องเงินเฟ้อจึงต้องมองข้างหน้า และชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างผลประโยชน์ที่จะได้รับกับต้นทุนที่จะเสียไป ซึ่ง ณ เวลานี้ วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถรองรับกับภาวะของแพงได้ คือการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและทำให้ประชาชนมีรายได้"

 

         แต่ทั้งนี้ หลังสงครามรัสเซีย - ยูเครนทวีความตึงเครียดขึ้น กลายเป็นแรงกดดันให้ ธปท. จำเป็นต้องจับตาและเฝ้าระวังความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพราะความขัดแย้งนี้อาจส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และเกิดการสะดุดหรือหยุดชะงักในการขนส่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้า จนอาจกดดันให้เกิดการปรับขึ้นราคาสินค้าในหลายหมวด

 

image

เงินเฟ้อโลกไปไกล เงินเฟ้อไทยยัง "ไม่น่าห่วง"

 

        ช่วงที่ผ่านมา เงินเฟ้อไทยปรับตัวสูงขึ้น เคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 2 - 3% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเงินเฟ้อโลกอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ล่าสุด ในเดือนมกราคม 2565 เงินเฟ้อของสหรัฐฯ แตะ 7.5% ต่อปี สูงสุดในรอบ 40 ปี โดย ดร.ปิติอธิบายถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อไทยต่ำกว่าเงินเฟ้อต่างประเทศ ว่าเป็นเพราะวัฏจักรเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

 

         "ปัจจุบัน เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและกลับสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด 19 แล้ว ทำให้ความต้องการบริโภค (อุปสงค์) สูงขึ้นมากหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานเกิดภาวะชะงักงันในช่วงการระบาด ทำให้ไม่สามารถรับมือกับอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น และมีการปรับขึ้นค่าจ้างในบางอุตสาหกรรมเพื่อดึงแรงงานกลับมา จึงเร่งให้มีการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค

 

         "ขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่กำลังเริ่มฟื้นตัว ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี กว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด 19 และเป็นการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกันทั้งในมิติรายได้ครัวเรือนและภาคธุรกิจ การจ้างงานและรายได้จึงยังไม่ฟื้นตัวอย่างทั่วถึง ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์จึงอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ในแง่ของต้นทุนการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าในหมวดพลังงาน มีกลไกกองทุนน้ำมันช่วยลดทอนแรงกดดันด้านราคา ทำให้การขึ้นราคาน้ำมันในไทยต่ำกว่าหลายประเทศ"

 

        อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้การปรับตัวสูงขึ้นของเงินเฟ้อไทย ณ ปัจจุบัน ยังไม่เข้าขั้นน่าเป็นห่วง ดร.ปิติมองว่า เพราะเงินเฟ้อไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าบางรายการ (จากจำนวนสินค้าและบริการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อมีทั้งสิ้นกว่า 400 รายการ) และยังไม่เห็นสัญญาณการขึ้นราคาสินค้าในหลายหมวดพร้อมกันเป็นวงกว้าง หรือ "ปรับขึ้นยกแผง" โดยเงินเฟ้อคาดการณ์ทั้งปียังน่าจะยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ 1 - 3% ต่อปี  

 

        ดังนั้นในมุมมองของ ดร.ปิติ สถานการณ์สินค้าขึ้นราคาในประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่ใช่ภาวะ "เงินเฟ้อ" แต่เป็นเพียงภาวะ "ของแพง" ในสินค้าบางประเภทจากปัจจัยเฉพาะของสินค้านั้น

 

         "อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมองเป็นภาวะเงินเฟ้อหรือของแพง แน่นอนว่า ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้สอยสินค้าและบริการเหล่านั้นล้วนได้รับผลกระทบ หรือถึงแม้ว่าเราจะบอกว่าอัตราเงินเฟ้อไทย ณ ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2 - 3% ต่อปี ถือว่าไม่สูงมาก แต่ก็ล้วนเป็นภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย"

 

แนวทางลดผลกระทบ "ผู้ประสบภัยเงินเฟ้อ"

 

         ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธปท. ได้สำรวจภาวะและแนวโน้มเงินเฟ้อ พบว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ายังไม่ได้กระจายตัวเป็นวงกว้าง ขณะที่การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันมีผลกระทบสูงกว่าหมวดอื่นจากสัดส่วนการบริโภคและราคาที่สูงขึ้น โดยมีประเด็นที่สำคัญคือ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งผลกระทบกับประชาชนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการบริโภค ซึ่งกลุ่มที่มีการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) ในสัดส่วนที่สูงกว่าจะกระทบหนักกว่า

 

         "กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุดถึง 3 เด้งด้วยกัน เด้งแรก ครัวเรือนรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงถึง 45% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายในหมวดนี้เพียง 26% เด้งที่สอง กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยจำนวนมากทำงานในกลุ่มธุรกิจที่ค่อนข้างเปราะบาง เช่น ภาคบริการ การท่องเที่ยว หรืออาชีพอิสระ ซึ่งรายได้ยังไม่ฟื้นตัวมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น สัดส่วนของภาระค่าใช้จ่ายเทียบกับรายได้จึงสูงขึ้นเป็นพิเศษสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เด้งที่สาม ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมักมีหนี้สินค่อนข้างสูง จึงมีความเปราะบางและภาระค่าใช้จ่ายมากกว่า"

 

        ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีมาตรการแบ่งเบาภาระจากอัตราเงินเฟ้อให้แก่ประชาชนผ่านหลายกลไก อาทิ กองทุนน้ำมันที่ช่วยตรึงราคาน้ำมัน และมาตรการคนละครึ่งที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ขณะที่ ธปท. เองก็มีหลากหลายมาตรการทางการเงินเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านหนี้สินให้กับลูกหนี้แต่ละกลุ่มตามบริบทและความเหมาะสม อาทิ การปรับลดดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยอาศัยกลไกของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ

 

         "ถ้าราคาสินค้าแพงขึ้นจากอุปทานที่ไม่เพียงพอ ธปท. คงไม่สามารถแก้ด้วยการให้เพิ่มปริมาณการผลิตได้ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดและทำมาตลอด 20 ปี คือ การดูแลอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนด เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจและประชาชนสามารถคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางได้ เพราะถ้าเมื่อไหร่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ภาคธุรกิจคาดการณ์เงินเฟ้อหลุดกรอบแล้วส่งผ่านไปยังราคาสินค้า จนกระจายไปสู่การขึ้นราคาสินค้าเป็นวงกว้าง จะส่งผลให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถูกบั่นทอน ดังนั้น กรอบเป้าหมายฯ ที่ดีต้องทำหน้าที่หยุดกลไกตรงนี้เพื่อไม่ให้ 'เครื่องยนต์เงินเฟ้อ' ถูกจุดติด และไม่ทำให้ปัญหาบานปลาย"

 

image

 

"ปรับตัว" แนวคิดเสริมภูมิต้านทานเงินเฟ้อ

 

        ดร.ปิติย้ำว่า แม้สถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้หลายคนลำบากเพิ่มขึ้น แต่เขามั่นใจว่า ภาวะเงินเฟ้อชั่วคราวครั้งนี้จะผ่านพ้นไปในไม่ช้า แต่เราอาจจะต้อง "อดทน" "ปรับตัว" และ "มองระยะปานกลาง"

 

         "จริง ๆ แล้ว โดยกลไกราคา สินค้าที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นก็เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ระบบเศรษฐกิจปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับภาวะพื้นฐานที่เกิดขึ้นจริง เช่น ถ้าหมูทั่วโลกเกิดโรคระบาด จนทำให้ปริมาณหมูทั่วโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่ก็คือสัญญาณของตลาดที่บอกว่าตอนนี้มีปัจจัยพื้นฐานบางอย่างเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้เราไปปรับระบบเพื่อหาสิ่งอื่นมาทดแทน หรือปรับพฤติกรรมไปบริโภคสิ่งอื่นที่พอทดแทนได้" 

 

         นอกเหนือจากการบริโภคสินค้าทดแทน ภาคครัวเรือนอาจใช้โอกาสที่สินค้าปรับขึ้นราคา หันมาปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง

 

         "การประหยัดเป็นสิ่งที่ทุกคนควรต้องทำอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อของแพงขึ้น ก็ยิ่งต้องพยายามที่จะประหยัดและลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพราะสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตของเราทุกคน การมีเงินออมจะเป็นเหมือน 'กันชน' ในยามที่ชีวิตต้องเผชิญกับเรื่องที่ไม่คาดคิด ทำให้ชีวิตยังดำเนินไปได้อย่างไม่ลำบากเกินไปนัก แต่ไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น อยากให้คิดว่าถ้าวันนี้ คุณยังมีสุขภาพแข็งแรงดีและยังมีงานทำ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด ช่วงนี้ขอให้อดทน ปรับพฤติกรรม และเลือกวิธีการใช้จ่ายที่เหมาะสมที่สุด การสร้างกันชนทางการเงินสำคัญมาก ไม่เพียงกับประชาชน แต่ยังจำเป็นสำหรับภาคธุรกิจ และแม้แต่ในเชิงนโยบายการเงินก็เช่นกัน เพราะการมี 'กันชนในเชิงนโยบาย' ในการที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในยามที่เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดทางเศรษฐกิจ ถือเป็นการเพิ่มความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยการมองระยะปานกลาง"

 

         ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทยถูกรุมเร้าด้วยอุปสรรคหลากหลายที่พร้อมฉุดรั้งการฟื้นตัว บวกกับ "ทรัพยากร" ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเริ่มน้อยลง หลายคนอาจมองว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายและยากลำบากในการทำงานดูแลเศรษฐกิจ แต่สำหรับ ดร.ปิติ นี่ถือเป็นช่วงที่ทั้งท้าทายและสนุกที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงาน

 

         "พื้นเพผมมาจากสายงานวิจัย ผมจึงชอบเวลาที่เจอโจทย์ปลายเปิด ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ไม่มีคำตอบที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว ทำงานไปก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผมมองว่านี่เป็นช่วงแห่งการทำงานที่ท้าทายจริงและเหนื่อยมากด้วย แต่ก็สนุกมากด้วยเช่นกัน เพราะคำตอบไม่ได้หาได้ง่าย ๆ แถมคำตอบยังแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ละบริบท และไม่มี 'คำตอบที่ถูกต้อง' มีแต่ 'คำตอบที่ดีที่สุด ณ เวลานั้น' จากการประมวลข้อมูลและองค์ความรู้ทั้งหมดที่เรามี ภายใต้ข้อจำกัดที่เรามี นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมงานวิจัยถึงไม่เคยหยุด เพราะว่าโลกไม่เคยหยุดที่จะเปลี่ยน ฉะนั้น คำตอบที่เคยคิดว่าถูก เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็อาจจะไม่ถูกเสมอไป ซึ่งความยากนี้เอง เลยทำให้งานตรงนี้น่าสนใจ" ดร.ปิติให้มุมมองในฐานะนักวิจัย และผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งยังอยู่ภายใต้การดูแลเช่นกัน

 

        สุดท้ายนี้ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ปิติ ยืนยันว่า สิ่งที่ ธปท. จะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อช่วยให้คนไทยข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้โดยเร็ว คือการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ให้ยืดเยื้ออยู่ยาว และการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็วและต่อเนื่อง